“นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว” เมื่อ “ปิงปอง” ไทย Back to Basic จากสามัญสู่สูงสุด

“นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว” เมื่อ “ปิงปอง” ไทย Back to Basic จากสามัญสู่สูงสุด

ในทุกกีฬา เรื่องทักษะพื้นฐานคือหัวใจสำคัญ เมื่อกีฬา “ปิงปอง” ของไทยจะไปยืนแถวหน้าของโลก จึงต้องกลับมา Back to Basic ด้วยโครงการ “นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว” สร้างอนาคตทีมชาติไทยตั้งแต่สามัญไปสู่จุดสูงสุด

ไทยคือหนึ่งชาติเอเชียที่นับว่าเป็นเบอร์ใหญ่ของวงการ ปิงปอง หรือ เทเบิลเทนนิส ทว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักปิงปองทีมชาติไทยก็ยังไปแตะจุดสูงสุดของโลกเซลลูลอยด์ไม่ได้สักที

จนกระทั่งสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่าที่ผลักดันกันมาตลอดนั้นถูกทางหรือเปล่า หรือจะเป็นการก้าวกระโดดทั้งที่ขายังไม่แข็งแรง เป็นที่มาของโครงการ นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว ที่เริ่มสร้างรากฐานนักกีฬาตั้งแต่อิฐก้อนแรก

“นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว” เมื่อ “ปิงปอง” ไทย Back to Basic จากสามัญสู่สูงสุด

“นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว” เส้นทางสู่โพเดี้ยม

ขณะที่กีฬา ปิงปอง ทีมชาติไทยกำลังพัฒนา ชาติต่างๆ ก็พัฒนาไปพร้อมๆ กัน แซงบ้าง ตามบ้าง แต่ทุกชาติไม่หยุดพัฒนา ณัฐวุฒิ เรืองเวส นายกสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย เล่าให้จุดประกายฟังว่าสมัยก่อนการสร้างนักกีฬาตั้งแต่อายุ 8-10 ขวบ ก็นับว่าเริ่มได้ไวแล้ว แต่ปัจจุบันประเทศมหาอำนาจด้านกีฬา สร้างนักกีฬาตั้งแต่เด็กอายุ 4-5 ขวบ

“เราจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มประชากรนักปิงปองพันธุ์จิ๋ว สมาคมฯ ใช้คำว่าเรากำลังจะสร้างกองทัพนักปิงปองพันธุ์จิ๋วขึ้นมา หมายความว่าเรากำลังจะให้ 4-7 ขวบได้มาเล่นปิงปองกัน และไม่ใช่เล่นกันแค่ไม่กี่คน แต่จะให้มีเป็นร้อยๆ คนเลย”

แต่การรื้อระบบใหม่เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า การสร้าง นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว ไม่ใช่การเริ่มแบบเดิมๆ ฝึกแบบเดิมๆ อีกต่อไป เพราะตามปกติบุคคลทั่วไปจะซ้อมเพื่อแข่ง นั่นทำให้หลายคนพยายามข้ามขั้นให้ได้เร็วที่สุด เน้นเทคนิคต่างๆ ซึ่งนักปิงปองพันธุ์จิ๋วไม่ใช่

“นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว” เมื่อ “ปิงปอง” ไทย Back to Basic จากสามัญสู่สูงสุด

“เรามุ่งเน้นที่พื้นฐานการเล่น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาฝึกซ้อมเสร็จ เราจะจัดประลอง โดยเราดูพื้นฐานการเล่นเป็นหลัก วิธีการคือเราให้เด็กตีท่าที่เรากำหนด แล้วเรามีคณะกรรมการดูว่าเด็กมีพื้นฐานการเล่นเป็นอย่างไร ก็จะมีคะแนนให้ มีทั้งหมด 5 ระดับไล่ไปตามความยากง่าย

เด็กจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องตีแบบแข่งขัน เขาจะตีแบบเบสิกพื้นฐาน จะทำให้เด็กที่เราสร้างตั้งแต่เล็กๆ มีพื้นฐานการเล่นที่แน่น เราทดลองโครงการนี้มาสักระยะหนึ่ง ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากบรรดาโค้ช รวมถึงผู้ปกครอง เริ่มหันมาสร้างเด็กเล็กๆ เวลาอันใกล้นี้เราจะมีเด็กเล็กๆ จำนวนมากเป็นกองทัพนักปิงปองพันธุ์จิ๋วแน่นอน”

แนวคิดสร้างพื้นฐานให้นักกีฬาแบบนี้ ณัฐวุฒิมองว่าคล้ายกับการสร้างบ้านที่ต้องเน้นรากฐานให้มั่นคงแข็งแรง หลังจากนั้นจะสร้างบ้านให้สวยงามอย่างไรก็ได้ ทำนองเดียวการสร้างเบสิกด้าน ปิงปอง อนาคตจะใส่เทคนิคซับซ้อนขึ้น ยากขึ้น ก็ทำได้

         

“นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว” สร้างได้ทุกที่ทุกเวลา

ระยะ 3-4 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนติดอยู่ในล็อกดาวน์และความระแวดระวังด้านสาธารณสุข กิจกรรมการแข่งขันกีฬาต่างๆ ก็หยุดชะงักไป แต่ไม่เป็นปัญหากับการสร้าง นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว เพราะแม้จะจัดแข่งขันประลองฝีมือกันก็ทำแบบออนไลน์ได้

“เราเพิ่งมีการแข่งขันออนไลน์ไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ถือเป็นการแข่งขันปิงปองออนไลน์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์กีฬาปิงปองไทยก็ว่าได้ เพราะทุกคนจะคิดว่าแข่งขันต้องมาที่สนาม แต่โครงการนี้เราใช้ระบบออนไลน์ เด็กฝึกซ้อมเบสิกในที่ของตัวเอง อาจจะเป็นที่บ้านหรือโรงยิมต่างๆ แล้วออนไลน์มาที่ส่วนกลาง ประกบคู่เหมือนการแข่งขันจริง ดูว่าเด็กคนนี้ตีเป็นอย่างไร ใครดีกว่ากัน

เกณฑ์การให้คะแนนมีทั้งสองลักษณะ แบบแรกคือท่าทางการเล่น แบบที่สองคือความเร็ว นั่นหมายความการตีแบบนี้ใครตีได้เร็วกว่ากัน ก็เลยแข่งกันแบบออนไลน์ได้ ซึ่งตอนนี้นักกีฬาอายุ 5-7 ขวบของเราไม่ได้แตกต่างจากต่างชาติเลย ที่ระดับโลกตีกันในหนึ่งนาทีได้ประมาณ 80-90 ครั้ง ส่วนเด็กเล็กของเราในรุ่นไม่เกิน 15 ปี เราตีได้ประมาณ 80 กว่าครั้ง ก็ถือว่าสูสี นี่ขนาดเราเพิ่งเริ่มนะครับ ถ้าเราพัฒนาอย่างจริงจังเราจะทำได้ดีกว่านี้”

“นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว” เมื่อ “ปิงปอง” ไทย Back to Basic จากสามัญสู่สูงสุด

“นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว” อนาคตที่สดใสของปิงปองไทย

เกษมสุข บุญเจริญ อดีตนักกีฬาปิงปอง ซึ่งปัจจุบันเป็นอุปนายกสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย เล่าว่าสมัยก่อนการฝึกซ้อมจะไม่ได้ง่ายหรือมีความพร้อมมาเท่าตอนนี้ ส่วนมากเน้นเบสิกเพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือเน้นเทคนิคเพื่อการแข่งขัน ทำให้นักกีฬาหลายคนพื้นฐานไม่ดี ต่อยอดได้ไม่ไกล

แตกต่างจากทุกวันนี้ที่มีวิวัฒนาการ มีการสนับสนุนจากพ่อแม่ผู้ปกครองให้ลูกหลานจริงจังกับกีฬามากขึ้น เช่น จ้างโค้ช สนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น ทำให้การสร้าง นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว ไม่เป็นเพียงฝัน

“ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลักๆ คือเมื่อเด็กๆ เล่นกีฬาโดยเรียนอย่างถูกต้องมีพื้นฐานมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นโครงสร้างสำคัญให้เด็กๆ พัฒนาอย่างเป็นรูปแบบ ถ้าเราเทียบกัน เด็ก 5 ขวบปัจจุบันนี้ กับเราสมัยก่อน ฝีมือแทบจะต่างกันเลย บางคนสูงพ้นโต๊ะนิดเดียวก็เล่นได้ดีมาก

การแข่งขันที่เราจัดขึ้นมา เราใช้การนับคะแนนโดยมีผู้เชี่ยวชาญ เรากำลังสร้างมาตรฐานเทียบเท่าสถิติโลกในไม่ช้านี้”

เมื่อเบสิกแน่น มีทุกอย่างเพียบพร้อม นักกีฬาปิงปองยุคใหม่จึงเดินหน้าสู่ความเป็นเลิศได้ไม่ยาก เกษมสุขบอกว่านักกีฬาที่เริ่มตั้งแต่วันแรกด้วยการให้ความสำคัญกับการฝึกพื้นฐาน ทั้งตีโต้แบบคอร์สคอร์ท ตีโต้แบบสลับ สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้นักกีฬา และต่อยอดสู่ขั้นต่อไปๆ อย่างเป็นระบบ

“หลายท่านคงเคยเห็นคลิปวิดีโอที่เป็นเด็กจีนอยู่ในโรงยิม เล่นกันตั้งแต่ห้าขวบ ตีกันอย่างรวดเร็ว นี่เป็นความฝันที่เราต้องการให้เด็กของเราจำนวนมาก เติบโตด้วยพื้นฐานตรงนี้ แล้วเราก็มองว่าจากการส่งเสริมของสมาคมในด้านนี้จะทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการ เรามีความฝันอยากเห็นนักกีฬาปิงปองของเราได้เหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งก็จะเหมือนกีฬาอื่นๆ ที่เด็กเหล่านี้ได้ฝึกอย่างเข้มข้นตั้งแต่เล็กๆ ผมเชื่อว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เราจะเห็นเด็กๆ เหล่านี้ยืนผงาดบนเวทีโอลิมปิกแน่นอน”

การฝึกฝน การสนับสนุน การวางรากฐาน ทุกอย่างคือปัจจัยที่จะพาเด็กไทยไปอยู่แถวหน้าของโลกกีฬา ปิงปอง อย่างที่นายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ กล่าวไปแล้ว การ Back to Basic ด้วยโครงการ นักปิงปองพันธุ์จิ๋ว คือการกลับสู่สามัญเพื่อขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดนั่นเอง