"หน้ากากอนามัย" ไอเทมในโลกที่ไม่ปลอดภัย และไม่เท่าเทียม

"หน้ากากอนามัย" ไอเทมในโลกที่ไม่ปลอดภัย และไม่เท่าเทียม

"หน้ากากอนามัย" ไอเทมสำคัญในโลกที่การหายใจเป็นเรื่องต้องระวัง ภาพสะท้อนด้านสุขอนามัยที่โยงใยปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในอนาคต

วันนี้ ไม่สำคัญว่าคุณจะก้าวเท้าไหนออกจากบ้าน สิ่งที่ต้องเตือนตัวเองก็คือ “อย่าลืม! หน้ากากอนามัย”

หลายคนอาจกำลังรอคอยวันที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตแบบไร้หน้ากากปิดบังใบหน้าเหมือนก่อนการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ หรืออาจเปลี่ยนไปตลอดกาล

ข้อมูลจากวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ‘Nature’ ซึ่งได้สอบถามความเห็นนักภูมิคุ้มกันวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกว่า 100 คนทั่วโลก ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า โควิด-19 จะยังคงแพร่ระบาดบนโลกต่อไป ไม่มีทางสิ้นสุดลงในเร็ววันนี้

และหากบวกปัจจัยที่ยังคงรังควานลมหายใจคนไทยอย่าง PM 2.5 คงต้องยอมรับว่า ‘หน้ากากอนามัย’ คือไอเทมแห่งยุคที่สะท้อนความเป็นจริงของชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม เลยไปจนถึงพัฒนาการด้านเทคโนโลยีและแฟชั่นอย่างยากจะปฏิเสธ

 

\"หน้ากากอนามัย\" ไอเทมในโลกที่ไม่ปลอดภัย และไม่เท่าเทียม

(หน้ากาก AirPop Active)

หน้ากากไฮเทค แก็ดเจ็ตแห่งอนาคต

นอกจากหน้ากากทางการแพทย์ หน้ากากคาร์บอน หน้ากาก N95 หน้ากากผ้า ที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีและมีการผลิตในหลากหลายรูปแบบแล้ว บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ยังได้นำเสนอหน้ากากไฮเทค เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตแบบ New Normal ไม่ว่าจะเป็น MaskFone ที่มีไมโครไฟนและหูฟังฝังอยู่ข้างใน 

หน้ากาก AirPop Active+ ที่มีเซ็นเซอร์ที่คอยตรวจจับข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการหายใจ ซึ่งมีทั้งแบบธรรมดาและแบบเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านระบบบลูทูธ 

\"หน้ากากอนามัย\" ไอเทมในโลกที่ไม่ปลอดภัย และไม่เท่าเทียม

ขณะที่ LG ก็นำเสนอหน้ากาก PuriCare Wearable Air Purifier ที่บรรจุแผ่นกรอง HEPA ซึ่งใช้ดักจับฝุ่นและเชื้อโรคอนุภาคเล็ก แบบเดียวกับในเครื่องกรองอากาศไว้ในหน้ากากด้วย

แต่ถ้าพูดถึงแนวโน้มการผสมผสานเรื่องแฟชั่นและฟังก์ชั่นเข้าไว้ด้วยกัน ต้องยกให้ Will.i.am แรปเปอร์หัวหน้าวง Black Eyed Peas ซึ่งในอีกบทบาทหนึ่ง เขาเป็นเจ้าของบริษัทผลิตอุปกรณ์ไอทีและแก็ดแจ็ตในอเมริกา เขาได้เปิดตัวหน้ากากสุดไฮเทค Xupermasks ที่มีฟีเจอร์ครบครัน 

ทั้งหูฟังตัดเสียงรบกวนภายในตัว (ANC) ไมโครโฟนบลูทูธ 5.0 ไร้สายเชื่อมต่อได้ 7 ชั่วโมง ไฟ LED พร้อมพัดลมและแผ่นกรองอากาศมาตรฐาน HEPA ถอดเปลี่ยนหลังใช้งานได้ทุก 30 วัน กรองได้ทั้งฝุ่น PM2.5 และป้องกันเชื้อไวรัส วางขายในสนนราคา 299 ดอลลาร์ หรือเกือบ 10,000 บาท ซึ่งตอนนี้ out of stock ไปเป็นที่เรียบร้อย

ปัจจุบันแม้ว่าสถานะของหน้ากากไฮเทคเหล่านี้ จะยังเป็นแค่แก็ดเจ็ตของคนรักแฟชั่นที่พร้อมจ่าย

แต่หากมองความเป็นไปได้ การพัฒนาหน้ากากอนามัยรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ราคาย่อมเยาว์จนถึงแพงระยับ น่าจะยังคงเดินหน้าต่อไป

เพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตในโลกยุคหน้าที่ไม่มีใครรู้ว่า จะมีโรคร้ายหรืออะไรมาสร้างความปั่นป่วนให้กับโลกใบนี้อีก

 

ความเหลื่อมล้ำ ร่องรอยที่หน้ากากปิดไม่มิด

ท่ามกลางการความหลากหลายของผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยที่เหมือนจะเพิ่มตัวเลือกให้เหมาะกับการใช้งานมากขึ้น ประเด็นก็คือ ใช่ว่าทุกคนจะมีสิทธิเลือก เพราะคุณภาพย่อมแปรผันตามราคา

สำหรับมนุษย์เงินเดือน-ชนชั้นกลางทั่วๆ ไป หน้ากากอนามัยแบบที่เพียงพอต่อการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว อาจอยู่ในข่ายที่จัดหามาใช้งานได้ไม่ยาก

“ถ้าเป็นวันที่ต้องไปห้างหรือที่คนเยอะๆ ก็จะใช้หน้ากากทางการแพทย์สวมทับด้วยหน้ากากผ้า บางอันก็มีแบรนด์บางอันก็เลือกจากสีสัน ส่วนวันที่ต้องเข้าออฟฟิศจะใช้หน้ากากอนามัยแบบเกาหลี 3D เพราะเวลาพูดไม่ติดลิปสติกเท่าไหร่” สาวออฟฟิศรายหนึ่งเล่าถึงการเลือกใช้หน้ากากในชีวิตประจำวัน ซึ่งเธอคำนวณคร่าวๆ ว่าตกอยู่ที่เดือนละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ไม่รวมสายคล้องมาสก์และเจลแอลกอฮอล์ที่ต้องซื้อหาอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน

\"หน้ากากอนามัย\" ไอเทมในโลกที่ไม่ปลอดภัย และไม่เท่าเทียม

(หน้ากากที่มีไมโครไฟนและหูฟังฝังอยู่ข้างใน )

ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2563 ระบุว่าให้ผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์(Surgical Mask) ที่ผลิตภายในประเทศ จำหน่ายปลีกในราคา (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ไม่สูงกว่าชิ้นละ 2.50 บาท หมายความว่าหน้ากากอนามัย 1 กล่องที่มีจำนวน 50 ชิ้น ต้องมีราคาไม่เกินกล่องละ 125 บาท

คำนวณคร่าวๆ ว่าหากใช้คนละ/วันละ 1 ชิ้น เดือนนึงตกประมาณ 75 บาท แต่หากทำตามคำแนะนำด้านสาธารณสุข เมื่อต้องเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมชนควรสวมทับด้วยหน้ากากผ้าที่มีความกระชับอีกชั้นหนึ่ง นั่นหมายถึงต้องจัดหาหน้ากากรูปแบบอื่นมาเพิ่ม 

ซึ่งในกรณีคนตกงานหรือขาดรายได้จากสถานการณ์โควิด รวมไปถึงคนจนเมือง คนไร้บ้าน กลุ่มคนเปราะบางต่างๆ นี่คือเงื่อนไขชีวิตที่เพิ่มเติมเข้ามา ช่วงที่ผ่านมาจึงมีข่าวทำนองว่า มีคนใช้หน้ากากอนามัยที่ควรใช้ครั้งเดียวทิ้งแบบซ้ำๆ กลายเป็นสาเหตุให้ติดเชื้อไวรัสไปก็มี

ย้อนกลับไปดูผลการศึกษาของ ‘โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ เมื่อปีที่แล้ว พบว่าคนจนเมืองเกือบทั้งหมดของผู้ตอบแบบสอบถาม (89.90 เปอร์เซ็นต์) มีการดูแลตนเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน 

พวกเขาแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนและมีราคาแพง(ในเวลานั้น) ด้วยการหันมาใช้หน้ากากผ้าที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลด้านการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า เป็นที่รับรู้ว่าลำพังหน้ากากผ้าไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้เท่าไรนัก

เมื่อนับรวมกับความเสี่ยงในการทำงานที่ไม่สามารถ Work From Home ได้ ดูเหมือนว่าสภาพการณ์เช่นนี้กำลังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ขยายปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้มากขึ้นไปอีก

จริงอยู่...ที่เงินไม่สามารถซื้ออากาศบริสุทธิ์ได้ แต่คนมีเงินสามารถซื้ออุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคและมลพิษได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเป็นเรื่องของชะตากรรม แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขอนามัย ที่รัฐควรดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

\"หน้ากากอนามัย\" ไอเทมในโลกที่ไม่ปลอดภัย และไม่เท่าเทียม

ขยะหน้ากาก จากคนป่วยสู่โลกป่วย

ในขณะที่เชื้อโรคพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ผู้คนต่างต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ‘โลก’ คือผู้แบกรับความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเหล่านี้

นิตยสาร Environmental Science & Technology เปิดเผยผลการศึกษาที่ประมาณการณ์ว่า ที่ผ่านมาทั่วโลกใช้หน้ากากอนามัยราว 129 พันล้านชิ้นต่อเดือน 

นั่นหมายความว่าในทุกๆ 1 นาที มีหน้ากากอนามัยถูกใช้แล้วทิ้งประมาณ 3 ล้านชิ้นทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นหน้ากากแบบใช้แล้วทิ้งที่ทำจาก ‘ไมโครไฟเบอร์’ ซึ่งวารสาร Environmental Advances รายงานผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า

หน้ากากอนามัย 1 ชิ้นกระจายชิ้นส่วนไมโครไฟเบอร์สู่สภาพแวดล้อมได้ถึง 173,000 ชิ้นต่อวัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล

กลับมาดูข้อมูลในประเทศไทยกันบ้าง กรมควบคุมมลพิษ เคยให้ตัวเลขกลมๆ ว่า ขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็น ‘ขยะติดเชื้อ’ เนื่องจากหลังการใช้งาน ทุกชิ้นจะปนเปื้อนสารคัดหลั่งในร่างกาย อาจมีเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสปะปนมาด้วย 

ทว่าการทิ้ง การจัดเก็บและการทำลายส่วนใหญ่ยังปะปนอยู่กับขยะทั่วไป จำนวนไม่น้อยไหลลงแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบทั้งด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม

\"หน้ากากอนามัย\" ไอเทมในโลกที่ไม่ปลอดภัย และไม่เท่าเทียม

ในบทความเรื่อง ‘มีหน้ากากมากกว่าแมงกะพรุน’ เมื่อขยะจากโคโรนาไวรัสระบาดลงทะเล ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.seub.or.th ตอนหนึ่งให้ข้อมูลว่า

นักประดาน้ำของ Opération Mer Propre องค์กรไม่แสวงหากำไรประเทศฝรั่งเศส พบสิ่งที่เรียกว่า ‘ขยะโควิด’ ไม่ว่าจะเป็นถุงมือยาง หน้ากากอนามัย

และขวดเจลล้างมือซ่อนตัวอยู่ใต้เกลียวคลื่นของมหาสมุทรเมดิเตอเรเนียน ปะปนไปกับขยะอย่างแก้วน้ำพลาสติกและกระป๋องอลูมิเนียม

“ปริมาณของหน้ากากอนามัยและถุงมือยางที่พบนับว่ามหาศาล แต่สิ่งที่เขากังวลคือ การค้นพบดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของมลภาวะระลอกใหม่ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่หลังจากที่ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกหันมาใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งเพื่อรับมือการระบาดของโคโรนาไวรัส”

แน่นอนว่า...นี่คือสิ่งที่มนุษย์ต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกับการการดูแลตนเองจากโรคร้าย เพราะหาก ‘โลกป่วย’ ผลกระทบที่ตามมาย่อมย้อนถึงผู้คนเช่นเดียวกัน

ถึงตอนนี้มากกว่าคำถามที่ว่า...เมื่อไรเราจะได้ใช้ชีวิตโดยปราศจากหน้ากาก? อาจต้องตั้งหลักที่ “มนุษย์จะรักษาสมดุลระหว่างสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรภายใต้หน้ากากนั้น”

..........
ผลงานเรื่องนี้ : ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกายฉบับพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (6 ตุลาคม 2564)