ภาคีสุขภาพผนึกพลัง ลุยปั้น “ผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน”

ภาคีสุขภาพผนึกพลัง ลุยปั้น “ผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน”

รูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยกำลังเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรค NCDs โดยเฉพาะในการทำงาน เป็นสถานที่ที่เราใช้เวลามากที่สุดในแต่ละวัน แต่ความเร่งรีบและปัญหาจากการทำงาน รวมทั้งข้อจำกัดหลายประการ ทำให้องค์กรส่วนใหญ่กลับไม่ได้มีการจัดการที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีมากนัก

การตั้งเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี และบรรลุเป้าหมาย SDGs ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573 ก็ทำให้เหล่าพันธมิตรด้านสุขภาพ ที่นำโดย เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้หันมาผนึกกำลังร่วมกันเปิดตัว “หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน” ซึ่งหวังจูงใจให้องค์กรชั้นนำภาครัฐและเอกชนตบเท้าเข้าร่วมภารกิจ ปั้น “ผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน” เป็นรุ่นแรกขึ้น

รู้จัก “ผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน”

ประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนโครงการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมทักษะและความรู้ให้กับผู้นำสุขภาพ (Health Leader) ในสถานที่ทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในประชาชนวัยทำงาน

สถานการณ์การเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นปัญหาใหญ่ในกลุ่มคนวัยทำงาน โดยพบว่า ตลอด2 ปี ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แรงงานไทยกว่า 38 ล้านคน (ข้อมูลไตรมาส 2 ในปี 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  หรือ BOI) ประสบความยากลำบากในการทำงาน และมีอุปสรรคในการใช้ชีวิตให้มีสุขภาวะทั้งการกิน การอยู่ การมีกิจกรรมทางกาย หรือแม้แต่สุขภาพจิต ดังนั้น “หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน” ของเครือข่ายคนไทยไร้พุง จึงเป็นกุญแจสำคัญเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในองค์กรวัยทำงานที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ และเป็นผู้ดูแลกลุ่มวัยอื่นๆ ในครอบครัว
 

ภาคีสุขภาพผนึกพลัง ลุยปั้น “ผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน”

รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ ประธานหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพฯ กล่าวว่า หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงานประกอบไปด้วย 5 ชุดวิชา โดยรูปแบบการอบรมเป็นแบบผสมผสาน มีการอบรมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง และการจัดทำข้อเสนอโครงการที่จะนำไปใช้ในองค์กรของตน

ในการเรียนหลักสูตรนี้จะมีทั้งงานที่มอบหมายใช้ระยะเวลาอบรมรวม 60 ชั่วโมง รวมทั้งมีการประเมินผล และหลังจากจบการอบรมไปแล้วเราจะติดตามผลการไปทำกระบวนการของเขาว่า ซึ่งเราจะให้รางวัลองค์กรต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เขาเห็นความสำคัญ

อัดแน่น เติมเต็มทั้ง Hard Skills – Soft Skills

จากประสบการณ์ของเราจะเน้นการจัดหลักสูตรไม่เป็นวิชาการมากนัก โดยเนื้อหาการบรรยาย เราจะไม่จัดยาวมาก อาจจะมีแค่ประมาณ 30 นาที และถัดไปจะเป็นกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ลงมือปฏิบัติลองทำ นอกจากนี้หลังเรียนแล้วเราจะมีแบบทดสอบ เพื่อกระตุ้นให้เขามีความตื่นตัวและไม่น่าเบื่อ สามารถเข้าร่วมการอบรมได้ตลอดหลักสูตรจนจบ และนำไปใช้จริงได้

ซึ่งนอกจากความรู้ด้านสุขภาพแล้ว ทางโครงการยังเติมทักษะด้านอื่นๆ ในการอบรมนี้ด้วย เพราะมองว่าผู้อบรมจำเป็นต้องมี Soft Skills อาทิ การโคชชิ่ง และมีทัศนคติในการทำงานเชิงบวก 

โดยผู้ที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ จะได้รับใบประกาศนียบัตรจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และการให้คำปรึกษาต่อเนื่องเพื่อดำเนินโครงการที่เหมาะสมกับองค์กร ซึ่งในอนาคตก็จะมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน” รศ.นพ.เพชร กล่าว

ภาคีสุขภาพผนึกพลัง ลุยปั้น “ผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ในปี 2561 โรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุการตาย 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคมะเร็งรวมทุกประเภท รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs เท่ากับ 427.4 คนต่อประชากรแสนคน (ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์โรค NCDs เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2562) สสส. จึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาวะประชาชน โดยเฉพาะวัยทำงาน พร้อมกล่าวว่าที่ผ่านมา สสส. ทำงานร่วมกับสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อ เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ หวังให้บรรลุ 9 เป้าหมายโลกเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ ตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาตกลงรับเป้าหมายไว้กับสหประชาชาติ โดยตั้งเป้าให้ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง (เสียชีวิตก่อนอายุ 70 ปี) ร้อยละ 25 ภายในปี 2568 และเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) คือ ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อลง 1 ใน 3  ภายในปี 2573 หนึ่งในกระบวนการที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวลุล่วง คือการพัฒนาพื้นที่และสภาพแวดล้อมให้มีสุขภาวะในที่ทำงาน เพราะคือหนึ่งในสถานที่ที่คนเราใช้เวลามากที่สุด

ในเรื่องนี้ผู้บริหารมีความสำคัญ ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะดี ออกแบบระบบงานทำอย่างไรให้พนักงานมีการขยับตัวไปด้วย ทำงานไปด้วย หรือมีกิจกรรมทางกาย เพราะทุกวันนี้จากข้อมูลสำรวจเราพบคนไทยนั่งกันเฉลี่ยถึงวันละ 14 ชั่วโมง ถ้าเราออกแบบดี ๆ เช่นให้มีการลุก ขยับทุกชั่วโมงก็จะเป็นเรื่องดี หรือแม้แต่อาหารเราสามารถระบุได้ว่า ในแต่ละมื้อต้องมีผัก เป็นต้น แต่เหล่านี้ต้องมีความรู้ เราจึงเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้แต่ละด้านมาร่วมกันจัดทำหลักสูตรนี้ ให้กับบุคลากรที่เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนำไปถ่ายทอดพัฒนาเตรียมความพร้อมภายในองค์กรผลลัพธ์คือนอกจากทุกคนในองค์กรจะมีสุขภาพดีขึ้นประสิทธิภาพและระบบการทำงาน รวมถึงภาพลักษณ์องค์กรก็จะดีขึ้นในแง่การเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นความสำคัญด้านสังคมและสุขภาพ เรามองว่าคุ้มค่าในการลงทุนสำหรับเขา” ดร.นพ.ไพโรจน์ เอ่ย

เปิดตัว 5 โมดูล ปั้นผู้นำสุขภาพฯ

สำหรับหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน จะมีการจัดอบรมจะอบรมในวันจันทร์และพุธ เวลา 13.00-17.00 น. และวันศุกร์ในเวลา 09.00-16.00 น. โดยใช้ระยะเวลาอบรมตลอดหลักสูตรทั้งหมด 4-5 สัปดาห์ ประกอบไปด้วย 5 ชุดวิชา ได้แก่

  1. รู้จัก NCDs การตรวจประเมินและการจัดการเชิงป้องกัน ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รู้เกี่ยวกับ NCDs และปัจจัยเสี่ยง การดูแลรักษาเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการจัดระบบในองค์กรเพื่อจัดการ NCDs โดยสามารถนำไปประยุกต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย ผู้เข้าอบรมจะเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายที่ส่งผลต่อระบบหัวใจ การไหลเวียนเลือด ทางเดินหายใจและสุขภาพโดยรวม รู้จักรูปแบบและวิธีการเสริมสร้างสมรรถนะด้วยประเภทการฝึกทีเหมาะสม ด้วยการออกแบบโปรแกรมที่ถูกต้องและปลอดภัย
  3. การส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค ผู้อบรมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมที่มีผลต่อสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมีโภชนาการในสถานการณ์ต่างๆ
  4. การพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร สร้างแรงจูงใจในการดูแลสุขภาพ บทบาทและทักษะการสื่อสารมีความสำคัญและจำเป็นต่อการเป็นผู้นำสุขภาพในการทำงาน หลักสูตรนี้จึงเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญในการตั้งเป้าหมาย การวางแผน การกำหนดตัวชี้วัด การสร้างแรงจูงใจในตัวเองและสามารถกำหนดแผนพัฒนารายบุคคลด้านสุขภาพได้
  5. การออกแบบและดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กร ตามแนวคิด Design Thinking for Healthy Organization เพื่อให้ผู้นำสุขภาพเกิดความรู้ความเข้าใจ และมีทัศนคติถูกต้องในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างเหมาะสม Design Thinking เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้นำสุขภาพในการทำงาน

วีระวัชร์ มงคลโชติ วิทยากรและกระบวนกร หลักสูตรการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) หนึ่งในสาขาวิชาที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้ผ่านโครงการนี้ เล่าถึงเหตุผลและความสำคัญของการมีเนื้อหาโมดูลนี้ว่า แต่ละคนมาจากภูมิหลังต่างกัน มีพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกายต่างกัน ซึ่ง Design Thinking จะเข้ามาช่วยในการออกแบบโครงการที่สามารถใช้ร่วมกับทุกคนได้ จะทำให้เราเข้าใจภาพรวมองค์กรเราก่อน และเข้าบริบทของพนักงานแต่ละคน เพราะหลายครั้งที่เราแก้ปัญหาเรามักคิดแต่เรื่องวิธีการ หรือโซลูชันไว้ก่อน แล้วนำไปใช้เลย ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะดีมาก มีผลการวิจัยรองรับ  

หลายครั้งเราพบว่าการอบรมของฝ่ายบุคลากร หรือ HR องค์กรต่างๆ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก จากการอบรมแล้วไม่สามารถนำไปใช้ได้ Design Thinking จะทำให้คนที่เข้าอบรมรู้จักองค์กรก่อนที่จะนำโซลูชั่นไปใช้จริง บางองค์กรอาจมีพื้นที่ว่างเยอะ ฉะนั้น การทำ Healthy Space อาจเป็นเรื่องง่าย แต่บางองค์กรต้องเน้นเรื่องการกินเป็นหลักเพราะต้องการพลังงานในการไปทำงาน บางองค์กรมีรูปแบบการทำงานในช่วงเวลาติดต่อกัน เพราะฉะนั้นต้องมีการออกกำลังกาย และเวลาพักอาจเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า หรืออย่างช่วงโควิด-19 การจะสร้างกิจกรรมหรือสื่อสารด้านสุขภาพอาจเป็นเรื่องยากขึ้น ทำอย่างไรจะออกแบบให้เหมาะสม หลายครั้งเรามองว่าสิ่งนี้ดีอาจดีสำหรับพนักงานระดับล่าง ซึ่งเขาอาจมองว่าสิ่งนี้ไม่สำคัญสำหรับเขา ขณะที่ผู้บริหารก็อาจมองว่าทำไมต้องเอาเวลางานไปทำอะไร ซึ่งมักเป็นปัญหาคอขวดในการสื่อสาร Design Thinking จะช่วยวิเคราะห์ที่มาที่ไป” วีระวัชร์ กล่าว

ภาคีสุขภาพผนึกพลัง ลุยปั้น “ผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน”

องค์กรรัฐ-เอกชนสนใจ ตบเท้าเข้าร่วมเกินเป้า

ด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่า ปัจจุบันมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจในการพัฒนาผู้นำสุขภาพให้เกิดขึ้นในองค์กร โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานเปิดตัวหลักสูตรแล้วกว่า 60 องค์กร ทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชน โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ฯลฯ

สำหรับองค์กรที่สนใจทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถส่งบุคลากรเข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 8-18 ธันวาคม 2564 และสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ได้ที่ email : [email protected] โดยจะมีเจ้าหน้าที่หลักสูตรติดต่อกลับเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม และอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการสมัคร ตลอดจนแจ้งรายละเอียดตารางเรียน และช่องทางการอบรมให้ทราบต่อไป

ภาคีสุขภาพผนึกพลัง ลุยปั้น “ผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน” ภาคีสุขภาพผนึกพลัง ลุยปั้น “ผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน”