7 วิธี "ตื่นเช้า" ปลุกไฟ "วัยทำงาน" ให้พร้อมลุย หลังหยุดยาวปีใหม่

7 วิธี "ตื่นเช้า" ปลุกไฟ "วัยทำงาน" ให้พร้อมลุย หลังหยุดยาวปีใหม่

หลายคนรู้ข้อดีของการ "ตื่นเช้า" อยู่แล้ว แต่มักจะทำไม่ได้ โดยเฉพาะหลังจากเที่ยวปีใหม่ "วัยทำงาน" อาจยังรู้สึกเนือยหน่าย ไม่พร้อมลุยงานสักที แบบนี้ต้องใช้หลักสูตรเร่งรัดด้วย 7 วิธีฝึกตื่นเช้า ปลุกไฟในตัวคุณให้พร้อมลุยงานเต็มที่

แม้จะผ่านช่วงเทศกาล "ปีใหม่ 2565" มาหลายวันแล้ว แต่ "วัยทำงาน" หลายคนอาจรู้สึกเนือยหน่าย ติดตื่นสาย และยังไม่พร้อมที่จะกลับสู่ชีวิตทำงาน แต่จะปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ เพราะนอกจากจะส่งผลเสียต่อหน้าที่การงาน ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วย แล้วต้องทำยังไงให้เรากลับมา "ตื่นเช้า" รับวันใหม่แบบคนมีไฟได้อีกครั้ง? 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนชาวออฟฟิศมาเน้นย้ำถึงประโยชน์ดีๆ ของการ "ตื่นเช้า" อีกครั้ง พร้อมรู้เคล็ดลับวิธีตื่นเช้า ที่คุณสามารถทำได้ง่ายๆ เพื่อให้ชีวิตกลับมาเข้าที่เข้าทางและสร้างสมดุลได้ดีเหมือนเดิม

 

  • "ตื่นเช้า" สัมพันธ์กับ "การนอน" ที่มีคุณภาพ

งานวิจัยเรื่อง Self-awakening and sleep/wake Habits in Adolescents ที่ถูกเผยแพร่ทาง NCBI (ศูนย์ข้อมูลการแพทย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา) ระบุไว้ว่า คนที่ตื่นเช้าได้เป็นประจำ มักจะเป็นคนที่เข้านอนเร็ว มีช่วงเวลานอนหลับลึกที่นานเพียงพอ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้การนอนหลับที่มีคุณภาพดี

โดยการนอนหลับเพียงพอจะทำให้สุขภาพกายและใจดีขึ้น เช่น อารมณ์ดีขึ้น, ลดความเสี่ยงโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และเบาหวาน, มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น, สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น

อีกทั้ง หากคุณเข้านอนเร็วขึ้นและได้การนอนหลับที่มีคุณภาพดีขึ้น จะช่วยให้คุณจะตื่นมาพร้อมกับรู้สึกผ่อนคลายและสดชื่นมากกว่าเดิมด้วย

หมายเหตุ : NCBI (National Center for Biotechnology Information) เป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดการแพทย์แห่งชาติของอเมริกา (United States National Library of Medicine : NLM) ที่เป็นหน่วยงานย่อยของ National Institutes of Health อีกทีหนึ่ง

 

 

  • เช็คประโยชน์ของการ "ตื่นเช้า" 

มีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น : การตื่นเช้าช่วยให้คุณมีเวลานั่งจิบกาแฟ อ่านข่าว ชื่นชมต้นไม้หรือให้อาหารปลา กิจกรรมหลังตื่นนอนเหล่านี้จะช่วยให้คุณสบายใจ เตรียมพร้อมสู่วันใหม่แบบไม่ต้องเร่งรีบ และไม่กดดัน ทำให้สุขภาพจิตใจสดใสพร้อมลุยงาน

มีเวลาออกกำลังกาย : ชาวออฟฟิศมักบ่นว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่ถ้าตื่นเช้าได้ ก็จะทำให้คุณมีเวลาออกกำลังกายได้ทุกวัน นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเยียวยาความเหนื่อยล้า/ภาวะเครียด จากการทำงานได้ เพราะร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ออกมา ทำให้รู้สึกมีความสุข ช่วยให้อารมณ์ดี ลดความเครียดและความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี

ออกจากบ้านแต่เช้า ไม่เจอรถติด : การตื่นเช้าและออกจากบ้านแต่เช้า ช่วยหลีกเลี่ยงรถติด เดินทางได้เร็วขึ้น ประหยัดเวลา อีกทั้งช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นด้วย รู้หรือไม่? การเผชิญกับรถติดนานๆ ทุกๆ วัน ส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์และจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดที่เพิ่มขึ้น, ภาวะซึมเศร้า, ความก้าวร้าว, ความโกรธเคือง, ปัญหาระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ 

 

มีเวลาทำงานให้เสร็จ : บางคนอาจเคยรู้สึกว่าทำไมเวลาในแต่ละวันหมดไปอย่างรวดเร็ว และงานที่ทำอยู่ก็ไม่เสร็จสักที นั่นก็เป็นเพราะว่าการตื่นสายทำให้เวลาแต่ละวันยิ่งน้อยลงไปอีก ดังนั้นหากตื่นเช้าก็จะมีเวลาในการสะสางงานให้เสร็จได้มากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

ชะลอวัย ใบหน้าสดใส : การเข้านอนเร็วและตื่นเช้า ช่วยให้ผิวพรรณสดใสขึ้น โดยเฉพาะอาการใต้ตาบวม หรือริ้วรอยต่างๆ บนใบหน้าจะดูดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่คุณนอนดึกตื่นสายติดต่อกันหลายๆ วัน

ช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น : สมองของคนเราไม่ได้พร้อมใช้งานทันทีที่เราลืมตาตื่นนอน สังเกตได้จากเรามักจะมึนงงและสับสนหลังจากตื่นนอนในช่วงแรก เรียกว่า "ความเฉื่อยจากการนอนหลับ" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตื่นโดยธรรมชาติ

อาการนี้จะอยู่ได้ประมาณหนึ่งชั่วโมง หากตื่นเช้าก็จะมีเวลาให้สมองค่อยๆ ปรับตัวให้หายจากอาการมึนงงนั้นได้ เมื่อสมองพร้อมเต็มที่ ก็จะทำให้มีสมาธิพร้อมทำงาน ส่งผลให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

  • 7 วิธีตื่นเช้า ฝึกทำได้ง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน

1. ตั้งนาฬิกาปลุกให้เร็วขึ้น 15 นาทีทุกวันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นค่อยๆ เพิ่มไปอีก 15 นาทีในสัปดาห์ถัดไป ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงช่วงเวลาที่ต้องการ เพื่อให้ง่ายและไม่ทรมานตัวเองมากเกินไป (ต้องเข้านอนให้เร็วขึ้นด้วย)

2. หาแรงจูงใจกระตุ้นตัวเอง ไม่ควรรู้สึกว่าการตื่นเช้าน่าเบื่อ อาจหาเป้าหมายพิเศษที่ทำให้คุณมีความสุข เช่น ตื่นเช้าเพื่อทำงานให้เสร็จเร็วขึ้น จะได้ไปเที่ยวกับเพื่อนหลังเลิกงาน เป็นต้น

3. ให้รางวัลตัวเอง เช่น หากตื่นเช้าได้ตามเวลาที่กำหนดได้ติดต่อกัน 1 เดือน ก็จะไปกินข้าวร้านหรู 1 มื้อ หรือซื้อเสื้อผ้า/รองเท้า/กระเป๋า ให้ตัวเอง 1 ชิ้น เป็นต้น

4. เมื่อตื่นนอนแล้ว ต้องรีบลุกออกจากเตียง/ห้องนอน ให้เร็วที่สุด เพราะการโอ้เอ้อยู่บนเตียงจะทำให้อยากกลับไปนอนต่อ

5. หลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าก่อนนอน (แสงจากจอมือถือ/แทปเล็ต/ทีวี) เพราะแสงสีฟ้าจะทำให้สมองตื่นตัว หลับยาก ดังนั้นควรปิดหน้าจอ 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

6. อย่าเคร่งครัดเกินไป ไม่ว่าจะทำอะไรก็ควรทำอย่างพอดีและยืดหยุ่น การฝึกตื่นเช้าก็เช่นกัน หากวันไหนเหนื่อยมาก เพลีย หรือไม่สบาย ก็อนุญาตให้ตัวเองตื่นสายได้

7. หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักและรสเผ็ดในช่วงดึก เพราะมักจะเป็นสาเหตุของอาการจุกเสียดท้องหรืออาหารไม่ย่อย ซึ่งส่งผลให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทตลอดคืน ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพโยงไปถึงตื่นสายในที่สุด เป้าหมายการตื่นเช้าก็จะพังลงทันที

ใครที่อยากปรับนาฬิกาชีวิตใหม่ ฟื้นฟูให้ร่างกายตัวเองกลับมาเข้าสู่โหมดนอนเร็วและตื่นเช้าได้ในทุกวัน ก็ลองนำคำแนะนำเหล่านี้ไปปรับใช้ รับรองว่ามีส่วนช่วยให้ทำสำเร็จได้มากขึ้นแน่นอน

--------------------------------

อ้างอิง : healthline/benefits-of-waking-up-earlyncbi.nlm.nih.gov