“เบตง” ไม่ได้มีแค่สนามบินใหม่กับ “ข้าวมันไก่เบตง”

“เบตง” ไม่ได้มีแค่สนามบินใหม่กับ “ข้าวมันไก่เบตง”

อำเภอเบตง ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องขณะนี้ หลังจากการเปิดสนามบินเบตงและมีเที่ยวบินมาแบบเปิดๆ ปิดๆ จนทำให้นอกจากสนามบินใหม่ได้เป็นที่รู้จักแล้ว เมนูขึ้นชื่ออย่าง ข้าวมันไก่เบตง ก็กลับมาป๊อปปูลาอีกครั้ง

แต่ ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน เมืองเบตง ยังมีของดีอีกหลายอย่าง ทุกอย่างล้วนเป็นอัตลักษณ์มีเฉพาะที่นี่ และแน่นอนว่าทุกอย่างต้องทำให้ร้องว้าว ไม่ว่าจะด้วยรสชาติ รูปร่างหน้าตา คุณค่า หรือว่าความโดดเด่นเฉพาะตัว

กบภูเขา

ถ้าไม่นับไก่เบตงที่ขึ้นชื่อว่ามีเนื้ออันอวบอิ่ม กบภูเขา คืออีกหนึ่งสัตว์ประจำถิ่นที่ต้องยอมรับเรื่องความใหญ่โตเกินหน้าเกินตาพวกพ้องกบสายพันธุ์อื่นๆ กบภูเขาเบตง ส่วนที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติจะอยู่ในป่าเบญจพรรณที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้กบชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่ากบทั่วไป โดยมีพิกัดน้ำหนักอยู่ที่ตัวละ 0.5 - 1.0 กิโลกรัมเลยทีเดียว

“เบตง” ไม่ได้มีแค่สนามบินใหม่กับ “ข้าวมันไก่เบตง”

ส่วนกบภูเขาแบบเลี้ยง ก็จะเลี้ยงตามธรรมชาติบนภูเขาเช่นกัน จึงได้กบตัวโต เนื้อแน่นไม่แพ้กบธรรมชาติ

ความใหญ่โตนี้ตามมาด้วยเนื้อแน่นหวานอร่อย จนทำให้กบภูเขาขึ้นแท่นเมนูยอดนิยมชาวเบตงนิยมนำกบเบตงมาผัด หรือทอดกระเทียมพริกไทย และยังมีโจ๊กสูตรเฉพาะที่น่าจะถูกใจคนชอบกินกบ โดยใช้เนื้อกบแทนเนื้อหมูใส่ในโจ๊ก หรือที่เรียกว่า “โจ๊กกบ”

 

เฉาก๊วย (วุ้นดำ) กม.4

พอพูดถึงเฉาก๊วยหลายคนจะนึกถึงเฉาก๊วยชากังราว แต่ที่จริงแล้ว เบตงมี เฉาก๊วยเบตง เป็นของหวานขึ้นชื่อ แต่ภาษาถิ่นเรียกกันว่า “วุ้นดำ” โดยมีร้านเด็ดร้านดังคือ วุ้นดำ กม.4

“วุ้นดำ กม.4” เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกินของที่นี่ เป็นเฉาก๊วยแท้ๆ ที่ทำมาจากต้นเฉาก๊วยจริงๆ นำมาผ่านกระบวนการดั้งเดิมที่สืบทอดมารุ่นสู่รุ่น เห็นเป็นวุ้นดำๆ กินง่ายๆ แบบนี้ แต่ต้องใช้เวลาทำนานหลายชั่วโมง กว่าจะได้เฉาก๊วยเนื้อหนึบหนับ เสิร์ฟมาเป็นลูกเต๋า กินกับน้ำเชื่อม น้ำหวาน เป็นเมนูน้ำแข็งไสที่อร่อยเย็นชื่นใจ

“เบตง” ไม่ได้มีแค่สนามบินใหม่กับ “ข้าวมันไก่เบตง”

ร้านวุ้นดำ กม.4 ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านฮากกา กม. 4 เป็นร้านเก่าแก่ดั้งเดิม มีเอกลักษณ์เรื่องกลิ่นหอมจากเฉาก๊วยแท้ เนื้อเหนียวนุ่ม หั่นเป็นลูกเต๋า มีสรรพคุณช่วยแก้ร้อนใน

คำว่า เฉา แปลว่าหญ้า คำว่า ก๊วย แปลว่าขนม ซึ่งก็หมายถึงขนมที่ทำมาจากต้นเฉาก๊วยมี

ผักน้ำ

ผักน้ำ (Water Cress) เป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ปลูกอยู่ในอำเภอเบตงมานาน ว่ากันว่านานพอๆ กับการอพยพของชาวจีนเข้ามาสู่ประเทศไทย

“ผักน้ำ” มีถิ่นกำเนิดแถบประเทศฝรั่งเศสแล้วนำมาปลูกในประเทศจีน ต่อมาประเทศไทยได้นำเข้ามาปลูกแถบภาคเหนือและภาคใต้ด้วยการนำเข้ามาปลูกโดยชาวจีนอพยพ การปลูกผักน้ำช่วงแรกปลูกเพื่อบริโภคกันในหมู่ชาวจีนเท่านั้น ต่อมาได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

“เบตง” ไม่ได้มีแค่สนามบินใหม่กับ “ข้าวมันไก่เบตง”

“ผักน้ำเบตง” ลักษณะคล้ายผักบุ้งแต่อวบน้ำ ต้องปลูกในที่ที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ความพิเศษของผักน้ำคือต้องมีน้ำจากภูเขาไหลผ่านตลอดเวลา โดยเฉพาะน้ำที่ไหลมาจากซอกหิน ซึ่งจะใสเย็นไม่มีสนิม แต่ส่วนมากกระแสน้ำจากลำธารจะแรงมาก การปลูกผักน้ำจำเป็นต้องทำทำนบกั้นน้ำ ในขั้นแรกเพื่อควบคุมความแรงของน้ำ หรือขุดคลองซอยแล้วแยกเข้าบ่อผักน้ำก็ได้จากข้อสังเกตการปล่อยน้ำเข้าบ่อแรกแล้วให้ไหลลงสู่บ่อที่ 2 และบ่อที่ 3 ตามลำดับ ผักจะมีอัตราการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน บ่อแรกการเจริญเติบโตดีมากและจะลดหลั่งลงไปตามลำดับ  ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับความเย็นและความใสของน้ำตลอดทั้งขี้โคลนด้วย

ชาวเบตงนิยมนำผักน้ำมาประกอบอาหารหลายอย่าง เช่น ผัดผักน้ำ แกงจืด กินกับน้ำพริก นอกจากจะนำมาประกอบอาหารแล้ว ผักน้ำยังเป็นยาแก้ร้อนในได้อีกด้วย

ปลาจีน

อีกหนึ่งอาหารประจำเบตงที่ไม่กินเหมือนจะมาไม่ถึง นั่นคือ ปลาจีน หรือ เฉาฮื้อ ถึงแม้จะเป็นปลาที่มีก้างมากคล้ายปลาตะเพียน แต่ก็ได้รับความนิยมในเบตงสุดๆ ไม่ว่าจะ ปลาจีนนึ่งบ๊วย ปลาจีนนึ่งซีอิ๊ว หรือประยุกต์เป็นจานเด็ดแบบไทยๆ เช่น ปลาจีนแดดเดียว ชิ้นบางๆ ทอดกรอบกินได้ทั้งกระดูก

ปลาจีนเป็นปลาที่มีต้นกำเนิดมาจากลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ประเทศจีน เจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย มีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิดคือ ปลาไน ปลาเฉา ปลาลิ่น ปลาซ่ง และปลาเฉาดำ แต่มีเพียง 3 ชนิดที่นิยมเลี้ยงรวมกันคือ ปลาเฉา ปลาลิ่น และปลาซ่ง ส่วนปลาไนนั้นเลี้ยงกันจนเป็นปกติวิสัยและบางคนไม่นับเป็นปลาจีน

“เบตง” ไม่ได้มีแค่สนามบินใหม่กับ “ข้าวมันไก่เบตง”

ประเทศไทยเพาะพันธุ์ปลาจีนได้ตั้งแต่ พ.ศ.2509 ซึ่งสายพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงในเบตงคือปลาเฉาฮื้อ ปลาชนิดนี้ยังค่อนข้างเป็นตลาดเฉพาะ ซึ่งปลาเฉาฮื้อจะจำหน่ายตัวเป็นๆ หรือขณะที่ปลายังมีชีวิตอยู่ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท

สวนหมื่นบุปผา

สวนหมื่นบุปผา คือความคอนทราสแห่งเบตง เพราะเมื่อพูดถึงดอกไม้เมืองหนาว คนก็มักจะนึกถึงภาคเหนือ แต่ที่ใต้สุดแดนสยามแห่งนี้ก็มีสวนดอกไม้เมืองหนาวแห่งเดียวในภาคใต้ เนื่องจากเบตงมีอากาศเย็นสบายทั้งปี เหมาะสมกับการปลูกไม้ดอกเมืองหนาว

สวนดอกไม้นี้อยู่ท่ามกลางภูเขา ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านปิยะมิตร 2 ซึ่งเดิมเคยเป็นหมู่บ้านของผู้ที่เข้าร่วมพัฒนาชาติไทยเมื่อครั้งอดีต

“เบตง” ไม่ได้มีแค่สนามบินใหม่กับ “ข้าวมันไก่เบตง”

ปัจจุบันหมู่บ้านปิยะมิตรยังอยู่เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำให้กับบรรพชนรุ่นหลังที่อาศัยอยู่ ณ ที่นี้ อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของชาวหมู่บ้านปิยะมิตร และโครงการปลูกดอกไม้เมืองหนาว ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโครงการส่งเสริมรายได้ให้กับชาวหมู่บ้านปิยะมิตรอีกทางหนึ่ง

ดอกไม้ที่บานสะพรั่งในสวนหมื่นบุปผามีหลากหลาย อาทิ แกลดิโอลัส บานไม่รู้โรย ดาวเรือง ซัลเวีย รักเร่ ซ่อนกลิ่น ฮอลลี ฮ็อก ผีเสื้อ พีค็อก สร้อยทอง แอสเตอร์จีน เสี้ยนฝรั่ง เป็นต้น