‘ช่องบก’ บทบันทึกวีรกรรมทหารไทย

‘ช่องบก’ บทบันทึกวีรกรรมทหารไทย

“ช่องบก” แหล่งท่องเที่ยวที่ชุ่มชื่นและงดงามแห่ง “อีสานใต้” กว่าจะมาเป็นแบบนี้ได้ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของบรรพชนที่ปกป้องผืนดินนี้

ทางแถบภาคอีสานใต้ แถวอุบลฯ สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินที่ราบสูง ที่แผ่นดินยกตัวสูงจากภาคกลาง ส่วนด้านทิศใต้ของภาคอีสานที่เราเรียกว่า “อีสานใต้” จะมีเทือกเขาพนมดงรักเป็นเส้นกั้นชายแดนกับเพื่อนบ้านทางใต้ของภาคอีสาน เป็นทิวเขายาวมาจนจะถึงภาคตะวันออกเลยทีเดียว แผ่นดินทางอีสานจะสูงกว่าทางเพื่อนบ้าน บางช่วง บางพื้นที่ก็เป็นหน้าผาหักตัด เห็นเขตแดนชัดเจน อย่างที่เขาพระวิหาร หรือภูหินด่าง ภูมะเขือ อะไรพวกนี้ แต่บางช่วง ก็จะเป็นเนินเขาไม่สูงนักสลับซ้อนไปมา

พลตรีประจักษ์ วิสุตกุล อดีตรองแม่ทัพ กองทัพภาค ที่ 2 ซึ่งร่วมรบในสมรภูมิครั้งนี้ด้วย ท่านเล่าไว้ในคลิป ”สมรภูมิช่องบก” ว่า ส่วนของ ช่องบก นี้จะเป็นเหมือนแนวที่สอง คือมีเขตแดน นอกสุดต่อกับเพื่อนบ้าน ลึกเข้ามาในแผ่นดินเราจะเป็นช่องบก จากช่องบกก็จะเริ่มเป็นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ชุมชน เวลาเราไปอีสายใต้ เราใช้ทางหลวงหมายเลข 24 เป็นหลัก แต่มันจะมีถนนสายรอง เลาะเข้าไปตามหมู่บ้านแล่นเลียบชายแดนได้ เป็นถนนทางหลวงจังหวัดบ้าง จะมีทางแล่นต่อๆ กันได้ ดังนั้นจะเห็นว่าช่องบกนั้นอยู่ในเขตแดนบ้านเรา ท่านพลตรีประจักษ์เล่าว่า อยู่ในเขตแดนไทยเราราว 1-3 กิโลเมตร  

162519513136     

การรบที่ช่องบก 

ทีนี้ คำว่า “ช่อง” เป็นช่องทางไปมาหาสู่ เป็นเส้นทางสัญจรไปมา มาตั้งแต่สมัยโบราณ เท่าที่ผมสังเกต จะเป็นช่องทางไปมาระหว่างพื้นที่ต่ำและพื้นที่สูง อย่างในบ้านเรานี่ที่ชัดเจนคือปากช่อง (สระบุรี-โคราช) ช่องตะโก (ตาพระยา-โนนดินแดง) แถบชายแดนยิ่งแล้ว ย่านเขาพระวิหาร พนมดงรัก มีช่องทางพวกนี้เยอะ ช่องอานม้า ช่องตาเฒ่า ช่องบันไดหัก ช่องโตนตวล ช่องคำผกา ช่องซำแต ช่องโพล ฯลฯ พวกนี้เป็นส้นทางสัญจรสมัยโบราณหมด ซึ่งก็คงจะมีเส้นทางมาจากของใครของมันมายังช่องต่างๆ ในเขตเขมรก็คงมีถนนหรือทางมาที่ช่อง ตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างช่องบกนี่ ก็จะมีถนนที่มาจากอำเภอจอมกระสาน จ.พระวิหาร ของกัมพูชา ก็มุ่งมายัง "ช่องบก"

162519503999

162519505032

หน้าฐานอนุพงศ์

กรณีที่เรียกกันว่าการรบที่ "ช่องบก" นี้ เป็นกรณีที่ทหารเวียดนามเข้ามายึดครองบริเวณที่เรียกว่าช่องบกซึ่งท่านพลตรีประจักษ์บอกแล้วว่าอยู่ในเขตไทย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในราวปี  2529-2530 ทำไมเวียดนามจึงมายึดเขตแดนเราได้ เล่าไปแล้วยาว ซึ่งจริงๆ ท่านผู้อ่านสามารถหาอ่านจากในสื่อออนไลน์มากมาย เสิร์ชหาคำว่า “การรบที่ช่องบก” ก็จะขึ้นมาเป็นแผงแล้ว ไปหาอ่านกันเอา มูลเหตุมันเกี่ยวพันกับจีน ทะเลาะกะโซเวียต โซเวียตหนุนเวียดนาม จีนหนุนเขมรแดง เวียดนามตีเขมรแดง แล้วจะบุกไทย ไทยต้องไปคุยลับกับจีน จีนเลยยกทัพมาตีตอนเหนือของเวียดนาม ไทยเราเลยต้องยอมให้เขมรแดงมาหลบภัย เรื่องราวซับซ้อนครับ ผมไม่แน่ใจว่าขณะนั้น พลเอกอาทิตย์หรือพลเอกชวลิตเป็น ผบ.ทบ. แต่ พล.โทอิสระพงศ์ หนุนภักดี เป็น แม่ทัพกองทัพภาคที่ 2 แน่นอน การรบแย่งชิงพื้นที่คืนและขับไล่ผู้รุกราน เป็นไปอย่างดุเดือด เสียกำลังทหารไปทั้งสองฝ่าย เป็นสมรภูมิที่ทหารไทยสู้ถวายหัว จนประสบความสำเร็จ ขับไล่กองกำลังเวียดนามออกไปจากแผ่นดินไทยได้ รักษาแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลานจนทุกวันนี้

เดี๋ยวนี้ พื้นที่ย่านช่องบกนี้คือ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ของ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งท่านผู้อ่านไปก็ง่ายมาก แค่ใช่ทางหลวงหมายเลข 2248 จากน้ำยืนจะไปนาจะหลวย จะถึง ต.โดมประดิษฐ์ ตรงบ้านโนนสูง จะมีทางเข้าไปยังอ่างเก็บน้ำพลาญเสือตอนล่าง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่มีลานทราย ชายน้ำ มาเล่นกิจกรรมทางน้ำ หรือกางเต็นท์พักแรมได้ และเป็นทำเลที่ถ่ายทางช้างเผือกได้ดีมาก เช็คทิศทาง เช็คเวลากันให้ดี น่าจะได้รูปสวยๆ

จากอ่างผลาญเสือตอนล่างนี้จะมีทางราดยางขึ้นไปในป่า และจะขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ทางก็คดโค้งไปมา แต่บรรยากาศร่มรื่น เพราะอยู่ในเขตป่าของ อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย จะมีทางเลี้ยวลงไปน้ำตกจรวด ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแก่งน้ำที่รับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำพญาเสือตอนบน ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำนี้ก็ไหลมาจากเทือกเขาพนมดงรัก แล้วก็ไหลลาดลดหลั่นลงมาเป็นทางยาวร่วม 100 เมตร ริมลำห้วยเป็นลานหินทรายกว้าง บรรยากาศน่าเล่นน้ำ แล้วก็จะผ่านหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ภจ.7 (พลาญเสือตอนบน) ของอุทยานฯภูจองนายอย แล้วถนนจะไปสุดทางที่ ฐานอนุพงษ์ ซึ่งมีกองร้อยทหารพรานอยู่ด้วย และมีอ่างเก็บน้ำพลาญเสือตอนบน

162519480580

อ่างเก็บน้ำพลาญเสือตอนบน ตรงข้ามฐานอนุพงศ์

162519485446

กางเต็นท์ริมอ่างเก็บน้ำพลาญเสือตอนล่าง

ฐานอนุพงษ์นี้ตั้งขึ้นมาเป็นเกียรติแก่พันตรีอนุพงศ์ บุญญะประทีป ซึ่งขณะมีสมรภูมิช่องบก ท่านมียศ ร.ท. ซึ่งได้ร่วมปฏิบัติการที่เรียกว่า D 9 ของกองกำลังสุรนารี วันที่ 3 ก.พ. 2530 หมวดปืนเล็กที่ 1 กองร้อยทหารราบที่ 1631 ภายใต้การนำของ ร.ท. อนุพงศ์ ได้ปะทะกับกองกำลังทหารเวียดนามบริเวณห้วยพลาญเสือ (ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำพลาญเสือตอนบนในขณะนี้) ในระหว่างการปะทะ มีผู้ใต้บังคับบัญชาบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง ด้วยความรับผิดชอบและด้วยสำนึกความเป็นผู้บังคับบัญชา รท.อนุพงศ์จึงได้เข้าไปช่วยเหลือ จึงถูกระดมยิงจนเสียชีวิตในพื้นที่ปะทะ นี่คือวีรกรรมที่ควรยกย่องของทหารไทย หนึ่งในหลายๆ ชีวิตของทหารผู้กล้าที่เสียสละเพื่อรักษาแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลานจนปัจจุบัน

ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านดูแผนที่ประกอบจะเข้าใจมากขึ้นเลย บริเวณสู้รบอยู่ตรงเนินใกล้ช่องบกนั่นแหละ ท่านผู้อ่านจะเห็นว่ามีเนิน 382 เนิน 408 เนิน 500 เนินพวกนี้ล้วนมีบทบาทในช่วงสมรภูมิรบช่องบกทั้งนั้น โดยเฉพาะเนิน 500 ปัจจุบันเป็นจุดชมวิว เห็นทิวทัศน์ได้ไกล เห็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เห็นพื้นที่ของสามประเทศ ไทย ลาว กัมพูชา ที่เรียกว่าสามเหลี่ยมมรกต

162519492626

ลานหินริมแก่งน้ำตกจรวด

162519497521

แก่งน้ำน้ำตกจรวดอีกช่วงหนึ่ง

"ช่องบก" วันนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นำมาซึ่งความชุ่มชื่นใจของสายน้ำและป่าไม้ แต่ใครเลยจะคิดว่าย้อนหลังกลับไปสามสิบกว่าปี ที่นี่คือที่ๆ บรรพชนสละเลือดเพื่อแลกมา เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ครั้งนั้น อาจจะไม่ซาบซึ้ง ไม่ได้มีความรู้สึกร่วม แต่ให้ฉุกคิดเถอะว่า อยู่ดีๆ แผ่นดินนี้ไม่ได้อุบัติมาเอง ต้องแลกมาด้วยความเสียสละด้วยชีวิตของบรรพชน ที่ก่อร่างสร้างประเทศมาให้จนมีวันนี้ทั้งสิ้น

แล้วเราจะดูแลอย่างไรต่อไป...