วิ่งอัลตร้ามาราธอน 100 ก.ม. "หนึ่ง-มาโนช"วิ่งถึงได้ไง ทั้งๆ ที่มองไม่เห็น

วิ่งอัลตร้ามาราธอน 100 ก.ม. "หนึ่ง-มาโนช"วิ่งถึงได้ไง ทั้งๆ ที่มองไม่เห็น

อยากทำสิ่งใด ลองทำสิ่งนั้นจริงจัง เชื่อเถอะว่าทำได้ เหมือนเช่น“ผู้พิการทางสายตา”คนนี้ ทั้งๆ ที่ไม่คิดว่าจะวิ่ง 100 กิโลเมตรได้ แต่การฝึกซ้อมและเชื่อว่าทำได้ ก็ไปถึงเป้าหมาย 

ปีใหม่นี้(พ.ศ.2565) หากใครตั้งเป้าไว้ว่า จะเริ่มออกกำลังกาย แล้วไม่มีแรงบันดาลใจ ลองอ่านเรื่องราวของผู้ชายคนนี้ 

เขาเคยเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยออกจากบ้าน ไม่เคยออกวิ่ง เมื่อฝึกวิ่งครั้งแรก เหนื่อยจนเป็นลม ่แต่ไม่เลิกลา ทั้งๆ ที่ไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป

เขาค่อยๆ ฝึกวิ่งวันละไม่กี่กิโลเมตร จากนั้นลงแข่งขันวิ่ง 10 กิโลเมตร ขยัยเป็น 24 กิโลเมตร และจบอัลตร้ามาราธอน 100 กิโลเมตร ทั้งๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะวิ่งได้ไกลขนาดนี้

อะไรเป็นแรงฮึดให้ หนึ่ง-มาโนช รุ่งเรืองอเนกคุณ ลงวิ่งมาราธอนก่อนการระบาดโควิดได้ไกลขนาดนี้ ทั้งๆ ที่พิการทางสายตา

“ชีวิตผม มองเห็นลดลงเรื่อยๆ บางทีก็รู้สึกแย่ แต่ก็ช่างมัน ก็เหมือนคนทั่วไปบางทีก็ท้อพยายามนึกถึงคนพิการกลุ่มที่มองไม่เห็นเลย เรายังมีโอกาสมากกว่าพวกเขา” หนึ่ง เล่าให้ฟัง

วิ่งด้วยกัน กิจกรรมแรกในชีวิต

ก่อนที่สายตาจะมองไม่เห็น หนึ่ง สอบเข้าทำงานในองค์กรรัฐได้ งานของเขาคล้ายๆ นักวิชาการ ตอนนั้นไม่มีปัญหาทางสายตา

“เข้ามาทำงานปี สองปี เริ่มมองไม่เห็น จึงเปลี่ยนมาทำงานดูแลระบบคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก ช่วยแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์เล็กๆน้อยๆ ช่วยเขียนโครงการ จัดซื้อจัดซ่อม เพราะเป็นนักวิชาการต้องเดินทาง แต่อันนี้เป็นงานสำนักงาน”

วิ่งอัลตร้ามาราธอน 100 ก.ม. \"หนึ่ง-มาโนช\"วิ่งถึงได้ไง ทั้งๆ ที่มองไม่เห็น

หนึ่ง ไม่ได้พิการทางสายตาตั้งแต่เกิด เริ่มมีอาการทางสายตาตอนอายุ 27 ตอนนั้นมีวันหนึ่งเขารู้สึกว่า อ่านตัวหนังสือตัวเล็กๆ ไม่เห็น จึงไปหาหมอ หมอบอกว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม อนาคตการมองเห็นอาจแย่ลง หรือคงที่

“3-4 ปีที่ผ่านมา การมองเห็นแย่ลง การเดินทางลำบาก ผมก็เลยเก็บตัว จนมาเจอกลุ่มวิ่งด้วยกัน Fanpage จัดกิจกรรม ให้คนพิการ และคนไม่พิการ วิ่งด้วยกัน ผมเริ่มไปวิ่งร่วมกับพวกเขาปี 2559

ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่กล้าออกไปไหน ต้องรอแม่ รอน้อง ตอนนั้นใช้ไม้เท้าไม่เป็น เพราะการฝึกอบรมทักษะให้คนพิการจะอบรมวันธรรมดาที่ผมต้องออกไปทำงาน”

เมื่อรู้สึกว่าการออกไปวิ่ง ทำให้สนุก มีเพื่อนทำกิจกรรมมากขึ้น หนึ่งจึงเริ่มฝึกซ้อมวิ่งที่สวนลุมในช่วงวันหยุด

จากนั้นเริ่มทำกิจกรรมแรกในฐานะคนพิการ ร่วมกับกลุ่มวิ่งด้วยกัน เมื่อมีส่วนร่วมกับคนทั่วไปมากขึ้น หนึ่งจึงเลิกเก็บตัว และรู้สึกมีความสุขมากขึ้น

“แรกๆ ที่ออกวิ่ง ก็มีคนแนะนำว่า คนมองไม่เห็นต้องวิ่งอย่างไร ต้องมีไกด์นำทาง หรือที่เรียกว่า ไกด์ไรด์เดอร์ วิ่งข้างๆ จะคอยนำทางว่าเลี้ยวซ้าย ขวา มีอะไรกีดขวาง แล้ววิ่งไปพร้อมๆ กัน

ไกด์คนแรก ลุงป้อม มาพาวิ่ง เขาอายุ 60 ปีแล้ว ออกกำลังกายทุกวัน จึงแข็งแรงมาก ผมไม่เคยออกกำลังกาย เพราะไม่ได้ออกไปไหน ซ้อมวิ่งครั้งแรกหายใจไม่ทัน เป็นลมหน้ามืด ก็อายลุงป้อมเหมือนกัน เพราะผมยังหนุ่มอยู่”

วิ่งอัลตร้ามาราธอน 100 ก.ม. \"หนึ่ง-มาโนช\"วิ่งถึงได้ไง ทั้งๆ ที่มองไม่เห็น

นักวิ่งที่มองไม่เห็น ใจต้องกล้าพอ

ช่วงแรกๆ ที่ออกวิ่งระยะทาง 5 กิโลเมตร ไกด์รันเดอร์พาหนึ่ง ออกซ้อมวิ่งเกือบทุกวัน จากนั้นขยับเป็น 10 กิโลเมตร และเมื่อลงแข่งวิ่งครั้งแรก เขาเข้าเส้นทางท้ายๆ

“เมื่อมีเป้าหมายว่า ต้องวิ่งให้ได้เท่านั้นเท่านี้ ทำให้เรากล้าออกจากบ้าน มีความกล้าในการใช้ชีวิตมากขึ้น แรก ๆ ก็นั่งแท็กซี่ มีไกด์เดินมารับ หลังๆ เริ่มเดินทางเอง นั่งรถไฟฟ้า ซ้อนท้ายวินมอเตอร์ไซค์

ตอนนั้นก็ตั้งเป้าเพิ่มว่าต้องวิ่งให้ได้ 42 กิโลเมตร เกือบไม่จบ เหนื่อยมาก จากนั้นร่างกายค่อยๆ แข็งแรง จากที่วิ่งแล้วเป็นลม ตอนนี้ไม่เป็นแล้ว เดินข้ามสะพานลอยก็ไม่เหนื่อยมาก เคยเป็นหวัดต้องไปหาหมอ ตอนนี้เป็นไม่กี่วันก็หาย

สำหรับคนตาดี การฝึกซ้อมวิ่งบ่อยๆ มีข้อจำกัดแค่ความขี้เกียจ ส่วนคนตาบอดมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งการเดินทาง การมองไม่เห็น ดังนั้นการฝึกซ้อมจึงต้องมีไกด์รันเดอร์

แม้คนพิการเช่นหนึ่งจะมีข้อจำกัดหลายเรื่อง เขาก็ไม่ละความพยายาม เพราะการวิ่งทำให้ได้ออกกำลังกาาย สนุกกับสิ่งรอบตัว และมีเพื่อน

หนึ่งบอกว่า หลังจากวิ่งกับไกด์รันเดอร์ เขาเริ่มจับจังหวะการวิ่งร่วมกันได้ และก่อนออกวิ่ง ต้องวอร์มเบาๆ ให้กล้ามเนื้อและหัวใจได้ขยับ 

“เวลาผมจะไปซ้อมวิ่งมาราธอน บางทีก็หาคนที่เป็นมาไกด์รันเดอร์ยาก ต้องขอสักสองสามคนมาผลัดกัน และเมื่อวิ่งมาห้าปี ทำให้มีความกล้าในการใช้ชีวิตมาก

วิ่งอัลตร้ามาราธอน 100 ก.ม. \"หนึ่ง-มาโนช\"วิ่งถึงได้ไง ทั้งๆ ที่มองไม่เห็น

ก่อนโควิด หลังเลิกงานผมออกไปซ้อมวิ่งทุกวัน และเดี๋ยวนี้เดินทางเองไปไหนสบายมาก แต่สถานการณ์โควิด ทำให้ต้องเลื่อนซ้อม เลื่อนกิจกรรมการแข่งขัน ล่าสุดผมสมัครแข่งวิ่งกับ "วิ่งด้วยกัน" ตอนนี้เลื่อนจากเดือนกุมภาพันธ์ เป็นปลายปี 65

แม้การวิ่งอย่างต่อเนื่องหลายปี จะทำให้หนึ่งมีพัฒนาการวิ่งดีขึ้น แต่เขาไม่ได้ฮึมเหิมข้ามขั้นตอนการวิ่ง เขาไต่ระดับจากวิ่ง10 กิโลเมตรเป็น 42 กิโลเมตร โดยลงแข่งวิ่งระยะนี้หลายครั้ง จากนั้นค่อยๆ เพิ่มความเร็วในการวิ่ง จนมาเป็นมาราธอน 50 กิโลเมตร ปีถัดไปก็เลยลองวิ่ง 100 กิโลเมตร

“ก่อนโควิดระบาด ผมสามารถวิ่งมาราธอน 100 กิโลเมตรได้แล้ว นั่นก็คือ ทำลายเป้าหมายที่วางไว้แล้ว ใช้เวลาวิ่งประมาณ 15 ชั่วโมง”

นี่คือ เรื่องราวของนักวิ่งคนพิการ ที่ครั้งแรกออกวิ่งแล้วเป็นลม ใช้เวลาฝึกซ้อมจนวิ่งได้ 100 กิโมเมตร เพราะชีวิตเลือกได้ และเลือกที่จะทำเช่นนั้น