ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี

ร้านแซ่พุ้น ประวัติฉบับเต็ม "หล็อกหงาทิ้น" ตำนานข้าวหน้าไก่ 95 ปีของเมืองไทย อาหารริมทาง Street Food คว้ารางวัลมิชลิน "บิบ กูร์มองด์" 4 ปีซ้อน

เป็นร้านอาหาร ข้าวหน้าไก่ ที่คว้ารางวัล มิชลิน (Michelin) ประเภท บิบ กูร์มองด์ (Bib Gourmand) 3 ปีซ้อนตั้งแต่ปี 2019-2021 และต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จากการประกาศ คู่มือมิชลินไกด์ประจำประเทศไทย ปี 2022 อาหารริมทาง (Street Food) สำหรับ ร้านแซ่พุ้น หรือ “ข้าวหน้าไก่ร้านแซ่พุ้น” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนมหรรณพ ย่านเมืองเก่าในเขตพระนคร ของกรุงเทพฯ

ข้าวหน้าไก่ร้านแซ่พุ้น ครองใจนักชิมด้วยความนุ่มของเนื้อไก่ในน้ำราดสูตรเฉพาะรสชาติกลมกล่อม กินแล้วไม่มันเลี่ยน ถึงปี 2564 ก็เป็นเวลา 95 ปีแล้ว

ข้าวหน้าไก่แซ่พุ้น คืออาหารเลิศรสที่นักชิมรุ่นใหญ่ของเมืองไทยรู้ประวัติและคุ้นเคยกันในชื่อ หล็อกหงาทิ้น การกล่าวว่าต้องเป็นนักชิมรุ่นใหญ่ (มีวัยวุฒิ) ถึงจะรู้จักความเป็นมาของ “หล็อกหงาทิ้น” นั้นไม่เกินความจริง เนื่องจากเวลา 95 ปีหรือพ.ศ.2469 คือการย้อนกลับไปในแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 7 

แต่สำหรับนักชิมรุ่นใหม่ที่อยากรู้จักตำนานอาหารตำรับนี้  ‘@taste กรุงเทพธุรกิจ’ ได้รับโอกาสบันทึกจุดกำเนิดความอร่อยของ “หล็อกหงาทิ้น” จากคุณ เจี๊ยบ-ธัญกาญจน์ (พูนล้ำเลิศ) สีทองดี หนึ่งในทายาทผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ตำรับ 95 ปีสูตรนี้แห่งเมืองไทย
 

“หล็อกหงาทิ้น” กับราชสกุลอิศรางกูร

“ลูกค้าท่านหนึ่งมานั่งกินข้าวที่ร้าน ชอบกินข้าวหน้าไก่มาก  นั่งกินที่โต๊ะข้างหน้านี่ ก็ไม่ได้พูดอะไรกัน ท่านก็อ่านป้ายความเป็นมาของร้านที่เราทำติดไว้ อ่านเสร็จท่านก็บอกว่า.. 

คุณเจี๊ยบรู้ไหม ชื่อป้าปุ๊กนะคะ เป็นหลานของนามสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา คุณปู่ของป้าปุ๊กอยู่บ้านธัญญวรรณในซอยศาลาแดง คุณปู่เล่าให้แม่ของป้าปุ๊กฟังว่า บ่ายๆ เย็นๆ ทุกคนจากบ้านหลายๆ หลังจะมารวมตัวกัน ก็จะมีอาแปะคนนี้หาบข้าวมาขายที่ศาลาแดง แม่เล่าให้ฟังตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่คิดว่าจะมาเจอร้านหนูที่นี่ด้วย ท่านชื่อคุณพระสมบัติธัญญผล เชื้อสายราชสกุลอิศรางกูร (บุตรหลวงสมบัติธัญญผล หรือ ม.ร.ว.เผือก อิศรางกูร) ท่านเก่งด้านการใช้ภาษา ท่านเป็นคนตั้งชื่อ ‘หล็อกหงาทิ้น’ ให้..

เราเกิดมาก็มีชื่อนี้แล้ว แต่ไม่เคยรู้ประวัติและมีเรื่องราวที่น่าประทับใจเหล่านี้ ชื่อนี้มีที่มา เป็นเรื่องราวที่มีชีวิตจริงๆ เป็นตำนานที่อยู่คู่กับเรามาตั้งแต่แรก เพราะคนจะรู้จักข้าวหน้าไก่คือหล็อกหงาทิ้น” คุณเจี๊ยบ-ธัญกาญจน์ เล่าที่มาของชื่อ ‘หล็อกหงาทิ้น’ ซึ่งทราบความจากลูกค้าเก่าแก่ท่านนั้น

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี เจี๊ยบ-ธัญกาญจน์ (พูนล้ำเลิศ) สีทองดี (ภาพ : ธัชดล ปัญญาพานิชกุล)

สมัยนั้นอาหารลักษณะนี้ยังไม่มีชื่อเรียก ด้วยความอร่อยที่ได้ชิมเป็นประจำ คุณพระสมบัติธัญญผล จึงขอตั้งชื่ออาหารที่อาแปะหาบมาขายนี้ว่า หล็อกหงาทิ้น มาจากคำ 3 คำ คือ หล็อก ชื่ออาแปะผู้หาบข้าวขาย,  หง่า (หงา) สิ่งประเสริฐ สิ่งดีงาม, ทิ้น (เทียน) แปลว่าฟ้า มีความหมายว่า  ‘พรที่ประทานมาจากฟากฟ้าของนายหล็อก’

“หล็อกหงาทิ้น เป็นคำโบราณ มีลูกค้าท่านหนึ่งทำงานโรงพิมพ์ เป็นเพื่อนของคุณลุง ท่านก็แนะนำเรื่องตัวสะกดตามคำอ่านภาษากวางตุ้งที่ถูกต้องว่าต้องเขียนแบบนี้” คุณเจี๊ยบกล่าว

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี "หล็อกหงาทิ้น" ตำนานอาหารอร่อยเมืองไทยเริ่มต้นด้วยการหาบขาย

นายหล็อก แซ่พุ้น ผู้นับหนึ่งตำนาน "ข้าวหน้าไก่" ในเมืองไทย

คุณเจี๊ยบ-ธัญกาญจน์ เล่าว่า คุณปู่ของเธอ หรือนาย หล็อก แซ่พุ้น เป็นชาวจีนในมณฑลกวางตุ้ง  โล้สำเภามาถึงเมืองไทยในปีพ.ศ.2469 

เมื่อนายหล็อกมาถึงกรุงเทพฯ ก็เริ่มต้นสัมมาอาชีพทันที ด้วยการปรุงอาหารตำรับกวางตุ้งบ้านเกิดที่มีเนื้อไก่ในน้ำปรุงรสราดข้าว ใส่หาบเดินขายตั้งแต่เยาวราชไปจนถึงซอยศาลาแดง รสชาติเป็นที่ติดอกติดใจของผู้ที่ได้ลิ้มลองยิ่งนัก 

เมื่อมั่นใจว่าหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการทำอาหารตำรับนี้ขาย นายหล็อกจึงชวนนาย ไหล แซ่พุ้น น้องชายให้เดินทางตามมาจากเมืองจีน เพื่อช่วยกันเปิดร้าน เริ่มจากร้านเล็กๆ เป็นบ้านไม้ย่านห้าแยกพลับพลาไชย แล้วขยายเป็นตึกในเวลาต่อมา ซึ่งนักชิมยุคนั้นรู้จักอาหารประเภทนี้กันในชื่อ หล็อกหงาทิ้น ตามชื่อที่ได้รับมาจากบ้านเสนาบดีในซอยศาลาแดงนั่นเอง

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี ร้านแซ่พุ้นที่กรุงเทพฯ 

จากหล็อกหงาทิ้น สู่ “ร้านแซ่พุ้น”

ร้านหล็อกหงาทิ้นซึ่งก่อตั้งโดยนายหล็อก แซ่พุ้น ได้รับการสืบทอดสู่รุ่นที่สองโดย “นายไหล” ผู้เป็นน้องชาย และสืบทอดตำรับต่อมาสู่รุ่นที่สามโดยบุตรชายนายไหล คือคุณ สมชาย ซึ่งเปลี่ยนการใช้แซ่มาเป็นนามสกุล พูนล้ำเลิศ บิดาของคุณเจี๊ยบ-ธัญกาญจน์ 

คุณเจี๊ยบเกิดและเติบโตในขณะที่คุณพ่อสมชายดูแลรับผิดชอบร้านหล็อกหงาทิ้นย่านพลับพลาไชยอย่างเต็มความสามารถ

ต่อมาเมื่อคุณพ่อล้มป่วย คุณเจี๊ยบและคุณแม่ หนูเพียร (ภรรยาคุณสมชาย) จึงตัดสินใจพาคุณสมชายออกจากร้านหล็อกหงาทิ้น ไปพักรักษาตัว ฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกายไม่ให้สุขภาพทรุดไปกว่าเดิมที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2557

“ด้วยความที่เราเติบโตมากับร้านข้าวหน้าไก่ เรานึกอะไรไม่ออกตอนนั้น คิดว่าถ้าเปิดร้านขายอาหารและได้ดูแลปาป๊าด้วยน่าจะดี ตอนนั้นป๊าอายุ 69 นั่งรถเข็นแล้ว พอเราชวนเปิดร้าน ป๊าดูมีชีวิตชีวา สุขภาพเขาดีขึ้นนะคะ คิดว่ามาถูกทาง ป๊ามีความสุข เทรนกันใหญ่เลย ทำนู่นทำนี่ ต้องมีอะไร ต้องเตรียมอะไร เขาก็บอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ออกไปดูลูกค้าหน้าร้าน หลังจากนอนติดเตียงมานาน  พอปิดร้านเราก็พาไปที่ทะเล” คุณเจี๊ยบกล่าว

คุณเจี๊ยบเลือกทำเลบริเวณตลาดฉัตรไชยของหัวหินในการเปิดร้านข้าวหน้าไก่ โดยใช้ชื่อร้านว่า ร้านแซ่พุ้น เพื่อระลึกถึงแซ่ของ ‘อาเหย่’ (คำเรียก ‘ปู่’ ในภาษาจีนกวางตุ้ง) ทั้งสองท่าน คือคุณปู่หล็อกและคุณปู่ไหล รวมทั้งคุณพ่อสมชาย

ร้านแซ่พุ้น ที่หัวหินพอเปิดปุ๊บก็ได้รับความนิยมจากนักชิมทันที ด้วยความที่คุณเจี๊ยบสามารถคงไว้ซึ่งตำรับดั้งเดิมของข้าวหน้าไก่หล็อกหงาทิ้นได้อย่างสมบูรณ์ ตามคำแนะนำของคุณพ่อสมชาย ซึ่งเป็น “เถ่าชิ่ว” (พ่อครัว) ได้รับการถ่ายทอดสูตรและเคล็ดลับวิธีทำโดยตรงจาก ‘อาเหย่’ ทั้งสองท่าน

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี บันทึกความอร่อย "ร้านแซ่พุ้น"

แต่ประมาณปีกว่าๆ ภาวะโรคทำให้ร่างกายคุณสมชายทรุด  คุณหนูเพียร คุณเจี๊ยบและน้องสาวอีก 4 คน ตัดสินใจพาคุณสมชายกลับกรุงเทพฯ ปิดร้านแซ่พุ้นที่หัวหิน เนื่องจากพี่น้องห้าคนยังคงทำงานประจำ ไม่มีเวลาเดินทางไปกลับเพื่อเปิดร้านที่หัวหินและดูแลคุณพ่ออย่างใกล้ชิดที่กรุงเทพฯ แต่ยังคงเหลือไว้ซึ่งการรับทำอาหารเพื่อจัดเลี้ยงนอกสถานที่

คุณเจี๊ยบเล่าว่า ตอนนั้น สภาพจิตใจทุกคนแย่แล้ว แต่พยายามบอกคุณพ่อว่าไม่มีปัญหา ซึ่งคุณพ่อก็พูดขึ้นมาเรื่องข้าวหน้าไก่ ยังไม่ลืมขณะที่ร่างกายแย่แล้ว ถามว่าร้านเป็นอย่างไรบ้าง ลูกๆ ไม่มีใครกล้าบอกว่าปิดร้าน เกรงอาการพ่อจะทรุดลงไปอีก แล้ววันแห่งความเศร้าสะเทือนใจก็มาถึง

“วันนั้นเราไม่รู้ว่าเขาจะเสียแล้ว ก็ยังพูดคุยกันปกติ บอกป๊าว่ากำลังจะไปออกงาน เขาก็บอกอย่าทิ้งนะข้าวหน้าไก่ คือป๊าเกิดมากับข้าวหน้าไก่ตั้งแต่เด็ก ไม่อยากให้เราทิ้ง อยากให้เรารักษาไว้ แต่วันนั้นกลายเป็นการพูดคุยครั้งสุดท้าย เช้าวันรุ่งขึ้นเขาก็เสีย ทีมหนึ่งเพิ่งพาป๊าไปโรงพยาบาล ทีมหนึ่งไปออกงาน พอกลับมาก็เป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ เราก็เลยคุยกัน ว่าเราจะทำอย่างไร เรายังอยากจะเปิดร้านอยู่ไหม แต่เราคงไม่ไปหัวหินแล้ว เพราะจุดประสงค์ที่เราเปิดร้านที่หัวหินตอนนั้นคืออยากพาป๊าไปดูแล คุยกันว่าหาทำเลในกรุงเทพฯ”

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 เหนือประตูทางเข้าร้าน

ร้านแซ่พุ้น บนถนนมหรรณพ กรุงเทพฯ

ทุกวันนี้ ร้านแซ่พุ้น ตั้งอยู่บนถนนมหรรณพ ใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือ ย่านเมืองเก่าในเขตพระนครของกรุงเทพฯ  ทำเลนี้มีที่มาและความหมายเช่นเดียวกัน

“ช่วงที่หาทำเลเปิดร้านในกรุงเทพฯ ความรู้สึกคือป๊าถูกอาหม่า (คุณย่า) ยกให้เป็นลูกศาลเจ้าพ่อเสือตั้งแต่เด็กที่ป๊าป่วยหนัก ก็คิดว่ามากราบลาศาลเจ้าพ่อเสือ บอกท่านว่า ลูกท่านเสียแล้วนะ ขอบคุณที่ท่านดูแลป๊ามาตลอดให้สุขภาพแข็งแรงจนมาถึงบั้นปลายชีวิตตามอายุ ก็ได้เห็นว่าตรงนี้ติดป้ายให้เช่า ก็เป็นที่มาที่ได้มาเปิดร้านที่นี่ในปีเดียวกับที่ป๊าเสีย คือปี 2559 เดือนสิงหาคม ก็เริ่มเช่าเดือนสิงหาคม ตกแต่งร้านแล้วเปิดในเดือนตุลาคมปีนั้นเลย”

คุณเจี๊ยบกล่าวด้วยว่า การเปิด ร้านแซ่พุ้น ใหม่อีกครั้ง คือการพยายามทำทุกสิ่งเพื่อเก็บรักษาและทำให้เอกลักษณ์ทุกอย่างของ “หล็อกหงาทิ้น” ไว้เหมือนเดิม ผลที่ได้คือ ลูกค้าเก่าสมัยก่อนก็กลับมากินที่ร้าน

ร้านตกแต่งด้วยโทนสีเหลืองเนื่องจากเป็นโทนสีที่คุณเจี๊ยบเห็นที่ร้านของ “อาเหย่” มาตั้งแต่เด็ก เพียงแต่โทนสีจะเบากว่านี้ เมื่อมาทำร้านด้วยตัวเองจึงอยากให้สดใสขึ้นมาหน่อย และเป็นสีที่เคยใช้กับร้านเดิมที่หัวหินซึ่งเป็นร้านเรือนไม้โบราณ และเป็นความบังเอิญที่ร้านบนถนนมหรรณพแห่งนี้เป็นห้องแถวที่เพดานยังคงเป็นคานไม้ดั้งเดิมอีกด้วย ให้ความรู้สึกเป็นกันเองเหมือนนั่งกินข้าวที่บ้าน นั่งรับประทานได้สูงสุด 20 คน แต่ในสถานการณ์โควิด-19 กำหนดให้นั่งได้ 8 คน

ภายในร้านตกแต่งด้วยป้ายประวัติความเป็นมาของข้าวหน้าไก่หล็อกหงาทิ้น ป้ายรางวัลมิชลิน บิบ กูร์มองด์ และเชิญภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระดำเนินท่ามกลางทุ่งนาข้าวขึ้นไว้เหนือประตูทางเข้าร้านด้านใน

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี อักษรภาพทุ่งนา ปลา น้ำ ข้าว ในภาษาจีนที่ประกอบเป็นคำว่า "พุ้น"

“คำว่า ‘พุ้น’ ในภาษาจีนเขียนขึ้นด้วยอักษรภาพทุ่งนา ปลา น้ำ ข้าว ประกอบกัน หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ถ้าเป็นภาษาไทยก็มีความหมายเหมือนกับ ‘ในน้ำมีปลาในนามีข้าว’  ภาพพระองค์ท่านทรงพระดำเนินในทุ่งข้าวนอกจากมีความหมายที่ดีเป็นมงคลแล้ว ยังเป็นการเตือนสติให้เราทำความดีทุกวันด้วยค่ะ” คุณเจี๊ยบกล่าว

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี ข้าวหน้าไก่ กุนเชียง ไข่ดาว, 85 บาท

สูตรข้าวหน้าไก่ร้านแซ่พุ้น อาหารตำรับกวางตุ้ง

ความอร่อยของ ข้าวหน้าไก่หล็อกหงาทิ้น เป็นสูตรของ “อาหารจีนกวางตุ้ง” ซึ่งได้ชื่อว่ารสชาติกล่อมกลมและดีที่สุดของอาหารจีน เนื่องจากเป็นมณฑลที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน อากาศอบอุ่นที่สุด อยู่ติดทะเล ทำให้มีเครื่องเทศและวัตถุดิบคุณภาพหลากหลายในการทำอาหาร รสชาติไม่จำเป็นต้องปรุงให้จัดจ้านเกินไป อาหารไม่มันเลี่ยนเกินไป เพื่อให้เข้ากับอากาศอันหนาวเย็นแบบภูมิภาคอื่นของจีน

“อาหารกวางตุ้ง คือการทำอาหารด้วยวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ ไม่ต้องใช้เครื่องปรุงเยอะ แต่ใช้เทคนิคการทำอาหารเพื่อดึงรสชาติวัตถุดิบออกมาด้วยการผัด ด้วยการใข้ความร้อนจากเตาไฟที่ได้จังหวะพอดีกับขั้นตอนการปรุง เป็นกรรมวิธีโบราณซึ่งเจี๊ยบคิดว่าตำรับข้าวหน้าไก่ที่อาเหย่คิดค้นขึ้นมาเป็นที่สุดแล้ว มันไม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไป แต่ต้องใช้การสังเกต ความเชี่ยวชาญ ทำทุกวัน” คุณเจี๊ยบกล่าวจากการได้เรียนรู้วิธีทำข้าวหน้าไก่ตำรับประจำตระกูลจากคุณพ่อสมชายซึ่งเป็น “เถ่าชิ่ว” ดูแลร้านหล็อกหงาทิ้นเป็นรุ่นที่สามต่อจากอาเหย่ใหญ่และอาเหย่รอง

“เอกลักษณ์ข้าวหน้าไก่หล็อกหงาทิ้นอยู่ที่น้ำราดรสชาติกลมกล่อม ปาป๊าใช้คำว่า ผัดได้เป็นเนื้อเดียวกัน คือตัวเนื้อไก่กับน้ำราดเป็นเนื้อเดียวกัน กินกับข้าวแล้วต้องอร่อยไม่เลี่ยน อาหารจีนบางทีคนจะบอกมันเลี่ยนหรือเปล่า แต่ข้าวหน้าไก่เรากินแล้วไม่เลี่ยน รสชาติกลมกล่อมกำลังดี เราใช้ไก่นุ่มหั่นพอดีคำ” คุณเจี๊ยบกล่าว

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี

ข้าวหน้าไก่หล็อกหงาทิ้นร้านแซ่พุ้น

น้ำราดข้าวหน้าไก่ “ไม่ใช่” การปรุงอย่างน้ำแดง แต่คือ น้ำราดหน้าไก่ คุณเจี๊ยบบอกถึงความแตกต่างไว้ว่า 
“น้ำแดงจะคืนตัวนิดหนึ่ง ใสๆ แล้วคืนตัว แต่น้ำหน้าไก่จะไม่เป็นแบบนั้น จะข้นกำลังดี ไม่หนืดมาก อาจมีความหนืดในกรณีโดนอากาศเย็น แต่พออุ่นนิดหนึ่งจะกลับอยู่ในสภาพเดิม”

น้ำราดข้าวหน้าไก่ตำรับหล็อกหงาทิ้น ปรุงรสขึ้นจากซอส น้ำตาล แป้ง ไม่ใช้ผงชูรส และไม่ใส่พริกไทย เด็กๆ จึงรับประทานได้

“เราทำน้ำราดข้าวหน้าไก่วันต่อวัน กระทะต่อกระทะในตอนเช้า ถ้าทำเป็นกระทะใหญ่ใช้เวลาประมาณเกือบครึ่งชั่วโมงในการปรุงน้ำราดต่อครั้ง ไม่รวมการเตรียมวัตถุดิบที่เตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า ถ้าทำนิดหน่อยก็ 15-20 นาที เพียงแต่น้ำสต็อคหมูเราเคี่ยวไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ตอนกลางคืน ใช้เวลาเคี่ยว 6 ชั่วโมง” คุณเจี๊ยบกล่าว 

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี เนื้อไก่อนามัยที่คัดตัดแต่งใช้เฉพาะเนื้อไก่

ในส่วนของเนื้อไก่ คุณเจี๊ยบใช้ ไก่อนามัยส่วนสะโพก เท่านั้น เนื่องจากเป็นส่วนที่นุ่มที่สุด 

“มีหนังไก่ติดอยู่ก็จริง แต่เราเลาะออกหมด เหลือเป็นเนื้อไก่ล้วนๆ ลูกค้ารับประทานได้ไม่มีปัญหาว่าจะมีหนังหรือไขมันให้ต้องเขี่ยออกขณะกิน”

ความนุ่มของเนื้อไก่ไม่ได้ผ่านการหมักใดๆ อาศัยความสดใหม่ของเนื้อไก่อนามัยส่วนสะโพกที่มีความนุ่มอยู่แล้วมาปรุงรสตอนผัดด้วยความชำนาญแค่นั้นเอง

เมนูที่ทำให้ ร้านแซ่พุ้น ได้รับรางวัลมิชลิน บิบ กูร์มองด์ ก็คือ ข้าวหน้าไก่กุนเชียง ไข่ดาว ความอร่อยของเมนูนี้นอกจากหน้าไก่ตำรับ 95 ปีแล้ว ในจานยังมี “กุนเชียงโฮมเมดตำรับกวางตุ้ง” ที่ใช้การนึ่งให้สุกแทนการทอดแบบกุนเชียงทั่วไป

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี

ข้าวซี่โครงหมูตุ๋น 60 บาท

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี

เกี๊ยวหมูลวก 50 บาท

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี

เกี๊ยวน้ำหมู 60 บาท

ความอร่อยหลากหลายเมนูของ “ร้านแซ่พุ้น”

ช่วงเวลาการเปิดร้านแซ่พุ้นที่หัวหิน คุณพ่อสมชายและคุณเจี๊ยบร่วมกันชิมรสและสร้างสรรค์รายการอาหารเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง อาทิ ซี่โครงหมูตุ๋น โกยซีหมี่ สุกี้ผัดไทย สุกี้ผัดกวางตุ้ง บะหมี่หน้าไก่ ซึ่งใช้เส้นบะหมี่ไข่โฮมเมดเส้นเล็กที่มีส่วนผสมของไข่มากกว่าแป้ง มีให้เลือกทั้งบะหมี่ลวกและทอดกรอบ

นอกจากนี้ยังมี เกี๊ยวหมูลวก เป็นสูตรโบราณ ไม่ใช้หมูเด้งที่ปั่นด้วยเครื่อง แต่ใช้หมูที่สับด้วยมือและตบ ในสัดส่วนเนื้อหมูกับมันหมูกำลังดี ได้เนื้อสัมผัสที่เด้งโดยธรรมชาติ กินกับน้ำจิ้มจิ๊กโฉ่วขิงซอย

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี

ข้าวเหนียวหมูแดง 70 บาท

ความพิเศษของ หมูแดง ร้านแซ่พุ้น เป็นหมูแดงหมักสไตล์กวางตุ้ง  ไม่ใช้สีผสมอาหารสีแดง แต่เป็นสีแดงที่เกิดจากเครื่องเทศบางอย่างเมื่อถูกความร้อนด้วยการย่าง จัดทำเป็นเมนู  บะหมี่เกี๊ยวหมูแดง และเมนู ข้าวเหนียวหมูแดง ที่ใส่มาทั้งหมูแดง กุนเชียงกวางตุ้ง และ “ตับแก้ว” ของกินขึ้นชื่อในฮ่องกง เป็นตับหมูคว้านตรงกลางให้เป็นกรวยแล้วยัดไส้ด้วยมันหมู กินเคียงกับข้าวเหนียว น้ำซอสหวาน เป็นเมนูโบราณเมนูหนึ่งของชาวจีน

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี

ซุปรากบัว 70 บาท

อีกหนึ่งเมนูของร้านแซ่พุ้นที่ได้รับความนิยมคือ ซุปรากบัว คุณเจี๊ยบกล่าวว่า เป็นอาหารที่อาหม่า(ย่า)กับอาเหย่ของเธอชอบรับประทาน 

“เราก็เลยคิดว่าอยากเอาอาหารโบราณกลับมา ปรากฎว่าคนก็ชอบ เหมือนกับทำกินในบ้าน ไม่ค่อยมีขายในร้านทั่วไป เป็นรากบัวตุ๋นซี่โครงหมูใส่ถั่วลิสง มีกากใยช่วยระบบขับถ่าย ระบบไหลเวียนโลหิต บำรุงสมอง”

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี ร้านแซ่พุ้นให้บริการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น

"ร้านแซ่พุ้น" กับสถานการณ์โควิด-19

ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ร้านแซ่พุ้น เปิดให้บริการดีลิเวอรี่ทุกเมนูทุกวันผ่านบริการแอปพลิเคชั่นแกร๊ป ไลน์แมน และโรบินฮู้ด ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ยกเว้น "ซุปรากบัว" มีเฉพาะเสาร์-อาทิตย์

ส่วนหน้าร้านเปิดบริการระหว่างเวลา 08.00-15.00 น. สำหรับการซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน หน้าร้านจอดรถแวะซื้อได้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะโทร.สั่งล่วงหน้าแล้ววนรถมารับ อีกหนึ่งทางเลือกคือมีสถานที่รับจอดรถตรงแยกสี่กั๊กพระยาศรีและวัดมหรรณพารามฯ จอดรถแล้วเดินมาที่ร้านได้ไม่ไกล

ขณะนี้ คุณแม่หนูเพียร วัย 67 ปี คุณเจี๊ยบ-ธัญกาญจน์ และน้องสาวอีก 4 คน คือ พิชญ์กัญญา, ชัญญาภัค, ธนพรรษ และ บุญพร (พูนล้ำเลิศ) คาร์ร้าสโค วิลลากรา ช่วยกันสืบทอด “ตำนานข้าวหน้าไก่หล็อกหงาทิ้น” อายุ 95 ปีอยู่ที่ ร้านแซ่พุ้น ร้านแรกและร้านเดียวบนถนนมหรรณพในกรุงเทพฯ ยังไม่มีสาขาที่ใดในขณะนี้ นอกจากการรับออกร้านตามงานเทศกาลอาหาร หรือใครสนใจอยากสั่งข้าวหน้าไก่ตำรับหล็อกหงาทิ้นไปจัดเลี้ยง ออกงาน มอบเป็นสาธารณกุศล ติดตามข่าวสารและติดต่อได้ที่  เฟซบุ๊กข้าวหน้าไก่ร้านแซ่พุ้น ปกติร้านหยุดทุกวันพุธ หากหยุดเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบผ่านเฟซบุ๊กเช่นกัน

ร้านแซ่พุ้น ทายาทเถ่าชิ่วผู้สืบทอดข้าวหน้าไก่ “หล็อกหงาทิ้น” 95 ปี คุณแม่หนูเพียร วัย 67 ปี คุณเจี๊ยบ-ธัญกาญจน์ และน้องสาว