10 วิถีการทำงานในอนาคต

10 วิถีการทำงานในอนาคต

ส่อง 10 วิถีการทำงานที่จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคต ที่จะตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลง และ 10 งานที่กำลังจะเป็นดาวร่วง ที่จะหมดความสำคัญลง

จากเวที World Economic Forum ประเด็นสำคัญที่มีการหารือกันไม่ได้มีแค่เรื่องภาวะเศรษฐกิจในระดับมหภาค แต่ยังมองไปถึงวิถีการทำงานในอนาคตเพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจส่งผลให้เกิดงานใหม่ขึ้น หากเรายังไม่เตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่วันนี้โอกาสที่จะหาคนไม่ทันกับการเติบโตจึงมีอยู่สูงมาก

งานที่กำลังทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันอันดับแรกคือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ Data Scientist ซึ่งเป็นงานที่เกิดขึ้นมานานแล้วในหลายๆ ประเทศเช่นสหรัฐ ต้นกำเนิดของอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่นกูเกิล เฟซบุ๊ค ที่ให้บริการฟรีเพื่อหวังการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค

การใช้งานข้อมูลในการวิเคราะห์ชั้นสูงไม่ได้จำกัดอยู่ที่งานด้านการขายและการตลาด แต่ยังครอบคลุมไปถึงการใช้ประโยชน์ทางด้านการเมืองซึ่งเราได้เห็นบทบาทของมันตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อ 4 ปีที่แล้วจนถึงครั้งล่าสุดที่แต่ละฝ่ายใช้กลยุทธ์ด้านข้อมูลกันอย่างเต็มที่เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบจนกลายเป็นความขัดแย้งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ถัดมาอันดับ 2 คืองานด้านปัญญาประดิษฐ์ เช่น แมชีนเลิร์นนิง(Machine Learning) ซึ่งกำลังมีบทบาทสูงมาก ในปัจจุบันเพราะความต้องการเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์และพยากรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา การเติบโตของรถยนต์ไร้คนขับและอุปกรณ์อัจฉริยะมากมายจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้จำนวนมาก

อันดับ 3 เกี่ยวเนื่องกับ 2 อันดับแรกคือบิ๊กดาต้า เพราะการหลั่งไหลของข้อมูลเกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใช้ระบบดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้นจึงเกิดข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกวินาที เราจึงต้องการคนที่เข้ามาจัดการเรื่องข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ให้ตอบความต้องการขององค์กรให้ได้มากที่สุด

อันดับ 4 งานในด้านกลยุทธ์การตลาด เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านแนวโน้มการบริโภคสินค้าต่างๆ ที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวตลอดเวลา การจะขับเคลื่อนองค์กรให้ถูกทิศทางจึงต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน

อันดับ 5 งานด้านระบบอัตโนมัติหรือ Process Automation โดยเฉพาะด้านหุ่นยนต์อัตโนมัติที่เข้ามาช่วยทำงานให้ง่ายขึ้น รวมไปถึงระบบสำนักงานอัตโนมัติต่างๆ ทั้งงานในภาคการผลิตและภาคบริการล้วนต้องการคนออกแบบระบบอัตโนมัติดังกล่าว

อันดับ 6 พนักงานขายในช่องทางใหม่ๆ ไม่จำกัดว่าต้องมีแค่ออนไลน์ ออฟไลน์ แต่ต้องมองให้ครอบคลุมถึงงานด้าน B2B, B2C ฯลฯ พนักงานขายที่ดีจะต้องวิเคราะห์ช่องทางที่เหมาะสมและรู้จักระบบนิเวศของแต่ละธุรกิจได้เป็นอย่างดี

อันดับ 7 งานด้านการปรับองค์กรสู่ดิจิทัลหรือ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้องค์กรต้องมองเห็นทิศทางและปรับตัวสู่กระแสธุรกิจใหม่ๆ ให้เร็วที่สุด คนที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจึงสำคัญมาก

ต่อกันในสาขาอาชีพที่ 8 คือด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เพราะยิ่งการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลยิ่งแพร่หลาย ก็ย่อมมีคนที่แสวงหาโอกาสจากการเจาะระบบส่วนบุคคลเพื่อโจรกรรมข้อมูลและสินทรัพย์ต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น

สาขาที่ 9 นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใด ทั้งระบบคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ฯลฯ ทุกระบบล้วนต้องการคนเขียนโปรแกรมเพิ่มขึ้นรองรับการใช้งานที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

สาขาที่ 10 ด้านการศึกษา แต่จะเป็นรูปแบบของการเรียนรู้สิ่งใหม่หรือ Re-education เพื่อให้รองรับกับการเปลี่ยนไปของโลกธุรกิจ ทุกวันนี้ไม่อาจใช้ความรู้เดิมๆ ที่เคยเรียนรู้มาใช้ประโยชน์ในโลกดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกวินาที

เมื่อมีงานที่กำลังจะเป็นดาวรุ่งในอนาคต ก็ต้องมีงานที่กำลังจะเป็น “ดาวร่วง” คือหมดความสำคัญลงจนถึงขั้นล้มหายตายจากไปเพราะไม่มีความต้องการคนทำงานแล้วนั่นคือ 

ลำดับที่ 1 พนักงานบันทึกข้อมูล ซึ่งเห็นแนวโน้มมาสักพักแล้วว่าการคีย์ข้อมูลด้วยคนนั้นมีความถูกต้องแม่นยำสู้การใช้เทคโนโลยีการแปลงภาพจากการสแกนหรือ OCR (Optical Character Recognition) ไม่ได้

ลำดับที่ 2 งานเลขานุการที่ไม่มีทักษะ เพราะลำพังเพียงแค่จดบันทึกที่ประชุม จัดการนัดหมาย ส่งข้อมูลให้ผู้ร่วมประชุม ฯลฯ ล้วนเป็นงานที่ใช้คอมพิวเตอร์จัดการแทนได้เกือบทั้งหมดแล้ว

ลำดับที่ 3 เจ้าหน้าที่ทำระบบบัญชีเงินเดือน เพราะมีบริการให้เลือกใช้แทนที่มากมายทั้งระบบธนาคารออนไลน์และบริษัทฟินเทคสมัยใหม่

ลำดับที่ 4 พนักงานบัญชีขั้นพื้นฐาน ซึ่งระบบบัญชีสมัยใหม่เริ่มประยุกต์ใช้เอไอจนสามารถทำงานแทนคนได้เกือบจะสมบูรณ์แบบแล้ว ในขณะที่หน่วยราชการเช่นสรรพากรก็เริ่มรองรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ลำดับที่ 5 พนักงานในระบบสายพานการผลิต เพราะระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาแทนที่เพิ่มมากขึ้น จนทุกวันนี้แต่ละโรงงานจะจ้างเฉพาะพนักงานที่มีทักษะขั้นสูงเท่านั้น

ลำดับที่ 6 พนักงานธุรการ ที่จัดการงานเอกสารแต่เพียงอย่างเดียว มีแนวโน้มสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบสำนักงานอัตโนมัติ

ลำดับที่ 7 พนักงานบริการลูกค้า ที่อาจยังไม่กระทบแบบทันทีทันใด แต่หลายๆ องค์กรจะหันไปหาระบบบริการลูกค้าผ่านระบบเอไอมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรองรับลูกค้าได้มากกว่า เร็วกว่า และมีต้นทุนต่ำกว่า

ลำดับที่ 8 ผู้จัดการด้านการปฏิบัติการ เพราะการจัดรูปแบบการทำงาน การจ่ายงานให้กับพนักงาน ไปจนถึงการประเมินผลต่างๆ มีระบบคอมพิวเตอร์รองรับไว้หมดแล้ว ทั้งใช้งานได้ไม่ยากและมีประสิทธิภาพกว่ามาก

ลำดับที่ 9 ช่างซ่อม ที่แม้จะมีผู้ใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความจำเป็นต้องใช้ช่างซ่อมจะลดลงในอนาคตเพราะมีแนวโน้มว่าผู้ผลิตทั่วโลกจะเน้นการให้ลูกค้าเปลี่ยนสินค้ามากกว่าซ่อมแซมสินค้าแต่ละชิ้นเนื่องจากบริหารต้นทุนได้ง่ายกว่า

ลำดับที่ 10 พนักงานจดบันทึกติดตามผลการปฏิบัติการ เช่น จดบันทึกวัตถุดิบในการผลิต บันทึกจำนวนสินค้าคงคลัง ฯลฯ เพราะระบบอัตโนมัติจะจัดการให้ทั้งหมด

โอกาสที่ปีแห่งความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงกำลังจะผ่านพ้นไป ผมก็ได้แต่หวังให้ผู้อ่านทุกท่านก้าวข้ามปีเก่านี้ไปอย่างเข้มแข็งและพร้อมรับโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึงในปี 2564 อย่างเต็มที่.....สวัสดีปีใหม่ครับ