"ท้ายเหมือง" เมืองเล็กๆ ที่ใครไปก็หลงรัก

"ท้ายเหมือง" เมืองเล็กๆ ที่ใครไปก็หลงรัก

ในห้วงเวลาเกือบ 40 ปีที่นักเขียนคนนี้รู้จักกับ "ท้ายเหมือง" ความรู้สึกครั้งแรกที่ได้ไปเห็นกับความรู้สึกครั้งสุดท้ายที่ไปมาไม่ถึง 20 วัน ไม่แตกต่างกันเลย ยังมีความหลงรัก หลงใหลในเสน่ห์ของตัวตนชุมชนแห่งนี้เช่นเดิม

ท้ายเหมือง....เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพังงา ชื่ออำเภอมาจากชื่อของชุมชนคนงานที่มาร่อนแร่ ซึ่งบ้านเรานั้น มีการทำเหมืองแร่ดีบุกมานานเน กรมทรัพยากรธรณีสำรวจทรัพยากรแร่ในทะเล พบว่าภูเก็ต พังงา ระนองนั้นมีแร่ดีบุกมากมาย ประวัติของสามจังหวัดที่ว่ามา จึงล้วนแล้วเกี่ยวพันกับการทำแร่ทั้งสิ้น การทำเหมืองแร่ในพังงานั้น ในย่านที่เป็นอำเภอท้ายเหมืองในปัจจุบัน

แต่ก่อนคนยังบางเบาก็เป็นพื้นที่ที่เป็นป่า ทั้งป่าบก ป่าเล พอการทำเหมืองแร่จากภูเก็ตที่ถือเป็นแหล่งใหญ่ เริ่มขยับขยายขึ้นมาทางเหนือเรื่อยจนถึง "ท้ายเหมือง" ในปัจจุบัน เมื่อมีคนมาลงทุนทำเหมืองแร่ ก็จะมีชาวบ้านอพยพเข้ามาร่อนแร่บริเวณท้ายรางของเหมือง โดยแรกๆ ก็ปลูกเพิงเล็กๆ พออาศัยหลับนอนเพื่อนร่อนแร่  ครั้นนานเข้าก็มีมาสมทบจนมากขึ้น กลายเป็นชุมชน มีการทำมาค้าขายเกิดขึ้นชุมชนที่เดิมมีขนาดเล็ก ก็ขยับขยายกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบกับเงินคงสะพัดตามประสาชุมชนเหมืองแร่ ทำให้ชุมชนเติบโตขึ้น ทางราชการจึงตั้งชุมชนแห่งนี้เป็นตำบล  เรียกตำบลท้ายเหมืองตามที่ชาวบ้านเรียกกัน ต่อมาเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นกับอำเภอทุ่งมะพร้าว เพิ่งจะมายกฐานะเป็นอำเภอในปี 2453  แล้วยุบอำเภอทุ่งมะพร้าวเดิมให้เป็นตำบล มาขึ้นกับอำเภอท้ายเหมืองจนปัจจุบัน

"ท้ายเหมือง" เมืองเล็กๆ ที่ใครไปก็หลงรัก ความร่มรื่นริมทะเลในเขตอุทยานฯ

ถนนสายเล็กๆ ที่ผ่านกลางชุมชน "ท้ายเหมือง" เดิมในอดีตคงจะคึกคักจากการค้าขาย อาคารร้านค้าที่สร้างจนชิดขอบถนนยังคงเค้าความเก่า แม้จะมีการปรับปรุงขึ้นมาบ้างแล้ว เสน่ห์ของท้ายเหมืองสำหรับนักเดินทางคือชายทะเลที่ยาวเหยียดและการเกิดขึ้นของอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ที่ประกาศในปี 2529 ซึ่งมีพื้นที่ของทั้งป่าบก และในส่วนของป่าชายทะเล ยิ่งทำให้อำเภอแห่งนี้ กลายเป็นพื้นที่คงความเป็นธรรมชาติไว้อย่างมากมาย และถ้าท่านผู้อ่านอยากจะไปใช้เวลาพักผ่อนกับธรรมชาตินานๆ ผมก็อยากแนะนำที่ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง นี่เอง

จากตัวตลาดท้ายเหมือง มีถนนเลียบชายทะเลทางเดียว ไปก็จะถึงด่านตรวจของอุทยานฯเอง และมีทางเข้าออกทางเดียว ระยะทาง 6 กิโลเมตร จากตัวตลาด

เสน่ห์หนึ่งอย่างที่ผมชื่นชมที่นี่อย่างมากก็คือชายหาด ซึ่งเท่าที่รู้ก็เริ่มมาตั้งแต่อำเภอไปสิ้นสุดที่ เขาหน้ายักษ์ ระยะทางรวม 20 กิโลเมตร  ชายหาดส่วนหนึ่งอยู่นอกเขตอุทยานฯ นั่นหมายถึงว่าเป็นชายหาดสาธารณะ และชายหาดในความดูแลของอุทยานฯ ผมจะเน้นที่ชายหาดในส่วนของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีการดูแลจัดการทั้งบนบกและชายทะเล จะหาชายหาดที่แทบจะไร้รอยเท้าคน น้ำใสสะอาด ชายหาดก็สะอาดสะอ้าน ผมว่าเห็นทีจะมีแค่ที่นี่ที่เดียว

"ท้ายเหมือง" เมืองเล็กๆ ที่ใครไปก็หลงรัก ชายหาดท้ายเหมืองที่สวยงาม

ทะเลย่านที่ทำการคลื่นลมจะแรง โดยเฉพาะช่วงฤดูมรสุมทางอันดามัน (พฤษภาคม-ตุลาคม) คลื่นจะลูกใหญ่มาก และพื้นทะเลย่านนี้จะเป็นเหวลึกลงไป เขาจึงห้ามเล่นน้ำเด็ดขาด แต่เมื่อเข้าไปตามถนนไปจนถึงหน่วยฯปาง ซึ่งเป็นหน่วยพิทักษ์อุทยานฯด้านใน  ชายหาดตั้งแต่หน่วยนี้ ไปจนถึงหาดหน้ายักษ์ เล่นน้ำได้ ชายหาดค่อยๆ เอียงลาด น้ำใสแจ๋วเหมือนที่หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน ทีเดียว

"ท้ายเหมือง" เมืองเล็กๆ ที่ใครไปก็หลงรัก

ชายหาดที่สวยและสงบ มีคนเคยบอกเล่าว่า เดิมทีย่านเขาหลัก บางเนียง บางสัก ชายหาดก็สงบเงียบแบบนี้ ฝรั่งจากภูเก็ต มาเห็นเข้าจึงติดใจจนกลายเป็นชุมชนทุ่งเที่ยวใหญ่อย่างในปัจจุบัน แต่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ จะกี่ปีผ่านไปธรรมชาติก็ยังคงเดิม  สัญชาตญานของเต่าทะเลที่เคยขึ้นมาวางไข่อย่างไร เมื่อชายหาดไม่ถูกรบกวน เต่าก็ยังคงขึ้นมาอย่างนั้นเฉกเช่นในอดีต และปีนี้ก็ขึ้นมาแล้วสองครั้ง

กลางวันนอกจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯจะทำงานปกติแล้ว กลางคืนยังต้องออกตรวจตามชายหาดดูเต่าที่ขึ้นมาวางไข่ด้วย ถ้าเจอก็จะทำการย้ายมาไว้ยังหลุมที่ชายหาดหน้าที่ทำการ ไม่เช่นนั้นเสร็จเหี้ยและคนหาไข่เต่า ชายทะเลที่เงียบสงบนี้เป็นระยะทางรวมสิบกิโลเมตรไปจนถึงเขาหน้ายักษ์นั่นเลยเชียว

"ท้ายเหมือง" เมืองเล็กๆ ที่ใครไปก็หลงรัก

การเป็นเอกลักษณ์อีกหนึ่งอย่างของที่นี่คือ ในช่วงเวลาราวปีใหม่   ทุ่งหญ้าที่มีพื้นที่นับร้อยๆ ไร่ จะเหลืองอร่ามงามตาสวยงามเป็นอย่างมาก ด้วยเป็น ทุ่งหญ้าซาวันนา ที่ติดกับชายทะเล เพราะอยู่ห่างหาดหน้ายักษ์ไม่ถึงร้อยเมตร อยู่ในพื้นที่เดียวกับป่าเสม็ดขาวผืนใหญ่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าชายหาด ซึ่งคณะทำงานในการเสนอทะเลอันดามันเป็นมรดกโลกได้มาสำรวจแล้วพบว่า ที่นี่เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีป่าชายหาดสมบูรณ์ที่สุดในคาบสมุทรไทย    

ที่หน่วยฯปาง ยังมีประวัติอันรุ่งเรืองของการทำเหมืองแร่ในอดีตปรากฏ ทั้งเรือขุดแร่ที่เป็นคอนกรีต ทั้งอุปกรณ์เครื่องจักรขนาดใหญ่ที่เคยในในการทำเหมืองแร่ มีป้ายสื่อความหมายบอกไว้หมด เพื่อจะได้ให้เห็นความรุ่งเรืองของพื้นที่ในอดีต

"ท้ายเหมือง" เมืองเล็กๆ ที่ใครไปก็หลงรัก ทุ่งหญ้าซาวันนาที่เหลืองอร่ามในช่วงปีใหม่

"อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง" ยังมีป่าบก ที่มีน้ำตกโตนไพร น้ำตกลำปี น้ำตกขนิมไว้ให้ไปเที่ยวเล่น และยืนยันถึงความสมบูรณ์ของการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ที่อุทยานแห่งชาติเขาดูแลไว้ ถึงได้บอกว่า ใครที่อยากมาพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ อยู่แบบสงบๆ อิ่มเอมกับชายทะเลที่ยังคงความเป็นธรรมชาติและสวยที่สุด เขามีที่กางเต็นท์ใต้ร่มสนทะเลขนาดใหญ่  และเสียค่าธรรมเนียมถูกมาก แค่คนละ 20 บาทเท่านั้น

"ท้ายเหมือง" เมืองเล็กๆ ที่ใครไปก็หลงรัก น้ำตกโตนไพร

ในยุคที่หมูแพง ไข่แพง ก๊าซแพง อะไรก็แพง มีแต่ค่าธรรมเนียมอุทยานแห่งชาตินี่แหละถูกสุดๆ...