'ไอแห้ง' เป็นยังไง? 'ไอ' แบบไหนบ่งบอก 'อาการโควิด'

'ไอแห้ง' เป็นยังไง? 'ไอ' แบบไหนบ่งบอก 'อาการโควิด'

สำรวจตัวเองให้มั่นใจเมื่อมี "อาการไอ" ไอแบบไหนที่บ่งบอกว่ามีความเสี่ยงเป็น "โควิด-19"

เมื่อคุณ "ไอ" ให้ตระหนักไว้ว่าอาจเป็นอีกหนึ่งจุดสังเกตที่กำลังบ่งบอกถึงอาการของโรค "โควิด-19" แต่ไม่ใช่ว่า "อาการไอ" ทุกรูปแบบ จะเสี่ยงเป็น "โควิด-19" ทั้งหมด 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปสำรวจอาการ "ไอ" ชนิดต่างๆ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วลักษณะการไอแต่ละประเภทบ่งบอกถึงอะไรได้บ้าง

  •  "ไอแห้ง" เป็นยังไง? 

"ไอแห้ง" มีลักษณะเหมือนคอแห้ง ไม่มีน้ำลาย ไม่มีเสมหะ อาจมีอาการไอรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืน เวลาไอจะรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างติดที่ลำคอ รู้สึกคัน หรือระคายคอ คอแห้ง เสียงอาจแหบ รู้สึกอยากจะกลืนน้ำลายบ่อยๆ 

ไอแห้ง เป็นหนึ่งในอาการที่พบในโรค "โควิด-19" โดยอาการทั่วไปของโรคโควิดนอกจากการไอแห้งแล้ว ยังมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว เจ็บคอ ท้องเสีย ตาแดง ปวดศีรษะ สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส มีผื่นบนผิวหนัง หรือนิ้วมือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี

โดยอาการที่พบบ่อยที่สุด คือ มีไข้ (ไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง), ไอแห้งๆ, ไม่มีเรี่ยวแรง หอบเหนื่อย, ไอมีเสมหะ, หายใจลำบาก, เจ็บคอ, ปวดหัว, จมูกไม่ได้กลิ่น, ลิ้นไม่รับรส

แต่หากมีอาการรุนแรง จะหายใจลำบากหรือหายใจถี่ เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก สูญเสียความสามารถในการพูดและเคลื่อนไหว โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่ติดเชื้อไวรัสจะแสดงอาการป่วยใน 5-6 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจใช้เวลานานถึง 14 วันจึงจะแสดงอาการ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

160931818895

นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของ "โควิด-19" แล้ว สาเหตุของอาการไอแห้งแบบไม่มีเสมหะ อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้ 

  • การระคายเคืองจาก ไรฝุ่น หรือ เชื้อไวรัสจากไข้หวัดลงคอ เป็นต้น
  • โรคภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  • โรคหอบ หืด
  • ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต (อาจทำให้เกิดอาการไอกลางคืนได้)
  • โรคกรดไหลย้อน โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • ไซนัสอักเสบ
  • มะเร็งปอดระยะแรก

  •  ไอแบบมีเสมหะ 

"ไอแบบมีเสมหะ" เป็นอาการไอร่วมกับของเหลวเป็นเมือกเหนียวข้นออกมาขณะไอด้วย โดยเมือกเหนียวๆ ที่ออกมาพร้อมตอนไอ ก็คือ เสมหะ หรือ เสลด ซึ่งเมื่อเราไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย จะทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก กลืนลำบาก 

การไอแบบมีเสมหะ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือโรคหืด
  • สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเป็นประจำ
  • อยู่ในที่เย็นหรือที่ชื้นเป็นประจำ หรือเข้าฤดูหนาวอากาศเย็นลง
  • การระคายเคือง หรือ ติดเชื้อเรื้อรังบริเวณลำคอ
  • โรคหลอดลมอักเสบ
  • ปอดบวม หรือปอดอักเสบ
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ไซนัสอักเสบ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่สถานการณ์ "โควิด-19" ยังแพร่ระบาดแบบนี้ ไม่ว่าจะมีอาการไอหรือไม่ อย่าลืมสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ ที่สำคัญคืออย่าลืมป้องกันตัวเองแบบมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อต้องไปในที่ชุมชน เว้นระยะห่างจาก 1.5-2 เมตรจากผู้อื่น ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอกอฮอล์บ่อยๆ กินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว เพื่อลดโอกาสรับเชื้อและแพร่เชื้อ "โควิด-19"

ที่มา: gedgoodlife pobpad