“วันชาสากล” 15 ธันวาคม รู้จักต้นกำเนิด “ชา” เครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก

“วันชาสากล” 15 ธันวาคม รู้จักต้นกำเนิด “ชา” เครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก

15 ธันวาคม "วันชาสากล" ระลึกถึงเกษตกรผู้ปลูกชา รวมประวัติความเป็นมา และเรื่องน่ารู้ว่าด้วย "ชา" เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมของคนทั่วโลก

ถ้าไม่นับ “น้ำเปล่า” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มพื้นฐานที่ใครๆ ก็ต้องบริโภคแล้ว “น้ำชา” น่าจะเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก

เนื่องใน “วันชาสากล” (International Tea Day) ที่ตรงกับวันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี ชวนคนรักชาระลึกถึงคุณประโยชน์ของ “ใบชา” และตระหนักถึงความสำคัญของเหล่าเกษตรกรตัวเล็ก ๆ ผู้ปลูกพืชซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าไปทั่วโลก

ชา” คือ ผลผลิตทางเกษตรกรรมจากใบ ยอดอ่อน และก้านของต้นชา (Camellia sinensis) นำมาผ่านกรรมวิธีแปรรูปหลากหลาย และ ชา ในความหมายของผู้คนทั่วไปยังหมายรวมถึงการเอา น้ำชา มาผสมกับเครื่องดื่มกลิ่นหอมที่ทำจากพืชตากแห้งชนิดต่าง ๆ นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อน

 

  • 15 ธันวาคม “วันชาสากล”

วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็น “วันชาสากล” (International Tea Day) เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ของชาและตระหนักถึงความสำคัญของเหล่าเกษตรกรตัวเล็ก ๆ ผู้ปลูกพืชซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าไปทั่วโลก

“วันชาสากล” 15 ธันวาคม รู้จักต้นกำเนิด “ชา” เครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก

วันชาสากล (International Tea Day) จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 เริ่มต้นมาจากเกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็กๆ ทางตอนเหนือของอินเดีย ที่ต้องการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการค้าชาของตน หลังจากก่อนหน้านั้น อุตสาหกรรมค้าชาในประเทศมีความอ่อนแอและการบริหารไม่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรผู้ปลูกชาหลายพื้นที่จึงนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการปลูก ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตดีขึ้น ชาที่ได้ก็มีคุณภาพดี

กระทั่งองค์กรเพื่อการสื่อสารและการศึกษาของอินเดียช่วยเหลือสิทธิของเกษตรกรได้เข้ามาช่วยเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมในการค้าชา ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น และได้ใช้วันที่ 15 ธันวาคมเป็นวันชาสากล เพื่อเฉลิมฉลองคุณภาพชีวิตของเกษตรกรปลูกชาที่มีแนวโน้มว่าจะดียิ่งขึ้น

 

 

  • ประวัติของชา เครื่องดื่มที่มีอายุมากกว่า 5,000 ปี

“ชา” นั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตามข้อมูลมีการบอกว่า ชาได้ถือกำเนิดมามากกว่า 5,000 ปี โดยมีต้นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออก คือ จีน และอินเดีย  

การดื่มชามีหลายตำนาน และคาดกันว่า จีนเป็นประเทศแรกที่รู้จักการดื่มชาในรูปของเครื่องดื่มตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเสินหนิงของจีน (Shen Nung)  หลักฐานสำคัญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเรื่องชาที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้คือ "วรรณกรรมชาคลาสสิกฉาชิง (Cha Ching) เป็นตำราที่เกี่ยวกับชาเล่มแรกของโลก บรรยายถึงแหล่งกำเนิดของชา การปลูกชา การผลิตชา คุณภาพของชา วิธีการดื่มชา อุปกรณ์การชงชาและธรรมเนียมการชงชา นานนับศตวรรษที่หนังสือเล่มนี้กลายเป็นพื้นฐานการศึกษาของจีน

หลังจากนั้นอินเดียก็เริ่มเข้ามาสู่อุตสาหกรรมชาด้วย โดยเริ่มจากนำพันธุ์ชาจากจีนเข้ามาปลูกพร้อมกับพัฒนาพันธุ์ชาของตนด้วย และเมื่อความนิยมถูกแพร่หลายเรื่อยมา ทำให้ปัจจุบันการปลูกชาเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซียโดยที่เกือบทั้งหมดใช้ประโยชน์จาก “ชา” คือการดื่มเพิ่มความสดชื่น นอกจากนี้ยังสามารถรักษาโรคได้

“วันชาสากล” 15 ธันวาคม รู้จักต้นกำเนิด “ชา” เครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก

 

  • ประโยชน์และโทษของชา

นอกเหนือจากการเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย แก้ง่วง และเพิ่มความสดชื่น การดื่มชายังพบว่าให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ต้านอนุมูลอิสสระที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของร่างกาย ต้านอาการอักเสบ ต้านเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ ป้องกันตับจากสารพิษ และโรคอื่น ๆ อีกมากมายที่เกิดจากอนุมูลอิสสระ

เนื่องจากมีองค์ประกอบของสารสำคัญในใบชาที่เรียกว่า แทนนิน หรือ ทีโพลีฟีนอล (Tea polyphenols) สารสำคัญกลุ่มนี้พบมากในพืชเกือบทุกชนิด แต่ละชนิดอาจจะมีโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกันไป สารแทนนินในใบชาสดหรือชาเขียวที่มีฤทธิ์ทางยาที่สำคัญได้แก่สารกลุ่มที่ชื่อว่า คาเทคชินส์ (catechins) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามีฤทธิ์ต้านโรคภัยได้มากมายหากดื่มเป็นประจำ แต่สารสำคัญจากใบชามักจะสลายตัวได้ง่ายและรวดเร็วเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศและความร้อน

อีกทั้งเมื่อชงชาแล้วก็ควรดื่มให้หมด ไม่ควรปล่อยชาเอาไว้นาน มิเช่นนั้น สารคาเทชินจะเกิดการดักจับและรวมตัวกันกับออกซิเจน จนทำให้สีของน้ำชาคล้ำขึ้น รสชาติน้ำชาก็จะฝาดขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากมีกรดแทนนินปริมาณสูง (Tannin) เข้ามาแทนที่ ซึ่งส่งผลต่อกระเพาะอาหารและลำไส้

“วันชาสากล” 15 ธันวาคม รู้จักต้นกำเนิด “ชา” เครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก

อย่างไรก็ตามประโยชน์ของการบริโภคชาในจำนวนที่พอเหมาะ ได้แก่

  1. ทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง เพราะมีการกระตุ้นขบวนการขับถ่ายสารพิษออกจากร่างกาย
  2. ช่วยย่อยอาหารละลายไขมัน ป้องกันโรคกระเพาะอาหารที่เรื้อรัง
  3. ช่วยป้องกันและลดคลอเลสเตอรอลได้ดี
  4. สามารถป้องกันและต่อต้านขบวนการเกิดมะเร็ง
  5. สามารถป้องกันหรือลดความอ้วนได้ด้วยการดูดซึมน้ำตาลและไขมันในลำไส้เล็ก
  6. ช่วยชะลอความชราและบำรุงผิวพรรณ

อีกทั้ง ชายังมีโทษ หากดื่มในปริมาณมากไป และบริโภคไม่ถูกวิธี ซึ่งมีสิ่งที่ต้องระวัง ประกอบด้วย

1. การดื่มน้ำชาที่แต่งรสด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะน้ำนมสด นมข้นหรือนมผง โดยผงโปรตีนในนมจะไปจับกับสารสำคัญในชา และทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

2. ผู้ที่รับประทานวิตามินเสริม เช่น ธาตุเหล็ก เกลือแร่ หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชาร่วมไปด้วย เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ในกรณีที่ดื่มน้ำชาร่วมกับการรับประทานอาหาร แร่ธาตุต่างๆจากผักใบเขียวหรือจากผลไม้ก็จะถูกสารสำคัญจากชาจับไว้หมดไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเช่นกัน

3. สารสำคัญคือแทนนิน ซึ่งจะไปตกตะกอนโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆจากอาหารที่รับประทาน ทำให้ลดการดูดซึมของสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้นจึงมักจะมีคำแนะนำไม่ให้เด็กดื่มน้ำชา ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวแช่เย็นหรือชาร้อน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้

4. ใบชายังมีองค์ประกอบที่ให้โทษต่อร่างกายที่ยังไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงคือ มีองค์ประกอบของฟรูออไรด์ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง และสูงกว่าปริมาณในน้ำประปา การที่ร่างกายได้รับเข้าไปทุกวันจากการดื่มน้ำชาเป็นประจำ จะเกิดการสะสม มีผลให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคกระดูกพรุน (Osteofluorosis) โรคข้อ และโรคอื่นๆที่เกี่ยวกับกระดูก แต่ผู้ที่ดื่มไม่มาก ก็คงไม่ต้องกังวล

5. ใบชายังมีสารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอีก คือ สารที่ชื่อว่า “ออกซาเรท oxalate” แม้ว่าสารชนิดนี้จะมีอยู่น้อย แต่หากผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชามากๆและดื่มบ่อยๆเป็นประจำ จะสะสมสารออกซาเรทในร่างกายได้ สารชนิดนี้มีรายงานว่ามีผลทำลายไต

6. ใบชามีสารคาเฟอินน์ ในปริมาณสูง อาจสูงกว่าในเมล็ดกาแฟด้วยซ้ำไป เพียงแต่การดื่มน้ำชา สารแทนนินจากน้ำชาจะป้องกันหรือลดการดูดซึมของคาแฟอินน์เข้าสู่ร่างกาย ทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นหัวใจและสมองน้อยกว่ากาแฟมาก

 

  • ประวัติการปลูกชาในประเทศไทย

ในสมัยสุโขทัยช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน พบว่าได้มีการดื่มชากัน แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่านำเข้ามาอย่างไร และเมื่อใด แต่จากจดหมายของท่านลาลูแบร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้กล่าวไว้ว่า คนไทยได้รู้จักการดื่มน้ำชาแล้ว โดยนิยมชงชาเพื่อรับแขก และการดื่มชาของคนไทยสมัยนั้นดื่มแบบชาจีนไม่ใส่น้ำตาล

ปัจจุบันการปลูกชาในประเทศไทยนั้น แหล่งกำเนิดเดิมจะอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือของประเทศ โดยจะกระจายอยู่ในหลายจังหวัดแถบภาคเหนือ ที่สำคัญได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ลำปางและตาก

“วันชาสากล” 15 ธันวาคม รู้จักต้นกำเนิด “ชา” เครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก

สำหรับพันธุ์ชาที่ปลูกโดยทั่วๆไปในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ ๆ ได้แก่

กลุ่มพันธุ์ชาอัสสัม (Assam Tea)

กลุ่มนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var. assamica ลักษณะเป็นลำต้นเดี่ยว ต้นใหญ่ สูงประมาณ 6-18 เมตร ใบเดี่ยว ขนาดใหญ่ ใบสีเขียวอ่อน แผ่นใบโปนเป็นคลื่น ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ปลายใบแหลม ใบแผ่ การเรียงตัวของใบเป็นแบบสลับและเกลียว ต้นเจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี

กลุ่มพันธุ์ชาจีน (Chinese Tea)

กลุ่มนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var. sinensis   ลักษณะลำต้นเป็นพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 2-6 เมตร ใบมีสีเขียวเข้ม ขนาดเล็ก ยาวแคบ ตั้งตรง ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ผิวใบเรียบ ใบค่อนข้างตั้งกว่าชาอัสสัม การเรียงตัวของใบเป็นแบบสลับและเกลียว ต้นเจริญเติบโตช้ากว่าชาอัสสัม ทนทานต่ออุณหภูมิต่ำและสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนได้ดี

อย่างไรก็ตาม ชาแต่ละชนิดจะมีลักษณะ  สี  กลิ่น และรสชาติที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ๆ  2 ปัจจัย ได้แก่ องค์ประกอบทางเคมีของใบชา  และกระบวนการผลิตชา  โดยองค์ประกอบทางเคมีของใบชาที่แตกต่างกันเป็นผลมาจากสายพันธุ์ชา สภาพพื้นที่ปลูก สภาพภูมิอากาศ ความอุดมสมบรูณ์ของ ดิน น้ำ และการดูแลรักษา   ซึ่งองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกันนี้จะส่งผลต่อปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต  ทำให้ได้ชาที่มีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างกันไป

ชา เป็นเครื่องดื่มที่เดินทางมานาน และถึงตรงนี้ก็พอจะบอกได้ว่า ชาและ การดื่มชา มีประวัติศาสตร์และเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการกินดื่มของแต่ละประเทศมา มีทั้งคุณและโทษที่ผู้ดื่มต้องศึกษาวิธีอย่างรอบด้าน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร “ชา” ก็เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลกที่ต้องนึกถึงหากมองหาเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย

--------------------------------

อ้างอิง : 

 “ชาร้อน ชาเย็น ประโยชน์/โทษ ต่อสุขภาพคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ประวัติชา และ สายพันธุ์ชาสถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง