เปิดประวัติ "ปีใหม่สากล" ทำไมต้องเป็นวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี?

เปิดประวัติ "ปีใหม่สากล" ทำไมต้องเป็นวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี?

ชวนรู้ประวัติและความเป็นมาของ "ปีใหม่สากล" ที่ตรงกับวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ใครเป็นคนบัญญัติขึ้นมากันแน่? และมนุษย์เริ่มมีการใช้ "ปฏิทิน" เพื่อนับวันเวลาในรอบปีมาตั้งแต่เมื่อไร? หาคำตอบได้ที่นี่!

ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ในปี 2565 กันแล้ว ขอให้เป็นปีที่ดีของคนไทยทุกคน และร่วมกันสู้วิกฤติโควิด "โอมิครอน" ให้ผ่านพ้นไปด้วยกันได้อีกครั้ง 

เนื่องในโอกาสที่เริ่มต้นปีใหม่ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนทุกคนไปรู้จักประวัติ "ปีใหม่สากล" อย่างวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีว่าเริ่มต้นมีมาตั้งแต่เมื่อไร

 

  • "วันปีใหม่" เกิดขึ้นในสมัยอาณาจักรบาบิโลน

ขอย้อนพาไปดูความหมายของ "วันขึ้นปีใหม่" กันก่อนสักนิด โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุเอาไว้ว่าคำว่า "ปี" หมายถึง ระยะเวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง โดยใช้เวลาราว 365 วัน หรือ 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้นคำว่าวันขึ้นปีใหม่ จึงหมายถึงวันแรกของการโคจรของโลกในรอบใหม่นั่นเอง

ส่วนจุดเริ่มต้นของ "วันปีใหม่สากล" นั้น ว่ากันว่าเริ่มขึ้นในสมัยที่ชาวบาบิโลเนีย (ผู้คนในอาณาจักรกรุงบาบิโลน เป็นอาณาจักรที่พูดภาษาแอกแคดโบราณในภาคกลางตอนใต้ของเมโสโปเตเมีย) เริ่มคิดค้นการใช้ "ปฏิทิน" โดยอาศัยระยะต่างๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือนก็กำหนดให้เท่ากับเป็น 1 ปี พอเริ่มนับเวลารอบใหม่ก็กำหนดให้วันแรกที่นับเป็น "วันขึ้นปีใหม่"

แต่ในสมัยนั้น ชาวเมืองต้องการให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทิน กับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก 4 ปี 

 

 

  • ยุค "จูเลียต ซีซาร์" ปรับปฏิทินให้ 1 ปีมีแค่ 12 เดือน

ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายครั้ง เพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้น

จนถึงสมัยของกษัตริย์ "จูเลียต ซีซาร์" ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ "โยซิเยนิส" มาปรับปรุงการกำหนดช่วงระยะเวลาใหม่ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน หรือ 12 เดือนเท่านั้น และในทุกๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า "อธิกสุรทิน"

จากการปรับปรุงปฏิทิน ทำให้พบว่าในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุกๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกในองศาที่พอดีเป๊ะ! 

ในวันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลา "กลางวัน" และ "กลางคืน" เท่ากันอย่างละ 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า "วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม" (Equinox in March)

 

 

  • เริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นตัวกำหนด "ปีใหม่สากล"

ต่อมาในยุคของ "พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13" ประมาณปี พ.ศ. 2125 พบว่าวัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม เหมือนในอดีต

ดังนั้น พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะในปี 2125 นี้)

ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า "ปฏิทินเกรกอเรี่ยน" จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปี หรือ "วันปีใหม่สากล" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

  • "ปีใหม่ไทย" ถูกปรับตาม "ปีใหม่สากล"

ในอดีตวันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้ง คือ

  • ครั้งที่ 1 ถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม ยึดตามปฏิทินจันทรคติเป็นหลัก
  • ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน ยึดตามปฏิทินจันทรคติเป็นหลัก
  • ครั้งที่ 3 ได้ถือเอาปฏิทินสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ (วันสงกรานต์) ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา

ต่อมาเมื่อไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางการจึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก และในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด ในสมัยนั้นเรียกกันว่าเป็น "วันตรุษสงกรานต์"

  • ครั้งที่ 4 ได้ปรับเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศทั่วโลก โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2484 เป็นต้นมา

สำหรับการพิจารณาเปลี่ยน "วันขึ้นปีใหม่" ในครั้งนั้น เกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งมี "หลวงวิจิตรวาทการ" เป็นประธานกรรมการ หลังจากหารือกันแล้วเสร็จ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากเดิม 1 เมษายน ให้เป็นวันที่ 1 มกราคมแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่สากลครั้งแรกในไทย

-------------------------------------

อ้างอิง : gotoknow.org