'บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์' กับงานที่ผูกพัน 'มูลนิธิร่วมกตัญญู'

'บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์' กับงานที่ผูกพัน 'มูลนิธิร่วมกตัญญู'

ขวัญใจของคนทั้งประเทศที่ชื่อ "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" เป็นผู้ชายง่ายๆ ชอบช่วยเหลือผู้คน และบางครั้งดูจริงจัง แต่สัมผัสได้ถึงความจริงใจ และวันนี้เขาถึงกับร่ำไห้กับสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องลาออกจากงานมูลนิธิฯ

ผู้ชายหนวดเครารุงรังคนนี้ เคยบอกว่า "ไม่ได้อยากเป็นฮีโร่ แต่อยากช่วยเหลือคน เพราะรู้ดีว่า เมื่อตกอยู่ในภาวะคับขัน ยากลำบาก หรือยากจนเป็นอย่างไร"

ทุกๆ ความเดือดร้อนของคนยาก คนจน หรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ และทุกครั้งที่ มูลนิธิร่วมกตัญญู เข้าไปทำงานที่ไหนก็ตาม ต้องมีคนถามว่า "คุณบิณฑ์มาไหม" บางคนก็เข้าไปกอดแล้วบอกว่า  "คิดว่าบิณฑ์จะไม่มาพื้นที่นี่แล้ว" 

แต่ในวันนี้ เขาได้ลาออกจากงานที่เขาทำมานานกว่า 34 ปีและไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ บิณฑ์ ถึงกับร่ำไห้กับจุดยืนที่เขาตัดสินใจแล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาเป็นคนดังที่เคยเชื่อมต่อ ดูแลบริหารจัดการอาสาสมัครทั่วประเทศ 

บิณฑ์เป็นดาราหมายเลขหนึ่งที่ทำงานมูลนิธิแห่งนี้อย่างจริงจัง เขาเข้ามาช่วยพัฒนาปรับปรุงการทำงานและวิธีการช่วยเหลือคนในเหตุการณ์ภัยพิบัติ และการเก็บศพ รวมถึงมีส่วนสำคัญในการทำให้อาสาสมัครมูลนิธิต่างๆ ทำงานร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ไม่แก่งแย่งชิงดีชิงดี และทำให้อาสาสมัครเกิดความภาคภูมิในสิ่งที่ทำ

และนี่คือ บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งที่ "จุดประกาย" เคยนั่งคุยกับเขา

160378355148

(ผู้ชายที่คนทั้งประเทศรู้จัก)

  • ทำไมถึงทำงานในมูลนิธิร่วมกตัญญูมายาวนาน

ผมมีความคิดอยากช่วยคนตั้งแต่เด็ก ไม่ได้คิดว่าต้องมาเก็บศพ แต่ผมรู้สึกว่า มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและมูลนิธิร่วมกตัญญูช่วยเหลือคนจนและชาวบ้านโดยตรง ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด แต่ละปีผมจะได้รับการช่วยเหลือ ทั้งเรื่องอุปกรณ์การเรียนและเสื้อผ้าใหม่ๆ ผมก็เลยคิดว่า ถ้าผมมีโอกาส ผมจะตอบแทน จนกระทั่งผมเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แม้ผมจะเป็นพลเมืองดีคอยช่วยเหลือคนอื่น แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ทำงานมูลนิธิร่วมกตัญญู

กระทั่งได้มาแสดงภาพยนตร์เป็นพระเอก จนมีเหตุการณ์ตึกถล่มหน้าโรงหนังเอเธนส์ ในวันนั้นผมได้เข้ามาทำงานร่วมกับมูลนิธิร่วมกตัญญูเต็มตัว ครั้งนั้นได้เห็นภาพข่าวจากรายการทีวีต้องการความช่วยเหลือแบบเร่งด่วนทั้งเรื่องอุปกรณ์และคน เพราะมีคนติดอยู่ด้านในกว่า 10 ราย ผมรีบเดินทางไปที่นั่น

เมื่อมาถึงอาสาสมัครของมูลนิธิทั้งสองกำลังช่วยกันขุด เพื่อช่วยคน ตอนนั้นผมเพิ่งเล่นหนัง ร่างกายแข็งแรง ก็เลยเดินเข้าไปขอเครื่องมือมาช่วยขุดหาคนเจ็บและผู้เสียชีวิต ขุดตั้งแต่สองทุ่มถึงเที่ยงคืน จนเจอผู้ได้รับบาดเจ็บคนแรก ตั้งแต่นั้นมาทางมูลนิธิร่วมกตัญญูก็เอาชุดมาให้ใส่

  • จุดเริ่มต้นของการเป็นอาสาสมัคร ?

มีคนบอกว่า พี่ทำงานทุ่มเทขนาดนี้มาเป็นสมาชิกมูลนิธิร่วมกตัญญูไหม  ผมถูกตั้งให้เป็น 'รหัสดาราหมายเลขหนึ่ง'ในงานอาสาสมัครมูลนิธิฯ หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ภัยพิบัติใหญ่ในภาคใต้ มีคนเสียชีวิต 300-400 ศพ ผมเดินทางไปครั้งแรกเป็นเวลา 7 วัน ในเหตุการณ์ภัยพิบัติใหญ่ๆ ผมจะอยู่ที่นั่นตลอด ไม่เคยพลาด

  

  • การช่วยชีวิตคนในเหตุการณ์ภัยพิบัติ คุณต้องฝึกทักษะอะไรเพิ่มเติม

ต้องมีการเรียนรู้ ฝึกอบรม ปฏิบัติจริง แรกๆ อาศัยครูพักลักจำ เคยเจอเหตุการณ์คนเจ็บ และผู้เสียชีวิตก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ จนได้เรียนรู้กับรุ่นพี่ที่ทำงานในพื้นที่มานาน ถ้ามีเวลาว่างจากงานบันเทิง ผมก็ทำงานอาสาสมัครค่อยๆ สะสมความรู้ เรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ต้องรู้ว่าเวลาคนได้รับบาดเจ็บขาหักจะช่วยเหลืออย่างไรให้ถูกต้อง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีทักษะในการช่วยชีวิตคน

สมัยก่อนเวลาเจอคนประสบอุบัติเหตุ บางครั้งอาสาสมัครไม่รู้ว่า เขาเจ็บตรงไหนแล้วเข้าไปยกหรืออุ้ม โดยไม่รู้วิธี ซึ่งอาจทำให้คนเจ็บเป็นอัมพาตตลอดชีวิต ไม่ว่าอาสาสมัครมูลนิธิไหน ก็ต้องเรียนรู้เรื่องการช่วยชีวิตคนอย่างถูกต้อง การเรียนรู้ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก เมื่อผมเข้ามาทำงานอาสาสมัคร ผมก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น

   

  • เข้าไปช่วยวางระบบการทำงานอาสาสมัครในหลายๆ เรื่อง ?

เมื่อเข้าไปทำงานในมูลนิธิฯ ผมได้เห็นว่า บางอย่างที่ปฏิบัติต่อๆ กันมาไม่ถูกต้อง แรกๆ ยังไม่พูด เมื่อมีสื่อให้ความสนใจมากขึ้น การทำงานจะให้เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ผมค่อยๆ พัฒนาและให้กำลังใจคนทำงาน อาสาสมัครก็รู้สึกมีกำลังใจ เพราะมีคนดังมาทำงานด้วย จากที่เมื่อก่อนมีการแย่งศพระหว่างมูลนิธิฯ มีคำถามมากมายว่าแย่งศพกันเพื่ออะไร ต้องการค่าหัวหรือ ผมก็อธิบายให้สื่อฯฟังว่า พวกเขาแย่งศพกัน เพื่อผลงานของมูลนิธิฯ และผมได้อธิบายให้อาสาสมัครเข้าใจว่า ทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง

ผมเคยเชิญผู้บริหารทั้งสองมูลนิธิ คือ ร่วมกตัญญูและป่อเต็กตึ๊งมานั่งคุยกัน เพื่อตกลงการแบ่งเขตในการช่วยเหลือคน อาสาสมัครจะได้ไม่ตีกัน ก็เริ่มพัฒนาไปเรื่อยๆ ปัจจุบันมีดารามาเป็นอาสาสมัครและนักการเมืองมาช่วยดูแลมูลนิธิฯเพื่อประโยชน์ของสังคมมากขึ้น

1603782614100

(บิณฑ์กับแม่)

  • คุณมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงพัฒนามูลนิธิร่วมกตัญญูให้ดีขึ้น ?

ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ผมเป็นแค่ตัวกระตุ้น ทำให้พวกเขามีกำลังใจทำงาน เมื่อก่อนมีแต่คนดูถูกคนทำงานเก็บศพว่า เป็นงานชั้นต่ำ ช่วงแรกที่ผมเข้ามาทำงาน คนก็หาว่าสร้างภาพ แฟนก็บังคับไม่ให้มาเก็บศพหรือทำงานแบบนี้ จากนั้นแฟนก็บอกเลิก ทั้งๆ ที่ผมไม่เห็นว่าจะผิดตรงไหน

เมื่อก่อนใครเจ็บ ใครป่วย ใครตาย จะเรียกอยู่สองมูลนิธิคือ ร่วมกตัญญู และ ป่อเต็กตึ๊ง ตอนนั้นอุปกรณ์การช่วยเหลือชีวิตคนมีประสิทธิภาพไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างพวกเปลยก ผ้าห่อศพ หรือการช่วยคนติดอยู่ในรถ การทำงานในอดีตต้องใช้เครื่องมืองัดเพื่อช่วยคนออกมา แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ดีขึ้นใช้เวลาไม่นาน และทุกอำเภอทุกตำบลมีอาสาสมัครประจำ ทำให้งานอาสาสมัครพัฒนาดีขึ้น คนภายนอกก็ให้เกียรติคนทำงานจิตอาสา

 

  • ใช้ความเป็นดาราช่วยหาเงินเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยชีวิตคน?

ใช่ครับ คนก็ชื่นชมเราส่วนหนึ่ง ยิ่งเรามาทำงานตรงนี้ คนก็เกิดความศรัทธาในตัวเรา เพราะเขารู้ว่า เราทำงานจริงจังไม่ได้สร้างภาพ เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ทุกอย่าง อย่างดาราบางคนมาเป็นอาสาสมัครแค่ 5-6 เดือนเจอความลำบากก็ออกไป เหลือแต่คนที่มีจิตอาสาจริงๆ ซึ่งการทำงานแบบนี้ก็มีพวกนักเลงคอยหาเรื่องบ้าง แต่ผมรู้สึกว่า เราต่างมาช่วยเหลือคนเหมือนกัน สามารถมีมิตรไมตรีต่อกันระหว่างมูลนิธิ บางครั้งอาสาสมัครก็มีอารมณ์บ้าง เราก็ช่วยให้เกิดความสามัคคี เพราะเมื่อก่อนมีการแบ่งเขต แบ่งพื้นที่

  • แล้วคุณจัดการอย่างไร

ผมรู้จักคนเยอะก็สะท้อนความเห็นให้ผู้จัดการมูลนิธิร่วมกตัญญูฟัง เรียกพนักงานและอาสาสมัครทุกคนมาประชุมบอกถึงปัญหาและจุดอ่อนในการทำงาน เพื่อให้รู้ว่าการทำงานเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก ชิงดีชิงเด่นซึ่งกันและกัน อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมหรือสึนามิ หลายมูลนิธิมาช่วยเหลือกัน ต่างชาติก็ยอมรับ แม้จะไม่มีตำรวจ พวกเราก็ทำงานได้

 

  • หลายคนยกย่องว่าคุณเป็นคนดี คุณรู้สึกอย่างไร

ก็ดีใจ สิ่งที่ผมทำไม่สูญเปล่า ผมเป็นดาราที่ไม่ได้สังกัดสถานีช่องไหน เราทำอะไรก็ไม่มีใครสนใจ อย่างดาราประจำสถานีช่องนั้นช่องนี้ มีสื่อคอยตามทำข่าว แม้จะลงพื้นที่แค่ครั้งเดียวก็เป็นข่าว ส่วนเราลงไปช่วยเหลือคนเป็นร้อยๆ ครั้งมีข่าวออกมาครั้งเดียวหรือสองครั้ง

 

  • คนส่วนใหญ่มองคุณเป็นฮีโร่ ?

ไม่หรอกครับ หลายๆ คนที่ทำงานช่วยเหลือคนมานานเป็นฮีโร่มากกว่า แต่ผมจังหวะดี และผมก็ชื่นชมคนที่ทำงานเพื่อประชาชน ผมยกย่องหลายๆ คนเป็นฮีโร่ของผม แต่บางครั้งไม่เป็นข่าว

160378256390

(ช้างก็ให้ความช่วยเหลือ)

  • หลักเกณฑ์ในการลงไปช่วยเหลือคน คุณวางแนวทางอย่างไร

ผมจะดูว่า ถ้ามีการช่วยเหลือซ้ำซ้อน ผมจะไม่เข้าไป บางคนโกหกว่า ไม่เคยมีคนเข้ามาเลย ผมจะให้ลูกน้องเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ก่อน บางแห่งน้ำท่วมเป็นเดือน มีคนเข้าไปแจกของครั้งเดียว เราจะเลือกจุดที่คนไม่เข้าไปแจกของ จะไปถามชาวบ้านว่าได้รับสิ่งของกี่ครั้งแล้ว ส่วนใหญ่ชาวบ้านไม่โกหก แต่คนที่ขอส่วนใหญ่เป็น อบต.ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน บางคนอยากสร้างผลงาน ถ้าดึงมูลนิธิฯเข้ามาช่วยได้เยอะ ชาวบ้านก็จะเชื่อมั่นเลือกเป็นตัวแทนอีก

 

  • การดูแลอาสาสมัคร คุณทำอย่างไร

การดูแลคนทำงาน อันดับแรก ความเป็นอยู่พวกเขาต้องดีก่อน ถ้าพวกเขายังเดือดร้อน จะทุ่มเทแรงกายแรงใจคงไม่ไหว เพราะอาสาสมัครไม่มีเงินเดือน เวลาออกไปทำงาน หัวหน้าจะต้องคอยช่วยเหลือเรื่องเบี้ยเลี้ยง บางคนมาช่วยทำงานเป็นเดือน ผมก็ต้องเอาเงินส่วนตัวจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้พวกเขา บางครั้งมีคนใจบุญช่วยบ้าง เพราะนโยบายของมูลนิธิไม่มีการจ่ายเบี้ยเลี้ยง

แต่เราเห็นว่า พวกเขาลำบาก บางวันเขากลับบ้านดึกมาก ผมก็ให้เงินไปสี่ห้าร้อยบาท ถ้าวันไหนมีคนเอาเงินมาบริจาคให้สักสองหมื่นบาท ผมก็ให้ลูกน้องคนละพันบาท พวกเขาก็ดีใจว่ามีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ หรือเวลาไปทานข้าวที่ไหน บางร้านไม่เอาเงิน เขาเห็นว่า พวกเราเป็นคนช่วยเหลือสังคมมีประโยชน์กับบ้านเมือง

  • มีวิธีการผ่อนคลายแต่ละวันอย่างไร

ออกไปช่วยชาวบ้าน ก็มีความสุขแล้ว พอเห็นชาวบ้านรอรับของ เข้าไปถึงพื้นที่ก็ตบมือกัน หลายคนเข้ามากอด บางคนบอกว่า "คิดว่าบิณฑ์จะไม่มาพื้นที่นี้แล้ว" ถ้ามูลนิธิร่วมกตัญญูเข้าไป พวกเขาจะถามว่า "คุณบิณฑ์มาไหม"

...............

ภาพจากเฟซบุ๊คบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์