KPOP 4 Gen ยุคสมัยของวัยรุ่นไทยกับไอดอลเกาหลี 

KPOP 4 Gen ยุคสมัยของวัยรุ่นไทยกับไอดอลเกาหลี 

จากกระแสการไม่สนับสนุน "ลูกหนัง ศีตลา" จนเกิดเป็นคำถามที่ว่า การติดตามศิลปินเกาหลีเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองได้อย่างไร? ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นไทยในแต่ละยุค มีผลต่อความนิยมศิลปินเกาหลีหรือไม่? สามารถร่วมหาคำตอบได้ที่นี่

ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการเปิดเผยรายชื่อสมาชิกวง “H1-KEY” ที่กำลังจะเดบิวต์ในเร็ววันนี้ โดยประเด็นร้อนแรงของเรื่องนี้อยู่ที่การมีรายชื่อเด็กไทย “ลูกหนัง ศีตลา” โดยครอบครัวของเธอมีส่วนร่วมทางการเมือง จากการที่ ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง บิดาของเธอที่เสียชีวิตแล้ว เคยเป็นอดีตแกนนำพันธมิตร และร่วมการประท้วง กปปส. ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญสู่การรัฐประหารในเวลาต่อมา และมีผลผูกโยงการเมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้

กระแสที่เกิดขึ้นแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่ไม่ยอมรับและแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการสนับสนุน และอีกฝั่งที่ชื่นชมครอบครัวเธอและพร้อมที่จะสนับสนุน 

ทำให้การสนับสนุนคนไทยที่จะได้เดบิวต์รายนี้ ไม่ใช่เรื่องความพึงพอใจตามปกติ แต่ยังเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองอีกด้วย 

นอกจากนี้ ฝั่งที่ไม่ต้องการสนับสนุนส่วนใหญ่เป็นเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความคุ้นชินในวงการ “แฟนด้อม” ศิลปินเกาหลี ในทางตรงกันข้าม อีกฝั่งกลับเป็นบุคคลที่มีอายุมากและไม่ได้เจนจัดในการใช้เทคโนโลยีมากนัก ซึ่งเรื่องการใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีผลต่อการติดตามและสนับสนุนศิลปินในต่างแดนเป็นอย่างมาก โดยเรื่องเช่นนี้เป็นที่เข้าใจดีของเหล่าแฟนคลับศิลปินในด้อมต่างๆ อยู่แล้ว ทำให้การแสดงพลังของคนฝั่งนี้จึงมักถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่มีสาระสำคัญเท่าใดนัก

  •   เยาวชนและพฤติกรรมการติดตามศิลปินเกาหลี  

จากประเด็นดังกล่าว หลายคนคงมีความสงสัยว่าเหล่าแฟนคลับศิลปินเกาหลีเป็นเยาวชนทั้งหมดเลยใช่หรือไม่ แล้วพอคนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นไปก็จะมีเยาวชนรุ่นต่อไปขึ้นมาติดตามแทนที่แบบนี้หรือเปล่า ซึ่งคำถามที่ว่ามาทั้งหมดข้างต้น สามารถอธิบายและให้คำตอบได้ในต่อไปนี้ 

ก่อนอื่นเลย เราต้องเข้าใจก่อนว่าวัฒนธรรมของการติดตามไอดอล อาจจะไม่อยู่ติดตัวคนๆ หนึ่งไปตลอดชีวิต ซึ่งระยะเวลาการติดตามเป็นเรื่องความชอบและเงื่อนไขส่วนบุคคล แต่ถึงกระนั้น การติดตามไอดอลมักจะเริ่มต้นขึ้นในเวลาที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการที่นางสาว A เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว กับเด็กหญิง B ที่พึ่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นในปีนี้จะกลายเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีกลุ่มเดียวกัน เพราะศิลปินเกาหลีที่ได้รับความนิยมมากๆ ในช่วงเวลาหนึ่งก็อาจจะได้รับความนิยมน้อยลงแล้วในปัจจุบัน 

  •   ไอดอล 4 Gen กับความชื่นชอบของวัยรุ่นในแต่ละยุค  

ในทุกๆ ปี จะมีการเดบิวต์วงศิลปินออกมาหลากหลายวง ทำให้เยาวชนในแต่ละรุ่นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน นอกจากนี้อายุวงของศิลปินที่เพิ่มขึ้นทุกปีก็มีผลต่อรูปแบบคอนเทนท์ที่ผลิตออกมา สอดคล้องกับพฤติกรรมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามอายุของฐานแฟนคลับของวงนั้นๆ 

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ศิลปินเกาหลีมีอยู่ด้วยกันหลายรุ่นและหลายวง เช่นเดียวกับเหล่าแฟนคลับที่มีอยู่หลายช่วงอายุและแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม โดยศิลปินหรือไอดอลเกาหลีสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 รุ่น หรือ “4 Gen” ได้แก่ Gen 1, Gen 2, Gen 3 และ Gen 4 

Gen 1 หรือยุคบุกเบิกของศิลปินรูปแบบไอดอลที่เราคุ้นหูคุ้นตาในทุกวันนี้ ศิลปินรุ้นนี้มักจะเกิดในช่วงยุค 70 ถึงต้นยุค 80 หรือที่เรียกว่ากลุ่มคน Gen X วงที่อยู่ในรุ่นนี้จะเริ่มมีการเดบิวต์ในช่วงปี 1996-2002 อาทิ S.E.S, Fin KL, Baby VOX, H.O.T, Shinhwa และ Sechs Kies เป็นต้น ซึ่งวงข้างต้นนี้ไม่ได้มีการแอคทีฟแล้ว โดยกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับวงเหล่านี้คงมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีแล้วในปัจจุบัน 

วงในรุ่นนี้ยังไม่ได้รับความนิยมในไทยมากนัก หรือใครหลายคนอาจจะไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ แต่หากใครที่เคยได้รับชมชีรีส์ Reply 1997 จะพอคุ้นชื่อกับบอยแบรนด์วง H.O.T จากฉากที่นางเอกและเพื่อนไปเฝ้าติดตามและมีการพูดถึงอีกในหลายฉาก สะท้อนถึงกิจกรรมช่วงชีวิตม.ปลายของตัวเอกที่หนึ่งในนั้นเป็นการติดตามที่ศิลปินที่ตนชื่นชอบ 

Gen 2 ซึ่งอาจบอกได้ว่าเป็นรุ่นที่เข้ามาบุกเบิกกระแสในไทย และหลายคนก็คงจะคุ้นหูกับชื่อวงในรุ่นนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย อาทิ Girls’ Generation, Super Junior, Wonder Girl, TVXQ, BIGBANG, T-ara, After School, KARA, CNBLUE, BEAST, MBLAQ, EXO, 2NE1, Sistar, Miss A, 4Minute, 2PM, SHINee และ FT Island เป็นต้น 

วงของรุ่นนี้เป็นมีความรุ่งเรืองและได้รับกระแสมากกว่ารุ่นก่อนเป็นอย่างมาก ซึ่งวงในรุ่นนี้จะมีระยะเวลานานที่ค่อนข้างกว้างกว่ารุ่นอื่น คือ ช่วงเดบิวต์ของรุ่นนี้จะอยู่ระหว่าง 2003-2012 และอาจจะมีกระแสลากยาวต่อไปอีกหลายปีจนถึงปัจจุบัน 

Gen 3  ไอดอลหรือศิลปินที่อยู่ในรุ่นนี้ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงตั้งแต่กลางยุค 90 ถึงประมาณ ยุค 2000 ต้นๆ หรือกลุ่มคน Gen Y และ Z โดยจะมีการเดบิวต์อยู่ระหว่างปี 2013-2018 ซึ่งวงดังกล่าวได้ทำการต่อยอดกระแสของ K-POP ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเป็นรุ่นที่ได้รับการแสความนิยมในระดับโลก และวงในรุ่นนี้ก็เป็นที่คุ้นหูคุ้นตาคนไทยเป็นอย่างดี อาทิ BTS, BLACKPINK, NCT, TWICE, Red Velvet, GOT7, WINNER, iKON, Mamamoo, Seventeen, GFriend และ (G)I-DLE เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ของวงรุ่นนี้ยังคงมีการแอคทีฟคอนเทนท์และออกผลงานเพลงอยู่ในปัจจุบัน 

สุดท้าย คือ Gen 4 เป็นไอดอลที่พึ่งได้เดบิวต์ในช่วงปี 2019 จนถึงปัจจุบัน อาทิ aespa, TXT, STAYC และ Everglow เป็นต้น ซึ่งไอดอลหรือศิลปินของรุ่นนี้แทบจะเป็นคนกลุ่ม Gen Z ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยทั้ง Gen 3 และ 4 ยังมีการแอคทีฟผลงานออกมาอยู่ในปัจจุบัน การแบ่งกลุ่มจึงอาจจะมีการเหลื่อมกันอยู่บ้าง ไม่ได้แยกขาดจากการชัดเจนเหมือนรุ่นอื่นมากนัก 

แฟนคลับของศิลปินทั้ง 2 รุ่นนี้จึงยังมีความหลากหลายในวัยด้วยเช่นกัน โดยเริ่มตั้งแต่วัยที่พึ่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น (11-12 ปี) จนถึงวัยทำงาน แต่ในส่วนของแฟนคลับของศิลปิน Gen 1 และ 2 นั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่อยู่ในวัยทำงานแล้ว 

ฉะนั้น คำถามที่ว่าแฟนคลับของศิลปินหรือไอดอลเกาหลีนั้นเป็นเยาวชนทั้งหมดเลยหรือไม่นั้น คำตอบคือไม่ใช่ และการที่เยาวชนรุ่นต่อๆ ไปมีพฤติกรรมติดตามศิลปินเกาหลีนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อสืบทอดต่อเยาวชนรุ่นก่อน แต่เป็นเพียงความชื่นชอบที่เกิดขึ้นตามปกติเพียงเท่านั้น 

จากวัยรุ่นที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา วัฒนธรรมการติดตามไอดอลจึงแปรเปลี่ยนไปตามการให้ความสำคัญของวัยรุ่นหรือเยาวชนในยุคนั้นๆ ด้วย ซึ่งในปัจจุบันที่สังคมไทยกำลังคุกรุ่นอยู่กับเรื่องของการเมืองในขณะนี้ และด้วยการถูกให้ความสำคัญในหมู่เยาวชน ทำให้ประเด็นการสนับสนุนศิลปินของแฟนคลับรุ่นนี้ไม่อาจแยกขาดจากการเมืองได้เหมือนในอดีตแล้ว