ศิลป์สะพรั่งที่วัดโพธิ์

ศิลป์สะพรั่งที่วัดโพธิ์

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ เป็นอีก 1 ในสถานที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่จัดแสดงผลงานศิลปะในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

 เริ่มต้นที่พระวิหารพระพุทธไสยาส จิตต์สิงห์ สมบุญ อดีต Head of Design แบรนด์เสื้อผ้า Greyhound และศิลปินที่สนุกกับการทำงานศิลปะในเทคนิคใหม่ๆเสมอ ในเทศกาลศิลปะครั้งนี้เขาออกแบบคอลเลคชั่นเสื้อคลุมสีขาวอ้างอิงจากเสื้อคลุมสำหรับนักท่องเที่ยวสวมทับเสื้อแขนกุดกางเกงหรือกระโปรงสั้นเพื่อความสุภาพ

             ในผลงานที่มีชื่อว่า Paths of Faith (2018) เสื้อคลุมสีขาวมีการปักคำว่า ศรัทธา ทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษ ไว้ที่กลางหลังของเสื้อคลุมเพื่อให้นักท่องเที่ยวสวมใส่ขณะเข้าเยี่ยมชมและสักการะพระพุทธไสยาส โดยมีเสียงเหรียญที่ตกกระทบลงบนก้นบาตรคลอเคียงกันไป

            ผลงานชิ้นนี้เปรียบเสมือนงานศิลปะสื่อแสดงสดที่เกิดขึ้นทุกวัน โดยมีนักท่องเที่ยวรวมทั้งตัวผู้เข้าชมงานร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะด้วย

            เดินต่อมายังด้านหลังของพระวิหารพระพุทธไสยาสจะพบกับสวนมิสกวัน สวนไม้ประดับที่มีต้นโพธิ์พันธุ์พระศรีมหาโพธิ์ที่ได้มาจากลังกาปลูกไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นไม้ประธาน ภายในมีเก๋งจีนเดิมใช้เป็นสถานที่เรียนหนังสือของเจ้าฟ้าและเชื้อพระวงศ์รุ่นเล็ก

           หวง หย่ง ผิง ศิลปินจีน-ฝรั่งเศส ผู้ปลุกกระแสอาวองการ์ดขึ้นมาในจีนด้วยการก่อตั้งกลุ่มศิลปิน เซียะเหมิน ดาด้า ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศส กล่าวถึงเหตุผลที่นำผลงานประติมากรรมขนาดใหญ่มาจัดวางไว้ภายในเก๋งจีนในสวยซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องสามก๊กว่า

“เป็นสถานที่น่าสนใจ นอกจากอยู่ใกล้กับวิหารพระนอนแล้วยังเป็นสถานที่สวยงาม มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมทั้งไทยและจีนเข้าด้วยกันได้ดี การเลือกผลงานชิ้นนี้มามีความเหมาะสมทั้งสถานที่ ขนาด และความหมาย มีลักษณะคล้ายทวารบาลที่ปกติตั้งอยู่หน้าประตูใหญ่ แต่ในที่นี้นำมาตั้งไว้ตรงประตูของเก๋งจีนขนาดเล็ก”

ศิลปินกล่าวว่าดูเหมือนทวารบาลแต่ไม่ใช่ทวารบาล “เป็นการวางไว้ให้ดูเหมือน ในส่วนของผลงานดูลักษณะเป็นสิ่งของชิ้นเดียวกัน แต่แบ่งออกเป็นซ้ายและขวา มีการผสมผสานระหว่างขามนุษย์กับหัวสัตว์สื่อถึงความลึกลับของเทพเจ้า เมื่อมาอยู่ในวัดจึงมีความพิเศษขึ้นมา เช่นเดียวกับคัมภีร์ แทนความลี้ลับที่คนเราอยากจะรู้”

นอกจากผลงานศิลปะที่วัดโพธิ์แล้ว หวง หย่ง ผิง ยังมีผลงานชื่อ Dragon Boat ที่สื่อถึงพลังอำนาจทางการค้าของประเทศจีน รวมไปถึงการอพยพย้ายถิ่นฐาน จัดแสดงที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแหงประเทศไทย เป็นผลงานที่น่าติดตามไปชมด้วยเช่นกัน

ลัดเลาะมายังสวนจระเข้ มุมสงบอีกแห่งหนึ่งในวันโพธิ์ที่ร่มรื่นและสงบ สวนนี้สมัยโบราณใช้เป็นสถานที่เรียนหนังสือของเจ้าฟ้าและเชื้อพระวงศ์รุ่นโต บริเวณกลางสระจะมีภูเขาลูกเล็กๆบนยอดประดิษฐานเจดีย์ขนาดเล็กบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หากเดินไปตามสะพานที่ยอดไปยังกลางสระแล้วมองกลับมาทางทิศตะวันออกจะเห็นเก๋งจีนหลังหนึ่ง สมัยรัชกาลที่ 3 เรียกขานกันว่าตึกฝรั่ง

ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ แนะนำให้เราชื่นชมผลงานของเธอโดยยืนอยู่ที่กลางสระน้ำแห่งนี้แล้วมองไปยังตึกฝรั่งที่จัดแสดงผลงานศิลปะที่มีทั้งรูปจิตรกรรม กลิ่นหอมของสมุนไพรและดอกไม้หอม และเสียงอ่านบทกลอนเป็นทำนองเสนาะ เสน่ห์ของการชมผลงานชิ้นนี้อยู่ที่การผันแปรของแสงอาทิตย์ที่สะท้อนแผ่นกระจกที่แขวนไว้เป็นจังหวะในตึกฝรั่ง รวมทั้งผิวน้ำและบรรยากาศที่แตกต่างไปตามช่วงของเวลา

 Knowledge in your Hands,Eyes and Minds 2018 เป็นงานที่แสดงออกถึงความทรงจำของสถานที่ในส่วนของชุมชนความเป็นสาธารณะ กับส่วนที่เป็นความทรงจำส่วนตัวในฐานะที่เป็นศิลปินไทยที่ไปมีครอบครัวอยู่ที่ออสเตรเลีย

ผลงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ โดยผูกเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่เชื่อมโยงกับวัดโพธิ์มาสร้างองค์ประกอบขึ้นมาใหม่

ภาพแม่ซื้อ เทวดารักษาทารกแรกเกิดมีหัวเป็นรูปวัว กวาง และม้า อันถือว่าเป็นพาหนะของพระอิศวร โดยนำมาเชื่อมโยงกับสถานที่ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางความรู้ในเรื่องยาและการรักษาโรค ในสมัยที่คนไทยยังไม่รู้จักยาปฏิชีวนะ เชื่อกันว่าแม่ซื้อจะช่วยปกปักรักษาทารกให้รอดพ้นจากการเจ็บป่วย

นอกจากนี้ยังมีภาพบุคคลด้านหนึ่งเป็นหญิง อีกด้านหนึ่งเป็นชาย ร้อยด้ายสีเขียวแสดงจุดเชื่อมโยงในการรักษาโรคสำหรับเพศชาย ในขณะที่ด้ายสีแดงเป็นการแสดงจุดเชื่อมโยงการรักษาโรคสำหรับเพศหญิง

สุดท้ายเป็นเสียงอ่านทำนองเสนาะ ความยาว 30 นาทีเปิดหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เป็นบทกลอนในเรื่องพระเวสสันดรชาดกที่กล่าวถึงวัดโพธิ์

            ผลงานศิลปะชุดนี้ไม่เพียงแต่จะสื่อถึงมหาวิทยาลัยแห่งแรงของไทยที่รวบรวมสรรพวิชาทางการแพทย์ การนวดสมุนไพร โหราศาสตร์ วรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรมแล้ว ยังทำให้ศิลปินหวนคิดถึง “ท่านกูฏ” ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ บิดาผู้มีความผูกพันกับวัดโพธิ์อย่างแน่นแฟ้นเช่นกัน

           ปานพรรณ ยอดมณี เป็นศิลปินหญิงรุ่นใหม่ที่นำผลงานมาจัดแสดงที่วัดโพธิ์ด้วยเช่นกัน ครั้งนี้เธอไม่ได้นำผลงานชิ้นใหญ่ๆที่ดูราวกับตัดผนังทั้งแผ่นใหญ่ๆมาจัดแสดง แต่นำเอาเพียงชิ้นส่วนของอิฐหินปูนที่ผุพังจัดวางเคียงไปกับตุ๊กตาฤาษีดัดตน

             ความเก่า-ความใหม่ ความเสื่อมสลาย – การเกิดใหม่ ยังคงเป็นแนวคิดหลักในการทำงานโดยเพิ่มเติมเรื่องราวที่รับแรงบันดาลใจจากวัดโพธิ์ ที่บอกเล่าเส้นทางการค้าขายระหว่างไทยกับจีนที่มาพร้อมกับความเชื่อมโยงทางศาสนาและวัฒนธรรมที่มีต่อกันมาช้านาน

              สุขสะพรั่งในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ทำให้เราได้เห็นศิลป์สะพรั่งในวัดโพธิ์

             ในวันที่ศิลปะไทยแบบประเพณีเบ่งบานเคียงคู่ไปกับศิลปะร่วมสมัยอย่างงดงาม

หมายเหตุ : บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018)เทศกาลศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติคำว่า เบียนนาเล่ (Biennale) หมายถึง สองปีครั้ง โดยครั้งนี้จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ บนพื้นที่สำคัญ 20 จุด ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคมไปจนถึง 3 กุมภาพันธ์ปีหน้า

รายละเอียดเพิ่มเติม www.bkkartbiennale.com FB : BkkArtBiennale