นักวิทย์คิดถึงในหลวง

นักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาร่วมถวายความอาลัยด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9

ตลอดเวลากว่า 7 ทศวรรษ ที่ผ่านมา พสกนิกรทั่วหล้าต่างตระหนักถึงพระปรีชาสามารถอันรอบด้านของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนอกจากทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเกษตรและชลประทาน การสื่อสาร จิตรกรรม การถ่ายภาพ การช่าง ดนตรี ภาษาและวรรณกรรม จนเป็นที่ประจักษ์แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่โดดเด่นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากหลากหลายโครงการ เช่น โครงการฝนหลวง กังหันน้ำชัยพัฒนา ไบโอดีเซล หญ้าแฝก แกล้งดิน ล้วนเป็นนวัตกรรมที่พระองค์ทรงคิดค้น วิจัยและพัฒนาด้วยพระองค์เอง เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน ซึ่งแทบทุกผลงานได้รับการจดสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศ หรือได้รับรางวัลจากองค์กรและสถาบันระดับโลกมากมาย

พระเกียรติคุณของพระองค์เป็นที่ปรากฏแก่คนทั่วโลก จนได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงทุ่มเทในการค้นคว้า วิจัย นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาและสร้างประโยชน์แก่ประชาชนตลอดมา เพื่อแสดงความจงรักภักดีและถวายความอาลัยแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เหล่านักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ได้รวมใจจัดทำโครงการเทิดพระเกียรติพระองค์ ด้วยการจัดทำบทความ บทวิเคราะห์ถึงพระราชจริยวัตร พระราชกรณียกิจ พระราชดำริ ของพระองค์ ผ่านมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ไทยหลากหลายสาขา และเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ค “นักวิทย์คิดถึงในหลวง”

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ตัวแทนกลุ่มผู้ริเริ่มจัดทำบทความนำเสนอผ่านเพจ “นักวิทย์คิดถึงในหลวง” กล่าวว่า โครงการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 จากคน 3-4 คน ที่มีแนวคิดตรงกันว่า ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยากจะช่วยกันทำหนังสือนักวิทย์คิดถึงในหลวง เพื่อบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระองค์ท่าน จึงมีการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ทำงานสายวิทยาศาสตร์ เพื่อมาร่วมกันถ่ายทอดมุมมอง แรงบันดาลใจ และความประทับใจ ในพระอัจฉริยภาพของในหลวงในด้านต่างๆ แต่ในระหว่างที่จัดทำบทความเพื่อทำเป็นหนังสือ ก็คิดเห็นตรงกันว่าน่าจะมีการเผยแพร่ให้ประชาชนได้อ่านขนานกันไป จึงได้จัดทำเพจนักวิทย์คิดถึงในหลวงขึ้นเพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่หลัก ซึ่งทุกคนต่างหวังว่าทุกตัวอักษรที่ร้อยเรียงออกมา จะเป็นประโยชน์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และนำไปใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตต่อไป

ศศิธร เทศน์อรรถภาคย์ หนึ่งในกลุ่มผู้ริเริ่มจัดทำบทความนำเสนอผ่านเพจ “นักวิทย์คิดถึงในหลวง” กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ฯ มีผู้อาสามาร่วมเขียนบทความทั้งหมด 18 ท่าน ซึ่งมีทั้งอาจารย์ นักวิจัย วิศวกร นักวิชาการ นักสื่อสาร ตลอดจนผู้บริหารในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย หลายท่านได้บอกเล่าถึงพระราชจริยวัตรอันงดงามผ่านการถวายงานอย่างใกล้ชิด หลายท่านบอกเล่าถึงพระราชดำริและพระราชกรณียกิจที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการขับเคลื่อนงานอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้สำเร็จ และที่สำคัญคือภาพประกอบบทความเกือบทั้งหมด มาจากอาสาสมัคร 2 ท่าน คือ สุธน วงศ์สุชาต และชุมพล พินิจธนสาร ทั้งหมดนี้เป็นการร่วมแรงร่วมใจเพื่อถวายความอาลัยแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่จะจารึกอยู่ในใจของพวกเราทุกคนตลอดไป

ในหลวงในใจผม

“ผมได้มีโอกาสถวายงานพระองค์ เนื่องจากการได้ติดตามคุณพ่อ (ศาสตราจารย์อมร ภูมิรัตน) ซึ่งถวายงานพระองค์อยู่ในช่วงเวลานั้น เมื่อได้ลงไปสัมผัสงานในพื้นที่ พบว่าเป็นงานที่ได้ไปช่วยผู้ที่ด้อยโอกาสหรือขาดโอกาสจริงๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจึงรู้สึกเสมอว่า เราไม่ได้ทำตามพระราชดำริเพียงเพราะ พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้ทำ แต่เราทำเพราะนั่นเป็นสิ่งที่น่าจะทำ สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่มากกว่าการที่เราได้ถวายงานแด่พระเจ้าอยู่หัว แต่เป็นเพราะเราได้ทำงานที่มีคุณค่าและมีความหมายจริงๆ ผมรักพระองค์ท่าน” บางส่วนของความรู้สึกที่ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เขียนบอกเล่าไว้ในบางช่วงบางตอนของบทความในหลวงในใจผม

รศ.ดร.ศักรินทร์ ยังได้เล่าไว้อีกว่า พระองค์ทรงเป็นนักเทคโนโลยี พระองค์ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีอะไรเลย แต่จะรับสั่งกลับเสมอว่า ต้องมีความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป อย่าไปสุดโต่งกับวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีต้องใช้บนความเหมาะสม ใช้แต่พอดีเพื่อแก้ไขปัญหา บนความเข้าใจในโจทย์ปัญหาอย่างแท้จริง เมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะนักวิจัยไทยเข้าทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ที่ทรงอุทิศกำลังพระวรกายในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการผลิตข้าวไทย และกราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับสิทธิบัตรยีนที่ควบคุมความหอมในข้าว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีรับสั่งขอบใจที่ทำให้ข้าวไทยเป็นข้าวไทยเสมอ ข้าวหอมไทยจะเป็นข้าวของไทยที่ไม่มีใครเอาไปได้แล้ว เพราะเราบอกว่านี่คือยีนข้าวหอมไทย แล้วเราก็จดสิทธิบัตรว่า คนไทยเป็นคนพบ

“พระองค์ทรงทำให้พวกเราประจักษ์ว่า ทรงมีพระราชดำริถึงข้าวหอมมะลิ ในฐานะของข้าวหอมมะลิไทย ทรงกังวลเรื่องเทคโนโลยีว่าคนอื่นจะไม่สามารถทำให้เราบอกได้ว่าอันนี้เป็นของเรา แต่เราสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาบ่งบอกได้ว่าเป็นข้าวของเรา จึงเป็นเรื่องที่ควรทำ พวกเราโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระองค์ หากเราได้ศึกษาแนวพระราชดำริ และนำมาปรับใช้ในการเรียน การทำงานของเรา จะทำให้สังคมเราเข้มแข็งขึ้น”

ดาราศาสตร์ไทยใต้ร่มพระบารมี

“ถ้าไม่ได้เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปรารถนาที่จะเป็นนักดาราศาสตร์ และอยากมีหอดูดาวที่จังหวัดเชียงใหม่” พระราชดำรัสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงรับสั่งถึงพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลายโอกาส ตามที่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ได้เขียนบอกเล่าไว้ในบทความ ดาราศาสตร์ไทยใต้ร่มพระบารมี และเชื่อว่า พระราชดำรินี้อาจเป็นส่วนสำคัญว่าทำไมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีแรงบันดาลพระราชหฤทัย และพระปรีชาสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก

“เมื่อปี พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดให้คณะบุคคล ซึ่งมี นาวาอากาศโทฐากูร เกิดแก้ว รวมอยู่ด้วย เข้าเฝ้าฯ เพื่อติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ถวาย ณ พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงถ่ายรูปดาวอังคารและดาวหางลิเนียร์ เอ2 (LINEAR A2) ในปีนั้นมีปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์คือ ดาวอังคารโคจรเข้าใกล้โลก โดยปกติดาวอังคารจะโคจรเข้าใกล้โลกทุก 26 เดือน แต่ละครั้งจะโคจรเข้ามาใกล้โลกไม่เท่ากัน ครั้งนั้น นาวาอากาศโทฐากูรกลับมาเล่าให้ฟังว่า ในหลวงรับสั่งว่า “รู้ไหมว่า ดาวอังคารมีอะไรที่ต่างจากโลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ โลกเราจะเห็นดวงจันทร์ปรากฏขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกเพราะโลกเราหมุนรอบตัวเองจากตะวันตกไปตะวันออก ที่ดาวอังคารก็มีการหมุนรอบตัวเองเหมือนโลก แต่ดวงจันทร์โฟบอส (ดวงจันทร์ของดาวอังคาร) ขึ้นจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกวันละ 4 รอบ” เมื่อได้ฟังก็ประหลาดใจปนประทับใจอย่างมากว่า พระองค์ทรงทราบในรายละเอียดถึงขนาดนั้น แสดงว่าทรงมีความรอบรู้เรื่องดาราศาสตร์อย่างลึกซึ้ง

ดร.ศรัณย์ ยังเขียนไว้ด้วยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ รับสั่ง หลายครั้งว่า มีพระราชประสงค์ให้ใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างคน จึงทำให้มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท และตั้งใจอย่างยิ่งที่จะทำงานเพื่อสนองพระราชดำริ และสานต่อพระราชปณิธานในการนำดาราศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาคน สะท้อนผ่านการดำเนินงานของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตลอดระยะเวลา 8 ปี นับแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทีมงานของสถาบันฯ กล่าวได้อย่างภาคภูมิใจว่า “ดาราศาสตร์ที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยมาแต่เยาว์วัย บัดนี้ได้หยั่งรากบนแผ่นดินไทยอย่างมั่นคง งอกงามแล้ว ด้วยพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้”

พระมหากษัตริย์นักคิด

ดร.รอยล จิตรดอน อดีตผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ผู้ที่มีโอกาสถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอยู่บ่อยครั้ง ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความซาบซึ้งและความประทับใจในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ในบทความพระมหากษัตริย์นักคิดว่า พระองค์ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในเทคโนโลยี ทรงเป็นนักคิด และทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ดังเช่น เรื่องเขื่อนใต้ดิน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทรงเคยรับสั่งว่าอยากจะสร้าง ‘เขื่อนปิดปากถ้ำหินปูน’ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินสำหรับชาวบ้าน ตั้งแต่ญี่ปุ่นยังไม่มีแนวคิดเรื่องนี้เลย แต่ไม่มีข้าราชการคนไหนทำ เพราะด้วยเทคโนโลยีสมัยนั้น ไม่มีใครเชื่อว่าทำได้ แต่พระองค์ทรงเชื่อว่าทำได้ และทรงศึกษาเรื่องเขื่อนมาเป็นอย่างดี เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาเรื่องน้ำ (1) ไม่มีที่เก็บ (2) ป่าเสื่อมโทรมแล้ว ตะกอนมากขุดลอกไม่ทัน และ (3) น้ำระเหยหน้าแล้ง ดังนั้นทำไมไม่เก็บน้ำไว้ใต้ดิน ทั้งที่ค่าความพรุนของหินมีตั้ง 20 เปอร์เซ็นต์ แถมเก็บน้ำไว้ใต้ดินก็ไม่ระเหย ที่สำคัญเก็บน้ำไว้ใต้ดินแล้วด้านบนยังปลูกต้นไม้ได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ทราบถึงแนวคิดนี้ต่างพูดเสียงเดียวกันว่า “Genius” และนี่คือพระอัจฉริยภาพของพระองค์โดยแท้

พระปรีชาญาณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้เป็นประโยชน์เพียงต่อพสกนิกรชาวไทย แต่ยังเป็นที่ประจักษ์และถูกนำไปใช้ทั่วโลก วันที่ผมไปเยี่ยมหน่วยงาน NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ของสหรัฐอเมริกา นักวิทยาศาสตร์ที่ NOAA นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเรื่องฝน บทความงานวิจัยที่ถูกนำเสนอฉบับแรกคือ ภาพที่พระองค์ทรงทดลองเรื่องไมโครฟิสิกส์ ของฝนเป็นรายแรกของโลก เราในฐานะพสกนิกรชาวไทยก็รู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอย่างมาก จากนั้นต่อมามีโอกาสไปประชุมที่ประเทศจอร์แดน ซึ่งเขามีปัญหาเรื่องน้ำ ได้ติดต่อโครงการพระราชดำริฝนหลวงและเริ่มทำฝนเทียมแล้ว สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่พระองค์ทรงคิดค้นทั้งเครื่องมือตลอดจนพระราชทานแนวความคิดต่างๆ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลาใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และทั้งหมดไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะความทุกข์ยากของประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่ยังบำบัดทุกข์ภัยให้กับอีกหลายประเทศทั่วโลก”

ธ ผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจ

เพื่อส่งมอบหลากเรื่องราวจากมุมมองนักวิทย์ ถึงกษัตริย์นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ไปสู่เยาวชนผู้อยู่ห่างไกล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนการจัดพิมพ์ “หนังสือนักวิทย์คิดถึงในหลวง” เพื่อเผยแพร่ไปยังห้องสมุดประชาชนและสถานศึกษาทั่วประเทศ

กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจ ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชสมบัติ ทรงบูรณาการความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มาใช้ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง จนค้นพบแนวทางเพื่อนำมาใช้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทยตลอดมา บทความรำลึกถึงพระราชจริยวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ร้อยเรียงบันทึกจากใจของนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ จึงมีเนื้อหาอันทรงคุณค่าต่อการเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่เยาวชนรุ่นต่อไป

“สวทช. จึงได้สนับสนุนให้มีการรวบรวมบทความเทิดพระเกียรติทั้ง 22 เรื่อง จากนักวิทย์อาสา 18 ท่าน มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือนักวิทย์คิดถึงในหลวง จำนวน 5,000 เล่ม โดยจะดำเนินการส่งมอบหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นให้แก่ห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียนและสถาบันการศึกษา และจะมีการจัดสรรจำนวนหนึ่งมอบให้แก่ประชาชนทั่วไปในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่จะมาถึงในเดือนตุลาคมนี้ด้วยเช่นกัน" กุลประภา กล่าว

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้แก่เยาวชนและประชาชนคนไทย ได้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทและสานต่อแนวพระราชดำริและพระราชจริยวัตรที่งดงาม สมดั่งที่พระองค์ทรงเป็น “บุคคลต้นแบบของแผ่นดิน” พระผู้สถิตอยู่ในใจคนไทยตลอดกาล”