“วัฒน์ วรรลยางกูร”แรงบันดาลใจการเขียนที่ได้จาก"ศรีบูรพา"

“วัฒน์ วรรลยางกูร”แรงบันดาลใจการเขียนที่ได้จาก"ศรีบูรพา"

บนเส้นทางของ "วัฒน์ วรรลยางกูร" นักเขียนรางวัลศรีบูรพาปี 2550 ผ่านเรื่องราวมากมาย ทั้งดีและไม่ดี แต่สิ่งที่เขารักมากที่สุดคือ การเขียนหนังสือ มีทั้งกวี เรื่องส้้นและนวนิยาย

วัฒน์ วรรลยางกูร กวีและนักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา ปี 2550 เสียชีวิตที่ฝรั่งเศสในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 65 เวลา 21.30 น.เวลาฝรั่งเศส

...........

ไม่ว่าวัฒน์ จะลี้ภัยอยู่ที่ไหน...กัมพูชา ลาว และฝรั่งเศส เขาก็ยังเขียนหนังสือ ล่าสุดได้เขียนเรื่องราวชีวิตในช่วงลี้ภัย 7 ปีไว้และเตรียมจะตีพิมพ์

ย้อนไปถึงสมัยที่เรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรียนไม่จบ เพราะหนีเข้าป่าด้วยเหตุผลทางการเมือง

หลังเหตุการณ์สงบก็มาทำงานเป็นนักข่าว-นักเขียนประจำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ธงปฏิวัติ มาตุภูมิรายวัน นิตยสารถนนหนังสือ และ Good Life  ตามลำดับ
ผลงานเขียนของเขาสะท้อนให้เห็นแนวคิดการต่อสู้เพื่อสังคมและอุดมการณ์ทางการเมือง โดยไม่เคยละทิ้งตัวละครที่เป็นชาวชนบท หรือชนชั้นล่างของสังคม โดยนำเสนอผ่านทางเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยาย จนเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง

“วัฒน์ วรรลยางกูร”แรงบันดาลใจการเขียนที่ได้จาก\"ศรีบูรพา\" ภาพ : สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

ศรีบูรพา ผู้สร้างแรงบันดาลใจ

ตอนที่เขาได้รับรางวัลศรีบูรพาปี 2550 วัฒน์ ให้สัมภาษณ์จุดประกายวรรณกรรม ว่า

“ศรีบูรพา เป็นนักเขียนที่ได้จุดแรงบันดาลใจด้านงานประพันธ์ตั้งแต่ผมยังเป็นนักเรียน ผมได้อ่านเรื่อง สงครามชีวิต ที่ศรีบูรพาเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2474 และอ่านเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง

ทั้งสองเล่มนี้ตัวเอกใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักประพันธ์ พออ่านแล้ววิญญาณของตัวเอกทั้งสองเรื่องนี้ก็เข้ามาสิงสู่ผมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และจนถึงทุกวันนี้

นิยายเรื่อง “สงครามชีวิต” คือวิญญาณของ “รพินทร์ ยุทธศิลป์” ที่ไปรักกับ “เพลิน โรหิตบวร” เขียนจดหมายตอบกันไปตอบกันมา รพินทร์เป็นชายหนุ่มที่อยู่ในห้องเช่าซอมซ่อ ฐานะยากจน แต่ว่าฝักใฝ่งานประพันธ์และชอบงานเขียนหนังสือ

และตอนจบรพินทร์ก็อกหัก เพราะว่าเพลินไปแต่งงานกับผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งเป็นคนรวย นวนิยายเรื่องนี้ให้แรงบันดาลใจและความสะเทือนใจต่อชะตากรรมของรพินทร์ เวลาอ่านหนังสือก็จะเผลอคิดว่า เราเป็นตัวละครตัวนั้นตัวนี้ เขาเรียกว่าอินนั่นแหละ แต่ว่าตอนจบเศร้าและสวยงามมาก”

“วัฒน์ วรรลยางกูร”แรงบันดาลใจการเขียนที่ได้จาก\"ศรีบูรพา\"

ศรีบูรพา”บรมครูด้านการประพันธ์ 

ผลงานของศรีบูรพา สร้างแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือให้วัฒน์ไม่ใช่น้อย เขาเล่าว่า 

“ผมรู้สึกว่าเป็นงานชนิดที่หนักทั้งในแง่อารมณ์ ความรู้สึก และความคิด อีกคนหนึ่งที่ให้แรงบันดาลใจเยอะคือ อ.อุดากร เรื่องสั้นแรงและมีความคิดเชิงวิพากษ์สังคมด้วย

จึงไม่แปลกใจว่าทำไมผมถึงมีความคิดอย่างนี้ได้ แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจคือเรื่องสั้น เหมืองแร่ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ มีภาษาที่คมคาย สำนวนโวหารร้ายกาจมาก และ รงค์ วงษ์สวรรค นี่อีกคนหนึ่ง ทำให้รู้สึกว่าเป็นนักเขียนนี่เท่

ตอนคิดตัดสินใจเป็นนักเขียนอาชีพ คือช่วงทำนิตยสารถนนหนังสือ เริ่มจะห้าสิบๆ หรือว่าร้อยไปเลยว่า จะทำงานหนังสือพิมพ์ไปด้วยหรือว่าออกมาเป็นนักเขียนอิสระ แต่ว่าใจโน้มมาทางนักเขียนอิสระแล้ว

ความจริงก่อนไปทำถนนหนังสือ ลองไปอยู่บ้านเขียนหนังสืออย่างเดียว (2525) ไปอยู่ที่ปทุมธานี ปลูกกระท่อมอยู่เลย นั่งเขียนอย่างเอาจริงเอาจัง และได้นิยายมาสองเรื่องคือ คือรักและหวัง และบนเส้นลวด หลังจากนั้นกลับไปทำงานประจำใหม่

ตอนนั้นอายุแค่ 25-26 ปี เรียกว่ายังเป็นช่วงทดลองอยู่ พลิกไปพลิกมา ตอนทำถนนหนังสือปี 2526 ความตั้งใจลึกๆ อยากไปดูก้นครัวว่า นักเขียนจริงๆ เขาอยู่กันยังไง ไปทำสกู๊ป ไปบ้านนักเขียนแต่ละคน สัมภาษณ์มาขึ้นปก อยากรู้วิธีการอยู่ของเขาเป็นยังไง"

ช่วงที่วัฒน์ตัดสินใจเป็นนักเขียนอิสระ เขาต้องเจอขวากหนามหลายเรื่อง วัฒน์ เล่าว่า

"ตอนนั้นออกไปเขียนเรื่องสั้นชุด “ลูกพ่อคนหนึ่ง (ถากไม้เหมือนหมาเลีย)” ซึ่งเป็นงานชิ้นหนึ่งที่ผมตั้งใจทำมาก เพื่อนก็หาว่า ผมทุ่มเทเพื่ออยากจะได้ซีไรต์ ผมบอกว่าความอยากของคนมีได้ ไม่แปลกหรอก ได้ตังค์ก็ดีสิ จะได้นั่งเขียนหนังสือได้สบายๆ ไม่ต้องลำบากมาก แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่เสียกำลังใจหรอก

เพราะเรารักที่จะเขียน ผมเขียนหนังสือมาตั้งแต่ยังไม่มีซีไรต์โน่น อันนี้เป็นอาหารเสริม ไม่ได้กินมันก็ไม่อดตาย (หัวเราะ) เพื่อนเคืองอยู่เหมือนกัน ทิ้งงาน ทิ้งหมู่คณะ เพื่อนโกรธ ตอนหลังเขาก็ยกทีมไปหาผมถึงบ้าน

แต่ผมเลือกที่จะเป็นนักเขียน เพราะว่าตอนนั้นเขียน “คือรักและหวัง” ออกไปปรากฏว่าเสียงสะท้อนกลับมันดีมาก “ลลนา” อยากได้นวนิยาย ยิ่งทำให้เลือกจะเป็นนักเขียนได้ง่ายขึ้น"

“วัฒน์ วรรลยางกูร”แรงบันดาลใจการเขียนที่ได้จาก\"ศรีบูรพา\"

อ่านหนังสือดีๆ ทุนชีวิตวัฒน์

นอกจากนี้การได้อ่านหนังสือดีๆสมัยเด็ก กลายเป็นสิ่งปลูกฝังแนวคิดเพื่อสังคมให้วัฒน์  

“สมัยก่อนไม่รู้หรอกว่าเป็นแนวคิดอะไร อยากจะอ่านเอาสนุกแค่นั้นแหละ พออ่าน “อิงอร” ก็เป็นเรื่องโศกนาฏกรรมของความรักชนิดต่างๆ ที่เป็นความคิดโน้มเอียงคือ “อ.อุดากร” เป็นความคิดยุค 2491-2492

ส่วนความคิดของศรีบูรพาเป็นความคิดของคนรุ่น 2475 ซึ่งความคิดเหล่านี้เป็นกระแสโลก ความคิดเรื่องประชาธิปไตย ความตื่นตัวเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ซึ่งกว่า 70 ปีสิ่งเหล่านี้ยังคาราคาซังอยู่ เคลื่อนตัวไปช้ามาก

ส่วนงานเขียนของคนอื่น “มาลัย ชูพินิจ” เป็นความคิดเชิงมนุษยธรรม “ยาขอบ” เป็นความคิดแบบสุภาพบุรุษ หรืออย่างของ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” นี่เป็นรุ่นหลังมาอีก งานของแต่ละคนมีความคิดทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าจะเป็นความคิดด้านไหน” วัฒน์ เล่า

ประสบการณ์ชีวิตที่พบเจอ
ส่วนประสบการณ์ชีวิตในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย วัฒน์ เล่าว่า
“ผมจบชั้นมัธยมก็เจอช่วง 14 ตุลา 2516 พอดี ช่วงนั้นงานเก่าๆ ที่เคยเป็นวรรณกรรมต้องห้ามในยุคเผด็จการกำลังได้รับความนิยม เพราะเมืองไทยเป็นยุคเผด็จการตั้งแต่ปี 2490-2500 เลือกตั้งก็พลิกไปพลิกมา

แต่พอปี 2500 เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ตอนนั้นผมเข้าร่วมอยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากมาย ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา มีหนังสือแนวความคิดสังคมการเมืองออกมาแล้ว

อย่างนิตยสารปริทรรศน์ ชัยพฤกษ์ มหาราช ที่พูดถึงเรื่องความคิดทางการเมือง ความที่เป็นคนอ่านหนังสือก็ติดตามมาตลอด และเป็นคนมีพื้นทางความคิดที่อ่านวรรณกรรมเพื่อสังคมมาบ้างแล้ว

ตอนนั้นเป็นกระแสของความเบื่อเผด็จการ ประชาชนต้องการเสรีภาพ กระแสเหล่านี้ผันผวนปรวนแปรไปเรื่อยๆ บางยุคงานเขียนเชิงความคิดทางสังคมจะได้รับความสนใจสูง

อย่างยุค 2475 หรือ 2490 เป็นยุคที่ “เสนีย์ เสาวพงศ์” เขียนเรื่อง “ปีศาจ” และ”ความรักของวัลยา” จนถึงปี 2500 “ลาว คำหอม” เขียน “เขียดขาคำ” งานดีๆ เชิงความคิดก็จะเกิด

แต่บางยุคคนก็จะไม่สนใจงานเชิงความคิด อย่างเช่นยุคช่วงฟองสบู่คนจะไปอ่านหนังสือพวกทำอย่างไรให้รวย คิดแต่เรื่องหาเงินหาทองไป คือเป็นอารมณ์ทางสังคมในแต่ละยุค งานวรรณกรรมทางความคิดก็จะขายไม่ได้"

ช่วงชีวิตที่เข้าป่า

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 วัฒน์ เลือกที่จะหนีเข้าป่า เพื่อต่อสู้ทางการเมือง เรื่องนี้วัฒน์เล่าว่า

"เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม ใครที่มีหนังสือการเมืองอยู่ในบ้าน ถ้าลูกไม่อยู่ ลูกหนีเข้าป่าไปแล้วพ่อแม่ก็ต้องเอาหนังสือมาเผา ช่วงเดือนตุลาคมปีนั้น ถ้าเราขึ้นไปบนฟ้ามองลงมาจะเห็นควันไฟเผาหนังสือกันทั่วประเทศเลย 

หนังสือของผมที่สะสมมาตั้งแต่ต้นโดนเผาทั้งหมด เสียดายมาก เพราะเมื่อก่อนอ่านหนังสือตรงไหนชอบก็จะจดเอาไว้เป็นสมุด จดมาตั้งแต่สมัยอ่าน “สงครามชีวิต” ที่ผมจำได้เพราะว่าผมจดประโยคเด็ดๆ เอาไว้ ปรากฏว่าสมุดโดนเผาไปด้วย

ตอนเข้าป่าก็ไปจดใหม่อีก พอเกิด “ยุทธการล้อมปราบ” ก็โดนยึดอีก คือผมเอาไปเก็บไว้ในป่าข้างหลังที่พักที่จะทำเป็นร้านไม้ไผ่และมีผ้าใบคลุม พวกหนังสือพวกสมุดอะไรผมเอาไปเก็บไว้นั่น

ทีนี้พอเขาเกิดยุทธการล้อมปราบ ยุทธการหนึ่งประมาณ 10-15 วัน เราต้องย้ายหนีออกจากตรงนั้น ไม่อย่างนั้นจะโดนยิง ต้องหนีไป พอทหารออกไปผมก็กลับไปดู หมดเลย ช่วงเข้าป่าแรกๆ ไม่มีหนังสืออะไร"

หลังออกจากป่าสู่เส้นทางนักเขียนอีกครั้ง

เมื่อเขาออกจากป่าก็มีโอกาสร่วมงานกับบรรณาธิการหลายคน จนเป็นบรรณาธิการ วัฒน์ เล่าว่า 

"การที่จะเติบโตมาได้ ก็ต้องมี “ลมใต้ปีก” อย่างที่เขาบอกว่า นักเขียนศรีบูรพาต้องมีอายุงาน 30 ปีขึ้น ผมก็มานึกย้อนไปดู ผมก็เกิดจินตนาการว่า เราเหมือนมดตัวเล็กๆ ที่เดินไต่ไปตามขอบกระด้งและเดินมาครบวงได้ วงของสามสิบปีนะ

แต่ก็มีวงอื่นต่อไปอีก โดยไม่หายไปในระหว่างทาง แต่ก็ตกหล่นเหมือนกัน ตกหล่นก็ปีนกลับขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าสำนวนฝรั่งเขาเรียกว่านกที่จะบินมาไกลๆ ได้ต้องขึ้นให้ถึงลมบน ไม่ใช่ลมพัดชายเขา

ซึ่งนกที่จะบินถึงลมบนได้ต้องมีลมใต้ปีกเช่นเดียวกัน ลมใต้ปีกในที่นี้ก็คือ บก.หรือรุ่นพี่ หรือมิตรแท้ของเรา ที่คอยอ่านงานและพูดความจริงกับเรา"

บรรณาธิการเป็นเสมือนลมใต้ปีก

สำหรับวัฒน์แล้ว บรรณาธิการ มีบทบาทสำคัญต่อนักเขียนมาก วัฒน์ เล่าว่า

"ถ้าเรียง บก.ตามลำดับเวลาก็มี “คุณธิดา บุนนาค” ที่จัดรายการ “ถนนนักเขียน” สถานีวิทยุยานเกราะ ท่านต่อมาคือ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ที่แก้ต้นฉบับและถ้าเอาต้นฉบับจริงมาเทียบกับที่ลงไปจะรู้ว่า อะไรควรเขียน ไม่ควรเขียน หรืออะไรที่เยิ่นเย้อ ไม่เยิ่นเย้อ

ตรงไหนดีจะเน้นตัวดำตัวเอน อันนี้เป็นการศึกษาเป็นเหมือนครูโดยไม่ได้ไปเจอกัน คนถัดมาคือ “พี่เสถียร จันทิมาธร” และ “พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ” ที่ช่วยเขียนคำรวมบทกวี

คนต่อมาคือ “สุวรรณี สุคนธา” ผมเอาเรื่องสั้นไปส่ง แกจะเอาเงินสดจ่ายค่าเรื่องให้เดี๋ยวนั้นเลย และให้ราคาเพิ่มขึ้นของราคาทั่วไป ตอนนั้นราคาทั่วไป 500 บาท แต่แกให้ผมพันหนึ่งและบอกว่า “ฉันอยากให้เธออยู่ได้”

ตอนนั้นเริ่มเป็นนักเขียนอาชีพตั้งแต่ปี 2524 แล้วก่อนตายแกก็เขียนฝากฝังไว้กับนักอ่าน ฝากนักเขียนคนนั้นคนนี้ คงเอ็นดูผมเหมือนลูก เพราะผมเป็นรุ่นเดียวกับ “น้ำพุ” ที่ตายเพราะยาเสพติด

ถ้าเป็นช่วงปลายนี้คนที่เป็นกำลังเป็นแรงก็คือ “ชีวี ชีวา” เขาเอาใจใส่ผมดีทั้งที่เป็นยุคที่งานเขียนแบบผมไม่ได้อยู่ในกระแสแล้ว"

วรรณกรรมแนวเพื่อสังคม

ในยุคหนึ่งวรรณกรรมแนวเพื่อสังคม ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร วัฒน์ เล่าว่า

"ผมว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา จะให้คนอ่านแต่วรรณกรรมเพื่อชีวิตหรือวรรณกรรมการเมืองตลอดคงเป็นไปไม่ได้

วรรณกรรมต้องมีหลายรสหลายชาติ ทั้งเรื่องผี เรื่องตลก หรือมีเรื่องที่อ่านเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว บันเทิงครึ่งสาระครึ่ง คงมีเฉพาะบางยุคเท่านั้นแหละที่เป็นยุคพิเศษ

ยุคที่สังคมมีปัญหา อย่างเช่นยุคปี 2550 คนก็เริ่มหันมาอ่านเรื่องของประวัติศาสตร์ เรื่องความคิดการเมืองกันอีกแล้ว หนังสือประเภทสอนลูกให้รวยคนก็ไม่อ่านกัน มันเป็นอนิจจัง เป็นฤดูกาล ไปบังคับไม่ได้"

................

เรียบเรียงจาก จุดประกาย วรรณกรรม ปีที่ 20 ฉบับที่ 6638 วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2550 ผลงานเขียนพรชัย จันทโสก