ทุกข้อสงสัย! "น้ำท่วม" ปี 2564 จะเหมือนปี 54 หรือไม่ "เสรี ศุภราทิตย์" มีคำตอบ

ทุกข้อสงสัย! "น้ำท่วม" ปี 2564 จะเหมือนปี 54 หรือไม่ "เสรี ศุภราทิตย์" มีคำตอบ

"น้ำท่วมฉับพลัน" ไม่ทันตั้งตัวใน 12 จังหวัด อาจเกิดขึ้นได้อีกหลายจังหวัด "รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ทำนายจากแบบจำลอง และมีแนวโน้มว่า อาจเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 54 แต่ไม่สามารถฟันธงได้แน่นอน

สถานการณ์น้ำท่วม หรือเหตุอุทกภัย 12 จังหวัดในประเทศไทยขณะนี้ (เดือนกันยายน 64) สร้างความเสียหายให้กับประชาชนจำนวนมาก ด้วยน้ำป่าและน้ำฝนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนหลายคนตั้งรับไม่ทัน

อีกทั้ง มวลน้ำก้อนใหญ่ กำลังเดินทางลงมาสู่หลายๆ จังหวัดด้านล่าง ใกล้เคียงกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554

 

ในเรื่องนี้ ต้องเตรียมการอย่างไร อีกทั้งสถานการณ์สภาวะอากาศในช่วงนี้เป็นอย่างไร จะรุนแรงถึงขั้น น้ำท่วมใหญ่ในปี 54 ดังที่เคยเกิดขึ้นมานั้นไหม "จุดประกาย" พาไปหาคำตอบจาก รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต 

 สถานการณ์น้ำท่วมฝนตกช่วงนี้ดูแล้วน่าเป็นห่วง อาจารย์มีคำอธิบายอย่างไร 

มันรุนแรงไปตามพื้นที่ที่พายุพัดผ่าน อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว สิ่งที่กังวลมากตอนนี้คือ พายุเตี้ยนหมู่ นำน้ำเข้ามา และยังมีพายุลูกถัดๆ มาอีก ตั้งแต่กลางเดือนถึงปลายเดือนตุลาคมนี้

สะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่เดิมที่พายุเตี้ยนหมู่ทำไว้ก็จะหนักมากขึ้น ที่ไม่เคยน้ำท่วม กรณีภาคกลาง ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาทันที

เราประเมินว่า น้ำที่ปล่อยผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ถ้าแตะที่ระดับ 2500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในท้ายน้ำ น้ำก็ท่วมแล้ว ตอนนี้พื้นที่เศรษฐกิจน้ำยังไม่ท่วม 

ทุกข้อสงสัย! "น้ำท่วม" ปี 2564 จะเหมือนปี 54 หรือไม่ "เสรี ศุภราทิตย์" มีคำตอบ ประเด็นสำคัญคือ น้ำจากพายุเตี้ยนหมู่ยังไม่มา และโชคดีว่า 3-4 วันนี้ (เดือนกันยายน 64) ไม่มีน้ำจากฝนตกมาเติม และน้ำเหนือก็ยังมาไม่ถึง 

มีการคาดการณ์ว่า ถ้าพายุเข้ามา 1-2 ลูกต่อจากนี้ จะรับมือกันยังไง จากปริมาณน้ำ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะกลายเป็น 3,000 - 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งถ้าแตะ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นั่นคือปี 2554 

จึงไม่สามารถบอกได้ว่า น้ำจะท่วมแบบนั้นอีกหรือไม่ ผมเคยเรียนให้ทราบแล้วว่า โอกาสน้ำท่วมแบบปี 2554 มีเพียง 10  เปอร์เซ็นต์

 หมายความว่า ไม่น่าจะเกิดน้ำท่วมเหมือนปีพ.ศ.2554 ? 

1 ใน 10 แบบจำลองคาดการณ์ไว้อย่างนั้น ถ้าน้ำมาแบบปี 2554 โอกาสเกิดขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์

ผมขอเทียบให้ฟังว่า ที่ เจิ้งโจว (มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองอุตสาหกรรมใหญ่แห่งหนึ่งของจีน) มีโอกาสเกิดแค่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ที่ เยอรมนี มีโอกาสแค่ 0.3 เปอร์เซ็นต์ 

ส่วนประเทศไทยน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า โอกาสเกิดมากกว่าเจิ้งโจวเยอะเลย ก็เหมือนกับการแทงหวย ลอตเตอรี่ เลขท้าย 3 ตัว ก็คือ 1 ใน 1000

ทุกข้อสงสัย! "น้ำท่วม" ปี 2564 จะเหมือนปี 54 หรือไม่ "เสรี ศุภราทิตย์" มีคำตอบ  แสดงว่า มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น ? 

คือ อย่างนี้ ประเด็นที่หนึ่ง ตอนนี้ระดับน้ำอยู่ที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่จะขึ้นไปที่ 3,000-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือขึ้นไปที่ 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มันมี 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับพายุว่า จะเอาฝนมาเติมเท่าไร

ประเด็นที่สอง ขึ้นอยู่กับ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีอยู่ เมื่อน้ำยกระดับมาถึงจุดหนึ่ง อาจทำให้คันกั้นน้ำแตก หรือโครงสร้างพื้นฐานมีโอกาสชำรุด ซึ่งเราไม่รู้

บทเรียนของเราปี 2554 โครงสร้างพื้นฐานพังเกือบหมดเลย ตอนนี้เหนืออ่างเจ้าพระยา มีระดับน้ำเหลือประมาณ 1.5 เมตรก็จะแตะระดับเท่ากับปี 2554 ซึ่งถือว่าน้อยมาก 

ยิ่งถ้าระดับมันสูงขึ้น ความดันมันก็จะสูง มันก็จะดันโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เหมือนเขื่อนที่แตกแถวภาคอีสานตอนนี้ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร อ.โนนสูง จ.ชัยภูมิ

เมื่อพายุเตี้ยนหมู่เอาฝนเข้ามา น้ำก็จะล้น เป็นปริมาณที่ไม่สามารถควบคุมได้ นั่นคือ กรณีอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรที่เป็นอยู่ตอนนี้ 

 เป็นเรื่องที่น่ากังวล อาจเหมือนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ? 

เริ่มกังวลมากขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่มีอะไรที่สามารถคาดการณ์เรื่องพายุได้ แม้ตอนนี้มีแบบจำลองบ่งชี้อย่างนั้น แต่อย่าเชื่อ 100 % กับแบบจำลอง ให้เชื่อแค่ 50 % แต่น่าจะเกิดขึ้นนะ

นี่เป็นวิธีการ ประเมินความเสี่ยง แต่ผมถามว่า ตอนนี้มีใครทำตรงนี้หรือเปล่า ประเมินล่วงหน้าให้ชาวบ้านรู้ และมีเวลาสักอาทิตย์กว่าๆ รู้ล่วงหน้า โดยมีแผนรับมือ

 ตอนนี้ภาครัฐเตรียมการหรือยัง 

ผมไม่ทราบ แต่มี บทเรียน จากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จ.นครราชสีมาแล้ว ผมมั่นใจว่าภาครัฐยังไม่มีแผน ตอนนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนเต็มแล้ว แล้วก็จะล้นอย่าง จ.สุโขทัย  ผมจึงอยากถามว่า ตกลง...จะบริหารความเสี่ยงหรือว่าไม่บริหาร

ถ้าเราจะ บริหารความเสี่ยง ก็ต้องดูว่า มีทางเลือกที่เป็นไปได้ว่า น้ำจะท่วมแบบไหนบ้าง ต้องเตรียมแผนป้องกัน นั่นคือการจัดการความเสี่ยง ถ้ามีแผน ชาวบ้านคงไม่กังวลใจ

 ในฐานะประชาชนจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง 

ข้อหนึ่ง ต้องดูว่า พื้นที่ที่เราอยู่เสี่ยงไหม ดูข้อมูลในอดีตช่วงสิบปีที่ผ่านมา ถ้าอยู่แถวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ดูว่าเมื่อปี 2554 น้ำท่วมแถวบ้านไหม 

 ให้ย้อนกลับไปดูปี 54 พื้นที่เราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไหม? 

ใช่ กลับไปดูเลย ข้อสอง สิ่งที่จะแตกต่างคือ ปริมาณน้ำจะมาเพิ่มมากกว่านั้น เพราะ นิคมอุตสาหกรรม ได้สร้างกำแพงล้อมพื้นที่ไว้หมดแล้ว เมื่อน้ำเข้ามาไม่ได้ ก็ต้องหาที่อยู่ใหม่ ไหลมาทางด้านล่าง

ซึ่งก็คือ ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปริมาณน้ำไม่สามารถย้อนกลับขึ้นด้านบนได้ เราต้องประเมินให้ได้ว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำไมเราทำได้แค่ยกถนนเท่านั้นเอง

ทุกข้อสงสัย! "น้ำท่วม" ปี 2564 จะเหมือนปี 54 หรือไม่ "เสรี ศุภราทิตย์" มีคำตอบ  ทางออกของปัญหาคืออะไร 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมไป อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา เพราะที่นั่นปี 2553 และปี 2563 น้ำท่วม สภาพอากาศคล้ายกัน  โดยก่อนหน้านั้น 7-10 วันมีการคาดการณ์ฝนจะตกหนัก 160 มิลลิเมตร  นั่นคือ Worst case scenario : สถานการณ์เลวร้ายที่สุดแล้ว 

หลังจากนั้นผมก็ติดตามทุก 3-5-7 วัน ปรากฏว่า ฝนตกประมาณ 60 มิลลิเมตร นั่นเพราะพายุพัดไป มันขึ้นอยู่กับ เส้นทางของพายุ ตอนนี้น้ำไปท่วมที่จ.ชัยภูมิ หนักมาก บางท่านบอกว่า น้ำท่วมหนักในรอบร้อยปี

 แสดงว่า เส้นทางของพายุ เป็นตัวกำหนด ? 

ใช่ เส้นทางมันเปลี่ยนไป น้ำไปท่วม จ.ชัยภูมิ ไปผ่านเส้นทางโน้น คนปากช่องก็เลยไม่ต้องกังวล เที่ยวได้สบาย  ถ้าเราสามารถรู้ล่วงหน้าว่า 7-10 วันข้างหน้าน้ำจะมาทางไหน เราก็ต้องมี มาตรการ เตรียมไว้แล้ว 

 จากวันนี้ (27 กันยายน 64) ไป จะมีพายุเข้าอีกหลายลูกไหม 

ผมก็เพิ่งทราบเมื่อเช้านี้ (27 ก.ย.) มีแบบจำลองคาดการณ์ว่า จะมีพายุอีก 2 ลูก กลางเดือนตุลาคมนี้ โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เชื่อ ถ้าพายุมันเข้ามา ก็ Worst case ผมกำลังประเมินลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ถ้าพายุเข้ามา 2 ลูก น้ำจะท่วมกรุงเทพฯหรือไม่ 

โอกาสเกิดตามแบบจำลองที่คาดการณ์ในระยะยาว เราเชื่อไม่ได้ 100 % จะเชื่อได้แค่ 50% เราจะรู้สถานการณ์ล่วงหน้าได้แค่ 5 -7 วัน ถึงตอนนั้นก็จะสามารถเชื่อแบบจำลองได้ 60-70 % 

ยกตัวอย่าง ถ้าน้ำท่วมภาคเหนือ แล้วพายุลูกที่สองเข้ามาวันที่ 15 ตุลาคม น้ำต้องใช้เวลาเดินทาง หนึ่งสัปดาห์ ประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือน น้ำก็จะเริ่มเข้ากรุงเทพฯ

ตอนนี้เราไม่มีเครื่องมืออะไร ช่วยลดปริมาณน้ำได้แล้ว คลองผันน้ำต่างๆ เขาวางแผนไว้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าถึงจะสร้างเสร็จ ใช้งบประมาณ 3 แสนล้านบาท 

เพราะฉะนั้นอีก 10 ปี เราก็จะต้องอยู่อย่างนี้ อยู่กับน้ำท่วมให้ได้ น้ำมาก็หนี ยกของขึ้นสูง