ย้อนดู 10 เล่มเข้าชิง"ซีไรต์" โดดเด่นอย่างไร

ย้อนดู 10 เล่มเข้าชิง"ซีไรต์" โดดเด่นอย่างไร

เจาะลึกการสร้างสรรค์นวนิยาย10 เล่มที่เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์2564 เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักเขียนและนักอ่านในแวดวงวรรณกรรมไทย

“การประกาศผลรางวัล ซีไรต์ ยาวนานมาเข้าสู่ปีที่ 43 แล้ว ปีนี้มีผู้ส่งเข้าประกวด 60 เล่ม ในรอบสุดท้าย นวนิยายทั้ง 10 เล่มมีสิทธิ์ได้รางวัลซีไรต์ทั้งนั้น ส่วนใหญ่คนจะเพ่งไปที่เล่มที่ได้รับรางวัล

ในวัฒนธรรมการอ่านที่อ่อนแออยู่แล้วในบ้านเรา เราจะมาพูดคุยถึง 10 เล่มนี้โดยให้ราคาเสมอกัน มองในเชิงวิชาการ เป็นการกระตุ้นบรรยากาศการอ่านการเขียนการวิจารณ์วรรณกรรมในบ้านเราให้คึกคักขึ้น”

 

รองศาสตราจารย์ ธัญญา สังขพันธานนท์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวในงาน “ซีไรต์ เสวนา” ที่จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผ่านทางเพจ Faculty of Humanities NU เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565

  • วรรณกรรมที่ดีต้องซับซ้อน ?

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ เวศว์ภาดา กรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ มองว่า ความจงใจทางวรรณศิลป์ โยงไปถึงความจงใจทำให้แปลก มันเป็นการสร้างสรรค์หรือมายาคติ

ย้อนดู 10 เล่มเข้าชิง\"ซีไรต์\" โดดเด่นอย่างไร Cr.Kanok Shokjaratkul

“การหลงอยู่กับกรอบความคิดที่ว่า วรรณกรรมที่ดีต้องซับซ้อน ต้องเขียนให้มัน... หรือหาเทคนิคต่างๆ มาเพื่อแสดงออกซึ่งความคิด มันจำเป็นจะต้องซับซ้อน เล่นเยอะขนาดนี้หรือไม่

เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า ภาษาในวรรณกรรมต่างจากภาษาที่ใช้ในชีวิตปัจจุบัน มีการจัดวาง เรียงร้อย ปรุงแต่ง ด้วยกระบวนการทางวรรณศิลป์ จนผู้อ่านรับแบบแผนตรงนั้นได้ เรียกว่า ขนบทางวรรณศิลป์ เช่น ร้อยกรอง ของสุนทรภู่ หรือนวนิยายเราจะคุ้นกับงานเขียนที่เปิดเรื่องปิดเรื่องเดินเรื่องแบบนี้

ความจงใจทางวรรณศิลป์ มันก็มาผูกโยงกับความจงใจ ทำให้แปลก เมื่อเราอ่านงานเขียนจนคุ้นเคยขนบทางวรรณศิลป์ไปแล้ว มันก็เกิดความซ้ำซาก ก็มีแนวคิดขึ้นมาว่า ควรจะทดลองอะไรใหม่ๆ งานเขียนเชิงทดลองนี้ถือว่า งานเขียนไม่ใช่การจำลองภาพชีวิต แต่เป็นการมองศิลปะในฐานะกลวิธีประกอบสร้าง

นักเขียนในกลุ่มนี้พยายามหาความแปลกใหม่ กระตุ้นผู้อ่านให้มองหรือพินิจสรรพสิ่งที่คุ้นเคยด้วยมุมมองใหม่

กรอบความคิดของศิลปะการทำให้แปลก มองได้ 3 ประเด็น วรรณกรรมมีหน้าที่ปลดเปลื้องการรับรู้อันคุ้นเคย ศิลปะจะดำรงอยู่เพื่อกอบกู้สัมผัสแห่งชีวิตที่เราสูญเสียไป พยายามทำสรรพสิ่งให้แปลก สร้างความซับซ้อนขึ้น เพื่อผลลัพธ์อันสุนทรียะ และทอดช่วงให้นานเท่านาน

ย้อนดู 10 เล่มเข้าชิง\"ซีไรต์\" โดดเด่นอย่างไร

  • ศิลปะการทำให้แปลก

ดร.ธเนศ มองว่า ส่วนแรก.คือ การเล่าเรื่อง ของคนธรรมดาคนหนึ่ง หรือบางทีก็ดูเหมือนไร้สาระ

"ให้เราอ่านอะไรก็ไม่รู้ เช่น กระดุมหายไปหนึ่งเม็ด ก็เล่าให้เราติดตามได้สิบหน้า หรือเรื่องแต่งจากเรื่องแต่งอีกทีหนึ่ง หรือเรื่อง "วรรณกรรมที่แท้จริง ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ" ก็น่าจะเข้าข่าย เพราะมันกำลังถกเถียงความเป็นวรรณกรรมอยู่

ส่วนที่สอง.รูปแบบหรือโครงสร้าง มีการผสมผสานประเภทวรรณกรรมด้วยกัน เช่น งานของ วินทร์ เลียววาริณ ที่ใช้บทความประกอบเรื่องสั้น ในวรรณคดีก็มีการผสมผสานของฉันทลักษณ์ เช่น กาพย์ห่อโคลง กาพย์เห่เรือ มีการใช้โครงสร้างสมดุล

เรื่องโลกียนิพพาน แบ่งเป็นสองส่วน สกรีนพื้นสีดำซีกซ้าย พื้นสีขาวซีกขวา แล้วเดินเรื่องขนานล้อกันไป พูดถึงพระกับโสเภณี อ่านแล้วเข้าใจได้ว่าเขากำลังวิพากษ์วงการสงฆ์ว่าไม่ต่างหญิงบริการ

มีการใช้ทัศนศิลป์ เช่น จ่าง แซ่ตั้ง มี วรรณรูป หลายชิ้นมาก ของวินทร์เรื่องหนึ่งวันเดียวกัน ใช้เครื่องหมายวรรคตอน ใช้ชุดคำ ไม่มีประโยคเลย ตัดคำทั้งบท คนอ่านมีหน้าที่ปะติดปะต่อทุกคำจนกลายเป็นหนึ่งเรื่อง ส่วนที่ไม่ย่อหน้าเลย เงาสีขาว ของ แดนอรัญ แสงทอง 200-300 หน้าอ่านด้วยความทรมานบันเทิง

ส่วนที่สาม.ภาษา มีการยืดขยายคำหรือวลี เช่นงานของ ปราบดา หยุ่น เอาคำซ้อนมาประกอบสร้างใหม่ หรือใช้การพรรณนา ยืดเวลาการรับรู้ ในเรื่อง 24/7-1 ของ ภู กระดาษ บรรยายบางซีนหนักหน่วงใช้เวลามาก เป็นซีนการร่วมเพศที่ละเอียดมาก นี่คือการยืดเวลาถ่วงเวลาของการรับรู้

หรือการใช้ภาษาเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานทางภาษาทั่วไป งานของ รงค์ วงษ์สวรรค์, ปราบดา หยุ่น, อัญชัน เช่น แขนทั้งสองข้างมัดม้วนกับลำตัวอีกครั้ง หรือเสื้อน่วมน้ำ ผิดจากมาตรฐานทางภาษา หรือใช้คำผิดบริบท

ในสิบเล่มนี้มีความพยายามที่จะใช้คำที่ผิดบริบท การซ้ำคำ หรือวลี มีวิธียักย้ายถ่ายเท จังหวะ เสียง ซ้ำเสียง ใน เดฟั่น ก็ซ้ำคำว่า เดฟั่นจำไม่ได้ ไปตลอดทั้งเล่มเลย

ย้อนดู 10 เล่มเข้าชิง\"ซีไรต์\" โดดเด่นอย่างไร 10 เล่ม Short List ที่เข้ารอบสุดท้าย Cr.Kanok Shokjaratkul 

ภาพรวมนวนิยายที่เข้ารอบ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวณิต จุลวงศ์ กรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ กล่าวว่า ทั้งรอบ Long List และ Short List เนื้อเรื่องและกลวิธีมีความหลากหลาย ทั้งนักเขียนต่างรุ่น ต่างความสนใจ มีความถนัดความเชี่ยวชาญในการเล่าเรื่องราวผ่านรูปแบบและกลวิธีหลากหลายมากๆ

"ใน Long list จะเห็นแนวเรื่องที่ครอบคลุมหลายแง่มุม ทั้งประวัติศาสตร์, ความทรงจำ โดยเฉพาะความทรงจำโดดเด่นมาก มีทั้งความทรงจำส่วนบุคคลและความทรงจำของสังคม ถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่าของตัวละคร

มีเรื่องเล่าที่ตัวละครเป็น นักเขียน เยอะมาก แล้วเขียนเล่าเรื่องความทรงจำหรือเล่าเรื่องในขณะที่ตัวเองตระหนักรู้ว่า ตัวเองกำลังเล่าเรื่องอยู่ กำลังทำหน้าที่อะไร บันทึก บอกเล่าเรื่องราว หรือบางเรื่องมีลักษณะเป็นอาร์ตฟิคชั่น

ใน Short List มีเรื่องที่ไปแตะเรื่องราว ประวัติศาสตร์ ที่นอกเหนือจากประวัติศาสตร์ประเทศไทย ไปเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของภูมิภาคหรือโลก พูดถึงสงครามโลกครั้งที่สองเยอะเลย พูดถึงสงครามอินโดจีน เวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้น เราอยู่ตรงไหนของโลก แล้วโลกเคลื่อนไปยังไง

ขณะเดียวกัน ก็มีภาพย้อนกลับเข้าไปใน ตัวตนของมนุษย์ เป็นการสำรวจตัวตนค้นหาเข้าไปข้างในของปัจเจกบุคคลถึงความสับสนทางความคิด ที่มาที่ไปความเจ็บปวดที่อยู่ภายใน อีกส่วนมีเรื่องมิติทางสังคมวัฒนธรรมและการเมืองที่แฝงเข้ามา

ใน 60 เรื่อง นักเขียนเข้าไปแตะประเด็นทางสังคม การเมือง สอดแทรกเอาไว้ หรือหยิบมาเป็นประเด็นหลักของเรื่อง นักเขียนหาวิธีเล่าสิ่งเหล่านี้ในสภาวะสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเล่าแบบสะท้อนภาพเหตุการณ์จริงๆ

จึงหากลวิธีต่างๆ นานาที่จะมาถ่ายทอด ทำให้นวนิยายมีการสร้างสรรค์ที่โดดเด่น ใช้เทคนิควรรณศิลป์ที่มองเห็นแล้วรู้เลยว่า เราไม่สามารถอ่านนวนิยายนี้ในวิธีปกติธรรมดาได้

จาก 19 เรื่องมาสู่ 10 เรื่อง นักเขียนใช้เทคนิคเยอะมากในการสร้างสรรค์งาน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของภาษา มีงานเขียนที่โดดเด่นทางด้านภาษามากๆ แม้ไม่ได้เข้ารอบ 10 เล่ม

ที่พวกเราติดใจกันมาก จวบจนสิ้นแสงแดงดาว อ่านด้วยความประทับใจ ทะเลสาบน้ำตา เราก็ประทับใจมาก แปดปีหลังจากนั้น ก็โดดเด่นมาก บางเรื่องใช้วิธีเล่าเรื่องเป็นจิ๊กซอว์สั้นๆ ต่อเนื่องมาเห็นภาพของอารมณ์ความคิดความรู้สึก

10 เรื่องที่เข้ารอบมีความโดดเด่นที่แปลกและแตกต่าง ทั้งกลวิธีมันดันเนื้อเรื่องขึ้นมาอย่างน่าสนใจ และเนื้อเรื่องที่นำเสนอมีความโดดเด่นน่าสนใจ แปลกออกไปจากการรับรู้ ที่เราเคยรับรู้เกี่ยวกับเรื่องราวนั้นๆ

ย้อนดู 10 เล่มเข้าชิง\"ซีไรต์\" โดดเด่นอย่างไร Cr.Kanok Shokjaratkul

  • 10 เรื่องที่เข้ารอบ มี 2 กลวิธีในการเล่าเรื่อง

ดร.เสาวนิตย์ มองว่าตอนคัดเลือก Short List ไม่ได้สังเกต แต่เมื่อดูจากกลวิธีการเล่าเรื่องแล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มและมี 5 เล่มเท่ากันด้วย คือ กลุ่มที่เล่าเรื่องผ่านพล็อต ไม่ซับซ้อน และ กลุ่มที่ใช้กลวิธีเชิงทดลอง มาสร้างสรรค์เล่าเรื่อง

“กลุ่มแรก เล่าผ่านโครงเรื่องในรูปแบบดั้งเดิม ได้แก่ ภูเขาน้ำตา, รอยสนธยา, วรรณกรรมที่แท้จริงฯ, วายังอมฤต, สุสานสยาม บางเล่มใช้เทคนิคประดิษฐ์กรรมมาก การเล่าหรือการเดินเรื่อง ยังอยู่ในขนบที่เป็นเส้นตรงอยู่ แต่ไม่ง่ายที่จะให้คนติดตามไป

พล็อตที่ดี การสร้างตัวละครที่ดี การสร้างฉาก บรรยากาศที่ดี ที่ทำให้เรื่องทั้งหมดมีความกลมกลืนกัน นักเขียนแต่ละคนต้องทำให้ มันเดินหน้าไปอย่างตลอดรอดฝั่ง จนกระทั่งจบเรื่อง

ในเรื่องการจัดวาง สุสานสยาม ไม่ได้เป็นดิสโทเปียที่สร้างความหม่นมัวแบบทึมๆ แต่เป้าหมายคือเสียดสี ผู้เขียนใช้รูปแบบดิสโทเปียเพื่อสื่อสารถึงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมปัจจุบัน

มีความน่าสนใจตรงการ ประดิษฐ์ สร้างจำลองภาพโลกอนาคตขึ้นมา ซึ่งต้องคิดใคร่ครวญดินแดนอาณาจักรโลกอนาคตว่า มีโครงสร้างลำดับชั้นของสังคมเป็นยังไง แล้วกลุ่มคนต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์กันยังไง แล้วถึงเอาเรื่องราวของตัวละครไปใส่ในนั้น

ประดิษฐ์กรรมทางภาษา ที่ผู้เขียนใส่เข้ามาอย่างจงใจ อาจจะเป็นตัวสกัดกั้นคนอ่าน ขึ้นกับคนอ่านว่า มีประสบการณ์ทางภาษามากน้อยแค่ไหน

วายังอมฤต เป็นการเฉลิมฉลองความเป็นฟิคชั่น มันดึงเราเข้าไปในเรื่องแต่ง ที่ไม่ต้องไปคำนึงถึงความเป็นจริงหรือประวัติศาสตร์ ดึงเรากลับไปพ.ศ.2500 ลองนึกถึงเรื่องละครแห่งชีวิตที่ตัวละครเดินทางไปเป็นนักหนังสือพิมพ์ ไม่ต้องคิดว่าสำนักพิมพ์มีจริงหรือเปล่า

ผู้เขียนใช้รูปแบบเรื่องแต่ง มาทำให้เราไปอยู่ในดินแดนอยู่ใกล้ๆ ไทย ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักคือ อินโดนีเซีย ดึงเราไปอยู่ในโลกที่กว้างใหญ่เมื่อมองลงมาในพ.ศ. 2475 ประเทศเราเล็กมาก

วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะต้องเขียนด้วยคอมพิวเตอร์ไม่รู้เหรอ เป็นเรื่องที่เป็นความขัดกันของการจัดวาง กับเนื้อหา พูดในฐานะนักอ่าน ผู้อ่านตระหนักถึงการรับสารนี้แค่ไหน

สิ่งที่น่าประทับใจมากๆ คือ การสร้างตัวละคร ที่ผู้แต่งมีความละเอียดมากในการสร้างบุคลิกของตัวละครทุกตัว ทั้งที่เป็นมนุษย์และหุ่นยนต์ ตั้งคำถามที่ท้าทายยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะกับมนุษย์เท่านั้น แต่ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ด้วย

ภูเขาน้ำตา เป็นวรรณกรรมแนว มนุษยวิทยา ที่ดึงเราให้มองคนมุสลิมแบบไม่ต้องนึกถึงความรุนแรงในภาคใต้ หรือชีวิตที่ผูกพันกับศาสนาแล้วเชิดชู ตั้งคำถามเรื่องชุมชนที่มีส่วนอย่างมากในการแทรกแซงความเป็นอยู่ของตัวละคร

บอกว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์ไม่ใช่แค่คนสองคน แต่มีปัจจัยอื่นอีกมากมายมาเกี่ยวข้อง คำว่า ภูเขาน้ำตา ไม่ใช่ภาพพจน์ที่สร้างความหมายในเชิงอติพจน์ คือ ความมากมายโศกเศร้า

แต่ตัวละครสองคนนี้ยืนอยู่บนภูเขาน้ำตาคนละลูก คือความทุกข์ของผู้หญิงและผู้ชาย มันคนละเรื่องกัน แล้วไม่เข้าใจกัน ซึ่งน่าสนใจมาก

รอยสนธยา เป็นเรื่องชายขอบของสังคม เด็กอาชีวะที่มีความสัมพันธ์กับเพื่อน มีเรื่องพิสูจน์ตัวเอง สร้างตัวตนขึ้นมาให้มีที่ยืน แฝงประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม มีการเมืองบ้าง มีเรื่องความกลัวที่ซ่อนอยู่มากมาย

เช่น ดีใจที่มาม่าไม่ขึ้นราคา ก็บอกอะไรได้หลายๆ อย่าง โดยไม่ต้องอธิบาย แค่ตัวละครเล่าก็เห็นภาพ แล้วเอาเรื่องความสยองขวัญมาเป็นตัวแทนความลึกลับนั้นๆ แต่มีจุดบกพร่องที่ทำให้กรรมการถกเถียงกัน ทำให้เรื่องนี้หลุดออกไป

ย้อนดู 10 เล่มเข้าชิง\"ซีไรต์\" โดดเด่นอย่างไร Cr.Kanok Shokjaratkul

  • กลุ่มที่สอง เดินเรื่องแบบสร้างสรรค์

“กลุ่มที่สอง ใช้กลวิธี ไม่เดินเรื่องด้วยเส้นเรื่องที่ปกติธรรมดา ท้าทายนักเขียนว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่ง เดฟั่น ทำสำเร็จ ผ่านกลวิธีใช้ความมหัศจรรย์เหตุการณ์ตำนานเล่าย้อนความทรงจำ

ดำดิ่งสู่เบื้องบน ความพยายามมากไป อาจทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง เป็นความพยายามของนักเขียนที่จะเชื่อมโยงเรื่องเล่าสามเรื่อง ที่ต่างมิติ ต่างช่วงเวลา เข้าด้วยกัน แต่นักเขียนไม่ทันได้ทิ้งกุญแจให้คนอ่านได้จับมาโยงกัน จริงๆ มีการทิ้งข้อความปริศนาเอาไว้ แต่ว่ามันยังแกะไม่ออก ต้องขอเวลาไปแกะอีกหน่อย

เกิดในฤดูหนาว เวลาที่อ่านเรื่องนี้ คือ ความอ่อนโยน ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวสองเรื่อง ดูหนักหนาสาหัสสำหรับชีวิตของผู้หญิงที่เดินผ่านช่วงเวลาอันยาวนาน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนแวดล้อม ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของคนอื่นๆ เรื่องหนึ่งเล่าด้านใน อีกเรื่องเล่าด้านนอก ข้างในที่ผ่านชีวิตมากับข้างนอกที่อยู่ในแวดล้อมของผู้คนที่มาปฏิสัมพันธ์กับตัวเขา

อาณาเขต เป็นเฟรมสตอรี่ซ้อนๆๆ กัน แกะตั้งแต่คำนำไปถึงคำตาม ตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย มันมีอะไรที่ซ่อนอยู่ เหมือนเราแกะหอมหัวใหญ่ออกมาทีละชั้น เพื่อดูว่าข้างในคืออะไร

เป็นความคิดที่ถ่ายทอดออกมาโดยผู้เขียนสร้างเปลือกหุ้มเอาไว้หลายๆ ชั้น นักอ่านก็ค่อยๆ แกะ ที่น่าสนใจคือ ผู้เขียนเอาตัวเองไปเป็นตัวละคร เรื่องนี้อาณาเขตของเรื่องเล่ามันอยู่ที่ตรงไหน ตั้งแต่ปกหน้าปกหลังหรือเริ่มต้นที่หลังคำนำ

24/7-1 สารทางการเมืองเข้มแข็งมาก เล่าผ่านการรื้อประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าที่โต้กลับ หรือต่อต้านกับเรื่องเล่ากระแสหลัก ช่วงต้นเรื่องใช้เวลานาน ยืดยาดมากทำให้มันแปลก ยืดขยายการรับรู้ รู้สึกถึงความน่าเบื่อหน่ายของคนชั้นกลางระดับสูง ที่เราไม่ได้ตระหนักถึง

เล่า 3 วันใน 300 หน้า ผ่านกระแสสำนึก ย้อนความคิด มันสามารถไหมที่จะดึงให้คนอ่านกลับไปทบทวนชีวิตประจำวันของเราว่ามันน่าเบื่อขนาดไหน เราใช้ชีวิต 24 ชั่วโมง 7 วันยังไง

รสของวรรณคดีมีความน่าเบื่อหน่าย น่าชิงชัง เพราะความยืดขยายแต่ความเหนื่อยหน่ายในการอ่านทำให้เราย้อนคิดว่า เราเหนื่อยสะอิดสะเอียนไหมกับฉากร่วมเพศที่ละเอียดขนาดนั้น แล้วเราทนอยู่ได้อย่างไร เรื่องนี้อาจจะตั้งคำถามแบบนี้ก็ได้

ถ้ากลุ่มแรกมีขนบวิธีเล่าเดินไปตามโครงเรื่อง แล้วซ่อนเทคนิควิธีการต่างๆ เอาไว้ โครงเรื่องฉากตัวละครเปรียบเหมือนลมใต้ปีกที่พานกให้บินสูง พาเรื่องไปให้ถึงจุดหมาย

กลุ่มที่สองก็คือ ดักแด้หุ้มห่อสิ่งที่นักเขียนอยากจะเล่า ขึ้นอยู่ว่า กระบวนการอ่านของนักอ่าน และกระบวนการสร้างเรื่องราวของนักเขียน มันจะทำให้ดักแด้เติบโตเป็นผีเสื้อที่สวยงามโบยบินไปได้มากแค่ไหน"