เชฟชุมพล แจ้งไพร กับภารกิจทูตยูเอ็น และชาโตชิลลี่

 เชฟชุมพล แจ้งไพร  กับภารกิจทูตยูเอ็น และชาโตชิลลี่

'เชฟชุมพล แจ้งไพร' นอกจากดูแลร้าน 'R.HAAN' ล่าสุดรับ 2 ดาวมิชลินเมื่อปลายปีที่แล้ว วันนี้เชฟรับภารกิจใหม่ในฐานะ ‘ทูตอาหารเพื่อความยั่งยืน’ เป็นคนแรกของโลก จาก ‘องค์การสหประชาชาติ’ (UN)

ตำแหน่งใหม่ที่ UN เพิ่งแต่งตั้งและส่งมอบให้เชฟนั้น เป็นหนึ่งใน 17 ข้อพันธกิจ ของแผนพัฒนาโลกแห่งความยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดขึ้น เป้าหมายเพื่อขจัดความยากจน พร้อมกับดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในกรอบระยะเวลา 10 ปี (ค.ศ.2020 - 2030) จุดประกาย ชวนเชฟชุมพล เล่าถึงความเป็นมาในฐานะ “ทูตยูเอ็น” ว่า

ทำไมยูเอ็นถึงเลือกประเทศไทย

“ชื่อตำแหน่งคือ Sustainable Food Ambassador หรือ ทูตอาหารยั่งยืน มาจาก mission ของ UN ที่จะทำให้โลกนี้มีอาหารยั่งยืน ซึ่งเขาเลือกลอนช์ที่ประเทศไทยเป็นที่แรกของโลก ดังนั้นผมจึงเป็นเชฟคนแรกที่ได้รับหน้าที่นี้ ผมมองว่าเขาให้ความสำคัญกับอาหารยั่งยืน ทั้งเรื่อง zero waste และ zero lost ภายในเวลา 10 ปีนี้เน้นเรื่องอาหารปลอดภัย ซึ่งเรื่องนี้หลายประเทศก็คิดและต้องการทำ เช่นเอกชนบางแห่งไปจับมือเรื่องอาหารยั่งยืนกับญี่ปุ่น แต่ทำไมยูเอ็นเลือกเมืองไทย ผมคิดว่าเขามองว่าเมืองไทยเป็นแหล่งอาหารของโลก มีความอุดมสมบูรณ์ ในหลายประเทศเขาก็พยายามลอนช์เรื่องนี้ รวมถึงไทยด้วยแต่ระดับนโยบายยังไปไม่ถึง กำลังพยายามอยู่ ใคร ๆ ก็อยากให้เมืองไทยเป็นอาหารยั่งยืนหรือเกษตรยั่งยืน ซึ่งตอบโจทย์ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ ให้เรารู้ถึงคุณค่าของอาหารอย่างเต็มที่ เรียกว่า food visibility คือการเข้าถึงอาหาร หรือมองเห็นสิ่งดี ๆ ที่เกี่ยวกับอาหาร จากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการขับเคลื่อน การค้าขาย อีกอย่างผมคิดว่าแพลทฟอร์มนี้เป็น non-profit เพราะสามารถช่วยให้สินค้าเกษตรบ้านเรามีราคาดีขึ้น เช่น เราบอกว่าปลูกข้าวแบบยั่งยืน แล้วมี SDGs รับรอง สามารถพิสูจน์ว่าจริงเหมือนเป็นเซอร์ทิฟายด์ (certified) ทำให้เกษตรยั่งยืน ดีต่อผู้ปลูก ดีต่อผู้บริโภค ขายได้ราคาดีด้วย และเราไม่ต้องพึ่งตรารับรองออร์แกนิคจากต่างประเทศที่เราต้องเสียเงินให้เขา เป็นการช่วยทั้งระบบห่วงโซ่ด้วย แม้กระทั่งเรื่องลิงเก็บมะพร้าวซึ่งถูกโจมตี จริง ๆ แล้วนี่ก็คืออาหารยั่งยืน”

160966427595

ทำไมถึงเป็นเชฟชุมพล...

“ที่จริงเขาเรียกเชฟเมืองไทยไปคุยหลายท่านครับ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ถูกเลือกคิดว่าเขามองว่าผมใช้วัตถุดิบในเมืองไทยมาร่วมสิบปีแล้ว ตั้งแต่อยู่ร้าน Siam Wisdom และอยู่ในวงการอาหารไทยมานาน และได้ทำโครงการ “เชฟชุมชน” กับ ททท. อีก เขาเห็นภาพชัด ซึ่งปีนี้ผมคุยกับผู้บริหารโครงการเชฟชุมชนว่าปีหน้าเราจะทำต่อ อย่างปีนี้ทำไป 30 แห่ง จะต่อยอดอีก 31 แห่ง และสร้างใหม่อีก 60 แห่ง เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ถ้าเกิดว่าได้ทำจริง ๆ ผมก็จะดึงโครงการนี้ไป speed up กับ UN ต่อด้วย

ยกตัวอย่างเช่น หมู่บ้านนี้จะทำอะไร จะปลูกพริกก็ได้ หรือปลูกผักชีเพื่อส่งขายก็ได้ ชุมชนนี้เลี้ยงวัวเนื้อ อีกที่เป็นวัวนม เราก็จะดึงกระทรวงเกษตรเข้าไปด้วย สร้างเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่มีความยั่งยืน และให้ชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้กัน”

ตอนนี้ “ทูตยูเอ็น” ลงมือทำอะไรแล้วบ้าง ?

“เนื่องจากเป็นโครงการใหม่เพิ่งเริ่มต้น เชฟจึงน่าจะอยู่ในตำแหน่งนี้ 10 ปี ตาม mission ของ UN ที่วางเป้าหมายถึงปี 2030 ให้บรรลุพันธกิจ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจึงประชุมวางแผนกันว่าจะวางระบบการทำงานอย่างไร

อย่างแรกเลยที่ผมคิดไว้เรื่องอาหารยั่งยืน ที่เป็นมากกว่า farm to table เช่นโลว์คาร์บอน ถ้าเดินทางไม่เยอะก็ไม่เกิดคาร์บอน นำหัวข้อนี้มาเป็นตัวกลางเชื่อมกับซัพพลายเชนใหญ่ ๆ ระหว่างคนที่ทำการเกษตรกับคนทำอาหาร เป็นภารกิจแรกระหว่างผู้กินกับผู้ผลิตจะต้องเข้าถึงกัน มีความเชื่อถือซึ่งกันและกันได้

นอกจากนี้ก็พยายามเป็นตัวเชื่อมระหว่าง UN กับรัฐบาล ซึ่งจะมีรัฐมนตรีว่าการเกษตรฯ กับสถาบันอาหาร มาร่วมกันกำหนดแผนงานกัน คำว่า “ความยั่งยืน” ในตอนนี้มันเลยคำว่า “ออร์แกนิค” ไปแล้ว เมื่อรู้ว่าปลูกอะไรแล้วปลอดภัยไม่ต้องไปเสียค่าเซอร์ทิฟายด์ ออร์แกนิค ให้คนอื่น และเพื่อให้ผู้ผลิตกับผู้ใช้เชื่อมโยงถึงกันได้ ถ้าเกิดชุมชนนี้ทำแล้วเขาเกิดความยั่งยืนเขาก็มารวมกลุ่มกัน ความยั่งยืนรวมไปถึงธรรมชาติยั่งยืนมั้ย คุณภาพชีวิตของคนยั่งยืนมั้ย หัวข้อนี้เป็นอันดับแรก ๆ ที่จะลงมือทำ

ผมคุยกับท่านเลขามูลนิธิชัยพัฒนา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ท่านพูดถึง “น้ำมันชา” แล้วยกตัวอย่างว่าจะให้ชาวเขาปลูกป่าแล้วจะได้อะไร เอาต้นชามาจากเมืองจีน เอาโบอิ้งไปขนเลยนะแล้วให้ชาวเขาปลูก แล้วทำน้ำมันเมล็ดชา เหมือนขนุน เหมือนโกโก้ ปลูกเป็นป่าก็ทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน คนปลูกก็มีรายได้ เป็นอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งตอนนี้กำลังนัดประชุมเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อวางแผนกันว่าจะขับเคลื่อนในส่วนไหน”

160966430418

ที่ได้เป็น “ทูตยูเอ็น” จากสาเหตุที่เชฟลงไปทำสวนพริกด้วยหรือเปล่า ?

“ผมทำ ชาโต ชิลลี่ เพราะอาหารไทยใช้พริกมากที่สุด และเรากินพริกทุกมื้อ แต่รู้มั้ยว่าพริกมีสารตกค้างเยอะที่สุด นี่คือเจตนาที่ผมไปทำไร่ พอสารตกค้างก็ทำให้เกิดโรคมะเร็ง โรคนี้อันดับหนึ่งมาจากอาหาร คือเกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์นะผมว่า ผมก็เลยมาทำพริกก่อน คือเราอยู่กับอาหารไทย เช้ากลางวันเย็นถึงดึก มีพริกเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ เลยวางแผนทำสวนพริกและต้องออร์แกนิคด้วย

ที่วางแผนเช่นนี้เพราะการปลูกพริกจะต้องเว้นระยะเวลา สามหรือห้าเดือน ปลูกตลอดไม่ได้จะมีเชื้อรา พริกเกิดเชื้อราง่ายมาก ยาเคมีที่ไปฆ่าเชื้อรามันไม่ได้ฆ่าเพลี้ยฆ่าแมลงนะ ฆ่าเชื้อรา ผมกำลังศึกษาอยู่ มีน้องปริญญาเอกด้านชีววิทยา ที่ใช้ราฆ่าเชื้อรา เป็นการใช้ความรู้และเทคโนโลยี

ตอนนี้พริกอยู่ในงานวิจัยมากมาย คนปลูกพริกจะรู้เลยว่าพริกเป็นโรคเชื้อราง่ายที่สุด ต้องใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น การใช้ ราฆ่ารา พริกที่เราเห็นปลูกเยอะ ๆ เชื่อมั้ยว่าเรานำเข้าพริกจากอินเดีย กัมพูชา และจีน เยอะมาก ซึ่งไม่ใช่ออร์แกนิค อีกอย่างผู้คนในโลกบริโภคพริกเพิ่มขึ้นมาก ๆ แต่ก่อนไปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ทำอาหารไทยพวก ไก่ผัดเม็ดมะม่วง หรือผัดเปรี้ยวหวาน ตอนนี้พวกฝรั่งชอบกิน ผัดกะเพรา แล้วใช้พริกมั้ย...

ปีหน้าพริกจากสวนจะนำมาทำอาหารที่ร้าน R-HAAN ทั้งหมด ผมจะปลูกราว 9 สายพันธุ์ มีพริกเหลือง พริกเขียว พริกบางช้าง เอาสายพันธุ์มาจากเกษตรกำแพงแสนซึ่งตอนนี้ปลูกน้อยมาก เพราะกว่าผลผลิตจะออกใช้เวลานาน พริกขี้หนูได้แก่ หอมเมืองนนท์ ขี้หนูชาวบ้าน จะออกกึ่ง ๆ พริกกะเหรี่ยง และขี้หนูกาญจน์  ทั้งหมดนี้กลิ่นไม่เหมือนกัน จะได้สีได้กลิ่นที่แตกต่างกัน พริกแดงมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ จินดา หัวเรือ ยอดสน อย่างหลังนี่แพงสุด เม็ดจะเรียว ๆ หยิก ๆ หน่อย  ไม่ได้ไปขายที่อื่นนะครับ ปลูกไว้ใช้เอง 

ที่จริงผมเตรียมทำตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่ วังน้ำเขียว พื้นที่ประมาณ 30 ไร่ เป็นเชิงเขา แผนแรกคือเป็นแหล่งรวมพริกที่เยอะที่สุดในโลก แผนที่สองคือจะทำนาเลี้ยงปลา ปลูกข้าวเอาปลาไม่ได้เอาข้าว ปลาดุกนาโลละสองร้อยแปดสิบบาท ยุคนี้สมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้องคิดเป็นระบบ วางระบบน้ำ ต้องคิดวิธีให้มีเซอร์ทิฟายด์ ทั้งพริก โกโก้ มะพร้าว ผมยกตัวอย่าง แต่จุดมุ่งหมายจริง ๆ เพื่อให้โลกรู้ว่าเมืองไทยมีวัตถุดิบคุณภาพ”

160966495343

   ซอร์เบท์มะม่วงหาวมะนาวโห่

เชฟยังทำ “ทุ่งลาเวนเดอร์” อีกด้วย มีแรงบันดาลใจจากอะไร ?

“ผมมองว่า วังน้ำเขียว ต้องพัฒนา ที่จริงพื้นที่ผมก็เช่ามา เมื่อเดือนก่อนโพสต์เรื่อง ทุ่งลาเวนเดอร์ โดนทัวร์ลง แต่ผมอยากให้ชาวบ้านเห็นว่าการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทำยังไง วางแผนไว้ว่าปีใหม่คนไทยก็ไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ เลยปลูกลาเวนเดอร์ สั่งสายพันธุ์สเปนมาปลูก จะงามเต็มที่ราวกลางเดือนมกราถึงกุมภาฯ และมีพริกออร์แกนิคด้วย แต่ทีนี้คนไทยมีปัญหาอย่างหนึ่งคือเวลาใครทำอะไรแล้วคนจะทำตาม เช่นปลูกสลัดได้ผลดีก็ปลูกตามกัน หรือปลูกทุเรียนเต็มไปหมด ทีนี้พอเราทำฟาร์มแล้วเราทำให้เป็นวิสาหกิจชุมชน คือ 1. ปลูกอะไรแล้วที่เก็บได้ใน 15 วัน หรือ 2 เดือน  2. ปลูกอะไรที่ 3-5 ปี เก็บได้ ทำให้เกิดความหลากหลาย เนื่องจากพื้นที่ผมว่าเหมือนโพรวองซ์ มีเนินขึ้นไป ตอนแรกไม่มีอะไรที่สวยเลยนะ แล้วคนก็ปลูกหงอนไก่ มาร์กาเร็ต ปลูกกันหมดแล้ว ผมเลยทดลองเอาพันธุ์สเปนมาลงก่อน ปีหน้าผมจะลุยพันธุ์โพรวองซ์เลย ลาเวนเดอร์ก็ใช้ทำน้ำหอมได้ ใส่ในอาหารก็ได้  ผมคุยกับภาครัฐว่าวังน้ำเขียวต้องเปิดนะ ผลผลิตเกษตรต้องขายเพื่อความอยู่รอด ต้องไปพัฒนาและรักษ์ธรรมชาติไปด้วย

แผนการต่อไปจะทำที่พัก ปีหน้าดอกไม้จะสมบูรณ์ มีสวนพริก ผมจะเปิดฟาร์มเกษตร ไปเที่ยวได้มีที่พัก ทำเป็นโดมเหมือนม่อนแจ่ม แต่ก็ทำที่นอนให้ดี ให้อยู่กับธรรมชาติไม่ต้องไปสร้างตึก ร้านอาหารเนื่องจากชาวบ้านข้างล่างเขาเปิดอยู่แล้ว ผมก็เป็นร้านกาแฟ และอีก 6 เดือน จะเปิดโรงเรียนไฮบริด สอนออนไลน์อาหารไทยฟรีปีแรกครับ และแบ่งพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ปลูกส่วนประกอบของแกงไทยทั้งหมด เรียกว่า Thai curry จะปลูกพริก มะกรูด ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ซึ่งนำมาทำน้ำพริกทำเครื่องแกง

และวางแผนไว้ว่าอีกสิบห้าปียี่สิบปีก็คงใช้เวลาที่นั่นมากหน่อย เช่นสัปดาห์หนึ่งอยู่ร้านสี่วัน อยู่ที่โน่นสามวัน และเราสร้างเด็กรุ่นใหม่มาคุกกิ้งได้เราก็กลับไปดูต้นน้ำ เพราะต้นน้ำดีเราก็ทำอาหารออกมาดี วางแผนว่าจะไปทำที่ต้นน้ำมากกว่าปลายน้ำ”

160966441645

 

ถึงไม่เป็น “ทูตยูเอ็น” เชฟก็มีความชัดเจนเรื่องอาหารยั่งยืน...

“ครับ และยังมีเรื่อง zero waste กับ zero lost อีกด้วย พยายามทำครับ ยกตัวอย่างอาหารที่เหลือผมลงทุนซื้อถังหมักร้อยถัง สกัดเป็นน้ำตาลทำปุ๋ย คือเรียนรู้มาตั้งแต่ปี2000 แล้ว ตอนนั้นไปวังน้ำเขียว ภูเขามีแต่หญ้าคากับภูเขาหัวโล้น ตอนนี้ไปทุกคนจะเห็นต้นไม้เต็มไปหมด 20 ปีผ่านไป เราเรียนรู้กากน้ำตาลใช้เวลา 6 เดือน เศษอาหารจะย่อยเป็นน้ำเอาไปรดต้นไม้ ใช้เทคโนโลยีด้วย

Zero waste ที่ทำในร้าน เช่นวันนี้สั่งปลากะพงหนึ่งตัวมาทำแกง เศษ ๆ จะไปอยู่ในพริกขิง เหลือให้น้อยสุด หัวแปรเป็นอาหารพนักงาน ก้างทำเป็นซุปข้นไว้เผื่อทำซอสต่อไป ถามว่าให้เหลือน้อยที่สุดที่จะทิ้ง แต่ถ้าทิ้งถังขยะก็ทำเป็นปุ๋ยต่อ นั่นคือ waste จริง ๆ อาหารทั้งหมดที่นำมาใช้เหลือเศษหลังตัดแต่ง เช่น ปอกหัวหอม ก้านพริก เศษผักก็ลงเป็นปุ๋ยหมดไม่ทิ้ง ดังนั้นจึงเป็น Zero lost แน่นอน ซึ่งต้องเกิดจากการวางแผนไม่ให้เสียเปล่า ไม่ให้ทิ้งสิ่งใด ๆ เลย

อีกทั้งยุคนี้เป็นดิจิทัล สั่งอาหารไปเดี๋ยวเคอร์รี่ก็ส่ง สั่งล็อบสเตอร์มาหนึ่งวันไม่ต้องสต็อกเยอะ ต้องบริหารจัดการ เราเปลี่ยนนโยบายใหม่มีหน่วยวิ่งไปตลาดไททุกวัน ไม่ซื้อเยอะ ซื้อใช้พอดี ต่อไปปีหน้าผมจะแบ่งเมนูในร้านเป็น 3 ฤดู แต่ฤดูกาลหนึ่งมี 2 รอบ คือเปลี่ยนเมนูฤดูละ 2 รอบ (2 เซตต่อฤดูให้เลือก) เพราะดูแล้วว่าช่วงโควิด มีลูกค้าคนไทยเยอะและเป็นกลุ่มเดิมเขาจะได้ไม่เบื่อ แต่คนที่เบื่อคือพนักงาน จะบ่นว่ามาใหม่อีกแล้ว ต้องเรียนรู้ใหม่ หัดทำใหม่ ต้องอธิบายกับลูกค้า...”

160966443838

    หมูดำผัดพริกขิงสมุนไพร ผัดพริกขิงใช้ปรุงจากเศษเนื้อปลากะพง (เมนูจากร้าน R-HAAN)

นอกจากบริหารเรื่อง zero waste แล้วยังกระจายรายได้สู่ทุกชุมชนด้วย

“ใช่ครับ ผมตั้งเป้าใช้วัตถุดิบในประเทศที่ตรงตามฤดูกาล เช่น มัสมั่นใช้ส่วนประกอบ 32 อย่าง ตัวนี้มาจากไหน ซื้อจากแหล่งไหน ในหนึ่งฤดูจะต้องซื้อส่วนผสมหรือวัตถุดิบหลักจากทุกภาคของประเทศไทย ไม่หนักภาคใดภาคหนึ่ง เหนือมี อีสานมี ตะวันตกตะวันออก จากภาคใต้ มีหมด เช่น ปูจากที่นี่ ปลาอีกที่หนึ่ง ไม่รวมจุดเดียว เป็นสิ่งที่บังคับ ต้องกระจายรายได้ครับ

อย่างข้าวกล้องดอยจากภาคเหนือ ผักเมืองหนาวมี 3-5 ที่คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เขาค้อ วังน้ำเขียว อาหารทะเลจากประมงพื้นบ้าน หรือช่วงนี้ล็อบสเตอร์ภูเก็ตขายไม่ดีเราก็นำมาใช้ เป็น คอนเซปต์ sustainable ด้วย ใช้อาหารที่ผลิตในประเทศไทย  เช่น  ข้าวหอมมะลิออร์แกนิคจากยโสธร ผักผลไม้ตามฤดูกาลต่าง ๆ จากไร่ ดอกลาเวนเดอร์จากสวนผมเอง หน้าหนาวมีผักผลไม้จากโครงการหลวง”

เมื่อได้ตำแหน่งทูตแล้ว ความรู้ของเชฟจะกระจายหรือต่อยอดออกไปอย่างไร ?

“ตอนนี้คิดอยู่ 2 เรื่องครับ สำคัญมากตรงที่ว่ายังไม่กระจายไปกลุ่มเชฟ วัตถุดิบดีก็โอเคแล้ว แต่ทำอย่างไรให้เกษตรกรบ้านเราทำแล้วเขามีตลาด และสามารถดีลกับเชฟได้โดยตรง แผนของผมคือในฐานะที่รู้จักภาครัฐเยอะ ผมจะดึงภาครัฐมาจับมือกัน  ตอนนี้คุยกับสถาบันอาหารและกระทรวงเกษตร ที่ต้องเข้าให้ถึงเกษตรกรโดยตรง อีกทั้งกำหนดให้เป็นนโยบายระดับชาติให้ได้ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และเพิ่งเริ่มต้น เหมือนเรากำลังทดลองทดสอบดู แต่ UN เขามี mission ชัดเจน หน่วยงานภาครัฐเองที่ยังมองไม่ชัด

ข้อที่สอง ผมคุยกับผู้ใหญ่หลายท่านซึ่งมองว่า วงการอาหารบ้านเราต้องทำให้เกิดความยั่งยืน และเสิร์ฟทั่วโลกได้แน่ ๆ ในอีกยี่สิบปีหรือห้าสิบปีข้างหน้า อาหารจะช็อร์ต (ขาดแคลน) แน่ ๆ ยิ่งช่วงโควิดอาหารก็ขาดแคลนแล้ว ผู้ใหญ่บางท่านบอกว่า โควิดเป็นสิ่งที่ร้ายแรงน้อยที่สุดที่เริ่มต้นครั้งแรก หมายถึงถ้าคุณอยู่ไปถึงห้าสิบปี ต้องเจออีกหลายโรคที่รุนแรงกว่า ทีนี้พอรุนแรงแล้ว อาหารไทยสมุนไพรไทยเป็นยาหมดเลยนะ อย่างที่ผมปลูกพริกไม่ใช่แค่ทำอาหาร พริกใช้ทำยาลดความอ้วน ลดคอเลสเตอรอล ที่ได้จากสารแคปไซซินในพริก

ผมมองถึงอนาคตว่า เป็นเชฟทำอาหารให้คนกินอร่อยไม่พอ แต่ต้องมีความปลอดภัย ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น เราสามารถตรวจสอบได้เลยเช่น จิ้มลงไปตะกั่วต้องไม่เกินนะ และมองว่าเชฟยุคใหม่ต้องตอบได้ว่าอาหารในจานนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร นอกจากกินอิ่ม สบายท้อง กินเข้าไปแล้วลด LDL ได้มั้ย หรือโลกนี้มีน้ำตาลปลอดภัย ในอเมริกาบริษัทน้ำอัดลมเขาทุ่มเงินหลายร้อยล้านดอลล่าร์ เพื่อวิจัยน้ำตาล ใช้แบคทีเรียไปกินน้ำตาลแล้วไปเอาน้ำตาลส่วนเสียออกมาเหลือแต่น้ำตาลดี เทคโนโลยีก้าวไกลถึงขนาดไม่ต้องไปกินอาหารดีแค่ใส่เข้าไปเหมือนฉีด แล้วดีจริงมั้ย ผมมองว่าคนในอนาคตจะอยู่เกินร้อยปีนะ

160966472332

   หลนกะปิตักแหลมสัก เมนูนี้แนมกับกุ้งแม่น้ำบางปะกงย่างถ่าน

แต่ถ้าเป็นเรื่องอาหาร ผมสนใจทำอาหารไทยเพื่อรักษาโรคมะเร็ง คนไทยเป็นมะเร็งเฉลี่ยปีละ 2 แสนคน ทุกคนมีเซลล์มะเร็ง ซึ่งในอาหารไทยสมุนไพรไทยสามารถต้านเซลล์มะเร็งได้ สมุนไพรไทยหลายตัวกินแล้วช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ช่วยเผาผลาญ บางส่วนอาจช่วยเพิ่มไขมันดี เป็นต้น

ผมคิดว่า อาหารไทยเป็นยาที่อร่อยที่สุดในโลก”