รู้จัก 'เฟมทวิต' ในการชุมนุม '#เยาวชนปลดแอก'

รู้จัก 'เฟมทวิต' ในการชุมนุม '#เยาวชนปลดแอก'

ไขข้อสงสัย เฟมทวิต คือใคร เคลื่อนไหวแบบไหน และมีบทบาทอย่างไร ทั้งในสถานการณ์ทั่วไป และในการ "ชุมนุม"?

หลังจากที่มีการรวมตัวชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นำโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก - Free YOUTH และ กลุ่มสหภาพนักเรียนนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยในการชุมนุมดังกล่าว นอกจากกลุ่มเยาวชนที่เป็นแกนนำ ยังมีประชาชนหลากหลายกลุ่มออกไปร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก 

ซึ่งหนึ่งในนั้น เราก็ได้เห็นภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งถ่ายภาพตนเองโดยมีข้อความ “เฟมทวิต” ถูกเขียนไว้บนร่างกาย ทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยว่า “เฟมทวิต” คืออะไร มีความหมายหรือที่มาอย่างไร 

  • ทำความรู้จัก “เฟมทวิต”

คำว่า “เฟมทวิต” มีที่มามาจาก กลุ่มเฟมินิสต์ที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิเท่าเทียมที่เพศหญิงพึงมีในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียออนไลน์อย่าง “ทวิตเตอร์” เป็นคำเรียกโดยย่อของ “กลุ่มเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์” มีแนวคิดและการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับกลุ่มสตรีนิยม (Feminist) ที่พยายามเปลี่ยนแปลงสังคม วัฒนธรรม หรือระบอบต่างๆ ที่ตั้งอยู่ด้วยการให้เพศชายเป็นใหญ่ หรือได้เปรียบมากกว่าและกดให้เพศหญิงอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า เช่น สิทธิ์ในการเข้าถึงการศึกษา การประกอบอาซีพ การเลื่อนขั้น ในระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและศาสนา

เฟมินิสต์เป็นแนวคิดที่ถูกขับเคลื่อนขึ้นมาบนพื้นฐานของการยอมรับในสิทธิมนุษยชน การให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและความเท่าเทียม ซึ่งเป็นการตั้งคำถามต่อความเชื่อเกี่ยวกับการลดทอนความสามารถหรือสถานะของเพศหญิง และพยายามขับเคลื่อนเพื่อปรับให้สถานะทั้งเพศชายและเพศหญิงเท่าเทียมกันได้ในทุกด้าน โดยไม่ใช่แนวคิดเพื่อต้องการเพศหญิงมีอำนาจหรือสถานะเหนือเพศอื่นๆ

  • เฟมทวิต ต่างกับเฟมินิสต์อย่างไร

ในปัจจุบัน ผู้คนมักจะใช้พื้นที่ในโซเชียลมีเดียออนไลน์เพื่อแสดงความคิดเห็น โดยแนวคิดสตรีนิยมก็ถูกพูดถึงมากขึ้นในโลกออนไลน์เช่นกัน คำว่า เฟมทวิต มีที่มาจากในกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่ง ที่มีสมาชิกผู้ใช้งานเป็นกลุ่มเพศชายจำนวนมาก เนื้อหาในกลุ่มมักมีการโพสต์มุกขำขันล้อเลียนเสียดสีทางเพศ หรือวิพากษ์วิจารณ์และสนับสนุนความรุนแรงต่อเพศหญิง โดยมีการโต้ตอบกับกลุ่มเฟมินิสต์ที่ใช้แพลตฟอร์มทวิตเตอร์วิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในกลุ่มดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง 

จึงเกิดคำนิยาม “เฟมทวิต” ขึ้นมาและมองว่าต่างจากกลุ่มเฟมินิสต์ธรรมดา พยายามกดผู้ชายให้อยู่ต่ำกว่า เป็นกลุ่มผู้หญิงหัวรุนแรง หรือแม้กระทั่งมองว่าเฟมทวิตเป็นกลุ่มคนแบบ SJW (Social Justice Warrior) หรือ นักรบเพื่อความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นนิยามด้านลบที่มองว่ากลุ่มคนเหล่านี้เรียกร้องมากเกินไปหรือใช้อารมณ์มากกว่าข้อเท็จจริงในการถกกัน

อย่างไรก็ตาม แม้คำว่าเฟมทวิตจะถูกนิยามให้เป็นคำด้านลบ แต่กลุ่มผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ซึ่งสนับสนุนแนวคิดเฟมินิสต์ ก็เริ่มใช้คำว่าเฟมทวิตในการนิยามตนเอง และต้องการให้มองว่า มันเป็นเพียงคำที่ใช้เรียกเฟมินิสต์ในทวิตเตอร์เท่านั้น เนื่องจากเฟมทวิตอาจเป็นคำที่ถูกนิยามขึ้นมาจากการไม่เข้าใจความหมายอย่างแท้จริง ว่าจุดสำคัญที่เฟมทวิตวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม หรือการเรียกร้องนั้น คือลักษณะเดียวกันกับความคิดแบบเฟมินิสต์หรือสตรีนิยม 

ดังนั้น หากถามถึงความแตกต่างระหว่างเฟมทวิตและเฟมินิสต์นั้น โดยแนวคิด บทบาท และความเคลื่อนไหวของเฟมทวิต ไม่ได้มีความแตกต่างจากเฟมินิสต์แต่อย่างใด

  • เฟมินิสต์มีบทบาทในการชุมนุมอย่างไร

การออกมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิของตน เป็นหนึ่งในวิธีการทางประชาธิปไตยที่พึงมีได้ โดยประชาชนทุกคนที่อยู่ภายใต้การบริหารปกครองแบบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิในฐานะหรือภายใต้ชื่อ “เฟมทวิต” ก็สามารถทำได้เฉกเช่นเดียวกัน 

โดยบทบาทในการชุมนุมของเฟมทวิต ก็นับว่าไม่ต่างกับประชาชนธรรมดาที่มาชุมนุม  ซึ่งพยายามที่จะขับเคลื่อนควบคู่กันไปทั้งสองประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียกร้องกดดันรัฐบาล หรือการเรียกร้องความเท่าเทียมของเพศหญิง ซึ่งการแสดงออกในการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” ด้วยหมวกอีกใบที่เรียกว่า “เฟมทวิต” ก็อาจเป็นเครื่องยืนยันอีกอย่าง ถึงความต้องการเรียกร้องสิทธิที่ตนเองพึงมีของเพศหญิงในฐานะประชาชน รวมถึงลักษณะวิธีการเขียนข้อความลงบนร่างกาย ก็เป็นการแสดงสัญลักษณ์ไปพร้อมกันได้ถึงสิทธิที่จะเป็นอะไรก็ได้ แต่งกายอย่างไรก็ได้ รวมถึงส่งข้อความเรียกร้องในรูปแบบใดก็ได้ ภายใต้เสรีภาพในการแสดงความเห็น

และไม่ใช่เพียงแค่การเป็นทั้งเฟมินิสต์และการเข้าร่วมชุมนุมเยาวชนปลดแอกเท่านั้น แต่สิ่งนี้ยังสะท้อนว่า เราสามารถเรียกร้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่างๆ ในสังคมได้ทีละหลายๆ ประเด็นพร้อมกัน เราสามารถเป็นได้ทั้งเฟมินิสต์ เป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เป็นผู้เรียกร้องความเท่าเทียม การเหยียดสีผิว เหยียดเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ได้ทั้งหมดพร้อมกัน เพราะทั้งหมดนี้คือสิทธิมนุษยชน สิทธิที่มนุษย์ทุกคนควรเข้าใจ และเข้าถึงได้

เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของเฟมทวิตหรือผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น แต่เรายังสามารถขับเคลื่อน และเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงมีในหลายๆ สิ่ง หลายๆ เรื่องไปได้พร้อมๆ กัน ซึ่งทั้งหมดนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด