"จิ้งหรีด" จากอาหารบ้านๆ ฟาร์มเล็กๆ เตรียมโกอินเตอร์

"จิ้งหรีด" จากอาหารบ้านๆ ฟาร์มเล็กๆ เตรียมโกอินเตอร์

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ "ตั๊กแตน"กลายเป็นอาหารปลอดภัยของชาวโลกไปแล้ว ส่วน"จิ้งหรีด" เมนู"แมลง"ตัวถัดไปที่เตรียมขึ้นทะเบียน และนี่คือเรื่องเล่าจากอาหารบ้านๆ ในฟาร์มเล็กๆ สู่ระดับอินเตอร์

สำหรับคนภูมิภาคอื่น คงไม่คุ้นเคยกับคุกกี้จิ้งหรีด เส้นบะหมี่จิ้งหรีด น้ำพริกจิ้งหรีด แต่คนอีสานรู้จักเมนูอาหารเหล่านี้ดี เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิม

พวกเขากินแมลงเป็นอาหาร และรู้ดีว่า แมลงเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อร่างกาย

หากขาดแคลนอาหารจำพวกโปรตีน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ มองว่า แมลงน่าจะเป็นทางเลือกในการเลี้ยงประชากรโลก 

เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานความปลอดภัยอาหารยุโรป ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป(อียู) แถลงการณ์ขึ้นทะเบียนตั๊กแตน เป็นอาหารชนิดใหม่ ที่ผ่านการรับรองความปลอดภัยสำหรับการบริโภค ต่อจากการรับรองหนอนนกแบบแห้ง และตอนนี้ (เดือนพฤศจิกายน 64) กำลังพิจารณาจิ้งหรีดทองแดงลาย หรือจิ้งหรีดขาว

และอีกไม่นาน จิ้งหรีด จะกลายเป็นเมนูอาหารที่ขาดไม่ได้ในร้านอาหารที่ชาวโลกถามหา...

บินได้ ใช่ว่ากินได้
ว่ากันว่า แมลงในโลกนี้มีมากกว่าหนึ่งล้านชนิด ส่วนแมลงที่มนุษย์นำมาบริโภคเป็นอาหารก็มีกว่า 2,086 ชนิด บวกลบคูณหารแล้ว แมลงเหล่านี้มาจากทั่วโลกประมาณ 130 ประเทศ ส่วนแมลงที่กินได้ในเมืองไทยกว่า 200 ชนิด

จิ้งหรีดนิยมนำมาทอดกรอบๆ จิ้งหรีดนำมาทอดก็อร่อย

แมลงที่นิยมนำมาบริโภค มีหลายประเภท อาทิ หนอนรถด่วน จิ้งหรีด ด้วง หนอนผีเสื้อ ต่อแตน  มวน จักจั่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน เป็นต้น 

ในบรรดาแมลงกินได้ที่กล่าวมา ในภาคอีสานมีมากกว่า 150 ชนิด  เนื่องสภาพแวดล้อมเอื้อให้แมลงเติบโตขยายสายพันธุ์ได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น คนภูมิภาคนี้จึงกินแมลงเป็นเรื่องปกติและอยู่ในวิถีชีวิต

"เวลาเอางานวิจัยเรื่องแมลงกินได้ไปบรรยายที่ไหน คนก็จะหัวเราะ มันไม่เหมือนงานวิจัยประเภทพืชผัก แต่เราให้ความสำคัญเรื่องนี้

เพราะเห็นว่า แมลงสามารถทำเป็นฟาร์ม สร้างรายได้ให้เกษตรกร ลงทุนน้อย ใช้เวลาไม่นานก็ได้ผลผลิต " ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านแมลงกินได้ ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เล่าถึงเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนนำงานวิจัยเรื่องแมลงไปบรรยาย

หลายสิบปีที่เธอศึกษาวิจัยเรื่องแมลงที่นำมาใช้เป็นอาหารโปรตีนสำหรับคนและสัตว์ได้ พยายามผลักดันทุกแง่มุม โดยเฉพาะการทำฟาร์มจิ้งหรีดให้ได้มาตรฐาน เนื่องจากองค์กรต่างชาติสนใจเรื่องแมลงกินได้ 

a \"จิ้งหรีด\" จากอาหารบ้านๆ ฟาร์มเล็กๆ เตรียมโกอินเตอร์

ฟาร์มจิ้งหรีด ไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะมาก

"เนื่องจากจำนวนประชากรโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว แมลงจึงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่ผลิตได้รวดเร็ว ราคาถูกและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม" อาจารย์ยุพา เล่าถึงเรื่องแมลง

โดยก่อนหน้านี้เธอมองว่า แมลงน่าจะเป็นทางเลือกในการบริโภคโปรตีน และปัจจุบันสิ่งที่เธอคาดการณ์ไว้ก็เป็นจริง

แต่แมลงไม่อาจทดแทนอาหารจำพวกหมู เป็ด ไก่ และปลา ฯลฯเนื่องจากแมลงกินได้มีปริมาณโปรตีน 20-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณโปรตีนที่ได้จากไข่ไก่ 1 ฟอง ที่มีโปรตีน 13 กรัม

ฟาร์มจิ้งหรีด รายได้ไม่ธรรมดา

 สภาพแวดล้อมและภูมิภาคที่เอื้อต่อการเลี้ยงแมลงในเมืองไทย แม้จะไม่ใช่ธุรกิจใหญ่โต แต่ต่างชาติก็ให้ความสนใจไม่แพ้ธุรกิจอื่น เนื่องจากแมลงเป็นทางเลือกของอาหารที่มีโปรตีนชั้นเยี่ยม 
 "เมืองไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีธุรกิจฟาร์มแมลงเป็นเรื่องเป็นราว เราก็พยายามผลักดัน สร้างมูลค่าให้เกษตรกร

ช่วงที่เศรษฐกิจ มีปัญหาเรื่องการจำนำข้าว เกษตรกรบางรายไม่มีรายได้ เราเข้าไปสนับสนุนให้ทำฟาร์มจิ้งหรีด เพราะใช้เวลาเลี้ยงแค่หนึ่งเดือน ก็ขายได้แล้ว"  อาจารย์ยุพา ให้ข้อมูล

เมื่อ 5 ปีที่แล้วเกษตรกรอีสานกว่าสองหมื่นครัวเรือนทำฟาร์มจิ้งหรีด และมีเงินเดินสะพัดมีรายได้ปีละกว่า 120 ล้านบาท ซึ่งน่าสนใจทีเดียว เนื่องจากการทำฟาร์มลักษณะนี้ใช้พื้นที่ใต้ถุนทำคอกเลี้ยงลงทุนประมาณ 2,000-3,000 บาท ก็สามารถสร้างรายได้หลักหมื่น

แม้แมลงจะมีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ใช่ว่า ทุกคนจะบริโภคได้เหมือนกัน อาจารย์ยุพาบอกไว้ว่า แมลงเป็นสัตว์เปลือกแข็ง สำหรับคนที่แพ้อาหารทะเล แพ้กุ้ง ก็ไม่ควรกินแมลง 
 "ในต่างชาติก็เอาความรู้เรื่องการเลี้ยงแมลงจากเราไปศึกษา พยายามเลี้ยงเอง เลี้ยงในเมืองนอกต้องควบคุมอุณหภูมิ ค่าใช้จ่ายสูงกว่าเลี้ยงในเมืองไทย "

อุดม แสนอาจ พ่อค้าจิ้งหรีดรายใหญ่  อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น แม้ปัจจุบันไม่ได้ทำฟาร์มแมลงแล้ว หันมาเป็นพ่อค้ารับซื้อจิ้งหรีดจากฟาร์มไปขาย เคยทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดลงทุนสองแสนกว่าบาท ไม่นานก็คุ้มทุน
 "ผมเลี้ยงจิ้งหรีด ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่มีคอกให้อาหารและน้ำ เดือนกว่าๆ ก็โต นำไปขายได้ การเลี้ยงจิ้งหรีดจะมีปัญหาก็ตอนมันเป็นโรคบวมน้ำ และต้องมีเวลาดูแล  
 อาหารของจิ้งหรีดที่เลี้ยงในบล็อกสี่เหลี่ยม ก็ไม่ต่างจากอาหารไก่พื้นบ้านตัวเล็กๆ ใช้เวลาเลี้ยงจิ้งหรีดแต่ละชนิดประมาณ 30-40 วัน ก็เข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย สามารถจับขายได้กิโลละ หลักร้อยขึ้นไป ขึ้นอยู่กับฤดูกาล"
\"จิ้งหรีด\" จากอาหารบ้านๆ ฟาร์มเล็กๆ เตรียมโกอินเตอร์

 นอกจากฟาร์มจิ้งหรีด ยังมีฟาร์มด้วงสาคู แมลงกินได้อีกชนิด เพาะเลี้ยงในแถบจังหวัดภาคใต้ เป็นที่นิยมบริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติ เนื่องจากโปรตีนสูง เพาะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก

ขนาดตัวค่อนข้างโต ราคาดี เป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจในการเพาะเลี้ยง เนื่องจากมีวงจรชีวิตสั้น เลี้ยงไม่นานพอๆ กับจิ้งหรีด ปัจจุบันนิยมนำมาประกอบเป็นอาหารของมนุษย์ และสัตว์ 

แมลง ตัวเลือกทางอาหารที่ดี
 ทางเลือกในการบริโภคแมลง ยังมีอีกมากมาย อาจทำเป็นแคปซูลอาหารเสริม หรือไม่ก็ทำเป็นยา 
ชาวต่างชาติเริ่มเชื่อว่า หากเกิดโรคระบาด แมลงจะเป็นตัวเลือกที่ดี ขณะที่คนไทยมองว่า การกินแมลงเป็นทางเลือกที่ไกลตัว แต่ปัจจุบันตั๊กแตน จิ้งหรีดขาว เป็นที่ยอมรับว่าเป็นอาหารทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัย

"ถ้าเราไม่ทำวิจัยเรื่องนี้ การกินแมลงก็จะหายไป ไม่ต่างจากสมัยก่อน คนไทยกินอาหารพื้นบ้านหรืออาหารธรรมชาติที่มีหลากหลาย อาหารเหล่านั้นก็ค่อยๆ หายไป จึงอยากส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่กินแมลง อาจนำจิ้งหรีดมาปรุงเป็นรสต่างๆ หรือทำเป็นโปรตีนผง " อาจารย์ยุพา  เล่าไว้ และบอกไว้ว่า

"ในเมื่อบรรพบุรุษของเราก็กินแมลงอยู่แล้ว แล้วจะทำอย่างไรให้การกินแมลงยังอยู่ในวิถีชีวิต แต่ให้กินอย่างปลอดภัย 

สิ่งสำคัญคือ ต้องทำฟาร์มแมลงให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย เพื่อที่เราจะส่งออกได้ เนื่องจากทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติที่เราทำงานด้วย ก็เห็นความสำคัญเทคโนโลยีการทำฟาร์มแมลง"

ฟาร์มจิ้งหรีด ดีต่อชีวิตและโลก

เนื่องจากจิ้งหรีดและด้วงสาคู เป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตสั้น ง่ายต่อการเลี้ยง ไม่ต้องเอาใจใส่มาก ต่างจากตั๊กแตน ถ้าจะเลี้ยงต้องใช้เวลาเป็นปี และมันยังเป็นศัตรูพืช

อาจารย์ยุพา เคยขยายความไว้ว่า ก่อนจะสนับสนุนให้เลี้ยงแมลงชนิดใด ต้องถามชาวบ้านก่อนว่า ชอบกินแมลงประเภทไหน  
"พวกเขาบอกว่า จิ้งหรีด ซึ่งในอนาคตตลาดแมลงจะเปิดกว้างกว่านี้ ถ้าจะส่งออกแมลง ทางยุโรปจะมีการตั้งกฎเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร การจัดการฟาร์มต้องได้มาตรฐาน

ถ้าวิธีการจัดการไม่ดี แมลงอาจเกิดโรคได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นชาวบ้านก็แย่ และปัจจุบันคนไทยยังกินเฉพาะแมลงทอด เราจึงต้องมีองค์ความรู้เพิ่ม เพื่อเพิ่มมูลค่า "

แม้การทำฟาร์มแมลง ดูเหมือนจะสร้างรายได้ให้เกษตรกร เนื่องจากมีคนบริโภคอยู่ไม่น้อย แต่การพัฒนาต่อยอดก็สำคัญ อาจารย์ยุพา ให้ข้อมูลไว้ว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดต้องได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่แข็งแรง ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาเลือดชิด 
 "ชาวบ้านเคยถามว่า ต้องเลี้ยงกี่รุ่นจึงจะเกิดปัญหาเลือดชิด คือการผสมระหว่างพี่น้องจะมีปัญหา  ทางเราก็ไม่อยากให้ต่างชาติมาเอาเทคโนโลยีไปพัฒนา แล้วกลับมาขายในเมืองไทย เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงไม่แพง

ที่ผ่านมาการส่งจิ้งหรีดไปขายต่างประเทศ ยังไม่รู้เลยว่า ต้องส่งออกหมวดหมู่ใด อย่างผู้ประกอบรายหนึ่งจะส่งจิ้งหรีดไปขายในออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่ประเทศนั้นให้ตรวจยาฆ่าแมลงก่อน เพราะพวกเขาไม่เคยเห็นฟาร์มที่เราเลี้ยง ถ้าในฟาร์มใช้ยาฆ่าแมลง แมลงก็ตายหมดแล้ว" อาจารย์ยุพา เล่า และบอกว่า ถ้าในอนาคตทางยุโรปทำฟาร์มแมลงเอง พวกเขาคงทำมากกว่าแมลงทอด 
"แมลงจะนำมาแปรรูปไว้ในแคปซูล หรือทำเป็นอาหารเสริม ก็ได้ ต่างชาติหลายบริษัทสนใจอยากร่วมมือทำฟาร์มแมลงในเมืองไทย แต่เราอยากผลักดันให้คนไทยทำธุรกิจนี้เอง"