ย้อนดูปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มูลค่าความศรัทธาสู่รายได้ จ.หนองคาย

ย้อนดูปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มูลค่าความศรัทธาสู่รายได้ จ.หนองคาย

“บั้งไฟพญานาค” เป็นปรากฏการณ์ลูกไฟสีแดงอมชมพูพวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง ถูกผูกโยงกับความเชื่อทางพุทธศาสนา และตำนานพญานาคในลำน้ำโขง กลายเป็นงานเทศกาลสุดยิ่งใหญ่ของจังหวัดหนองคาย

ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี จะมีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่คนไทยคุ้นเคยกันดี นั่นคือ “วันออกพรรษา” ซึ่งคนไทยพุทธในแต่ละภาคก็จะมีการทำบุญและการจัดงานประเพณีออกพรรษาที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าพูดถึงงานออกพรรษาในภาคอีสานแล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จักปรากฏการณ์สำคัญอย่าง “บั้งไฟพญานาค”

 

  • บั้งไฟพญานาค คืออะไร?

“บั้งไฟพญานาค” เป็นปรากฏการณ์ลูกไฟสีแดงอมชมพูที่พวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง ซึ่งจะเริ่มปรากฏให้เห็นเหนือผิวน้ำตั้งแต่ระดับ 10 - 30 เมตร  แล้วจะพุ่งขึ้นสูงประมาณระดับ 50 - 150  เมตร เป็นเวลาประมาณ  5 - 10 วินาที  แล้วดับหายไปในอากาศ โดยไม่โค้งตกลงมาเหมือนดอกไม้ไฟ 

ลักษณะของลูกไฟดังกล่าวไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน ไม่มีเสียง ขนาดของลูกไฟมีขนาดตั้งแต่เท่าหัวแม่มือ กระทั่งขนาดเท่าฟองไข่ไก่ จะเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เวลาหลังพระอาทิตย์ตกดินจนถึงประมาณ 23.00 น.

ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่เกิดขึ้นนั้น ถูกผูกโยงเข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนา โดยเชื่อว่าพญานาคที่อาศัยใต้วังบาดาลในลำน้ำโขง เป็นผู้ปล่อยลูกไฟขึ้นมาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เพื่อเป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เว็บไซต์ตำบลโพนพิสัย หนองคาย อธิบายว่า บริเวณที่พบบั้งไฟพญานาคมีหลายจุด ได้แก่ 

  • แม่น้ำโขงบริเวณวัดไทย เขตสุขาภิบาลโพนพิสัย 
  • บริเวณจุมพล เขตสุขาภิบาลบริเวณห้วยหลวง เป็นจุดที่แม่น้ำห้วยหลวงไหลลงสู่แม่น้ำโขง 
  • บริเวณวัดหลวง บ้านจอมนาง 
  • บริเวณหนองสรวง  ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ 
  • ปากน้ำห้วยเป บ้านน้ำเป อำเภอรัตนวาปี 
  • บริเวณตลิ่งวัดบ้านหนองกุ้ง อำเภอรัตนวาปี   
  • หนองต้อน ตำบลหนองต้อน ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย
  • บริเวณแก่งอาฮง บ้านอาฮง ตำบลหอคำ อำเภอบึงกาฬ บริเวณนี้จะเป็นลูกไฟสีเขียวมรกต

ย้อนดูปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มูลค่าความศรัทธาสู่รายได้ จ.หนองคาย

 

 

  • จากปรากฏการณ์เหลือเชื่อ สู่เทศกาลสร้างเม็ดเงินให้หนองคาย

หลังจากที่มีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ณ จังหวัดหนองคาย และบึงกาฬ ต่อมาผู้คนนิยมเดินทางไปชมมากขึ้น จนในที่สุดได้พัฒนากลายเป็นงานเทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาค ที่สำคัญของจังหวัดหนองคาย

โดยงานเทศกาลในแต่ละปี หนองคายต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงนี้ ไม่ต่ำกว่า 300,000 คน (นับจากสถิติปี 2557) ขณะที่ปี 2564 นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายเปิดเผยว่า ยอดจองโรงแรมเพิ่มมากขึ้นถึง 80% จากเทศกาลนี้

ย้อนดูปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มูลค่าความศรัทธาสู่รายได้ จ.หนองคาย

ย้อนดูปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มูลค่าความศรัทธาสู่รายได้ จ.หนองคาย

ย้อนดูปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มูลค่าความศรัทธาสู่รายได้ จ.หนองคาย

นอกจากนี้ยังเคยมีการนำเรื่องราวดังกล่าว ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่อง 15 ค่ำเดือน 11 โดยค่ายจีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม (GDH ในปัจจุบัน) ส่งผลให้เทศกาลบั้งไฟพญานาค ยิ่งเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นในวงกว้าง

ย้อนดูปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มูลค่าความศรัทธาสู่รายได้ จ.หนองคาย

 

  • แรงศรัทธา หรือ เรื่องหลอก?

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ และนักธรณีวิทยามีการเจาะลึกวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคนี้

งานวิจัยวิทยาศาสตร์ของไทยหลายฉบับสรุปว่า บั้งไฟพญานาค คือก๊าซมีเทน-ไนโตรเจนเกิดจากแบคทีเรียที่ความลึก 4.55 - 13.40 เมตร อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ปริมาณออกซิเจนน้อย ในวันที่เกิดปรากฏการณ์มีแดดส่องช่วงประมาณ 10, 13 และ 16 นาฬิกา มีอุณหภูมิมากกว่า 26 องศาเซลเซียส ทำให้มีความร้อนมากพอย่อยสลายสารอินทรีย์ และจะมีก๊าซมีเทนจากการหมัก 3 - 4 ชั่วโมง

มากพอให้เกิดความดันก๊าซในผิวทรายทำให้ก๊าซจะหลุดออกมาและพุ่งขึ้นเมื่อโผล่พ้นน้ำ ฟองก๊าซที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำบางส่วนจะฟุ้งกระจายออกไป ส่วนแกนในของก๊าซขนาดเท่าหัวแม่มือจะพุ่งขึ้นสูงกระทบกับออกซิเจน รวมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงยามกลางคืนทำให้เกิดการสันดาปอย่างรวดเร็วจนติดไฟได้

ในปีนี้ 2564 บั้งไฟพญานาคถูกพูดถึงที่มาของปรากฏการณ์อีกครั้ง โดยเพจพิสูจน์บั้งไฟพญานาค ได้นำหลักฐานรายชื่อหมู่บ้าน ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่บันทึกการเกิดบั้งไฟพญานาค ยื่นให้สถานเอกอัครราชทูตลาว สืบหาความจริงกรณีการเกิดบั้งไฟพญานาค เป็นการยิงกระสุนแสงจากหมู่บ้านฝั่งลาว สร้างความเข้าใจผิดให้กับคนไทยมานานหลายสิบปี โดยเพจดังกล่าวระบุถึงรายชื่อหมู่บ้านถูกยื่นตรวจสอบมีดังนี้

  • บ้านโดนเหนือ เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ ฝั่งไทยที่มองเห็น วัดไทย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย 
  • บ้านนากุง เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทร์ วัดไทย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และอบต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
  • บ้านปากงึม เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ ฝั่งไทยที่มองเห็น  บ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย 
  • บ้านหนองเขียด เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ ฝั่งไทยที่มองเห็น พุทธอุทยานฯอ.โพนพสิยั จ.หนองคาย บ้านน้ำเป อ.รัตนาวาปี บ้านโปร่งสำราญ จ.หนองคาย 
  • บ้านห้วยสายพาย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ (ยิงมากที่สุด) ฝั่งไทยที่มองเห็น บ้านท่าม่วง บ้านตาลชุม บ้านหนองแก้ว บ้านดงมดแดง อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย 
  • บ้านทวย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ฝั่งไทยที่มองเห็น บ้านเปงจาน อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย 
  • บ้านหงส์ทอง เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ฝั่งไทยที่มองเห็น ลานพญานาค อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ 
  • บ้านหาดไซ เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ฝั่งไทยที่มองเห็น ลานพญานาค อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ 
  • บ้านปากทวย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ฝั่งไทยที่มองเห็น วัดอาฮง อ.เมือง จ.บึงกาฬ
  • บ้านทุ่งน้อย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ ฝั่งไทยที่มองเห็น บ้านท่าสีโค อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย 

ย้อนดูปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มูลค่าความศรัทธาสู่รายได้ จ.หนองคาย ย้อนดูปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” มูลค่าความศรัทธาสู่รายได้ จ.หนองคาย

อ้างอิง phonphisai.go.th , majorcineplex.com , PhisucnBangfiPhyanakh