วิกฤต"เด็กเกิดใหม่"น้อย..กระทบธุรกิจการศึกษา

วิกฤต"เด็กเกิดใหม่"น้อย..กระทบธุรกิจการศึกษา

“เด็กเกิดใหม่น้อยลงย่อมส่งผลต่อธุรกิจการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอดีตมีอัตราเด็กเกิดใหม่เข้าสู่ระบบการศึกษาประมาณ 1,000,000 กว่าคน ปัจจุบันมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 8 แสนคน และในอีก 10 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์ว่าเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 5 แสนคน

"ธุรกิจการศึกษา ได้รับผลกระทบจากภาวะเด็กเกิดน้อยอย่างแน่นอน เพราะเมื่อไม่มีเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา มหาวิทยาลัยจะสอนใคร”

ด้วยปัญหาเด็กเกิดน้อยตัวป้อนของระบบการศึกษาลดน้อยลงแล้ว ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อินกับใบปริญญามากมายเหมือนในอดีต และการไปเรียนยังมหาวิทยาลัยดังๆ ในต่างประเทศก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นผ่านระบบออนไลน์ เรียกได้ว่า อยู่มุมไหนของโลกก็สามารถเรียนรู้ทั้งในระบบและผ่านออนไลน์ได้ วันนี้ “สถาบันอุดมศึกษาไทย” ไม่ว่าจะรัฐ หรือเอกชนต่างต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เล่าต่อว่าเมื่อก่อน ม.หอการค้าไทยได้รับเด็กเข้าเรียนปีละ 7,000-8,000 คน แต่ตอนนี้เหลือเพียง 4,500 คน ขณะที่ภาพรวมของเด็กจากเดิม 25,000 คน ตอนนี้เหลือเพียง 22,000 คน เนื่องด้วยเด็กเกิดน้อยลง และคนยุคใหม่ให้ความนิยมใบปริญญาน้อยลง โดยเฉพาะปริญญาตรี แต่ในส่วนของปริญญาโท ปริญญาเอก และการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสนใจมากขึ้น ดังนั้น มหาวิทยาลัยในขณะนี้ต้องมองให้ครบวงจร  และต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นคาดว่าจะเกิดการควบรวมของมหาวิทยาลัย หรือการปิดตัวลงของมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน

ปัจจัยอยู่รอดของอุดมศึกษาไทย

จำนวนมหาวิทยาลัยล้นมากกว่าจำนวนเด็ก ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยรัฐหรือเอกชนต่างเปิดรับสมัคร และเปิดหลักสูตรพิเศษ หลักสูตรนอกเวลา รวมถึงจะมุ่งเน้นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เปิดหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ มีรายวิชาให้เด็กได้เลือกเรียนตามไลฟ์สไตล์ ความชอบของเขา โดยไม่ได้เป็นคณะๆเหมือนในอดีต แต่เด็กสามารถช็อปรายวิชาเรียนได้ และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยให้เด็กเลือกเรียนมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยจะอยู่รอดได้” อธิการบดีม.หอการค้าไทย กล่าว

“ม.หอการค้าไทย” เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่มีหอการค้าเป็นเจ้าของ ซึ่งคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรต่างมีประสบการณ์ตรงจากภาคธุรกิจ เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในตำราเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเท่าทันธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

รศ.ดร.ธรวรรธน์ เล่าต่อไปว่า มหาวิทยาลัยได้มีการปรับตัวในหลายด้าน ทั้งการจัดการเรียนการสอนที่ให้อิสระแก่นักศึกษาในการเลือกเรียนวิชาที่ตนเองต้องการ เมื่อจบการศึกษาก็จะมารวมสายรายวิชาที่นักศึกษาเรียน มีรายวิชาของคณะไหน ภาควิชาไหนมากนักศึกษาก็จะจบในสาขา ภาควิชา คณะนั้นๆ หรือนักศึกษาจะเรียนตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยจัดให้ก็ได้ รวมถึงมีการปรับหลักสูตรให้มีความทันสมัย

“ม.หอการค้าไทย” ผนึกม.ชั้นนำระดับโลก

ม.หอการค้าไทยได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ MIT ในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือร่วมกับ SEAC (Southeast Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนสำหรับผู้นำ และ Stanford Center for Professional Development (SCPD)ในการจัดทำวิชาออกแบบชีวิต 

นอกจากนั้น ม.หอการค้าไทย ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮาร์เบอร์สเปซ มหาวิทยาลัยแถวหน้าทางด้านการบริหารธุรกิจ เทคโนโลยี และการออกแบบ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน สานต่อโครงการหลักสูตร Harbour.Space @UTCC  ทั้งหมดความร่วมมือนี้จะเป็นถ่ายทอดวิวัฒนาการชั้นนำการเรียนการสอน

 

เรียนรู้จากประสบการณ์จริง สู่สตาร์ทอัพ

ม.หอการค้าไทย มีการปรับตัวในหลายๆ ด้วย โดยเป้าหมายในขณะนี้จะเพิ่มจำนวนผู้เรียน และมุ่งสู่การเรียนสอนที่ได้มาตรฐานไทยและต่างประเทศ เรียนรู้จากกูรู ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง มาเรียนตามแนวสตาร์ทอัพ การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษา

“เด็กยุคใหม่ไม่ได้สนใจปริญญาและเรียนรู้ได้หลากหลายไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียน การเรียนในมหาวิทยาลัยจึงต้องมีหลักสูตรใหม่ๆ ให้โดนใจเด็ก และสอนในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถไปค้นหาจากไหนได้ โดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของนักธุรกิจชั้นน้ำ เน้นกิจกรรมเป็นหลัก นักศึกษาของ ม.หอการค้า ทุกคณะต้องผ่านการเรียนรู้แนวคิดธุรกิจ ทำธุรกิจ สร้างธุรกิจและมีการเชื่อมโยง นำเทคโนโลยีมาใช้ นักศึกษาทุกคนจะใช้ไอแพคในการเรียนการสอน เรียนรู้ให้สอดคล้องกับการทำงานจริงทั้งหลักสูตรตรี โท เอก” รศ.ดร.ธรวรรธน์ กล่าว

 

หลักสูตรยอดนิยมของคนรุ่นใหม่

อธิการบดีม.หอการค้าไทย กล่าวต่อว่า หลักสูตรที่เด็กรุ่นใหม่นิยมเรียน ส่วนใหญ่เป็นหลักสูตรด้านไอที  แอนิเมชั่น ดิจิตอลอาร์ต เกม อีสปอร์ต หรือการออกแบบ ดีไซต์ และการลงทุนเกี่ยวกับดิจิตอล ขณะที่สาขาวิชาชีพดั่งเดิมที่เด็กยังต้องการเรียนรู้ จะเป็นกลุ่มอาชีพบัญชี และภาษา โดยเฉพาะภาษาเกาหลี จีน และอังกฤษ ได้รับความสนใจเรียนจากเด็กมาก เช่นเดียวกับงานบริการอย่างการเรียนเกี่ยวกับการจัดงาน จัดอีเว้นต์ต่างๆ  และด้านโลจิสติกส์ ธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งสายอาชีพงานเหล่านี้ได้รับความสนใจจากเด็กและตลาดแรงงานอย่างมาก

“การเรียนรู้ที่ดีที่สุดไม่ว่าจะยุคสมัยไหน คือการได้เรียนและทำงานในสิ่งที่ตนเองชอบ ตนเองสนใจ มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นๆ ซึ่งตอนนี้ถือเป็นโอกาสของเด็กรุ่นใหม่ในการค้นหาตนเอง เช่น หากชีวิตประจำวัน การเปิดอินเตอร์เน็ต คอนเทนต์ที่เราสนใจอ่าน ดู เป็นเรื่องท่องเที่ยว ก็อาจจะมองได้ว่าเราชอบท่องเที่ยวก็มาเรียนสายท่องเที่ยว หรือ เราเปิดคอนเทนต์สายการลงทุน อาจมาเรียนเกี่ยวกับการลงทุน บริหารธุรกิจ หรือเราดูแต่การทำอาหาร ไปเรียนหลักสูตรด้านอาหาร ซึ่งความสนใจในโลกออนไลน์อาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เราได้รู้จักความชื่นชอบของตนเองได้” รศ.ดร.ธรวรรธน์ กล่าว

เมื่อทุกคนรู้ว่าตัวเองชอบอะไร สนใจอะไร ด้วยการที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ได้มากมาย แต่การใช้ชีวิตไม่ได้ง่ายเพียงคลิ๊กนิ้วแล้วทำตามคนอื่นๆ

 รศ.ดร.ธรวรรธน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าคนที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้ ถ้าไปอ่านประวัติ ไปดูเส้นทางของพวกเขาจะเห็นได้ว่าไม่ง่าย  ดังนั้น การเลือกเรียนในคณะ หรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งใด ควรมองว่าสถานศึกษาแห่งนั้นช่วยยกระดับความสามารถ ประสิทธิภาพของเรา เมื่อเรียนแล้ว ควรทำกิจกรรม เรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ และใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดประโยชน์ เรียนในระบบการศึกษาช่วยหล่อหลอมกระบวนการคิด แต่การไปเรียนรู้ด้วยตนเองอาจจะไม่หล่อหลอมกระบวนการคิด