เหตุผลที่คน 'เลิกกัน' ในช่วงโควิด-19

เหตุผลที่คน 'เลิกกัน' ในช่วงโควิด-19

เปิดเหตุผลที่ทำให้คนถึง "เลิกกัน" หรือเกิดอัตราการหย่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในอังกฤษท่ามกลางช่วงเวลาของวิกฤติโรคโควิด-19 ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ จีน หรือสวีเดน

นับเป็นสงกรานต์ปีที่ 2 แล้ว ที่เราต้องเฉลิมฉลองแบบเงียบๆ ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

พื้นที่ส่วนตัวและเวลา ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในทุกรูปแบบ การปิดเมืองอยู่บ้านนอกจากจะเพิ่มเวลาให้คู่รักครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นแล้ว ยังหมายถึงพื้นที่ส่วนตัวที่ถูกลดระยะลงด้วย

หากวัดจากสถิติแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าการยุติความสัมพันธ์จะมีรูปแบบและเงื่อนเวลา ความถี่และจำนวนของการยุติความสัมพันธ์มักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากช่วงวันหยุดยาวต่างๆ ที่คู่รักหรือครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน ซึ่งในกรณีของสังคมตะวันตกนี้คือช่วงเทศกาลคริสต์มาสหรือหยุดปิดเทอม จึงสามารถพูดได้ว่า การปิดเมืองจากโควิด-19 นี้เสมือนหนึ่งเอาช่วงเทศกาลหยุดยาวเหล่านี้มาต่อกันไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่น่าแปลกใจหากจำนวนของคู่ที่ยุติความสัมพันธ์จะมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

ปัญหาหลักที่พบในคู่หรือครอบครัวที่เลือกที่ยุติความสัมพันธ์นั้นคือ ภาระงานบ้าน และการดูแลบุตร ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการจัดสรรแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไม่สมดุลจากภาระที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการดูแลบุตรที่ต้องเรียนอยู่ที่บ้าน ความเครียดที่เพิ่มขึ้นทั้งจากการกักตัวและจากภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาที่หนักใจต่างๆ จนบางครั้งสามารถเรียกได้ว่าเกิดอาการจิตตก

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจนทำให้รายรับในครอบครัวลดลง หรือจากการลดเงินเดือนในบางกรณีก็ส่งผลโดยตรงกับความสัมพันธ์ เม็ดเงินที่ลดลงหมายถึงคุณภาพการใช้ชีวิตที่ลดลง การใช้จ่ายที่ลดลงจากเดิมทำให้ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายซึ่งก็นำมาสู่ความขัดแย้งเพราะคนเรานั้นมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่แตกต่างกัน

ความสัมพันธ์ในแต่ละครอบครัวและในแต่ละคู่ล้วนเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน มีความพิเศษและเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละครอบครัว/คู่ แต่สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากบทความนี้ คือ แนวทางในการรักษาความสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่ยากลำบากอันเนื่องมาจากวิถีชีวิตประจำวันที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ หนึ่ง การจัดการแบ่งภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นในครอบครัวให้สมดุล และสอง การลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายจากรายรับในครอบครัวที่ลดลงครับ