"เกิดน้อย-อายุยืน-ขาดแคลนแรงงาน" ปัญหาประชากรที่พูดซ้ำๆ แต่ยังแก้ไม่ได้

"เกิดน้อย-อายุยืน-ขาดแคลนแรงงาน" ปัญหาประชากรที่พูดซ้ำๆ แต่ยังแก้ไม่ได้

พูดคุยกับ รศ.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ว่าด้วยยุคสมัยของการเกิดน้อยอายุยืน ขาดแคลนแรงงาน ที่พูดถึงกันมานาน แต่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาได้เสียที

จนถึงวันนี้ยังมีใครไม่รู้อีกไหม? สังคมไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยไปเรียบร้อย แถมยังมีอัตราการเกิดน้อย แบบที่เรียกว่า "เกิดน้อยอายุยืน"

การประมาณการประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานต่อคณะรัฐมนตรีพบว่า สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวน 12 ล้านคน คิดเป็น 18 % ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มเป็น20.42 ล้านคน หรือคิดเป็น 31.28 % ในปี 2583

ขณะที่ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคน หรือ 65 % ในปี 2563 เป็น 36.5 ล้านคน หรือ 56 %ในปี 2583

อธิบายง่ายๆว่า สังคมไทยจะมีคนทำงานน้อยลง และกลายเป็นมีแรงงาน พอๆกับผู้สูงอายุ จากวัยแรงงาน 3.6 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2563 ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คนในปี 2583 ท่ามกลางอีกสถานการณ์ที่ว่า ผู้คนส่วนใหญ่มีทรัพย์สินยังไม่เพียงพอในการเกษียณ

"แก่ก่อนรวย" ใครบางคนนิยามไว้เช่นนั้น

 

ครั้นจะหวังพึงพาแรงงานหน้าใหม่ก็ดูจะริบหรี่ และเมื่อเร็วๆ สำนักงานสถิติแห่งชาติ แสดงข้อมูลจำนวนการเกิดประจำปี 2564  ซึ่งพบว่า มีจำนวนประชากรเกิดใหม่ ลดลงจากปี 2563 ถึง 42,798 คนแถมยังเป็นปีแรกที่มีอัตรา การเกิดน้อยกว่าการตาย 

\"เกิดน้อย-อายุยืน-ขาดแคลนแรงงาน\" ปัญหาประชากรที่พูดซ้ำๆ แต่ยังแก้ไม่ได้

ภาพ : Nation photo

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ซักถาม รศ.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์  อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงถึงสิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญ  

 

1-2 สัปดาห์ คนไทยกำลังพูดถึงอัตราการเกิดที่น้อยลงของปีที่ผ่านมา และเป็นปีแรกที่อัตราการเกิดน้อยกว่าการตาย มองเรื่องนี้อย่างไร?

ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิด  สัญญาณเช่นนี้บอกเราตั้งแต่เกือบ 30 ปีที่แล้ว และมีงานวิจัยหรือผลสำรวจที่ชี้ไปในลักษณะเช่นนี้มาสักระยะแล้ว

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีงานวิจัยแสดงถึงอัตราการเจริญพันธุ์หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงหนึ่งคนลดลงอย่างต่อเนื่อง คือจากเดิมที่มีอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rates - TFR) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 2.1 ในช่วง พ.ศ.2537 หรือประมาณ 30 ปีที่แล้ว ก็ค่อยๆ ลดต่ำลงมาเรื่อยๆ จนเป็น 1.3 ในปัจจุบัน

อัตราการเกิดจึงต่ำลงเรื่อยๆ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังเคยคาดว่าหากยังมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไป ประมาณ พ.ศ. 2574 จำนวนประชากรจะลดลง ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า อัตราการเกิดที่ต่ำลง ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างและจำนวนประชากรมีมาอย่างต่อเนื่อง จำนวนเด็กเกิดลดลงเป็นมากว่า 30 ปีแล้ว 

แต่ที่เป็นประเด็นเร็วๆนี้ นั่นเพราะมีการเปรียบเทียบระหว่างจำนวนการเกิดกับการตาย นั่นคือในปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่ที่ 5.4 แสนคน ในขณะที่จำนวนการตายสูงกว่าคือ 5.6 แสนคนตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ขณะที่เมื่อเทียบกับ ปี พ.ศ.2554 เรายังมีตัวเลขการเกิดสูงเกือบ 8.5 แสนคน ในขณะที่ 10 ปีผ่านไป ตัวเลขการเกิดต่ำกว่า 5.5 แสนคน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ตัวเลขการเกิดลดลงมากกว่า 1 ใน 3 โดยใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น

แน่นอนว่า เมื่อจำนวนเด็กเกิดน้อยลง ย่อมหมายถึงผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกัน ได้แก่ แนวโน้มจำนวนประชากรไทยลดน้อยลง การขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้นในอนาคต การลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้งานสำหรับคนจำนวนมากๆ จะเสียเปล่า รวมถึงโครงสร้างของครอบครัวจะเปลี่ยนไป ครอบครัวขยายจะน้อยลงมาก ครอบครัวเดี่ยวแบบไม่มีลูกมากขึ้น ทัศนคติการมีครอบครัวเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เน้นความสมดุลของชีวิตส่วนตัวและชีวิตที่มีอิสระ

\"เกิดน้อย-อายุยืน-ขาดแคลนแรงงาน\" ปัญหาประชากรที่พูดซ้ำๆ แต่ยังแก้ไม่ได้ รศ.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์  อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

รัฐรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า อัตราการเกิดมีแนวโน้มลดน้อยลง แต่ทำไมเกือบ 30 ปีผ่านไป ถึงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ยังพูดซ้ำๆถึงเรื่องนี้อยู่

การตัดสินใจมีบุตรเป็นเรื่องปัจเจกของคู่รักหรือคู่แต่งงาน เป็นการตัดสินใจเฉพาะบุคคล รัฐมีหน้าที่เพียงกำหนดนโยบายและวางแนวทางเพื่อเอื้อต่อการตัดสินใจให้กับคู่รักนั้น

ที่ผ่านมารัฐเองก็มีแนวทางในลักษณะนี้ เช่น การส่งเสริมให้คนไทยเห็นคุณค่าต่อการมีบุตร โดยการใช้ภาพลักษณ์ของการเติมเต็มความสุข การมีลูกคือการมีครอบครัวที่สมบูรณ์  สนับสนุนให้ทานวิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก 1 เม็ดต่อสัปดาห์ ก่อนตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิด

การให้เงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39

เงินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเดือนละ 600 บาท สำหรับครอบครัวรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคน รวมถึงการให้สิทธิในการเรียนฟรี การใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในการมีบุตร คนละ 30,000 บาทต่อปี

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า การสนับสนุนของรัฐที่มีอยู่นี้ ที่เรายกตัวอย่างมาทั้งหมด เพียงพอต่อการมี “คุณภาพชีวิตที่ดี” ของเด็กที่จะเกิดขึ้นมา ตามมุมมองของคู่รักหรือครอบครัวนั้นแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงเรื่องเศรษฐกิจที่กลายเป็นปัญหาใหญ่  นั่นเพราะหากสิ่งที่รัฐมีให้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ นั่นก็หมายถึงว่าแต่ละครอบครัวต้องดิ้นรนหาทางเอง ไม่ว่าจะเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่าชุด ค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่าของเล่น ค่าของใช้ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าลูกเราไม่ได้ด้อยไปกว่าลูกคนอื่น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้สูงขึ้นทุกวัน

เคยมีคนยกตัวอย่างว่า เงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท ใช้จ่ายแค่ค่านมลูกต่อเดือนก็แทบจะไม่พอแล้ว ซึ่งเมื่อไม่พอก็ทำให้ต้องหาเพิ่ม มันจึงเป็นการตัดสินใจของพวกเขา (คู่รัก) ว่าจะเลือกมีสมาชิกครอบครัวเพิ่มไหม

ทุกวันนี้ผู้หญิงต้องทำงานเช่นเดียวกับชาย การรับผิดชอบดูแลเด็กมักตกแก่หญิงเป็นหลัก เมื่อทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานนอกบ้าน การเลี้ยงดูเด็กเล็กจึงหนักมาก เราจึงเห็นหลายครอบครัวที่ตัดสินใจมีลูก เมื่อคุณแม่ก็ต้องออกไปทำงาน ก็ให้ตายาย ปู่ยา หรือญาติผู้ใหญ่เป็นคนเลี้ยงดูหลัก หรือบางครอบครัวส่งลูกไปอยู่ต่างจังหวัดกับญาติผู้ใหญ่เป็นผู้เลี้ยงถาวร โดยที่จะกลับไปหาลูกเพียงเสาร์อาทิตย์ หรือไม่ก็วันหยุดที่ไม่ต้องทำงาน

\"เกิดน้อย-อายุยืน-ขาดแคลนแรงงาน\" ปัญหาประชากรที่พูดซ้ำๆ แต่ยังแก้ไม่ได้

เหมือนทุกอย่างจะกลับมาที่เรื่องเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดี คือตราบใดที่คู่รักยังคิดว่ามีฐานะยัง “ไม่เพียงพอ” ก็ไม่คิดจะมีทายาท

ปัจจุบันคู่แต่งงานใช้คำว่า “ไม่พร้อม” ที่จะมีบุตร ซึ่งสำหรับในอดีตยังไม่ถูกใช้เท่าทุกวันนี้ คนไทยยุคเบบี้บูม นั้น เมื่อแต่งงานแล้วก็มีลูก โดยไม่มีคำว่า “ไม่พร้อม” คือแต่งงาน มีลูก เป็นของคู่กัน

นิยามของคำว่า “พร้อม หรือ ไม่พร้อม” ของแต่ละครอบครัวก็อาจจะต่างกัน บางครอบครัวหมายถึงความพร้อมที่จะเลี้ยงดูชีวิตใหม่ที่จะเกิดมา มีเงินเลี้ยง มีอาหาร มีปัจจัย 4 ที่เพียงพอ

 แต่บางครอบครัวนอกจากเรื่องเงินแล้วยังหมายถึง เขาต้องพบความสำเร็จและถึงเป้าหมายชีวิตส่วนหนึ่งแล้ว บางครอบครัวไม่ได้มองแค่เรื่องเงินและความสำเร็จในอาชีพเป็นหลัก แต่ยังเกี่ยวข้องกับบริบทอื่นๆ เช่น สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม บางคนจะพร้อม เขาก็ต้องมีความสุขประสบความสำเร็จในฐานะคนมีคู่ที่ยังไม่มีบุตรก่อน จากนั้นค่อยคิดในสเต็ปต่อไป ซึ่งก็อาจจะเป็นช่วงอายุที่พ้นวัยเจริญพันธุ์ไปแล้วด้วย

\"เกิดน้อย-อายุยืน-ขาดแคลนแรงงาน\" ปัญหาประชากรที่พูดซ้ำๆ แต่ยังแก้ไม่ได้

เท่ากับว่า แนวโน้มการเกิดลดน้อยลงจะยังคงมีต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยไทยหรือประเทศไหนๆ ทั่วโลก เพราะทุกคนก็มองว่าฐานะทางเศรษฐกิจสำคัญที่สุดในการคิดจะมีบุตร

ต้องยอมรับเหมือนกันว่าว่าทัศนคติต่อเป้าหมายของการมีบุตรหลายสิบปีที่ผ่านเปลี่ยนไปอย่างถาวร คือเมื่อเราต้องเจอกับการดิ้นรนเลี้ยงปากท้อง ต้องเจอกับเศรษฐกิจ เกิดการแข่งขัน การมีลูกจึงเป็นความหมายของการมีภาระทางเศรษฐกิจ การขาดอิสรภาพทางสังคม ในยุคที่รัฐต้องการลดจำนวนประชากร เราเน้นว่า “มีลูกมากจะยากจน” เราใช้เศรษฐกิจนำ การมีบุตรจึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างชีวิตที่สมบูรณ์ของครอบครัวกับภาระทางเศรษฐกิจที่จะเป็นผลตามมา

สำหรับคนที่เป็นแม่ การมีลูกนั่นคือความสุขอยู่แล้ว แม่อยากอยู่กับลูก อยากใช้เวลาเลี้ยงดู แต่เมื่อผนวกเศรษฐกิจและภาระที่สังคมต้องคาดหวัง เพราะสังคมยังมองว่าหน้าที่การเลี้ยงดูลูกยังเป็นของผู้หญิงอยู่ หมายความว่าผู้หญิงที่มีลูกแล้วทำงานไปด้วยต้องแบกรับภาระเต็มๆ ทั้งสองทาง ทำให้คนเป็นแม่ต้องเลี้ยงดูลูกด้วย ต้องออกไปทำงานด้วย กลับมาบ้านก็ล้างขวดนม เลี้ยงลูก พอคิดถึงตรงนี้แล้วหักลบกับความสุข มีการ “ชั่งน้ำหนัก” แล้ว ผู้หญิงจำนวนหนึ่งก็ตัดสินใจที่จะยังไม่มีดีกว่า

ถามว่าประเทศอื่นมีไหมที่เป็นแบบนี้ มีเหมือนกัน อย่างเช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเคยมีการเกิดต่ำ แต่สามารถกระตุ้นให้กลับขึ้นมาได้  เขาก็แก้ปัญหาโดยการมีสวัสดิการที่ดี เช่น โรงเรียนที่มีคุณภาพซึ่งจะเรียนที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ไม่ต้องแย่งเข้าโรงเรียนดัง  การส่งเสริมผู้ชายที่จะช่วยแบ่งเบาภาระภรรยาในการเลี้ยงดูลูก รวมถึงการมีสถานรับเลี้ยงเด็กในที่ทำงานเกือบทุกแห่ง หรืออย่างน้อย สถานที่ทำงานก็จะมีเครือข่ายสถานรับเลี้ยงเด็กใกล้ๆ เพื่อให้แม่กลับมาทำงานได้ และเอาลูกไปสถานรับเลี้ยงดูแลในช่วงเวลางาน โดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม โอกาสการทำงาน และความก้าวหน้าของผู้หญิงไม่ลดลงเมื่อมีบุตร

สำหรับประเทศไทยปัญหาเหล่านี้จะเริ่มแก้ไขอย่างไร?

ในช่วงที่การเกิดยังเป็นขาขึ้น รัฐมีนโยบายคุมกำเนิดและเน้นการเกิดแบบคุณภาพมากกว่าปริมาณ ตอนนั้นใช้เวลากว่า 20 ปีจึงทำให้ภาวการณ์เจริญพันธุ์เท่ากับ 2.1 หรืออัตราที่ทดแทนจำนวนประชากรให้คงที่ได้ หลังจากนั้นมา 30 ปีแล้วที่ไทยมีอัตราการเกิดเป็นขาลง เราจะทำให้มัน U-turn กลับไปเป็นขาขึ้นในเวลาอันสั้น ยากมาก คงต้องไปเรียนรู้นโยบายของประเทศที่กระตุ้นการเกิดได้สำเร็จ เช่น ประเทศสวีเดน

รัฐต้องมีแนวทางช่วยเหลือ เงินสวัสดิการ เงินอุดหนุนต่างๆ การมีสถานศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อจูงใจให้คู่รักตัดสินใจ และเชื่อมั่นว่าการมีลูกแล้วจะทำให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ ขณะเดียวกันองค์กร บริษัทก็ต้องช่วยเรื่อง การดูแลเด็กอ่อนในที่ทำงาน เหล่านี้สร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงในการมีบุตรได้บ้าง สวัสดิการต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้เงินมากกว่าตอนที่รัฐพยายามคุมกำเนิด

นอกจากเรื่อง สวัสดิการและบทบาทของรัฐแล้ว การส่งเสริมทัศนคติที่ดีของการมีครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ มีงานวิจัยพบว่า คนที่อยู่เป็นคู่มีครอบครัว มีความสุขโดยรวมมากว่าคนที่เป็นโสดและคนที่ครอบครัวแยกกันอยู่ เราคงต้องหาทางส่งเสริมทำให้คนที่แต่งงานสามารถดำรงความเป็นครอบครัวได้ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปแล้ว

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรต้องใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันมันมีสิ่งที่รอไม่ได้แล้วคือ ประชากรวัยทำงานลดลง เราเห็นการขาดแคลนแรงงานในหลายสาขาอาชีพ เศรษฐกิจจะไปต่อได้ เรามี 2 ทางเลือก คือ หนึ่งนำเข้าคนวัยทำงาน เพื่อมาชดเชยแรงงานไทยที่ลดลง หลายประเทศใช้วิธีนี้ ซึ่งไทยก็สามารถนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่าแรงงานไทย

ส่วนคนไทยจำนวนมากก็ย้ายไปใช้แรงงานในประเทศอื่นที่ให้ค่าแรงสูงกว่า ภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นและมีแนวโน้มเปลี่ยนช้าคือ ภาคเกษตรและการผลิตที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร และสองปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้ใช้คนน้อยลง คือ ใช้เทคโนโลยีมาทำให้ผลิตภาพเพิ่ม ใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ เรานำเครื่องจักรกลมาใช้แทนแรงงานมนุษย์ในโรงงานมานานแล้ว แต่เท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องลดจำนวนแรงงานในกระบวนการผลิตลงไปอีก ทางเลือกนี้แทบจะเป็น flight บังคับเลยไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะไปต่ออย่างรุ่งเรืองยากมาก