มอง 'โควิด-19' ผ่านธรรมะกับ 'พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ'

มอง 'โควิด-19' ผ่านธรรมะกับ 'พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ'

เปิดมุมมองทางธรรมและทางโลก กับ "พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ"

“ในหลักธรรมก็สอนอยู่แล้วว่า ทุกอย่างมันไม่มีความคงที่ ทุกอย่างปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตลอดเวลา ธรรมะก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยตามสังคมอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าศาสนาจะถูกดอง ถูกแช่แข็งไม่เปลี่ยนไป..”

มุมมองของ "พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ" ต่อการเปลี่ยนแปลงของพระพุทธศาสนาไปตามสถานการณ์ "โควิด-19" ที่สะท้อนว่า ไม่ใช่แค่ “ประชาชน” ที่จะต้องปรับพฤติกรรมเพื่อให้รักษาชีวิตให้ปลอดภัยจากโรคระบาด แต่ “พุทธศาสนา” ก็ต้องปรับตัวสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมเพื่อธำรงไว้ซึ่งศาสนาเช่นกัน 

ทว่า การปรับตัว ณ ที่นี้ไม่ได้หมายถึงการ “ปรับคำสอนทางพระพุทธศาสนา” ให้เข้ากับยุคสมัย แต่เป็นเพียงการ “ปรับรูปแบบในการเผยแพร่ใหม่” บน “คำสอนเดิม”

 

"เราเข้าใจว่าศาสนามันต้องเป็นแบบเดิม แต่ความเป็นจริงพุทธศาสนามันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา.. ศาสนาสามารถเรียนรู้และไปกับสังคมสมัยใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องไปห่วงว่า มันจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม แค่จะเปลี่ยนไปอย่างไรต่างหาก"

 

  •  ศาสนาปรับตัวมานานแล้ว 

พระมหาไพรวัลย์ เล่าว่า ที่ผ่านมาศาสนาค่อยๆ ปรับมาใช้วิธีการเผยแพร่คำสอนใหม่ๆ ที่สอดคล้องไปตามยุคสมัยมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งมาเริ่มต้นในช่วงวิกฤติ “โควิด-19”

“เราเข้าใจว่าศาสนามันต้องเป็นแบบเดิม แต่ความเป็นจริงพุทธศาสนามันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา การนำอาหารมาถวายเป็นถังๆ ในสมัยพุทธกาลก็ไม่มี การถวายสังฆทานแล้วมากรวดน้ำในสมัยพุทธกาลก็ไม่มี ต้องยอมรับว่ามันต้องมีการเปลี่ยนทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว ศาสนาสามารถเรียนรู้และไปกับสังคมสมัยใหม่ได้โดยที่ไม่ต้องไปห่วงว่ามันจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม แค่จะเปลี่ยนไปอย่างไรต่างหาก”

  • รูปแบบเปลี่ยนไป เป้าหมายยังเป็นเพื่อ "พัฒนาปัญญา" 

พระมหาไพรวัลย์ กล่าว “ศาสนาพยายามจะเปลี่ยนตัวเอง ปรับตัวเองปรับรูปแบบทางพิธีกรรม ปรับรูปแบบการเผยแผ่ และการสอนธรรมะมาตลอด ถ้าจะเอาแบบเดิมๆ พระเทศน์ก็ต้องขึ้นธรรมาสน์นั่งเทศน์ แต่พอมันเข้าไม่ถึงคนในยุคหนึ่งก็ต้องเปลี่ยน” 

ทั้งยังยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน คือการไลฟ์เทศนาผ่านโซเชียลมีเดียที่ไม่ได้นั่งบนธรรมาสน์เพียงอย่างเดียว การใช้คำสามัญที่เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อสื่อสารให้คนรุ่นใหม่รับรู้ และเข้าใจธรรมะที่กำลังจะสื่อสาร เช่น การเทศน์ของ ว.วชิรเมธี หรือแม้แต่การเทศน์ที่ขบขันขึ้นอย่างการเทศน์ของพระมหาสมปอง ที่ทำให้คนฟังรู้สึกว่าธรรมะไม่ใช่เรื่องเชย ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ

“ถ้าเราเข้าใจจุดประสงค์ของศาสนาจริงๆ รูปแบบจะเป็นยังไงก็ได้ไม่เสียหาย เช่น เราเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาการพัฒนาสติ เน้นการพัฒนาปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าโยมจะมานั่งฟังอาตมาเทศน์จริงๆ หรือฟังอาตมาไลฟ์สดก็เหมือนกัน อย่างเดียวกัน คือฟังแล้วรู้เรื่องและได้แง่คิดเพิ่มเติม อาตมาว่ารูปแบบจะเป็นยังไงก็ได้ไม่เสียหาย” 

159196914132

  •  “โควิด-19” สอนให้เห็นปัญหา แก้ปัญหา และใช้ชีวิตบนความไม่ประมาท 

พระมหาไพรวัลย์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะมอง “โควิด-19” ผ่านหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาหรือมองในทางโลก ก็เป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ “การสอนให้เรียนรู้ไปกับวิถีการเปลี่ยนแปลงของโลก” นั่นคือการมองที่สาเหตุของปัญหา ช่วยกันระมัดระวัง แก้ไขปัญหา รวมถึงการหาหนทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก 

“โควิด-19 มันไม่ได้เข้ามาเพื่อให้เรามองว่ามันคือความทุกข์สาหัส นี่คือสิ่งที่มากลั่นแกล้งเรา ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เรามองเพื่อจะโทษมันอย่างเดียว แต่พระพุทธศาสนาสอนให้คนแสวงหาปัญญาจากสิ่งที่มันเกิด เราจะได้อะไรจากโควิด-19 นี่ หลังจากที่โควิดมันหมดไปแล้ว เราจะใช้ชีวิตยังไง โดยเอาโควิดเป็นบททดสอบ หรือบทเรียนว่าครั้งหนึ่งที่มีโควิด เราเอาชีวิตรอดจากมันมาได้ยังไง ธรรมะเหล่านี้ต่างหากคือสิ่งที่เราได้มา เวลาเกิดปัญหาต้องเอาปัญหามาเป็นบทเรียน สอนให้ตัวเองพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต” 

  •  จงเป็นกัลยาณมิตร  

159196928470

นอกจากนี้ พระมหาไพรวัลย์ ยังให้กำลังใจทุกคนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติในครั้งนี้ว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์เราก็คือกัลยาณมิตร ในช่วงโควิด-19 กัลยาณมิตรหมายถึงคนที่พร้อมจะให้กำลังใจคนที่ทุกข์ยากกว่า กำลังใจไม่ใช่การพูดจากปากอย่างเดียว หรือให้สิ่งของอย่างเดียว เราทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกันได้ อย่างน้อยให้รู้ว่าในเวลาที่ทุกข์ยาก เพื่อนมนุษย์คนอื่นยังมองเห็นเขาอยู่ แน่นอนมันอาจจะไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นมากเท่าไร แต่อย่างน้อยก็มีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป อันนี้อาตมาว่าสำคัญ และควรทำให้มีมากขึ้น แล้วสังคมมันก็จะน่าอยู่ และจะทำให้มีกำลังใจที่จะผ่านวิกฤติ โควิด-19 นี้ไปได้”