ปี64 ช่วง“โควิด”ระบาดหนัก จำได้ไหม...คนกลุ่มไหนช่วยประชาชน

ปี64 ช่วง“โควิด”ระบาดหนัก จำได้ไหม...คนกลุ่มไหนช่วยประชาชน

ปี 2564 ช่วง"โควิดระบาดหนัก"คาบเกี่ยวระหว่างความเป็นความตาย...ใครกันแน่! ที่แบกถังออกซิเจนเข้าไปถึงบ้าน และใคร!ที่ช่วยหาเตียงให้ผู้ป่วยหนัก หลายเรื่องที่รัฐทำไม่ได้ ทำไมคนตัวเล็กตัวน้อยทำได้

ดร.วิเวียน บาลากริชนัน (Dr.Vivian Balakrishnan) รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ เคยกล่าวว่า โควิดจะเป็น "บททดสอบ 3 อย่าง" ของทุกประเทศ 

นั่นก็คือ ระบบสาธารณสุข(Healthcareการบริหารจัดการของภาครัฐ (Standard of governance) และทุนทางสังคม (Social Capital)

 

ในปี 2564 เห็นแล้วว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเป็นอย่างไร, การบริหารจัดการของรัฐบาลเป็นอย่างไร ตรงข้ามกับ

Social Capital : ทุนทางสังคม โดยสิ้นเชิง กล่าวได้ว่า สังคมไทยผ่านวิกฤติโรคระบาดร้ายแรงมาได้ เพราะทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง

ปี64 ช่วง“โควิด”ระบาดหนัก จำได้ไหม...คนกลุ่มไหนช่วยประชาชน Cr.เส้นด้าย-Zendai

      เห็นได้ว่า การจัดการการระบาดโควิดของภาครัฐในหลายเรื่องล้มเหลว ผลักดันให้จิตอาสาหลายกลุ่ม ต้องลุกขึ้นมาช่วยเหลือกัน เพื่อความอยู่รอดของครอบครัวและชุมชน ดังเช่นกลุ่มเหล่านี้

  • เราต้องรอด

เดือนเมษายน 2564 ได๋-ไดอานา จงจินตนาการ พิธีกรสาว ได้มีการพูดคุยกับ จ๊ะ-นงผณี มหาดไทย นักร้องลูกทุ่ง ว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด 

ในตอนนั้นโควิดระลอกสามยังไม่หนักมาก มีเคสหนึ่งติดต่อเข้ามา พวกเขาช่วยกันประสานโรงพยาบาลหาเตียงให้ หลังจากนงผณีโพสต์ว่าช่วยได้สำเร็จแล้วหนึ่งราย คนก็ส่งข้อความเข้ามามากมาย 

ปี64 ช่วง“โควิด”ระบาดหนัก จำได้ไหม...คนกลุ่มไหนช่วยประชาชน Cr.เส้นด้าย-Zendai

สมาชิกในกลุ่มนี้ที่มี 4 คน  คือได๋, จ๊ะ, พี่สาวจ๊ะ, ผู้ช่วยของได๋ มีชื่อกลุ่มว่า เราต้องรอด ตอนแรกไม่ได้คิดเปิดเพจแค่ช่วยประสานให้ จนกลายมาเป็นชื่อเพจ

สองวันแรกมีเคสเข้ามา 30 เคส พวกเขาช่วยประสานทุกอย่างสองวันเต็มๆ นิหน่า- สุฐิตา ปัญญายงค์ ก็เข้ามาช่วย มีการประชุมแบ่งงาน เปิดไลน์แอด 

พอได้รับข้อมูลก็ส่งไปให้เจ้าหน้าที่ประสานงาน มีทีม EMT ประเมินอาการ ตั้งแต่ทำมาพวกเขายอมรับว่า เยอะสุดคือ 300 รายจากแคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งโชคดีที่มีหลายหน่วยงานติดต่อเข้ามาว่าถ้ามีอะไรให้ช่วยเหลือก็แจ้งมาได้เลย

เพจ เราต้องรอด จึงเป็นช่องทางช่วยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประสานงานให้ผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค เครื่องวัดระดับออกซิเจน กรณีผู้เสียชีวิตก็ประสานหาฌาปนกิจสถานให้ด้วย #เราต้องรอด https://www.facebook.com/savethailandsafe

ปี64 ช่วง“โควิด”ระบาดหนัก จำได้ไหม...คนกลุ่มไหนช่วยประชาชน Cr.เส้นด้าย-Zendai

  • หมอแล็บแพนด้า

วันที่ 8 เมษายน 2564 ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าของเพจ หมอแล็บแพนด้า จับมือกับ กทม.ออกรถตรวจโควิด เคลื่อนที่ฟรี เพราะไม่ต้องการให้ผู้มีความเสี่ยงเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาล ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ จึงตระเวนออกตรวจที่บ้าน ตรวจเจอกักตัวทันที เมื่อเจอเร็ว รักษาถูกวิธี เชื้อไม่ลงปอด ก็ไม่เสียชีวิต 

"ช่วงนั้นมีผู้ลงทะเบียนเข้ามา 18,000 ราย โดย กทม. ตั้งเป้า 700 รายต่อวัน กลุ่มเสี่ยงได้รับการตรวจฟรี กทม.ต้องทำก่อนเพราะมีคนอาศัยเยอะ มีผู้ติดเชื้อมาก เป็นโมเดลเพื่อขยายต่อ"

หมอแล็บโพสต์ต่อว่า ต้องยอมรับว่าพี่น้องประชาชนที่ติดเชื้อนอนรอที่บ้านเต็มไปหมด บางคนรอจนเสียชีวิต หลายๆ หน่วยงานพร้อมสร้าง Semi-ICU ต่อให้ต้องควักเนื้อ 1-2 ล้าน ก็ยอมเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน 

แต่ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานงัดกฎระเบียบที่เข้มงวดมากๆ มาใช้ จากลงทุน 2 ล้าน ต้องทำนั่นทำนี่เพิ่มทะลุ 12 ล้าน ทั้งที่เค้าพยายามปรับทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือคน พอต้องจ่าย 5-10 ล้าน เค้าก็ถอย 

สุดท้ายเหลือ community isolation ไม่กี่ที่ วนลูปมาที่พี่น้องประชาชนต้องรอตายที่บ้าน อะไรที่ยืดหยุ่นให้ประชาชนหรือภาคเอกชนช่วยเหลือกันได้ก็ต้องช่วยกัน เห็นความตั้งใจของคนที่จะมาช่วยแล้วเขาล้มเลิกโครงการ ผมเห็นแล้วก็ปลงแทน...." https://www.facebook.com/search/top?q

ปี64 ช่วง“โควิด”ระบาดหนัก จำได้ไหม...คนกลุ่มไหนช่วยประชาชน Cr.เส้นด้าย-Zendai

  • กลุ่มเส้นด้าย -Zendai 

เริ่มต้นมาจากการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ของ กุลทรัพย์ วัฒนผล หรือ “อัพ VGB" อดีตนักกีฬาอีสปอร์ตเมื่อเดือนเมษายน 2564 ซึ่งเข้าไม่ถึงการรักษา แม้จะหาเตียงได้แล้วก็ไม่ทันการ 

คริส โปตระนันทน์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม เขต 6 ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ กับ กุลเชษฐ พี่ชายของอัพ จึงรวมตัวกันทำกลุ่มประชาชนอาสาขึ้นมา

จากข้อสงสัยว่า คนดังคนรวยได้รับการรักษาโควิด-19 อย่างรวดเร็ว แต่คนธรรมดาอย่างน้องชายของผู้ร่วมก่อตั้งกลับหารถไปส่งรพ.ไม่ได้ หาจุดตรวจไม่เจอ โทรศัพท์หาใครก็ไม่ติด พอโทรติดโรงพยาบาลแล้ว กลับได้รับคำแนะนำว่าให้นั่งรถสาธารณะมา

มีคนเฟซบุ๊กไลฟ์ขอความช่วยเหลือให้ช่วยหาเตียง หลังติดโควิดมากมาย สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขของรัฐ เพราะรัฐมีข้อจำกัด และการสื่อสารของรัฐทำให้ประชาชนสับสน

การบริหารจัดการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ การจัดหาวัคซีนที่ไม่ทันต่อเวลา เป็นเหตุให้ประชาชนหลายกลุ่มต้องออกมารวมตัวกันช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านั้น https://www.facebook.com/zendai.org

ปี64 ช่วง“โควิด”ระบาดหนัก จำได้ไหม...คนกลุ่มไหนช่วยประชาชน Cr.เส้นด้าย-Zendai

  • มูลนิธิอิสรชน

เป็นมูลนิธิที่ดูแลคุณภาพชีวิตผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ตั้งแต่เจอเคส จนเสียชีวิต ช่วยเหลือเรื่องปัจจัย 4 ประจำพื้นที่คลองหลอด และพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร จ.อยุธยา จ.สมุทรสาคร ทำงานเชิงรุก ไม่ให้คนออกมาเร่ร่อน ให้กลับมามีตัวตนในสังคม ช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นได้ต่อไป

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ย้อนถึงช่วงโควิดระบาดว่า ตั้งแต่ล็อกดาวน์ มีคนเร่ร่อนหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นสองเท่า โดยประเมินจากการแจกอาหารแก่กลุ่มคนไร้บ้านและเร่ร่อนในจุดหลัก จาก 300 ราย เพิ่มเป็น 600 ราย บางคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ถูกไล่ออกจากห้องเช่าเพราะติดโควิด หรือตกงานเพราะสถานประกอบการปิด

"ปกติกลุ่มคนเร่ร่อนและคนไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว บางคนอาศัยตามถนนมานาน ไม่มีบัตรประชาชน เข้าไม่ถึงการตรวจหาเชื้อและวัคซีน เรามีอาสาสมัคร 10 คนไม่เพียงพอ ต้องขอความร่วมมือกับกลุ่มอาสาอื่นๆ เช่น กลุ่มเส้นด้าย กรณีตรวจพบติดเชื้อโควิดต้องส่งไปสถานพยาบาล

ล่าสุด มูลนิธิได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย จัดสรรวัคซีนมาฉีดให้คนยากไร้ เร่ร่อน ด้อยโอกาส ตกงาน ละแวกราชดำเนิน ท่าน้ำนนทบุรี บางกอกน้อย ลาดพร้าว จตุจักร พหลโยธิน บางแค

เป็นวัคซีนพระราชทานจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซิโนฟาร์ม 300 โดส เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม สิ่งที่มูลนิธิเผชิญที่ผ่านมาคือ ใช้เวลานานในการประสานงานให้ผู้ป่วยติดเชื้อเข้าสู่ศูนย์พักคอย https://www.facebook.com/issarachonfound

ปี64 ช่วง“โควิด”ระบาดหนัก จำได้ไหม...คนกลุ่มไหนช่วยประชาชน Cr.เส้นด้าย-Zendai

  • หมอริทช่วยโควิด

หมอริท เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช หรือ ริท เดอะสตาร์ เจ้าของโครงการ “หมอริทช่วยโควิด” ปี 2564 ที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่อยู่ระหว่างรอการรักษาและผู้ป่วยยากจน แบบ Home Isolation ส่งยาและติดต่อประสานเตียง พร้อมรับบริจาคอาหารแห้งและยาจัดส่งให้กับผู้ป่วย หลังจากช่วยเหลือสังคมมาได้ระยะหนึ่ง หมอริทก็ได้โพสต์ทวิตเตอร์พร้อมลิสต์ 13 ข้อดังนี้

1)หมอริทช่วยโควิด เป็นโครงการอาสา ไม่ได้รับเงินจากรัฐ เรียกร้องให้รัฐดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง เมื่อไรท่านดูแลทั่วถึง เราจะหยุด

2)หมอริทช่วยโควิด รับเคสใหม่ได้เฉลี่ย 200 เคส/วัน แต่หน่วยงานรัฐใน กทม. รับเคสใหม่ได้ 9 เคส/วัน ถ้าลดการทำงานที่ไม่จำเป็นบางอย่างลง จะทำให้รับเคสได้มากขึ้น?

3)ภาคประชาสังคม/จิตอาสา (ไม่ใช่เฉพาะ #หมอริทช่วยโควิด) ได้มีส่วนช่วยสำคัญให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติโควิดนี้ไปได้ (ซึ่งท่านทราบสัดส่วนตัวเลขการดูแลเคสอยู่แล้ว ประมาณเกือบครึ่งต่อครึ่ง จริงหรือไม่?)

4)คนไข้ที่ติดต่อผ่านช่องทางของรัฐ ต้องรอการรักษานาน 3 วัน-14 วัน หรือ จนหายแล้ว จริงหรือไม่?

5)รัฐมีหน่วยจ่ายยาฟาวิ โดยจ่ายเป็นคอร์ส 3-5 วัน แล้วไม่ดูแลเคสต่อให้ครบ 14 วัน สุดท้ายคนไข้ตกเป็นภาระของใคร? ส่วนหนึ่งมา #หมอริทช่วยโควิด เข้าถึงเคสได้ก็ทำให้จบกระบวนการเลยไหม? ใช้งบไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่?

6)ATK บอกว่าให้เข้าระบบ HI ได้ ถ้าอาการแย่ลง แล้วต้องการเตียง เข้า รพ. ได้เลย แต่ในความเป็นจริง รพ. ไหนรับบ้าง? สุดท้ายรอ PCR กันหมดไหม? จะตายแล้วยังรอ PCR? รพ. มีปัญหาการเบิกไหม? ขอคำสั่งเด็ดขาดและชัดเจนเลยได้ไหม?

ปี64 ช่วง“โควิด”ระบาดหนัก จำได้ไหม...คนกลุ่มไหนช่วยประชาชน Cr.เส้นด้าย-Zendai

7)ดูแลคนไข้ช่วยเหลือกันกับภาครัฐ ท่านมีฐานข้อมูลให้เช็คการดูแลซ้ำซ้อนไหม? ภาษีประชาชนทั้งนั้น 1 คนไข้ต่อ1 การดูแลก็พอแล้ว

8)ระบบจัดหาเตียงอยู่ไหน? ทีมอาสามีแพทย์มาช่วยดูแล HI ประเมินความเสี่ยงให้แล้ว พออาการแย่ลง ต้องการเตียง ให้ส่งไปที่ไหน? หน่วยงานไหนรับช่วงต่อ? เบอร์กลางของท่านโทร.ติดจริงๆ หรือไม่?

9)เรื่องเตียง ไม่เพียงพอ รัฐกำลังขยายเพิ่มเตียงอยู่ ต้องจัดคนไข้เอาเตียงตามความรุนแรง เลยต้องให้ออกซิเจนที่บ้านไปก่อน แล้วหน่วยงานไหนดูแลเรื่องออกซิเจนที่บ้าน? มีแต่ขอความช่วยเหลือจากทีมอาสาด้วยกัน

10)การประชาสัมพันธ์ ความรู้ ความเข้าใจ เพียงพอไหม? กักตัวครบ 14 วัน ไม่ต้องตรวจซ้ำ ไปทำงานได้เลย, คนไข้ไม่ต้อง x-rays ปอดทุกคน, ยาฟาวิ ทานตามข้อบ่งชี้ ไม่ต้องทานทุกคนก็หายได้ เป็นต้น

11)ภาคแรงงาน นายจ้าง ยังต้องการใบรับรองแพทย์ มีระบบให้ไหม? เอา ATK/PCR กับชื่อหน่วยงานที่ดูแลไปออกใบรับรองเลยได้ไหม? แค่หมอมาช่วยตรวจยังไม่พอ ยังต้องแบ่งหมอช่วยเขียนใบรับรองแพทย์อีก มันจะทันไหม?

12)ตอนนี้ ภาคประชาสังคม/อาสา สร้างเครือข่ายกันเอง หาเตียง หาออกซิเจน หา PCR หา x-rays หายา หาอาหาร เค้าทำกันเรียบร้อยแล้ว มาดู แล้วขอบคุณและให้เครดิตเขาก็พอ

13)โควิดครั้งนี้ มันคือวิกฤต วันที่รัฐรับมือไม่ไหว ประชาชนพร้อมช่วย แค่ยอมรับในกำลังความสามารถ ไม่ต้องอาย ปล. ยังไม่รวมเรื่องการจัดการระยะยาว เช่น วัคซีนนะครับ ซึ่งสุดท้ายมันก็คือเรื่องเดียวกัน

ปี64 ช่วง“โควิด”ระบาดหนัก จำได้ไหม...คนกลุ่มไหนช่วยประชาชน Cr.เส้นด้าย-Zendai

  • กลุ่ม Up for Thai

ที่ผ่านมาในช่วงโควิดระบาดหนัก โครงการต้องรอด กลุ่ม Up for Thai นำโดย ดวงฤทธิ์ บุนนาค, คุณชายอดัม ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล, ป้าตือ สมบัษร ถิระสาโรช, สุกิจ เจริญมุขยนันท์ จัดตั้งศูนย์รวบรวมการสิ่งของจำเป็น รับบริจาควัตถุดิบ เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม ทุนทรัพย์

ตั้งโรงครัวผลิตอาหาร 2,000 คนต่อมื้อ (3 มื้อต่อวัน) ในทุกวัน 3 เดือน (เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2564) แจกจ่ายไปยังชุมชนที่มีการกักตัวเฝ้าระวังอาการ และจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19

ประสานงานความร่วมมือกับ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (แบรนด์ CP), บริษัทอาจจิตต์อินเตอร์เนชั่นเนล เพ็พเพอร์แอนด์สไปซ์ (ตรามือที่หนึ่ง), บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ (แบรนด์สิงห์), บริษัทหาดทิพย์ (แบรนด์น้ำทิพย์และโค้ก), บริษัท เซ็ปเป้ (แบรนด์เซ็ปเป้และเพรียว), บริษัทไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ (ตลาดไท) ฯลฯ และทีม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, กลุ่มเส้นด้าย, SOS Thailand, มูลนิธิปั้นเด็กดี, มูลนิธิดวงประทีป, อาสาดุสิต วัดสะพาน https://www.facebook.com/UpForThai

ปี64 ช่วง“โควิด”ระบาดหนัก จำได้ไหม...คนกลุ่มไหนช่วยประชาชน Cr.เส้นด้าย-Zendai

  • จิตอาสาดูแลไทย Jitasa.care

คือ Digital map platform รายงานสถานการณ์โควิด-19 แบบเรียลไทม์ ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มวิศวกรรวมใจต้านภัยโควิด (ThaiFightCovid) นำความรู้ทางวิศวกรรมมาเป็นตัวกลางจัดทำข้อมูลให้ประชาชน ที่ต้องการรับความช่วยเหลือ ตั้งแต่ จุดฉีดวัคซีน, จุดตรวจโควิด, โรงพยาบาล, จุดพักคอย การให้ปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์( Telemed )การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การดูแลศพผู้เสียชีวิต

และเชิญชวนคนมาร่วมเป็นจิตอาสากลุ่มต่างๆ ดังนี้ อาสาข้อมูล สถานะสถานที่ต่างๆ ปักหมุดสถานที่ที่เกี่ยวข้อง, อาสาติดต่อ ประสานงานผู้ต้องการความช่วยเหลือกับทีมงานที่เกี่ยวข้อง, อาสาพาไป รับส่งผู้ป่วย ร่างผู้เสียชีวิต และสิ่งของอื่นๆ, อาสาสาธารณะ ตรวจสอบหรือ ประสานงานหน้างาน ปัจจุบันมีอาสาสมัครจำนวน 5,118 ราย https://www.facebook.com/Jitasa.Care

จำนวนคนตาย ไม่ใช่ตัวเลข แต่คือชีวิต และเป็นคนในครอบครัวของใครสักคน