วธ.จัดงานภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ คัดสุดยอดหนังดีชมฟรี 36 เรื่อง

วธ.จัดงานภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ คัดสุดยอดหนังดีชมฟรี 36 เรื่อง

กระทรวงวัฒนธรรม ผลักดันกรุงเทพฯให้เป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน ด้วยการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นครั้งที่ 7 วันที่ 8-13 ธันวาคมนี้

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ได้มีพิธีการเปิดงาน เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7 ขึ้น โดย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน

โดยมี ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, ประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, ยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, ทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ วรรณสิริ โมรากุล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม 

ธนกร ปุลิเวคินทร์ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ, ธนัญชนก สุบรรณ ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย

ดารานักแสดง, ผู้กำกับภาพยนตร์, ผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

วธ.จัดงานภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ คัดสุดยอดหนังดีชมฟรี 36 เรื่อง การแสดงในพิธีเปิด

  • จัดงานเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาพยนตร์

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มีความเห็นว่า การแพร่ระบาดของโควิดทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป จึงควรร่วมมือกันฟื้นฟูเทศกาลภาพยนตร์ขึ้นมาอีกครั้ง  

“ช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อทุกธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก จนเกิดเป็นการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

การเปิดประเทศของไทย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งภายใต้แนวคิดใหม่คนไทยสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างเท่าทัน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและธุรกิจด้านสารัตถะ (Content) อันเอื้อประโยชน์ไปยังทุกภาคส่วนให้ดำเนินธุรกิจของประเทศได้ดียิ่งขึ้น

วธ.จัดงานภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ คัดสุดยอดหนังดีชมฟรี 36 เรื่อง อิทธิพล คุณปลื้ม กับ เพชรา เชาวราษฎร์

กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงร่วมกับ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หน่วยงานรัฐและเอกชน จัดงาน เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร 2564 (Bangkok ASEAN Film festival 2021) ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่  8 -13 ธันวาคม 2564 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า และโรงภาพยนตร์พารากอน

เป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศและต่างประเทศ จะได้ร่วมมือกันฟื้นฟูพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ยั่งยืนต่อไป

และเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 - 2564) ที่มุ่งใช้มิติวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย และผลักดันให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน

  • ภาพยนตร์เปิดเทศกาลคือ One Second

ในงานนี้ภาพยนตร์ที่ถูกฉายเปิดเทศกาล คือ One Second ผลงานกำกับของ จางอี้โหมว จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการฉายภาพยนตร์คุณภาพ 36 เรื่อง จากประเทศอาเซียน และกลุ่มเอเซีย จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ทุกเรื่องมีบทบรรยายภาษาไทย-อังกฤษ และข้าชมฟรีทุกเรื่องทุกรอบ

วธ.จัดงานภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ คัดสุดยอดหนังดีชมฟรี 36 เรื่อง บรรยากาศการเปิดงาน

  • ประเภทของภาพยนตร์ 

1)ภาพยนตร์ฉายโชว์ (SHOWCASE : ASEAN PLUS) 12 เรื่อง จัดฉายเรื่องละ 2 รอบ ได้แก่ Belle ของ มาโมรุ โฮโซดะ, Vengeance Is Mine, All Others Pay Cash ของเอ็ดวิน, Yuni ของคามิลา อันดินี, The Edge of Daybreak (พญาโศกพิโยคค่ำ) ของไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์, White Building ของ Kavich Neang, In Front of Your Face ของ Hong Sangsoo,  A Night of Knowing Nothing ของ Payal Kapadia ประเทศอินเดีย 

 2)ภาพยนตร์สั้นสายประกวด (ASEAN SHORT FILM COMPETITION) 14 เรื่อง มีการพิจารณาตัดสินมอบ 3 รางวัลดังนี้ (1)BEST ASEAN SHORT FILM ได้รับโล่และเงินสด 2,000 USD (2)JURY PRIZE ได้รับโล่และเงินสด 1,000 USD (3)SPECIAL MENTION ได้รับโล่และเงินสด 500 USD

3)ภาพยนตร์อาเซียนทรงคุณค่า (ASEAN Classic) 3 เรื่อง ได้แก่ ช่างมัน ฉันไม่แคร์ ของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล, Aimless Bullet ภาพยนตร์เกาหลีที่ดีที่สุดและ The Daughter of Japan ผลงานที่หาดูยากจากเมียนมา 

ในงานยังมีการประกวด ภาพยนตร์ขนาดยาวอาเซียน (SEA PITCH) : SOUTHEAST ASIAN PROJECT PITCH) 8 โครงการ ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมนำเสนอโปรเจกต์ (Pitching) กับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ 2 ครั้ง มีรางวัลให้กับผู้ชนะ 3 รางวัล ได้แก่

(1)SEAPITCH Award ได้รับโล่และเงินสด 5,000 USD

(2)Runner-Up Prize ได้รับโล่และเงินสด 3,000 USD

(3)SPECIAL MENTION ได้รับโล่และเงินสด 2,000 USD

โดยมีพิธีประกาศรางวัลและปิดเทศกาลในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ณ โรงภาพยนตร์ พารากอน ซินีเพล็กซ์

  • สัมมนาเพิ่มเติมความรู้

วันที่ 10 ธันวาคม 2564 มีสัมมนาหัวข้อ ”IS ASEAN CONTENT READY TO TAKE ON THE WORLD?” ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

โดยผู้เชี่ยวชาญทางภาพยนตร์ในระดับนานาชาติ มาร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตคอนเทนต์ของภูมิภาคว่าอนาคตจะอยู่จุดไหนในวงการภาพยนตร์ระดับโลก

วันที่ 11 ธันวาคม 2564 มีสัมมนาหัวข้อ “Going Virtual” ร่วมกับ ACBS (Asia Content Business Summit) ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นำเสนอข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฯจากประเทศต่างๆ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์

และรายงานสถานการณ์ของประเทศสมาชิกแนวโน้มของอุตสาหกรรมหลังการแพร่ระบาดโควิด -19 

จองบัตรชมได้ฟรี ล่วงหน้าที่ www.baff.go.th และ www.facebook.com/ BangkokAseanFilmFestival รับบัตรบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ก่อนฉาย 30 นาที โดยบัตร 1 คน ต่อ 1 ที่นั่ง

ตรวจสอบรอบฉายได้ที่ Call Center 02 209 3519 และ www.facebook.com/BangkokAseanFilmFestival