19 มกราคม "วันป๊อปคอร์น" รู้จักของว่างยอดฮิตที่มีมานานกว่า 5,000 ปี

19 มกราคม "วันป๊อปคอร์น" รู้จักของว่างยอดฮิตที่มีมานานกว่า 5,000 ปี

เมื่อ "ป๊อปคอร์น" ไม่ได้เป็นแค่ของว่างระหว่างชมภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังมีประวัติที่น่าสนใจจนถูกจัดตั้งเป็น "วันป๊อปคอร์น" ขึ้นมา ชวนรู้ต้นกำเนิดวัฒนธรรมการกินข้าวโพดคั่วที่เริ่มมาจากชนเผ่าอินเดียนแดง ก่อนจะแพร่ขยายไปทั่วโลก

รู้หรือไม่? วันที่ 19 มกราคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันป๊อปคอร์นแห่งชาติ" ของสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มประกาศครั้งแรกในปี ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) ทั้งนี้ "ป๊อปคอร์น" ถือเป็นวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่งของชนชาติอเมริกันที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และได้แพร่ขยายไปทั่วโลก

แม้คนไทยในอดีตจะไม่ได้รู้จักป๊อปคอร์นมาก่อน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนไทยในยุคหนึ่งก็ได้รับเอาวัฒนธรรมการกินป๊อปคอร์นระหว่างดูหนังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงในชีวิตไม่ต่างจากชาวอเมริกัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคุณมาล้วงลึกต้นกำเนิดของป๊อปคอร์น ที่มีความน่าสนใจมากกว่าการเป็นแค่ของว่างเคียวเพลิน
 

  • "ป๊อปคอร์น" เมนูที่เกิดจากชาวอินเดียนแดง

ข้าวโพดคั่ว หรือ ป๊อปคอร์น เป็นอาหารว่างอย่างหนึ่งผลิตจากเมล็ดข้าวโพด โดยมีต้นกำเนิดจากชนเผ่าชาวอินเดียนแดง (Native American) ในทวีปอเมริกาเมื่อประมาณ 5,600 ปีที่ผ่านมา

ชาวอินเดียนแดงในแถบอเมริกาเหนือ นิยมนำป๊อปคอร์นมารับประทานเป็นอาหาร และนำมาเป็นเครื่องประดับได้ด้วย โดยการนำป๊อปคอร์นมาร้อยด้วยหญ้าทำเป็นสร้อยคล้องคอ ใช้เป็นเครื่องประดับที่ใช้แสดงฐานะทางสังคมในชนเผ่า กล่าวคือ คนที่จะสวมใส่ได้ต้องมีฐานะเป็นหัวหน้าเผ่าหรือนักรบเท่านั้น 

โดยพบหลักฐานว่าในยุคล่าอาณานิคม ชาวอังกฤษได้มีการจัดงานขอบคุณพระเจ้าขึ้นเป็นครั้งแรก และขณะนั้นมีชาวอินเดียนแดงนามว่า เควเดอควีนา ได้นำข้าวโพดคั่วใส่ถุงหนังกวางขนาดใหญ่ มาให้ผู้ร่วมงานได้รับประทานกันถ้วนทั่ว จึงทำให้ผู้คนนอกชนเผ่ารู้จักข้าวโพดคั่วตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา 

 

 

  • "ป๊อปคอร์น" ในซากเมืองโบราณ พบหลายจุดในอเมริกา

นักโบราณคดีพบหลักฐานเกี่ยวกับข้าวโพดคั่วในซากเมืองโบราณหลายแห่ง เช่น เมืองอินคาทางอเมริกาใต้ เมืองมายาในอเมริกากลาง และเมืองอัซเต็กในเม็กซิโก ต่างก็พบว่ามีการปลูกและการบริโภคข้าวโพดจำนวนมากมาเป็นเวลานาน 

หนึ่งในหลักฐานสำคัญคือการค้นพบว่า ชนเผ่าชาวอินคา ใช้หม้อดินปั้นพิเศษสำหรับการคั่วข้าวโพด (ภาชนะพบในซากปรักหักพังสมัยโบราณของอเมริกาใต้) โดยฝังหม้อในทรายที่ร้อนจัด จากนั้นโรยเมล็ดข้าวโพดแห้งลงไป แล้วปิดฝา หรือใช้หม้ออีกใบมาครอบ ความร้อนจากทรายจะทำให้เมล็ดข้าวโพดแตกและบานออกมากลายเป็นป๊อปคอร์น

ส่วนเมืองอัซเต็ก ประเทศเม็กซิโก ก็พบหลักฐานว่าชาวเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2062 มีการใช้พวงข้าวโพดคั่วประดับเทวรูปที่พวกเขาสักการะบูชา ใช้พวงข้าวโพดคั่วประดับกายและประดับศีรษะเมื่อต้องเข้าร่วมในพิธีกรรม อีกทั้งนักโบราณคดีได้ทำการขุดค้น ถ้ำแบตเคฟ บริเวณเวสต์เซ็นทรัลนิวเม็กซิโก ทำให้พบฝักข้าวโพดอายุเกือบ 5,600 ปี โดยดูจากผลทดสอบหาคาร์บอนกัมมันตรังสี และพบฟอสซิลเกสรดอกไม้อายุ 80,000 ปี ที่พบลึกลงไปใต้ดิน 200 ฟุต มีการตรวจสอบพบว่าเกสรนั้นคือเกสรข้าวโพด

นอกจากนี้นักวิจัยยังค้นพบเมล็ดข้าวโพดโบราณอายุกว่า 1,000 ปี ในหลุมฝังศพทางชายฝั่งแถบตะวันออกของเปรู โดยพบเป็นหม้อคั่วข้าวโพดดินเผาที่อายุย้อนไปถึงอารยธรรมก่อนยุคอินคาในเปรู (ค.ศ.300) ที่ใช้ในพิธีฝังศพ

 

 

  • ป๊อปคอร์นในยุคภาพยนตร์อเมริกาเฟื่องฟู

เมื่อราว ค.ศ. 1890 ป๊อปคอร์นค่อยๆ ปรากฏแพร่หลายไปทั่วอเมริกา ในฐานะพืชเกษตรกรรมที่สำคัญในท้องตลาด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้บริโภค จากนั้นมีการผลิตในเชิงการค้า โดยมีการสร้างเครื่องทำข้าวโพดคั่วขนาดมหึมาที่ใช้เตาน้ำมันเบนซิน กลายเป็นอุปกรณ์ที่คุ้นตาในงานเทศกาลต่างๆ

มีข้อมูลว่า เครื่องคั่วข้าวโพดเครื่องแรกถูกประดิษฐ์โดย นายชาลส์ เครเตอส์ ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1885

ต่อมาเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในยุคที่ธุรกิจภาพยนตร์ในอเมริการุ่งเรือง มีการเปิดโรงภาพยนตร์จำนวนนับไม่ถ้วนในอเมริกา ทำให้ป๊อปคอร์นกลายเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงแบบใหม่ ในสมัยที่การสร้างภาพยนตร์ยังเป็นหนังเงียบ บางครั้งมีเพียงเสียงดนตรีคลอ ช่วงนั้นเองมักจะมีเสียงกรุบกรับของผู้ชมที่กำลังเคี้ยวป๊อปคอร์นอย่างเพลิดเพลินในระหว่างดูหนัง

มีสถิติว่าในปี ค.ศ. 1922 สหรัฐอเมริกาเพาะปลูกข้าวโพดสำหรับใช้ทำป๊อปคอร์นประมาณ 15,000 เอเคอร์ และเมื่อมีเครื่องผลิตข้าวโพดคั่วแบบไฟฟ้าถือกำเนิดขึ้น ป๊อปคอร์นก็นำรายได้มาสู่ผู้ปลูกมากมายก่ายกอง จนได้รับสมญานามว่า "ทิวทองแห่งท้องทุ่ง" (prairie gold)

ถัดมาในปี ค.ศ. 1950 เมื่อโทรทัศน์แพร่หลายมากขึ้น ป๊อปคอร์นไม่ได้อยู่คู่โรงภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปบนหน้าจอโทรทัศน์ (โฆษณาในทีวี) อีกด้วยและวัฒนธรรมการกินป๊อปคอร์นในระหว่างชมภาพยนตร์และงานปาร์ตี้สังสรรค์ต่างๆ ก็แพร่กระจายไปทั่วโลก

ต่อมาในปี ค.ศ. 1967 ผลผลิตต่อปีของข้าวโพดมีมูลค่าสูงสุดถึง 432 ล้านปอนด์ โดยขณะนั้นรัฐอินเดียนา, ไอโอวา, อิลลินอยส์, โอไฮโอ และเคนตั้กกี้ กลายเป็นผู้นำในการผลิตป๊อปคอร์นของสหรัฐอเมริกา

 

  • ไม่ใช่แค่อร่อย แต่มีประโยชน์อื่นๆ อย่างไม่น่าเชื่อ

นอกเหนือจากการเป็นของว่างขบเคี้ยวคู่การชมภาพยนตร์มาทุกยุคทุกสมัยแล้ว ป๊อปคอร์นก็ยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น นำมาใช้เป็นวัสดุกันกระแทกในการขนส่งสินค้าเปราะบาง ซึ่งได้ผลดีมากกว่ากระดาษลูกฟูกเสียอีก

อีกทั้งยังมีการทดลองนำไปปรับใช้ในสูตรอาหารต่างๆ เช่น นำป๊อปคอร์นมาคลุกเคล้ากับเครื่องเทศ น้ำมะนาว และน้ำผึ้ง จัดมารับประทานกับครีมกลายเป็นอาหารว่าง หรือการนำป๊อปคอร์นมาผสมกับหัวหอม ผักชี และเครื่องปรุงรสอื่นๆ สามารถนำไปยัดไส้ไก่อบได้ เป็นต้น 

คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า ป๊อปคอร์น เป็นทั้งอาหาร ขนมขบเคี้ยว และของใช้ ที่มีต้นกำเนิดยาวนานมากที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ

----------------------------------------

อ้างอิง : popcorn.orgamericasfavoritepopcornthespruceeatsuspopcorn, ข้าวโพดคั่ว