‘ลายสัก’ บนเรือนร่าง อย่าตีตราแค่คำว่า ‘แฟชั่น’

‘ลายสัก’  บนเรือนร่าง อย่าตีตราแค่คำว่า ‘แฟชั่น’

ไม่ได้ต้องการโชว์ภาพโป๊ อยากให้เห็นความงามของ "ลายสัก"โดยเฉพาะการ"สักลาย"ของผู้หญิงมีอะไรที่มากกว่านั้น นี่คือเรื่องเล่าของพวกเธอและช่างภาพ ผู้บันทึกภาพ

"สักครั้งแรก ตอนอายุ 15 ปีเป็นรูปผีเสื้อสองตัวที่หัวไหล่ซ้ายด้านหลัง ก่อนไปสักขออนุญาตแม่ก่อน เพราะแม่ให้ร่างกายเรามา ตอนที่สักคิดว่าตัวเองเหมือนผีเสื้อ มีวัฏจักรจากไข่เป็นหนอนเป็นดักแด้และเป็นผีเสื้อ เหมือนตัวเรามีเกิด แก่ เจ็บ ตาย

      ตอนเด็กเคยทำร้ายตัวเอง กรีดข้อมือ รู้ตัวอีกทีก็คิดได้ ทำไปเพื่ออะไร … งั้นลองเปลี่ยนมาสักดีกว่า สักทั้งตัวเลย รู้สึกเสพติดความเจ็บปวด สักออกมา เจ็บแต่ก็มีสี มีความหมายบนร่างกายเรา" แหม่ม-ธัญชนก ดอกไม้ วัย 25 ปี เล่าไว้ใน เฟซบุ๊ค ชาญพิชิต พงศ์ทองสำราญ ช่างภาพที่ถ่ายภาพการ สักลาย ตั้งแต่คนหนุ่มสาวจนถึงคนชรา 

การ สักลาย ของ แหม่ม ทดแทนความรู้สึกบางอย่างในใจ แม้เวลาสักลวดลายบนเรือนร่างจะเจ็บจี๊ดๆ แต่เธอรู้สึกสะใจ ที่มี ลายสัก ทั้งสวยบ้าง ไม่สวยบ้าง เปรียบเสมือนชีวิต ที่มีทั้งด้านดีไม่ดี และมีข้อผิดพลาดไม่น้อย

ส่วนการเลือกลวดลายสักก็เหมือนการทดแทนบางอย่างที่หายไป ยกตัวอย่างในช่วงหนึ่งแหม่ม อยากเลี้ยงแมว แม่ไม่ให้เลี้ยง ก็เลยสักรูปแมว 2 ตัวที่ก้น 2 ด้าน 

‘ลายสัก’  บนเรือนร่าง อย่าตีตราแค่คำว่า ‘แฟชั่น’ ธัญชนก ดอกไม้  Cr.Charnpichitphotographer

สักลายของผู้หญิง

     ช่วงการระบาดของโควิด ชาญพิชิต พงศ์ทองสำราญ ศิลปินถ่ายภาพ เจ้าของสถาบันสอนศิลปะ สำนักป๋า อาจารย์พิเศษสาขาวิชาการถ่ายภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ผู้ริเริ่มโปรเจค หัวใจต้นไม้ แล้วตระเวนถ่ายภาพต้นไม้ใหญ่ทั่วประเทศไทย นำไปสู่โปรเจคถ่ายภาพ สักขาลาย ของชาวล้านนา และชาวอีสาน มาถึง ชวนคนที่มีรอยสักมาถ่ายภาพ 

      "ผมชวนคนที่สักลายคล้ายๆ กันมาถ่ายภาพวันเดียวกัน เช่น กลุ่มที่ สักญี่ปุ่น สักยันต์ กลุ่มผู้หญิงที่สัก ถ่ายมาได้ร้อยกว่าคนแล้ว ถ้าไม่ติดโควิดก็คงเกินสองร้อยไปแล้ว

      ‘ลายสัก’  บนเรือนร่าง อย่าตีตราแค่คำว่า ‘แฟชั่น’

ชาญพิชิต พงศ์ทองสำราญ Cr.Charnpichitphotographer

เรามองคุณค่าของภาพ แยกประเภทเป็นกลุ่มๆ  เช่น สักจากในคุก สักญี่ปุ่น สักยันต์ สักโอล์ดสคูล ฯลฯ แล้วไม่ได้มีแค่รอยสักบนตัวยังมีเรื่องราวด้วย ผมถ่ายขาวดำอย่างเดียว เพราะมันมีอารมณ์อยู่ในภาพ”

ชาญพิชิต กล่าวถึง รอยสักเฉพาะกลุ่มผู้หญิงว่า สักจนเป็นแฟชั่น 

“ถ้าเป็นรอยสักผู้ชายมีหลายเหตุผล แต่สำหรับผู้หญิง 1) คือแฟชั่นของยุคสมัย 2) ปกปิดรอยแผล เช่น นางแบบที่มีรอยสักที่หน้าอกหรือหน้าท้อง อาจเคยผ่าตัดหรือมีแผลเป็น ก็เลยสักลายสวยงามปกปิดไว้ และเมื่อสักไปครั้ง สองครั้ง จะอยากสักอีก

3)ความเชื่อ เรื่องการ สักยันต์ ถ้าเป็น 20 ปีที่แล้ว ผู้หญิงแทบจะไม่มีใครสัก แต่พออาจารย์ หนู กันภัย สักให้ แองเจลีนา โจลี ก็จะเริ่มเห็นผู้หญิงสัก ยันต์ 5 แถว มากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องพุทธคุณอย่างเดียว เป็นเรื่องแฟชั่นด้วย แล้วตอนหลังเริ่มมีผู้หญิงสักยันต์เยอะขึ้น เริ่มสักเสือ สักยันต์ทั้งตัว คล้ายๆ ผู้ชาย มากขึ้น

ปัจจุบันเราเห็นคนดังสักทั้งตัวมากขึ้น อย่าง เณรแอ, เก่ง ลายพราง เมื่อก่อนไม่มีปรากฎในสื่อกระแสหลัก แต่พอดังในสื่อโซเชียลทำให้คนรู้จักมากขึ้น  เด็กรุ่นใหม่เริ่มมองการสักยันต์ไม่ต่างจากการสักญี่ปุ่น เมื่อสังคมยอมรับ ก็เริ่มกล้าสักในตำแหน่งนอกร่มผ้า หรือสักที่ใบหน้า"

‘ลายสัก’  บนเรือนร่าง อย่าตีตราแค่คำว่า ‘แฟชั่น’ Cr.Charnpichitphotographer

สักลาย เยียวยาจิตใจ

ชาญพิชิต บอกว่า ลายสักไม่ใช่แค่เรื่องแฟชั่นอย่างเดียว ยังช่วยในเรื่องจิตใจได้ด้วย

“มีน้องคนหนึ่งดูภายนอกก็ปกติ แต่พอถกแขนเสื้อขึ้น เห็นรอยกรีดแขนเยอะมาก บางคนซึมเศร้า บางคนมีเรื่องราวที่เราฟังแล้วอึ้ง มีคนบอกเขาว่า ทำไมไม่ไปสักล่ะ มันเจ็บนะแต่ได้รูปสวยๆ กลับมา เมื่อได้สักแล้ว เขาก็ไม่กรีดข้อมืออีก มันคือความงาม และความทรงจำ

ผมมองว่า การมีรอยสักคือ แฟชั่น ทั้งอยากให้คนยอมรับ อยากปกปิดแผล หรือไม่ก็เป็นการ เยียวยา

อย่างผมสักแขนเป็นโลโก้คณะมันฑนศิลป์ บางคนสักคำสอนของพ่อ สักรูปพ่อแม่ ลายสักแบบนี้จึงเกินกว่าคำว่าแฟชั่น 

เด็กๆ ส่วนใหญ่จะเน้นความสวย แต่ถ้าอายุ 20 กลางๆ จะเน้นรอยสักที่มีความหมายต่อเขา ส่วนรอยสักของคนในเรือนจำ สักเพื่อให้ได้รับการยอมรับมากกว่า"

‘ลายสัก’  บนเรือนร่าง อย่าตีตราแค่คำว่า ‘แฟชั่น’ ศิลปะบนเรือนร่าง

จากโปรเจคแรก หัวใจต้นไม้ มาสู่โปรเจคที่สอง สักขาลาย  ชาญพิชิต ออกตระเวนถ่ายภาพที่ไหนไม่ได้ ก็เลยจัดสถานที่ของตัวเองถ่ายภาพ

“โปรเจคนี้ตอนแรกคิดว่าจะทำให้เสร็จ 3 ปี จะถ่ายผู้หญิงร้อยคน ผู้ชายร้อยคน แล้วทำเป็นโฟโต้บุ้คสองเล่ม แต่โควิดทำให้หยุดไป 7-8 เดือน และเวลาถ่ายต้องทำความรู้จักกันก่อน 

บางคนตอนนี้ลายสักไม่เยอะ แต่อีก 5 ปี 10 ปี รอยสักเขาเยอะขึ้น เราจะถ่ายรูปใหม่ทุก 5 ปี

ผมมองว่า มันไม่ใช่แค่ภาพถ่าย ไม่ใช่แค่มองว่า รอยสักดีหรือไม่ดี แต่มันคือคุณค่า มันคือ การแต่งตัวที่หลากสไตล์ แต่ถอดออกไม่ได้ คนส่วนมากไม่เคยถอดเสื้อผ้าให้ใครเห็น 

เขามองเรื่องความงาม เรามองเห็นคุณค่า เขาเข้าใจในสิ่งที่เราถ่าย เราไม่ได้ถ่ายภาพโป๊ มันจึงเป็นสังคมที่ดี

แล้วพอโพสต์รูปคนที่มี รอยสักบนร่างกาย ลงในโซเชียล ก็ทำให้เราเข้าใจคนที่มีรอยสักมากขึ้น”

‘ลายสัก’  บนเรือนร่าง อย่าตีตราแค่คำว่า ‘แฟชั่น’ เปิดใจนางแบบ กับการสัก

พัทธนันท์ ขาวปลอด วัย 41 ปี

"สักครั้งแรกอายุ 27 ปี เป็นรูปฟีนิกซ์ บนบ่าด้านหลัง ก่อนสักก็ขอพ่อก่อน ท่านถามว่าจะดีเหรอ... เราไม่รั้นรอฟังคำตอบ เพราะคุณปู่เป็นตำรวจ คุณย่าเป็นครู กลัวว่าญาติจะรับไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ได้สัก 

ท่านบอกว่า ผู้หญิงมีรอยสักก็เยอะ สวยดี ไม่ได้ดูไม่ดี ก็เลยอนุญาต ส่วนคุณแม่ผ่านตลอด มีแต่คนชราที่ไม่ชอบ มองหัวจรดตีน สงสัยว่าเราทำไมสักเยอะจัง 

แต่ละรอยสักเกิดจากความชอบและความเหมาะสม สักแล้วดูเป็นเรา แต่ก็แอบซ่อนความทรงจำไว้ในนั้น สักเพิ่มไปเรื่อยๆ ถ้าเจอแบบที่ถูกใจ เพราะชอบศิลปะบนเรือนร่าง 

เรามีลูกชาย3คน ลูกทุกคนชอบที่แม่มีรอยสัก ไม่ได้รู้สึกว่าแปลก เราจะบอกลูกเสมอว่า คนมีรอยสัก อาจหางานทำยากนะอยากให้สักในร่มผ้าก่อน แต่สุดท้ายลูกชายสักออกแขนยาวไปแล้ว "

.....................................................

ดิว -ธิภาพันธ์ เข็มเงิน วัย 15 ปี

"สักครั้งแรก ตอน ม.3 เป็นรูปพญานาคที่ข้างหลัง ตอนนั้นคุณพ่อไปสัก เราไปด้วย ก็เลยขอสัก เจ็บ แต่ต้องสักให้เสร็จ เพราะคนอยู่เยอะมาก เป็นการสักยันต์ครั้งเดียว 

ในครอบครัวพ่อแม่ไม่เคยว่า ให้อิสระ ไม่เคยถูกห้าม แต่ขอให้เรียนให้ดี พี่น้องเป็นผู้หญิง 5 คน ทุกคนสักหมด พ่อก็สัก ยกเว้นแม่ เราเป็นคนแรกของพี่น้องที่สัก 

รอยสักที่มีความหมายที่สุด คือรอยสักแรกที่คุณพ่อพาไป ตอนนี้สักมา 40% ตั้งใจว่าจะสักลงไปที่ขาด้านซ้ายข้างเดียวให้เต็มเลย เราไม่เคยสนใจความคิดของคนอื่น จะมองผู้หญิงที่มีรอยสักเยอะๆ ยังไง มันขึ้นอยู่ที่เราใช้ชีวิตยังไง เอาตัวรอดประสบความสำเร็จได้ไหม"