ชีวิตเริ่มจากศูนย์ ‘ไพศาล สุขเจริญ’ ชาวเขาเจ้าของโรงแรม'สมายล์ ล้านนา'

ชีวิตเริ่มจากศูนย์ ‘ไพศาล สุขเจริญ’ ชาวเขาเจ้าของโรงแรม'สมายล์ ล้านนา'

โอกาสไม่ได้มีทุกคน ชาวเขาคนนี้ ได้รับโอกาสเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ จนจบปริญญาโท กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ปลูกป่า และเป็นเจ้าของโรงแรมสมายล์ ล้านนา มีแปลงนา มีพนักงานเป็นชาวเขา และทำอะไรอีกมากมายที่เอื้อประโยชน์ให้เพื่อนมนุษย์

ทั้งๆ ที่มูลค่าที่ดินกว่า 5 ไร่ในวันที่สร้างโรงแรมสมายล์ ล้านนา(Smile Lanna Hotel)ถนนช่างหล่อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จะมีราคาสูงมาก แต่ ไพศาล สุขเจริญ และคุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ ก็เลือกทำโรงแรมให้มีพื้นที่สีเขียวเยอะๆ ไม่สร้างตึกเต็มพื้นที่ มีห้องพักเพียง 70 ห้อง

พวกเขานำแนวคิดโคก หนอง นา มาปรับใช้ในโรงแรม มีแปลงนา คลองน้ำไหล แปลงผัก ดอกไม้ ใบหญ้า หุ่นไล่กา บ่อน้ำ ต้นไม้ใหญ่ ไม่มีรั้วรอบขอบชิด และให้โอกาสชาวเขาทำงานในโรงแรม รวมถึงช่วยเหลือให้ทุนการศึกษาเด็กยากจนและชาวเขา ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี 

ก่อนหน้านี้ไพศาล เป็นชาวเขาอยู่บนดอยใช้ชีวิตเหมือนเด็กดอยทั่วไป ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ช่วงนั้นไม่อยากให้ชาวเขาปลูกฝิ่น และอยากให้เด็กๆ ได้รับการศึกษา เขาจึงได้รับโอกาสเรียนจนจบปริญญาโท กลับมาพัฒนาบ้านเกิดกว่า 10 ปี 

161320736567

(ไพศาล สุขเจริญ)

จากนั้นมาช่วยภรรยาคือ คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ บริหารโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี หลังจากครูสมศรีเลิกทำโรงเรียนกวดวิชา ทั้งสองออกไปช่วยปลูกป่าทำงานชุมชนอยู่เรื่อยๆ และปัจจุบันครูสมศรี แม้จะมีธุรกิจโรงแรม ก็ยังตระเวนสอนภาษาอังกฤษให้เยาวชนทั่วประเทศฟรี

ว่ากันว่า ในเรื่องความมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะคนยากจน คงต้องยกให้สองสามีภรรยาคู่นี้

เคยมีคนถามไพศาลว่า “ทำไมโรงแรมเพิ่งเปิดและขาดทุนอยู่ ยังเอาเงินมาทำบุญปรับปรุงสถานที่ออกกำลังกายที่สวนบวกหาด ตรงข้ามโรงแรม” 

เขาบอกไปว่า “ไม่ใช่ว่ากำไรแล้ว ถึงจะทำอะไรให้คนอื่น”

และนี่คือ เรืี่องราวชีวิตผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา และเขาก็ให้โอกาสคนอื่นต่อ

ทำไมคุณมีโอกาสลงจากดอยมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ 

ตอนเด็กๆ ผมพูดภาษาไทยไม่ได้เลย ตอนหลังมีตำรวจชายแดนมาสอนหนังสือพวกเรา พ่อผมเคยเป็นนายทหารจีนอยู่บนดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ พวกเราเป็นคนจีนยูนนาน หลายสิบปีที่แล้ว ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จดอยอ่างขาง ส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชเมืองหนาวแทนฝิ่น ตอนนั้นพ่อผมเป็นผู้นำทหารที่เรียกว่า กองพล 93 และพ่อผมเป็นแกนนำไม่ให้คนปลูกฝิ่น ทำให้ผมที่เป็นลูกได้รับโอกาสเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ        

การเดินจากดอยอ่างขางมาตีนดอยเป็นเรื่องปกติของชาวเขาอย่างผม ตอนเด็กๆ ผมเริ่มเห็นโรงงานแห่งแรกคือ ดอยคำ ตอนนั้นเวลาเดินขึ้นเดินลงจากดอย เด็กอย่างเราใช้เวลาประมาณครึ่งวันกว่า และคำว่าเข้าเมืองเป็นความใฝ่ฝันของเด็กบนดอย ได้เห็นความศิวิไลซ์ ความเจริญหลายอย่าง เราก็ดีใจ พอมาเรียนกรุงเทพฯ ผมต้องเริ่มต้นใหม่หมด เราไม่มีพื้นฐานการเรียนหนังสือเลย 

ผมได้เข้าเรียนที่วัดธาตุทอง จากนั้นมาเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา แล้วมาต่อโรงเรียนเซนต์คาเบรียล  ตอนนั้นผมอยากเข้าเรียนเตรียมทหาร แต่มีกฎว่า ครอบครัวของเราย้อนไปสามรุ่นต้องเป็นคนไทย ผมก็เลยหมดสิทธิ จึงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แล้วมาจบปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

161320743534

จากนั้นกลับมาทำงานพัฒนาท้องถิ่น ?

ผมมาจากบนดอย ก็อยากกลับมาพัฒนาท้องถิ่น จึงกลับมาทำงานที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทำงานในส่วนองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ในหมู่บ้าน ช่วยทำโครงการนั่นนี่ จนได้มาเจอครูสมศรี เธอมาเป็นจิตอาสาสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนราษฎร์ประชานุเคราะห์ 30 ในอำเภอแม่อาย ซึ่งเป็นโครงการของในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์เปิดโอกาสให้เด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์เรียนหนังสือ สมัยนั้นคนป่วยเป็นเอดส์น่ากลัวมาก เสียชีวิตเหมือนใบไม้ร่วง จึงมีเด็กกำพร้าเยอะ ผมทำงานอบต. อยู่ 12 ปี ช่วยทำโครงการในหมู่บ้าน มีโครงการเยาวชนของคนจีนยูนนาน ตอนนี้ผมส่งเด็กบนดอยเรียนจบ 80 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กยูนนานกว่า 40 หมู่บ้าน

จากนั้นมาช่วยภรรยาบริหารโรงเรียนกวดวิชา แล้วทำไมกลับมาอยู่เชียงใหม่อีก

ตอนผมแต่งงานกับครูสมศรี เธอเป็นครูและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ผมก็ไม่รู้ว่า เธอเปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษครูสมศรี ปกติครูสมศรีก็ขึ้นมาสอนภาษาอังกฤษทุกสัปดาห์ที่โรงเรียนบนดอย จนมีครูภาษาอังกฤษอัตราบรรจุเข้ามา ผมก็เลยไปช่วยทำงานในกรุงเทพฯ ตอนนั้นครูสมศรีไม่มีคนช่วย ผมก็หาเด็กๆ ที่เคยส่งเรียนหนังสือมาทำงานด้วย

ผมเห็นว่าการทำโรงเรียนกวดวิชา เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการศึกษา ก็เลยลาออกจากอบต.มาช่วยพัฒนาระบบ จนผู้ปกครองบอกว่า สถานที่เรียนไกล ก็เลยขยายโรงเรียนเพิ่ม จนมีโรงเรียนกวดวิชา 23 แห่ง

เปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษมา 20 กว่าปี ค่าเรียนขึ้นน้อยมาก เราให้นักเรียนที่ไม่มีเงินเรียนฟรี แถวๆ ศรีย่านตอนที่เราเช่าตึกสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ลูกพนักงานที่เงินเดือนน้อยๆ  ลูกคนทำงานเทศกิจแถวนั้น ก็ให้เรียนฟรี 

แล้วทำไมปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ

ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว และเรารู้จักคำว่า “พอ” เราพอแล้ว ครูสมศรีจึงเอาบทเรียนภาษาอังกฤษใส่ไว้ในยูทูบ ให้นักเรียนเรียนฟรีทั่วประเทศ ไม่ต้องมาสมัครเรียน โรงเรียนก็ค่อยๆ ปิด จากนั้นครูสมศรีก็เดินสายสอนฟรีทั่วประเทศ ไม่ว่าจะไปสอนต่างจังหวัดที่ไหน ก็ไม่เคยรับค่ารถหรือค่าเดินทาง หนังสือก็เอาไปแจก ตอนแรกๆ หลายคนก็บอกว่า ครูสมศรีมาสอนต้องเสียค่าจ้างแพงเป็นแสนๆ แน่เลย แต่เธอมีสโลแกนว่า “ครูสมศรีไม่มีค่าตัว พยายามทำตัวให้มีค่า” ส่วนผมก็มีหน้าที่บริหารจัดการ

หลังจากเลิกทำโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษ ทั้งสองทำอะไรต่อ

หลังจากโรงเรียนกวดวิชาเลิกไป 4-5 ปี ครูสมศรีก็มีสอนฟรีภาษาตามที่ต่างๆ ผมและครูก็ไปปลูกป่าในอำเภอฝาง ไปซื้อที่ดินป่าต้นน้ำกว่าร้อยไร่ ที่บ้านยาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ บางพื้นที่เคยปลูกข้าวโพดมาก่อน และบางแห่งเป็นป่าลิ้นจี่ทิ้งร้างไว้ ผมจะเลือกซื้อที่ดินป่าต้นน้ำที่ชาวบ้านใช้น้ำได้

ที่นั่นมีเกือบพันครัวเรือน เมื่อซื้อที่ดินแล้ว ก็ชวนผู้นำชาวบ้านมาประชุม อยากให้อนุรักษ์ป่าให้เอานักเรียนมาร่วมปลูกป่า เพราะตอนที่ครูสมศรีเป็นนักศึกษาที่จุฬาฯ ชอบทำงานอาสาสมัคร เคยตามแม่ชีอาจารย์สุภาภรณ์ ณ บางช้าง ไปบวชป่า สอนให้คนรักษ์ป่า เรามีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน 

สมัยก่อนดอยอ่างขาง เป็นเขาหัวโล้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้ปลูกป่า ป่าที่ขึ้น เห็นจนถึงทุกวันนี้ก็ใช้วิธีปลูกแล้วรักษาไว้ เราทำเหมือนกันคือ ปลูกป่า ดูแลรักษาสามปีให้กลายเป็นป่า

และเรามีที่ดินในตัวเมืองเชียงใหม่ ซื้อไว้ 8-9 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นการท่องเที่ยวกำลังบูม โรงแรมไม่พอ เพื่อนๆ ที่ทำธุรกิจด้านนี้ ก็ยุให้เราสร้างโรงแรม

161320748392

โรงแรมสมายล์ ล้านนา วางแนวทางไว้อย่างไร

มีโจทย์ว่า โรงแรมเราต้องมีแปลงนาปลูกข้าว มีระบบการจัดการแบบโคก หนอง นา เราเอาแนวคิดที่ไปอบรมเรียนรู้หลายที่กับอาจารย์ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร มาใช้ โรงแรมเรามี 70 กว่าห้องในพื้นที่ 5 ไร่ ถ้าเทียบกับโรงแรมอื่น พื้นที่ขนาดนี้ส่วนใหญ่มีประมาณ 200-300 ห้อง 

เราเน้นพื้นที่สีเขียวเยอะๆ โรงแรมที่ผมทำเปิดมาครบปี เจอปัญหาไวรัสโควิดระบาดก็ไม่มีคน ตอนนั้นปิดไปสี่เดือน ก็ให้พนักงานเฝ้าโรงแรม ปลูกผัก เลี้ยงปลาในโคกหนองนา ไม่ออกไปไหน เพราะโรงแรมเราไม่มีรั้ว เปิดโล่ง อยู่ติดถนนใกล้คูเมือง พวกเขาก็ดูแลสวน ทำความสะอาด

เพิ่งเปิดโรงแรมก็เจอปัญหาไวรัสโควิดระบาด ธุรกิจก็เลยย่ำแย่ ?

โรงแรมเป็นธุรกิจที่น่ากลัว ระดับผู้จัดการเงินเดือน 4-5 หมื่นบาท พนักงานระดับล่างเงินเดือนถูกมาก ทั้งๆ ที่มีประสบการณ์ทำงาน 8-10 ปีเงินเดือนหมื่นกว่าๆ ทุกคนก็หวังเซอร์วิส ชาร์จ ช่วงแรกผมไม่รู้เรื่องโรงแรม ก็จ้างผู้บริหารมาวางแผนดูแลแทน หลังไวรัสโควิดระบาดรอบแรก พอเราเปิดให้บริการอีกครั้ง

เราก็ใช้เฉพาะพนักงานระดับล่าง ระดับผู้จัดการเราก็บอกว่า จ้างต่อไม่ไหว และพนักงานธรรมดาที่เคยได้อาหารฟรีวันละมื้อ ก็เพิ่มเป็น 3 มื้อ ทุกคนสามารถกินอาหารที่โรงแรมได้ตั้งแต่เช้าจนกลับบ้าน พวกเขาก็ไม่มีรายจ่ายเรื่องค่าอาหาร

ทำไมเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการ ไม่ทำแบบโรงแรมทั่วไป

เมื่อก่อนคนทำงานโรงแรมจะไม่ทำงานข้ามแผนก แต่เราเปลี่ยนระบบใหม่ ถ้าตรงไหนแรงงานไม่พอช่วยกันได้ และต้องไม่คิดว่าคนที่มาช่วยทำให้งานเสีย ต้องทำด้วยใจร้อยเปอร์เซ็นต์ พนักงานที่เราใช้ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาและชนเผ่ามีตั้ง 8 ชนเผ่า

เราทำให้พนักงานรู้สึกว่า การทำงานที่นี่ไม่มีขั้นตอนมาก พนักงานที่นี่เวลายิ้มก็เป็นไปตามธรรมชาติของเขา

ถ้าเราไปโรงแรมห้าดาว พนักงานจะต้องแต่งตัวเนี้ยบ ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ เวลาเสิร์ฟต้องเข้าให้ถูกทาง พนักงานเราไม่ขนาดนั้น แต่รู้ขั้นตอน ก็บริการแบบธรรมดา แต่เป็นเซอร์วิสที่มีรอยยิ้ม

มียามคนหนึ่งที่เรารับเข้ามาตั้งแต่เริ่มแรก ดูแลลูกค้าแบบทุ่มเทมาก พูดจาดี คนมาใช้บริการก็ชมให้ผมฟัง ตอนที่เขาขอลาออกกลับบ้าน ผมถึงรู้ว่า หลังจากเออรี่จากที่อื่นมา เขามาหางานทำที่เชียงใหม่ อยากหางานง่ายๆ เช่าหอพักเดือนละ 1,800 บาท 

ตอนมาลาผม ผมใส่ซองให้ 5,000 บาท เขาไม่รับ เขาอยู่กับเราก็ได้กินอาหารสามมื้อ ผมมารู้ตอนหลังว่า เขาเคยเป็นผู้จัดการบริษัทในกรุงเทพฯ ครอบครัวก็มีฐานะ มีที่ดินเยอะ และเขาก็ช่วยฝึกยามที่รับช่วงต่อ

161320751411

อาหารที่ใช้ในโรงแรม เราก็ปลูกเอง ผัก ผลไม้ ผงชูรสไม่ให้นำเข้าในครัว ตอนไวรัสโควิดระบาด โรงแรมก็แย่เหมือนกัน แต่มีคนเห็นเราทำบุญ ก็เลยถามว่า “โรงแรมขาดทุนอยู่ ทำไมมีเงินมาทำบุญ ”

เราก็บอกว่า ไม่ใช่ว่าต้องกำไรก่อน ถึงจะทำอะไรให้คนอื่น เราแบ่งปันได้ เป็นแนวทางของครูสมศรีที่ทำธุรกิจ จะแบ่งเงินเป็นส่วนๆ ส่วนที่ต้องทำบุญ ส่วนที่ทำเพื่อสาธารณะจะแยกเอาไว้ และเวลาทำบุญ เราก็ไปทำด้วยตัวเอง 

ที่เราเป็นแฟนกันได้ เพราะคุยกันรู้เรื่อง และเราทั้งสองมาจากศูนย์ ไม่เคยคาดหวังว่าจะมีอะไร เราสองคนก็กินอาหารง่ายๆ ธรรมดาๆ ตอนนี้คุณครูพยายามไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ฟุ่มเฟือย หลายคนที่เจอผมก็ไม่เชื่อว่า ผมเป็นเจ้าของโรงแรม ผมก็ทำงานกับลูกน้อง ปลูกผัก ขุดดินเหมือนกัน ช่วงดำนา พวกเราดำนากันเอง ไม่เคยจ้างใคร 

ถ้าตอนนั้นในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่ให้โอกาสส่งเสียผมและพี่น้องที่เป็นคนจีนยูนนานเรียนหนังสือ ผมก็คงเป็นเด็กชาวเขาคนหนึ่ง อาจไม่มีชีวิตแล้วก็ได้ หรือติดยา หรือกลายเป็นคนแก่ๆ ที่ทำงานหนัก