เอาชนะคำดูถูก จนเป็น 'ส่องแสงตะวันฉาย' นักเขียนที่เริ่มอาชีพใหม่ในวัย 52 ปี

เอาชนะคำดูถูก จนเป็น 'ส่องแสงตะวันฉาย'  นักเขียนที่เริ่มอาชีพใหม่ในวัย 52 ปี

คุณพ่อเสีย เคว้งคว้าง ตกงาน และสารพัดคำดูถูกและการถูกปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง สู่การเป็น "ส่องแสงตะวันฉาย" นามปากกาของนักเขียนนิยาย ที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัย 52 ปี

อายุ 52 ปี คุณจินตนาการออกไหมว่ากำลังทำอะไรอยู่?

สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจเพื่อเตรียมส่งต่อให้ผู้สืบทอด

ทำงานบริษัทในฐานะผู้บริหาร และกำลังขับเคลื่อนองค์กรไปตามเป้าหมาย

หรือกำลังเตรียมรีไทร์ วางแผนท่องเที่ยว ให้รางวัลชีวิตกับตัวเอง

ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ไม่ได้ใกล้กับสิ่งที่ “อโณทัย ตั้งทรงสุวรรณ์” ต้องเผชิญเลยสักนิด นั่นเพราะตอนอายุ 52 ปี  หรือเมื่อ 9 ปีก่อน เธอตกงาน เคว้งคว้าง หลังจากที่เมื่อตอนอายุ 48 ปี ตัดสินใจออกจากงานเพื่อมาดูแลพ่อที่ล้มป่วยลงจากโรคหลอดเลือดในสมองแตกจนเป็นอัมพฤกษ์

“เราเป็นลูกสาวคนโต ก็ตัดสินใจลาออกจากงานมาดูแลพ่อ เคยมีคนบอกทำไมไม่จ้างคนมาดูแลล่ะ คนอื่นอาจจะทำได้ แต่สำหรับเรา มันไม่ใช่ไง เพราะพ่อเป็นทุกอย่างให้เรา ให้เราได้เรียนต่างประเทศ ให้โอกาสได้ใช้ชีวิต เราก็ดูแลได้ 2-3 ปี จนคุณพ่อเสีย”

เอาชนะคำดูถูก จนเป็น \'ส่องแสงตะวันฉาย\'  นักเขียนที่เริ่มอาชีพใหม่ในวัย 52 ปี

“พอคุณพ่อเสียก็รู้สึกเคว้งคว้างมาก พยายามจะหางานทำก็ถูกปฏิเสธ เขาบอกว่าเรา Over qualify (เกินคุณสมบัติ) จนตอนหลังเวลาสมัครงานเราจะไม่บอกว่าเราจบปริญญาโท 2 ใบจากอเมริกา เราจะบอกแค่ว่าเราจบปริญญาตรี แต่ถึงจะพูดแบบนั้นเราก็ไม่ได้งานอยู่ดี เพราะเหตุผลจริงๆ คือเราอายุมากเกินไป ไม่มีใครอยากได้คนอายุมากไปทำงาน”

เคว้งคว้างก่อนจะ“ส่องแสง”

พล็อตเรื่องของ อโณทัย คล้ายๆ กับผู้ประสบความสำเร็จกว่าครึ่ง คือการเริ่มต้นจากการศึกษาที่ดี เรียนจบปริญญาตรี ทำงานหาประสบการณ์ ก่อนจะได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา และใช้ชีวิตที่นั่นรวม 9 ปี เธอหาประสบการณ์ตั้งแต่ทำงานพาร์ทไทม์ ทำงานเป็นผู้ช่วยสอน รวมถึงมีคลาสสอนภาษาไทยให้กับนักศึกษาปริญญาตรี

ก่อนกลับประเทศไทยเธอมีปริญญาโทสองใบจากอเมริกา ใบแรกเป็นปริญญาโทด้านการบริหารจากมหาวิทยาลัยแอตแลนตา ส่วนใบที่ 2 เป็นด้านจิตวิทยาเด็กและครอบครัวจากมหาวิทยาลัยแอละแบมา จากนั้นเธอก็กลับมาทำงานในบริษัทใหญ่และมีตำแหน่งที่สูงขึ้นตามลำดับ

เอาชนะคำดูถูก จนเป็น \'ส่องแสงตะวันฉาย\'  นักเขียนที่เริ่มอาชีพใหม่ในวัย 52 ปี

อโณทัย เมื่อครั้งใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา

ถ้านับรายได้ในขณะนั้น รวมกับธุรกิจร้านอาหารที่ทำ ชีวิตของเธอดูเป็นชีวิตที่ดี มั่นคง มีบ้าน มีเงินเก็บ มีรายได้ แต่เมื่อพ่อของเธอป่วย เธอก็ตัดสินใจที่จะออกจากงานเพื่อมาดูแลพ่อ

“เราจะจ้างพยาบาล จ้างคนมาดูแลพ่อก็ได้ แต่ทำไมเราต้องทำแบบนั้น พ่อกับพี่คลิ๊กกันมาก เป็นคนไทป์ (Type) เดียวกัน ชอบศิลปะ เป็นแบบอย่างให้เรา จำตอนที่เราต้องไปเรียนต่อต่างประเทศได้ สมัยนั้นต้องไปที่ดอนเมือง กอดคอกันร้องไห้ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรจะเจอกันอีก สำหรับเราพ่อเป็นแบบอย่าง สอนด้วยการทำให้ดู ยังจำสมัยที่ต้องนั่งรถไฟไปเรียนที่เชียงใหม่แล้วพ่อมาส่งได้ จำตอนที่พ่อแกะฝักบัวให้กินได้ พอเราคิดถึงวันเวลานั้นก็ยิ่งรู้สึกผูกพันกับพ่อ อยากจะดูแลเขาเอง”

เอาชนะคำดูถูก จนเป็น \'ส่องแสงตะวันฉาย\'  นักเขียนที่เริ่มอาชีพใหม่ในวัย 52 ปี ถ่ายรูปกับคุณพ่อ

ดูแลคุณพ่ออยู่ราว 2-3 ปี คุณพ่อก็จากไป อโณทัย เคว้งคว้างกับชีวิตและพยายามเริ่มต้นใหม่ด้วยการสมัครงานตามองค์กรต่างๆ วุฒิการศึกษาปริญญาโท 2 ใบ และภาษาอังกฤษในระดับดีเยี่ยมน่าจะทำให้เธอหางานได้ไม่ยาก แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

“เวลาไปสมัครงาน พอเขาเห็นโปรไฟล์เรา ก็จะเรียกมาดูหน้า แต่พอมาแล้วเขากลับไม่รับ เขาบอกว่าโปรไฟล์เราสูงเกินไป มัน Over qualify คือเขาบอกเขาอยากได้เรานะ แต่สู้ราคาไม่ไหว พอเราลดเงินเดือน เขาก็ไม่เรียกเราอยู่ดี พอมาตอนหลังเราก็ใช้แค่วุฒิปริญญาตรีสมัคร เขาก็ไม่เลือกเราอีก ก็รู้ความจริงว่าเราอายุมากเกินไป ไม่มีใครอยากรับคนอายุมากเข้าทำงาน”

สมัครงานอยู่หลายที่ เดินเข้าออกองค์กรใหญ่อยู่หลายเดือน อโณทัยรู้แล้วว่าอายุคืออุปสรรคของการเริ่มต้นใหม่ เธอ พยายามหาอะไรทำที่มีความสุขเพื่อลดความเครียด เช่น ช่วยเลี้ยงหลาน เข้าคอร์สเจริญกรรมฐาน แต่ก็ยังไม่เติมเต็มที่ว่างในหัวใจอยู่ดี

 จนกระทั่งวันหนึ่งนัดเจอเพื่อน แล้วเพื่อนบอกว่า “เธอชอบอ่านนิยาย ทำไมไม่ลองเขียนนิยายดู” นำมาสู่การลองเขียนแบบไม่คาดหวังอะไร จากนั้นก็เอาไปโพสต์ในเว็ปไซต์พันทิปและเด็กดี ซึ่งมีกลุ่มคนอ่านวรรณกรรมออนไลน์อยู่ในนั้น

 “เราชอบอ่านนิยายอยู่แล้วตั้งแต่สมัยเด็ก และหยุดไปเมื่อเรียนสูงขึ้นและเข้าทำงาน พอจะมาลองเขียน ก็เริ่มศึกษาใหม่ เขียนโดยอาศัยประสบการณ์ที่เรามี ผสมกับจินตนาการ กับส่วนประกอบที่เราวิเคราะห์จากการชอบดู ชอบสังเกตอยู่แล้ว ก็พยายามทำออกมาให้เป็นเรื่อง”

“พอคนรอบข้างรู้ว่าเราเอาจริงเอาจังกับการเขียนนิยาย นั่งอยู่หน้าจอ เขาก็ไม่เข้าใจ บางคนถึงขนาดบอกว่า “อายุขนาดนี้แล้ว จะเริ่มอะไรใหม่ได้ อยู่เฉยๆ ใช้เงินเก็บที่มีดีกว่า” บางคนบอก เริ่มเขียนตอน 52 เมื่อไรจะดัง, จะทำได้เหรอ?

หนักสุดคือ “จะเขียนให้ใครอ่าน กว่าคนจะรู้จัก กว่าจะดังก็คงตายก่อนมั้ง”

เราได้ยินแบบนั้นในใจนี่เดือดเลยนะ โมโหเลย แต่ก็คิดว่าขอบคุณสวรรค์ที่ส่งพวกเธอมา คำดูถูกนั้นเป็นแรงผลักดันที่ดีมาก ฉันจะทำให้ดู

การเขียนหนังสือในทางหนึ่งก็เปรียบเสมือนการสานต่อความรักความชอบของตัวเองในอดีต แต่อีกทางก็คือการมีเป้าหมายใหม่ในวัย 52 ปี ระหว่างที่ถูกเพื่อนๆ แซว ถูกคนที่บ้านไม่เข้าใจ แต่ในที่สุด “หัวใจสลายที่ปลายฟ้า” คือนิยายเรื่องแรกที่เขียนเสร็จในช่วงปี 2556 ก็ถูกโพสต์ลงไปในเว็ปไซต์ และได้รับการตอบรับที่ดีมากในเว็ปไซต์เด็กดีดอทคอมและพันทิปดอทคอม มีผู้ติดตามตั้งกระทู้ถามถึงผลงาน

“เรื่องแรกมันเกี่ยวกับเรื่องการไปเรียนต่อต่างประเทศ เป็นเรื่องของหญิงสาวซึ่งไปเรียนอยู่ที่อเมริกาแล้วได้พบกับชายหนุ่มคนไทยที่นั่น ตอนแรกทั้งคู่ไม่ชอบหน้ากันเท่าไรนัก แต่ท้ายที่สุดกลับลงเอยด้วยความรัก นักเรียนในเว็ปเด็กดีคงชอบ พอไปโพสต์ในพันทิพก็มีคนมาตามอ่านกันอีก และนามปากกาก็เริ่มจากตรงนี้ คือเราชื่ออโณทัย แปลว่าดวงอาทิตย์ ดวงตะวัน ก็พยายามจะหาชื่อที่ล้อกับชื่อจริงๆ จะชื่อ “อรุณ” ชื่อ “อาทิตย์” ก็ไม่ถูกใจ ก็มาลงเอยที่ “ส่องแสง” พอจะหาคำต่อท้ายก็อยากให้มันดูลิเกๆไปเลย จึงกลายเป็น “ส่องแสงตะวันฉาย

เอาชนะคำดูถูก จนเป็น \'ส่องแสงตะวันฉาย\'  นักเขียนที่เริ่มอาชีพใหม่ในวัย 52 ปี

ไม่มีอะไรสายเกินไปกว่าจะทำสิ่งที่ตัวเองชอบ

นัก (อยาก) เขียน ในวัย 52 ปี ใช้เว็ปไซต์และกระทู้ออนไลน์เป็นช่องทางสื่อสาร หลังจากโพสต์งานอย่างต่อเนื่องเธอมีแฟนประจำที่ชอบลีลาการเขียนแบบไม่รู้จักตัว

บางคนขนานนามว่าเธอเป็น “นักเขียนนิยายรายวัน” เพราะเขียนออกมาได้เร็ว บางคนจินตนาการว่าเธอเป็นหนุ่มตี๋ ที่ชื่นชอบการเขียนหนังสือควบคูไปกับการร่ำเรียน บางคนทักแชท มาเพื่อขอพูดคุยเริ่มความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อน แต่ใครหนอจะรู้ว่า ความจริงเธอคือนักเขียนหญิงค่อนข้างสูงวัยที่กำลังค้นพบความฝันใหม่ของตัวเองเมื่อไม่นานมานี้

เอาชนะคำดูถูก จนเป็น \'ส่องแสงตะวันฉาย\'  นักเขียนที่เริ่มอาชีพใหม่ในวัย 52 ปี เอาชนะคำดูถูก จนเป็น \'ส่องแสงตะวันฉาย\'  นักเขียนที่เริ่มอาชีพใหม่ในวัย 52 ปี

จากวันแรกๆ ที่เริ่มเขียน จนถึงวันนี้ เธอมีผลงานรวม 18 เรื่อง เป็นเรื่องสั้น 4 เรื่อง นวนิยาย 14 เรื่อง และในจำนวนนี้มี 4 เรื่องที่ถูกตีพิมพ์ คือ ภูผาซ่อนเมฆ, หอมกรุ่นกลิ่นกาแฟบนยอดดอย, เหลี่ยมกรกฎ ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทอปัดในเครือซีเอ็ดบุ๊ค และเรื่องราตรีสีอำพัน ที่พิมพ์ VIOLET books

“ย้อนกลับไปช่วงแรกๆ ที่เขียนงานออกมา เราพยายามส่งไปสำนักพิมพ์ตลอดนะ แต่ก็ถูกปฏิเสธ ตอนที่มีสำนักพิมพ์โทรเข้ามาบอกว่าจะขอพิมพ์งานให้ เรายังแปลกใจเลยว่า เขาไปอ่านงานเรามาจากไหน ก็เดาได้ว่าคงมีเพื่อน หรือใครสักคนที่ชอบงานเราปริ๊นท์ผลงานเหล่านั้นออกมาแล้วส่งไป”

เอาชนะคำดูถูก จนเป็น \'ส่องแสงตะวันฉาย\'  นักเขียนที่เริ่มอาชีพใหม่ในวัย 52 ปี

นักเขียนนิยายวัย 61 บอกว่า พล็อตเรื่องของเธอสร้างขึ้นมาจาก 3 สิ่ง อย่างแรกคือจินตนาการซึ่งเป็นสิ่งที่เธอชอบคิด ชอบฝัน อยู่แล้วมาตั้งแต่เด็ก สองคือประสบการณ์ในชีวิตบางส่วน ทั้งจากการเรียน การเดินทาง การทำกิจกรรม ทั้งไทยและต่างประเทศ และสุดท้ายมาจากการศึกษาด้วยการอ่าน ฟัง เห็น และสัมผัส เมื่อบวกทั้ง 3 สิ่งนี้กับอารมณ์ภายในที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ และองค์ประกอบของทั้ง 3 นอกจากจะได้ผลงานแล้ว ยังเป็นความสุขในการเขียน และถึงวันนี้งานเขียนที่ชื่นชอบก็สร้างรายได้ให้ส่วนหนึ่ง

“มันไม่เกี่ยวหรอกว่าเราอายุเท่าไร ยังจำได้ว่ามีคนตั้งคำถามกับเราเรื่องอายุเสมอ แม้กระทั่งคนใกล้ๆตัวก็ไม่เข้าใจว่าเราจะทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร แต่เราคิดว่ามันเป็น Passion ที่ทำแล้วมีความสุข ทำแล้วรู้สึกดีในทุกๆวัน”

“เรายังมีความฝันที่อยากจะทำ เรายังมีเพื่อนที่ดี มีครอบครัวที่ดี แม้กระทั่งยังมีคนในพันทิปให้กำลังใจ ตอนแรกๆที่ส่งผลงานไปแล้วถูกตีกลับ เราก็ถามตัวเองนะ ว่ายังมีความสุขในการทำรึเปล่า เมื่อคำตอบคือยังมี ก็ทำต่อไป และความสุขที่ได้แบบนี้มันคงประเมินค่าไม่ได้”

“สำหรับเราคุณค่าของนักเขียน ไม่ใช่จำนวนยอดขาย หรือต้องโด่งดัง แต่คุณค่าของนักเขียนคือการมีคนอ่าน ถ้าคนอ่านรู้สึกมีความสุขกับการได้อ่านงานของเรานั่นคือคุณค่า สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เรามีพลัง ไม่ว่าเราจะอายุแค่ไหน ขอแค่มีพลัง มีความสุขที่จะตื่นขึ้นมาทำอะไรก็เพียงพอแล้ว”

ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้นใหม่หรอก