คนรุ่นใหม่คิดอย่างไร เมื่อรัฐอยากปลดล็อก "บุหรี่ไฟฟ้า"

คนรุ่นใหม่คิดอย่างไร เมื่อรัฐอยากปลดล็อก "บุหรี่ไฟฟ้า"

การปลดล็อก “บุหรี่ไฟฟ้า” ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกฎหมาย เหมาะสมต่อสังคมไทยจริงหรือ? คนรุ่นใหม่คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบอย่างไรกับเยาวชนบ้างต้องติดตาม

พลันที่เกิดกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 28 กันยายน 2564 ให้พิจารณาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย สามารถจำหน่ายได้โดยทั่วไป ก็เกิดกระแสวิพากษ์ถึงความเหมาะสม และผลบวก ผลลบ อันเนื่องมาจากการปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าครั้งนี้

เริ่มที่เสียงสะท้อนจากตัวแทนคนรุ่นใหม่ ผ่านเวทีเสวนา Gen Z Gen Za ท้าลุย จัดโดยสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนโดย สสส. ที่ระดมเสียงคนรุ่นใหม่มาร่วมกันถกเดือดในประเด็นร้อน “ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ควรถูกกฎหมายในประเทศไทย”

“เราต้องยอมความจริงก่อนไหมว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งทำอันตรายสุขภาพ มันจึงไม่ควรเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกของใคร ไม่ว่าอันตรายมากหรือน้อย ปัจจุบันมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกที่มีทั้งกฎหมายห้ามและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ไทยเคยเป็นหนึ่งในนั้น” พชรพรรษ์ ประจวบลาภ 

เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยเอ่ยเปิดประเด็น ส่วนประเทศไหนที่จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า สังเกตได้ว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อัตราการสูบบุหรี่ต่ำมาก แต่การควบคุมบุหรี่บ้านเรายังยากลำบากในการไปงัดสู้กับการตลาดของธุรกิจยาสูบได้ ทั้งงบประมาณและกำลังคน เรายังต้องรณรงค์ต่อเนื่องแล้วหยุดไม่ได้ ไทยยังไม่ควรเอามาเป็นทางเลือก

ด้าน โยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ออกตัวว่า สำหรับตนไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดว่าไม่ดี แต่ต้องดูระยะยาวและต้องศึกษาอีกยาวนาน

“แค่บุหรี่ปกติเรายังควบคุมลำบาก ผมอยากให้ทำเรื่องการควบคุมบุหรี่ให้สำเร็จก่อน ถ้าเราทำสำเร็จเป็นเรื่องที่ดี แล้วค่อยไปทำแบบอื่นต่อ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด แต่เราควรหาฉันทามติร่วมกัน เราไม่ปฏิเสธโลกที่กำลังเปลี่ยนไป แต่ต้องดูความเหมาะสมในระยะเวลา”

เขาเอ่ยว่าปัจจุบันผลการวิจัย ข้อมูลวิชาการยังไม่มีความชัดเจนหรือข้อมูลรองรับว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้จริงหรือไม่ ซึ่งหากจะมีการนำมาใช้เป็นทางเลือกในการเลิกบุหรี่ ควรมีข้อมูลทางวิชาการที่ได้ผลลัพธ์ชัดเจนสำเร็จมากกว่านี้

คนรุ่นใหม่คิดอย่างไร เมื่อรัฐอยากปลดล็อก \"บุหรี่ไฟฟ้า\"

“ที่ผมเห็นคือเด็กๆ เป็นเป้าหมายหลักที่เข้าถึงได้ง่ายมาก แล้วขนาดเราห้ามยังควบคุมยาก ถ้าเปิดแล้วเราต้องควบคุมยากพอสมควร”

การรณรงค์ลดบุหรี่เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของสภาเด็กและเยาวชนโดยการเน้นย้ำถึงอันตราย การลงโทษและทำความเข้าใจ เพราะมองว่าการให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ

“เรายอมให้เงินห้าหมื่นล้านเสียไปกับการรักษา แลกกับภาษีที่เราจะได้คืนมาแค่สี่หมื่นกว่าล้าน ต้นทุนค่าเสียโอกาส ผมมองว่าหากการทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ถ้าเราต้องสูญเสียปอด เราสูญเสียอวัยวะไปแล้วมันกลับมาเหมือนเดิมยาก เพราะสุขภาพของคนเรามันประเมินค่าไม่ได้ ”

อีกเสียงของคนรุ่นใหม่อย่าง ณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่าในฐานะคนรุ่นใหม่ เราไม่ได้ตั้งการ์ดว่าแอนตี้ แต่อยากถามว่าได้ทำการศึกษาเรื่องบุหรี่มากน้อยแค่ไหน

“เราไม่เคยเห็นของที่อยู่ใต้ดินมาอยู่บนดินแล้วจะแก้ปัญหาได้ ส่วนใหญ่เรามักมองมุมเศรษฐกิจ ความคุ้มค่า เรืองการเก็บภาษี อยากให้ศึกษาผลกระทบ ในมิติเด็กและเยาวชนนั้นคุ้มหรือเปล่า การทำให้ถูกกฎหมายเท่ากับสนับสนุนความตายให้กับคน มันย้อนแย้งกับระบบสาธารณสุขที่ทำให้คนไทยแข็งแรงมีสุขภาพดี”

คนรุ่นใหม่คิดอย่างไร เมื่อรัฐอยากปลดล็อก \"บุหรี่ไฟฟ้า\"

ธนวัช แจ่มจันทร์ ประธานกลุ่มเด็กและเยาวชน UGZ อุบลราชธานี เผยข้อมูลเชิงลึกจากการทำงานใกล้ชิดในระดับพื้นที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นอีกมุมมองว่า

“จากเราลงพื้นที่ น้องๆ ส่วนใหญ่สูบบุหรี่กันแล้ว ตั้งแต่ ม.3 และไม่ใช่แค่ผู้ชาย แต่มีน้องผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ซึ่งจากการมีโอกาสพูดคุยสาเหตุที่น้องๆ สูบบุหรี่ พบว่าเนื่องจากสังคมโดยรอบเขาสูบกัน ทำให้อยากรู้อยากลอง โดยจะเริ่มจากบุหรี่แบบธรรมดา แต่หลังจากบุหรี่ไฟฟ้าหาซื้อได้ง่าย จึงรวมเงินกันซื้อมาสูบด้วยกันเด็กต่างจังหวัดไม่ได้รู้หรอกว่า บุหรี่ดีหรืออันตราย แต่เขาอยากรู้อยากลอง ยิ่งบุหรี่ไฟฟ้ามีรสชาติ มีกลิ่นหอมทำให้ยิ่งอยากลอง”

ธนวัชเอ่ยต่อว่า ที่ผ่านมาเราชวนน้องๆ มาทำกิจกรรมด้วยกัน 2 กิจกรรม เขาก็ห่างบุหรี่มากขึ้น แต่ไม่ได้เลิกสูบเลย แต่เราพยายามให้แนวทางและข่าวสารพลังบวกมากกว่าพลังลบ เพื่อสร้างกำลังใจ และปัจจุบันเรากำลังสร้าง น้องๆ แกนนำระดับ ม.ต้น ให้มีส่วนร่วมทำกิจกรรม กับเพื่อนๆ แทน เพราะเชื่อว่าเขาจะสื่อสารถึงกันได้มากกว่าเพราะมีความสนิทและเปิดใจมากกว่า

สิ่งที่ผมอยากฝากถึงภาครัฐบาลคือ การสื่อสารบุหรี่ประชาชน รัฐต้องมีความชัดเจนในการทำนโยบายเพื่อสุขภาพคนไทย ทุกวันนี้ปัญหาการสูบบุหรี่ในพื้นที่ยังมีอยู่ไม่น้อย ผมอยากให้ลองลงพื้นที่แบบที่ท่านไปเห็นภาพความจริง เช่น ร้านค้าในชุมชน ลองสำรวจได้เลยว่า เด็กประถม 1 ไปซื้อเขาก็ขายให้ และอยากให้มองเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ต้องลงไปควบคุมดูแลกำกับด้วย

อีกหนึ่งเสียงจากคนผ่านประสบการณ์นักสูบตัวจริง เอ วัย 23 ปี เคยสูบบุหรี่มวน แล้วเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า สุดท้ายเขากลับมาสูบบุหรี่มวนธรรมดาเช่นเดิม แต่สุดท้ายตัดสินใจเลิก เพราะเป็นทอมซินอักเสบ จึงลองเลิกพักสูบสักเดือน แล้วได้ไปคุยกับยาย ถามว่าเลิกหรือยัง พอบอกเลิกแล้ว ยายน้ำตาไหลเลย ยายบอกว่าอธิษฐานทุกคืนขอให้เลิก เนื่องจากสนิทกับยายมาตั้งแต่เด็ก

“ตอนแรกผมสูบบุหรี่มวนปกติ ที่หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะสะดวก ไม่เหม็น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง เพื่อนผมรอบตัวที่หันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่มีใครเลิกได้เลย เพราะออกไปข้างนอกก็สูบบุหรี่ไฟฟ้า กลับมาบ้านก็สูบบุหรี่มวนแทน”

เสริมด้วยข้อมูลจากพชรพรรษ์ ว่าในปี 2560 พบว่าประเทศไทยต้องเสียเม็ดเงินสูญเสียเกี่ยวกับบุหรี่ เป็นค่าใช้จ่ายถึง 52,182 ล้านบาท โดยเป็นค่ารักษาผู้ป่วยที่โรคเกี่ยวกับบุหรี่ 21,000 กว่าล้านบาท ส่วนต่างคือค่าเยียวยา ค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ และการดูแลผู้ป่วยติดเตียง

“ซึ่งหากรัฐสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีเพิ่ม จากเดิมที่รัฐมีรายได้จากบุหรี่ธรรมดา 43,000 ล้านบาท จะเพิ่มรายได้จากบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 1,800 ล้านบาท รวมแล้วรัฐได้สี่หมื่นห้าพันล้านกว่าบาท แต่เมื่อหักค่ารักษาพยาบาลที่รัฐต้องจ่าย ห้าหมื่นกว่าล้าน รัฐยังขาดทุนอยู่ ซึ่งไม่รวมค่ารักษาผู้ป่วยที่จากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเริ่มปรากฏในต่างประเทศแล้ว”

อย่าเอาเรื่องเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง แล้วเอาเรื่องสุขภาพมาหักลบ มูลค่าของมันจะไม่มีความคุ้มค่าใดๆ เพราะต่อให้เศรษฐกิจดีมากๆ เราก็ต้องนำเงินกับไปวนรักษาคนที่ป่วยจากบุหรี่

ไม่เพียงเสียงคัดค้านจากคนรุ่นใหม่ที่กึกก้อง ด้านฟากฝั่งวิชาการ ได้แก่ สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย (Association of Thai NCD Alliance) เอง ก็ได้แสดงเจตจำนงลงนามร่วมกับ 17 คณะแพทย์ผู้ดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และบุคลากรวิชาชีพที่สนับสนุนการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อ ออกแถลงการณ์คัดค้านการอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี  นิธิยานันท์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่า จากข้อมูลปี 2561 พบคนไทยมีอัตราเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs: Non-Communicable Diseases) 5 กลุ่มโรคหลัก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคมะเร็ง และสุขภาพจิตNCDs ราวปีละ 398,860 คน หรือร้อยละ 74 ของการเสียชีวิตทั้งหมด นอกจากนี้โรค NCDs เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่องมีค่าใช้จ่ายดูแลรักษาสูง 

ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพการทำงาน สุขภาวะ และคุณภาพชีวิตของบุคคล รวมทั้งเศรษฐกิจของครัวเรือนและประเทศ ซึ่งนอกจากปัจจัยการบริโภคอาหารมากเกิน การออกแรงกายไม่เพียงพอ การบริโภคแอลกอฮอล์เกินกำหนด และการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษแล้ว บุหรี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อ จึงขอให้พิจารณาระงับข้อเสนอดังกล่าวเพื่อประโยชน์ต่อคนไทยและประเทศชาติโดยรวม

คนรุ่นใหม่คิดอย่างไร เมื่อรัฐอยากปลดล็อก \"บุหรี่ไฟฟ้า\"

“การเสพยาสูบไม่ว่าวิธีใดๆ ทั้งบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ชิชาหรือบารากู่ ผู้เสพได้รับสารนิโคตินเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีสารพิษอื่นกว่าพันชนิด และสารก่อ มะเร็งอีก 70 ชนิด เกิดขึ้นในกระบวนการเสพ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเสพนิโคตินด้วยวิธีการใด สารต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้หลอดเลือดตีบแข็งทั่วร่างกาย ตลอดจนถึงปลายเท้า ที่สำคัญคือ หลอดเลือดหัวใจตีบแข็งเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดสมองเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต อีกทั้งส่งผลให้เยื่อบุหลอดลมและถุงลมเกิดการอักเสบเรื้อรัง เกิดโรคทางเดินหายใจอุดกั้น ถุงลมโป่งพอง เกิดมะเร็งปอดและในอวัยวะอื่นอีกมากถึง 14 อวัยวะ บุหรี่มีส่วนทำให้เกิดโรคเบาหวานเร็วกว่าปกติ และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและรวดเร็ว

องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่สามารถบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และมีความเห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยคุกคามต่อการควบคุมยาสูบ ทำให้การลดจำนวนคนที่เสพติดบุหรี่ยากยิ่งขึ้น ที่น่ากังวลคือธุรกิจยาสูบ” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าวทิ้งท้าย