"ปองพล เอี่ยมวิจารณ์"คนต้นคิด"โซเชียลบูโร”ตรวจสอบอาชญากรหลอกเงิน

"ปองพล เอี่ยมวิจารณ์"คนต้นคิด"โซเชียลบูโร”ตรวจสอบอาชญากรหลอกเงิน

อดีตตำรวจที่สร้างทางเลือกในการตรวจสอบ"อาชญากรรมทางออนไลน์"  เพราะคนมากมายถูกหลอกให้โอนเงิน และส่วนใหญ่ตามหา"อาชญากร"ไม่เจอ

คนที่จะทำเรื่องตรวจสอบอาชญากรรมทางออนไลน์ได้ คงต้องมีอาชีพตำรวจ เป็นตำรวจอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าใจเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์และมีเพื่อนหลายวงการ

พ.ต.อ.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ อดีตรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนทางเทคโนโลยี รับราชการมา 29 ปีลาออกมาตั้งบริษัท บล็อกเชนไพร โฮลดิ้ง จำกัด(กรรมการผู้จัดการ) ให้บริการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมบนบล็อกเชนทั่วโลก 

โดยสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลบูโร “Social Bureau” (https://socialbureau.io/) เปิดรับรายงานข้อมูลอาชญากรรมสิ้นเดือนมกราคมนี้ จากนั้นเดือนมีนาคม 64 จ้างคนทั่วโลกมาตรวจสอบข้อมูลว่า จริงหรือเท็จ จัดลำดับความน่าเชื่อถือของข้อมูล จากนั้นก็ใช้บริการได้

หากข้อมูลที่รับแจ้งได้รับการตรวจสอบว่า เป็นข้อมูลจริง ก็จะได้รับโทเคน(สกุลเงินดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาบนเครือข่ายบล็อกเชน)เป็นผลตอบแทน

และยังมีลูกเล่นอื่นๆ ที่รับประกันว่า เหล่าแฮกเกอร์ ต้องถูกใจ มีค่าตอบแทนในการค้นหาประวัติอาชญากร

ความคิดเหล่านี้ ตอนที่พ.ต.อ.ปองพล (วัย 48 ปี) เป็นตำรวจ เคยเสนอไอเดียให้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับระบบตำรวจประเทศไทย แต่ทางผู้ใหญ่ปฏิเสธ...

ย้อนมาถึงเรื่องราวในชีวิต พ.ต.อ.ปองพล สักนิด ตอนเป็นตำรวจ เคยเป็นทั้งวิทยากร ล่าม เคยใช้เงินส่วนตัว เรียนปริญญาโทด้านเอ็มบีเอที่อังกฤษ

และเรียนคอร์สต่างๆ 40 กว่าคอร์สตอนเป็นตำรวจสากล โดยเฉพาะหลักสูตร FBI National Academy ในอเมริกา ที่ตำรวจทั่วโลกอยากเรียน

เขาเลือกเรียนวิชาที่สนใจ อาทิ การวิเคราะห์อาชญากรรมและการบังคับใช้กฎหมายให้อนาคต: ยุคศตวรรษที่ 21 (CRIME ANALYSIS, FUTURISTICS AND LAW ENFORCEMENT: THE 21ST CENTURY ) 

\"ปองพล เอี่ยมวิจารณ์\"คนต้นคิด\"โซเชียลบูโร”ตรวจสอบอาชญากรหลอกเงิน

แล้วอะไรทำให้เขาสนใจบล็อกเชน และคริปโทเคอร์เรนซี...

เห็นบอกว่า ตอนที่คุณเป็นตำรวจสากล ได้เรียนรู้เยอะมาก ? 

ตำรวจไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้มีน้อย มีหลักสูตรประเทศต่างๆให้เรียนเยอะ ผมได้เรียนเกือบทุกหลักสูตรทั่วโลกกว่า 40 หลักสูตร อาทิ

หลักสูตรการสืบสวนอาชญากรรมผ่านบิทคอย รุ่นแรกของประเทศ ปี 2018,หลักสูตรเอฟบีไอ(FBI National Academy) ผมจบเอฟบีไอ รุ่น 214,หลักสูตรตรวจสอบยาปลอม ยาเถื่อน ,การขนย้ายเงินก้อนใหญ่ข้ามประเทศอย่างผิดกฎหมาย ฯลฯ

ทุกหลักสูตรทำให้ผมมีวันนี้ ตอนนั้นผมทำงานอยู่ตำรวจสากล ดูแลงานทุกคดีทุกประเภท ผมก็เลยถูกส่งไปเรียนทุกเรื่อง จึงคุยกับคนได้ทุกวงการ

ได้นำหลักสูตรเอฟบีไอมาใช้ประโยชน์อย่างไร

หลักสูตรเอฟบีไอ ที่ผมเรียนตอนนั้นเป็นหลักสูตรปริญญาโท 6 วิชา ผมไปเรียนเมื่อ 11 ปีที่แล้ว คือปี 2011 ผมเลือกเรียนวิชาเกี่ยวกับอนาคตศาสตร์ การวิเคราะห์อาชญากรรมในยุค 2020

เอฟบีไอ มีงานวิจัยปี 2011 ว่า โลกจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อาชญากรรมจะหน้าตาเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเก่าไม่สามารถรับมือได้

จากวันนั้น ผมบรรยายเรื่องนี้ตลอด 10 ปี คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อ หาว่าผมเพ้อเจ้อ ตอนนี้ก็เป็นแบบนั้นจริงๆ

การสะกดรอยตามอาชญากรออนไลน์ มีหลักการอย่างไร

ผมขอยกตัวอย่าง การแกะรอยจากรูปภาพที่โพสต์ เมื่อเอาภาพนั้นไปเข้าโปรแกรม เพื่อดูว่า ถ่ายด้วยกล้องมือถือยี่ห้อ รุ่น และวันที่เท่าไร ถ้าคนถ่ายเปิดจีพีเอส ก็จะบอกได้ว่า ถ่าย ณ จุดไหนของโลก ทำให้เราติดตามอาชญากรได้จากข้อมูลเบื้องหลังภาพ

การวิเคราะห์อาชญากรรมในอนาคต สอนให้มองภาพรวมว่า สิ่งต่างๆ ที่เรามองข้าม ล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาอาชญากรรม เพราะคนไทยมองแต่ภาพเล็ก ถ้าเห็นภาพใหญ่ เราก็จะคิดกว้างขึ้น

ส่วนเรื่องอนาคตศาสตร์ มีวิธีการมอง ยกตัวอย่างถ้ารัฐบาลประเทศใหญ่ๆ หรือสถาบันใหญ่ๆ ลงทุนก้อนใหญ่กับเทคโนโลยีใหม่ด้านไหน นั่นแปลว่า สามารถทำได้จริง จึงทุ่มเงินมหาศาล

เมื่อสิบปีที่แล้ว โลกทุ่มเงินกับเทคโนโลยีกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า DisruptiveTechnology แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้ใช้งานจริงในปี 2020 เป็นต้นไป

\"ปองพล เอี่ยมวิจารณ์\"คนต้นคิด\"โซเชียลบูโร”ตรวจสอบอาชญากรหลอกเงิน

เรื่องนี้เชื่อมโยงกับอาชญากรออนไลน์อย่างไร

เมื่อก่อนเราเก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ ในอนาคตข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในระบบคลาวด์ อาจจะอยู่ในฐานข้อมูลอเมซอน หัวเหว่ย ไมโครซอฟ กูเกิ้ล ในต่างประเทศ แล้วตำรวจจะไปสืบหาข้อมูลจากไหน

แพลตฟอร์ม Social Bureau จะช่วยตามอาชญากรได้อย่างไร

แพลตฟอร์มที่ผมทำ ก็คือให้ทุกคนที่มีข้อมูลอาชญากร มีศักยภาพมาช่วยคนที่อ่อนแอกว่า ทั้งบรรเทาและแก้ปัญหาได้จริงจัง เพราะตำรวจมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ไม่ทันเทคโนโลยี 

ยกตัวอย่าง ถ้าศาลไทยสั่งว่า คนนั้นคนนี้กระทำผิด หากอาชญากรไม่ได้อยู่ในประเทศไทยศาลไทยจะทำอะไรได้ เงินที่ถูกโกง ก็เอากลับมาไม่ได้สักบาท แต่แพลตฟอร์ม Social Bureau จะใช้พลังโซเชียล คนที่มาช่วยบอกข้อมูลหรือช่วยสืบค้นคนร้ายออนไลน์ ก็จะได้ค่าตอบแทนด้วย

บริษัทที่ตั้งขึ้น มีจุดประสงค์อะไร

เมื่อปีที่แล้ว ผมไปเรียนการบริหารตำรวจยุคดิจิทัล ในหลักสูตรนั้นมีประกวดผลงาน แต่ละกลุ่มต้องทำโครงการสตาร์ทอัพ โครงการผมได้รางวัลที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญที่ตัดสินบอกว่า เป็นโครงการที่ดีมาก อยากให้ทำจริงๆ ตอนนั้นคนที่เรียนทั้งหมดเป็นนักธุรกิจ มีผมที่เป็นตำรวจ

เราก็เห็นแล้วว่า กระบวนการยุติธรรมของแต่ละประเทศไม่ตอบโจทย์เรื่องอาชญากรข้ามชาติ ต้องมีสิ่งนี้DisruptiveTechnology ผมตัดสินใจลาออกเต็มตัว เพื่อทำเรื่องนี้

แล้วมีรายได้จากอะไร

มีหลายส่วน หลักๆ คือ การตรวจสอบข้อมูลอาชญากรรม เหมือนการกู้เงิน ต้องตรวจสอบเครดิตว่า มีความน่าเชื่อถือทางการเงินมากน้อยเพียงใด แต่รู้แค่ความน่าเชื่อถือทางการเงิน ไม่รู้ประวัติทางอาชญากรรมเลย

อย่างกรณีพิยดา ทองคำพันธ์ ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงและผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีเปิดร้านค้าออนไลน์หลอกขายโทรศัพท์ไอโฟน

ผู้เสียหายเป็นพันคน หลอกมาหลายปี มีบ้านหลังละสิบล้าน มีรถขับราคาหลายสิบล้าน เครดิตบุโรบอกว่า คนๆ นี้มีศักยภาพสูงทางด้านการเงิน แต่เครดิตบุโรไม่ได้บอกว่าเป็นอาชญากร

คนร้ายเปิดบัญชีธนาคาร หลอกให้คนหลายร้อยโอนเงิน บัญชีนี้เปิดใช้มาสองปี มีคนไปโพสต์ด่าคนๆ นี้บนเฟซบุ๊ค แต่ไม่เคยมีประวัติในทะเบียนอาชญากรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พอแจ้งความตำรวจก็บอกว่า “น้องโดนหลอกแค่ 1,000 บาทเอง ทำใจเถอะ” ตำรวจไม่รับแจ้งความ แต่เราเปิดให้คนมารายงานใน Social Bureau

เปิดให้รายงาน ทั้งอาชญากรรมทางออนไลน์และออฟไลน์ ? 

อีกกรณี มีผู้หญิงคนหนึ่งเอาบัตรประชาชนคนอื่น ใบหน้าเหมือนเธอไปซื้อรถมือสองตามเต๊นท์ ดาวน์ไป 5,000 บาท แล้วเอารถไปขายที่ประเทศเพื่อนบ้าน มีประมาณ18 เต็นท์โดนหลอก

ถ้าเต็นท์รถแห่งแรกโดน แล้วมารายงานที่ Social Bureau เต้นท์ที่สอง ก่อนจะโอนรถ ก็เอาบัตรประชาชนคีย์เข้ามา ตรวจสอบก็จะพบรายงานว่า บัตรประชาชนนี้หลอกซื้อรถ ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ

หรือการตรวจสอบคนดูแลผู้สูงวัยตามบ้าน เราจะรู้ได้ไงว่า ถ้าเราไม่อยู่ เขาจะทำอะไรกับพ่อแม่เรา ไปตรวจสอบที่สำนักงานแห่งชาติ ก็ไม่มีประวัติ เพราะไม่รับแจ้งความ ต่อไปมาตรวจสอบในเว็บเรา สังคมจะรู้ว่า คนๆ นี้เคยทำอะไรไว้บ้าง

การตรวจสอบว่า ข้อมูลจริงหรือเท็จ เรามีระบบเอไอ และบล็อกเชน เราไม่ได้บอกว่าคนๆ นี้ดีหรือเลว แต่บอกว่า สังคมได้พูดถึงคนๆ นี้มีระดับความน่าเชื่อแค่ไหน 

จากประสบการณ์ของคุณ เรื่องไหนหลอกเงินได้เยอะที่สุด

ถ้าดูจากสถิติ มูลค่าความเสียหายสูงสุดคือ Ransomware ที่ล็อกหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้เราใช้ได้ ต้องโอนบิทคอยน์มาให้ก่อนถึงจะปลดล็อค ส่วนใหญ่จะเกิดกับบริษัท โรงพยาบาล เมื่อคนป่วยรักษาไม่ได้ จะเสียชีวิต ก็ต้องยอมจ่ายเงินค่าไถ่ เพราะกลัวเสื่อมเสียชื่อเสียง 

นอกจากนี้ยังเกิดกับกลุ่มธนาคาร บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย แต่มีการปิดข่าว มูลค่าความเสียหายมากกว่ามูลค่าทางด้านยาเสพติด

ทั่วโลกตอนนี้อันดับหนึ่งคือ Ransomware(มีการเรียกค่าไถ่ โดยอาชญากรเข้ารหัสหรือล็อกไฟล์ ผู้ใช้งานจะไม่สามารถเปิดไฟล์ได้ ต้องใช้คีย์ในการปลดล็อคเพื่อกู้ข้อมูลคืน)

ถ้าเป็นการหลอกลวงทางออนไลน์ของประเทศเรามาในรูปแบบไหน

การฉ้อโกงการลงทุน หนึ่ง คือ แชร์ลูกโซ่ สอง หลอกเรื่องคริปโทเคอเรนซี โอนเงินมาให้ก่อน แล้วจะทำกำไรให้  แรกๆ คนถูกหลอกโอนเงิินให้ 5,000 บาท วันเดียวได้คืนหนึ่งหมื่นบาท

ได้กำไรสองเท่าภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น เคยมีคนหนึ่งถูกหลอก 40 กว่าล้านบาท อีกคน 30 กว่าล้านบาท อาชีพเดียวกันหมดคือ หมอ มีอยู่7-8 คน มีอีกคนถูกหลอกไป 91 ล้านบาท

คนที่ชวนไปลงทุน ส่วนมากใช้วิธีตีสนิท ส่งข้อความมาทักทั้งเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม เขาจะดูประวัติเราว่ามีศักยภาพ มีเงิน

บางทีผ่านแอพฯหาคู่ พอสนิทกัน ก็ชวนลงทุนในคริปโทฯ เรื่องใหม่ที่คนไม่ค่อยรู้จัก พอเห็นว่า ได้เงินมากขึ้น ก็เกิดความโลภ เพิ่มจำนวนเงินมากขึ้นๆ สุดท้ายไม่ได้อะไรกลับมาเลย

หลายคนที่ถูกหลอกให้ลงทุน มีทั้งอาชีพและการศึกษาที่ดี ?

เพราะเขาไม่ตรวจสอบ ยกตัวอย่างคดีแชร์ลูกโซ่ยูฟัน ปี 2015 เปิดครั้งแรกที่ฮ่องกง หลอกคนฮ่องกงให้ลงทุนได้ 800 คน

ปีที่สองย้ายฐานมาตั้งที่กัวลาลัมเปอร์ หลอกคนมาเลเซียให้ลงทุนได้ 1,200 คน ปีที่สามย้ายฐานมาแถวบางนา-ตราด แค่ 8 เดือน หลอกคนไทยให้ลงทุนได้ 120,000 คน

คนไทยชอบเสี่ยง ไว้ใจคนง่าย พอมีคนมาชักชวนเหมือนว่า คนๆ นั้นมีตัวตน ก็กล้าลงทุน โดยไม่ตรวจสอบ ถ้าพิมพ์เข้าไปตรวจนิดหนึ่งก็จะเจอ แต่ไม่เชื่อ ไปเชื่อเพื่อนที่สนิทกัน

\"ปองพล เอี่ยมวิจารณ์\"คนต้นคิด\"โซเชียลบูโร”ตรวจสอบอาชญากรหลอกเงิน

จะเปิดรับรายงานในSocial Bureau เมื่อไร

ประมาณเดือนมกราคม 64 กำลังพัฒนาแพลตฟอร์ม เราตั้งใจว่าจะให้ประชาชนทั่วไปใช้ฟรี 30 ครั้งต่อ 30 วัน ถ้าใช้มากกว่านั้นก็น่าจะเป็นกลุ่มองค์กรและคนทำธุรกิจ ก็คิดค่าใช้จ่ายครั้งละ 1 ดอลล่าร์

ถ้าดูตัวเลขตำรวจสากลโลกที่ฝรั่งเศส รายงานว่า ตำรวจทั่วโลกตรวจสอบข้อมูลอาชญากรรม มากกว่า 9 ล้านครั้งต่อวัน ประเทศไทย ตำรวจที่ตรวจข้อมูลแบบนี้ได้มีไม่ถึง 20 คน ถ้าอย่างนั้น 200 ประเทศทั่วโลก รวมแล้วแค่หลักพัน สองพันที่เข้าถึงข้อมูลนี้ได้ 

แต่สิ่งที่ผมทำ คนทั้งโลกตรวจสอบได้หมด แม้กระทั่งตำรวจก็ต้องมาตรวจประวัติกับเรา เพราะฐานข้อมูลเขาไม่ละเอียดเท่าเรา

สิ่งที่ผมทำ ตัดขั้นตอนความยุ่งยากข้อกฎหมาย ให้คนมารายงานจะจริงหรือเท็จ เรามีเอไอ และให้คนที่มีความรู้มาช่วยตรวจสอบหลักฐาน  ผมยังมีระบบซื้อเหรียญคริปโทฯค้ำประกันคำตอบ ถ้ามั่นใจต้องมีเงินมาค้ำประกัน

เราโชคดีที่มีบริษัทระดับชาติมาช่วย งานหลักๆ สองด้านคือ บล็อกเชน เราได้บริษัท อีนิกเซอร์ จำกัด บริษัทบล็อกเชนชั้นนำของประเทศไทย และด้านเอไอ ใช้บริษัทอีรูไดท์ บริการวิศวกรรม จำกัดเป็นหลังบ้านให้ปตท. ในทีมนี้ที่ปรึกษาคือ ผศ.ดร.ยอดเยี่ยม ทิพย์สุวรรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท็อป(Top)2 % ของโลกทางด้านเอไอของโลก       

นอกจากมีการจ้างคนที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งทางด้านไอทีมาสืบค้นผู้เสียหายของผมคนหนึ่ง ถูกหลอกให้ลงทุนผ่านคริปโทฯ 91 ล้านบาท

ใครก็ตามบอกได้ว่า คนที่โกงเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน ระบุตัวตนให้ดำเนินคดีได้ เขามีรางวัลให้ 5 ล้านบาท เขาสามารถเอาเงินห้าล้านซื้อเหรียญคริปโทฯของผม แล้วเอามาล็อคไว้ในแพลตฟอร์มของผมว่า มีเงินจ่ายเป็นรางวัลจริงๆ 

คนที่สนใจก็จะไปค้นหาข้อมูลเพื่อชิงรางวัล แฮกเกอร์สามารถใช้ความรู้มาช่วยคนอื่นแล้วได้เงิน ถ้าทำสำเร็จแล้ว ก็มีคนตรวจสอบคำตอบว่า จริงหรือโกหก

ถ้าจริงได้เงินไป และตอนนี้เรามีโครงการระดับแสนล้านให้ทำ เร่งหาพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับดิจิทัลเยอะมาก