รู้รักษ์...ต้นไม้ใหญ่

ตัดต้นไม้อย่างถูกต้อง ต้องเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้และมีศิลปะอยู่ในตัว
ปัจจุบันต้นไม้ใหญ่ในเมือง คนให้ความใส่ใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตระหนักรู้ถึงคุณค่าของต้นไม้ที่ให้ทั้งร่มรื่นและความงดงาม แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมา อาทิ ต้นไม้ใหญ่โตจนรั้งสายไฟ บดบังทัศนียภาพ กีดขวางเส้นทาง ทำให้พื้นผิวทางเท้าและอาคารแตกร้าว
ถ้าอย่างนั้นคน ต้นไม้ และสถาปัตยกรรมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร รวมถึงปัญหาการตัดต้นไม้ในหลายพื้นที่ที่เหลือแต่ตอ หรือไม่ก็ตัดทิ้งทั้งต้น ทั้งๆ ที่กว่าต้นไม้เหล่านั้นจะเติบโตสูงใหญ่ ต้องใช้เวลาหลายสิบปี
เรื่องของการตัดแต่งและดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองให้ถูกวิธี จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งโรงเรียนต้นไม้แห่งแรกในเมืองไทย เพื่อสร้างรุกขกรทำงานด้านนี้ ซึ่งในประเทศนี้ยังมีอยู่น้อยมาก
แต่แค่นั้นยังไม่พอ ถ้าเป็นไปได้ ใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นไม้ใหญ่ในเมือง ก็ควรจะเรียนรู้การตัดแต่งและดูแลให้ถูกวิธี
เหตุผลดังกล่าว ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กลุ่มบิ๊กทรี และสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา จัดโครงการอบรมการตัดแต่งและดูแลรักษาต้นไม้ในงานภูมิทัศน์เมือง รุ่นที่ 5 เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ดูแลและบริหารจัดการเรื่องต้นไม้ใหญ่ เพื่อนำไปสื่อสารให้คนที่ลงมือตัดต้นไม้ใหญ่ทำได้ถูกวิธี จึงสอนกันตั้งแต่ธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ ,เทคนิคการตัดแต่งอย่างถูกวิธี รวมถึงความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง และอีกหลายเรื่องราวที่เกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ในเมือง
เพราะความไม่รู้นี่แหละ ที่ทำให้หลายคนเป็นฆาตกรต้นไม้ใหญ่ และจำเป็นอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเผยแพร่ความรู้เหล่านี้
ศาสตราจารย์ กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ภูมิสถาปัตยกรรม) ร่างยาวเกี่ยวกับธรรมชาติของการดำรงชีวิตและการดูแลต้นไม้ใหญ่ให้ฟังว่า
“ตัดแต่งผิดวิธี จะทำให้ต้นไม้ผุและอ่อนแอ และมีความเชื่อเก่าๆ ว่าถ้าขูดทำความสะอาดแผลใส่ยาฆ่าเชื้อโรค แล้วปิดแผลมิดชิดโดยการทาสี หรือไม่ก็ก่ออิฐฉาบปูน คือการแต่งต้นไม้ไม่ให้ผุ รวมถึงการบั่นยอด การกุดกิ่งเหลือแค่ตอ และทำเปลือกฉีก สิ่งเหล่านี้ไม่ควรทำกับต้นไม้”
นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้อื่นๆ อีกที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ แม้กระทั่งการใช้ซีเมนต์อุดโพรงต้นไม้ที่ผุกร่อง ก็ต้องมีกรรมวิธีที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะเป็นการทำร้ายต้นไม้
และเหตุผลดังกล่าว ทำให้ต้นไม้ในเมืองไทยไม่งดงามอย่างที่คิด ทั้งๆ ที่เมืองไทยมีต้นไม้ที่มีความหลากหลายสายพันธุ์ไม่แพ้ชาติอื่น อาจารย์เดชา ฉายภาพให้ฟังต่อว่า ยิ่งตัดยิ่งแตก ยิ่งแตกก็ยิ่งสร้างปัญหา และงานก็หนักกว่าเดิม
นั่นหมายถึงการตัดแต่งไม่ถูกวิธี ยิ่งสร้างปัญหา ส่วนการตัดแต่งผิดฤดูกาล ก็คือตัดต้นฤดู หลังต้นไม้แตกใบใหม่เต็มที่ ก็จะเป็นการทำลายพลังงานสะสมที่เพิ่งถูกใช้หมดไป ทำให้พุ่มใบที่แตกใหม่สะสมพลังงานไม่พอ สำหรับขยายรากในฤดูหน้า
"การตัดต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะต้นไม้ที่อยู่ใต้สายไฟ บางทีตัดถูกวิธีตามวิธีที่เรียนมา แต่ถูกผู้บริหารตำหนิ คนที่ทำงานไฟฟ้าก็มองเรื่องความปลอดภัย " ผู้เข้าอบรมที่ทำงานด้านการตัดแต่งต้นไม้ เล่าถึงปัญหา ซึ่งต้นตอของปัญหาคือ การไม่ประสานแผนงาน งบประมาณคนละหน่วยงาน และขาดการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งในอนาคตจะมีการประสานงานจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ใหญ่ในเมืองมากขึ้น
นอกจากต้นไม้ใหญ่ที่รั้งสายไฟ จำเป็นต้องตัดแล้ว ยังมีต้นไม้ใหญ่ดันขอบและผิวทางเท้า รวมถึงต้นไม้ที่ทำให้อาคารร้าว ซึ่งบางต้นจำเป็นต้องย้าย หรือไม่ก็ตัดทิ้ง เรื่องนี้ ครูต้อ-ธราดล ทันด่วน รุกขกรแนวหน้าของเมืองไทย บอกว่า ถ้าจะเข้าใจต้นไม้ ก่อนอื่นต้องทำเข้าใจถิ่นกำเนิด นิเวศวิทยา และการกระจายพันธุ์ของต้นไม้ด้วย
“ต้นไม้จากป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ คุ้นเคยกับแดดจัด และฤดูแล้ง บางปีพวกมันก็ถูกไฟป่า จึงทนความร้อนได้ดีกว่าต้นไม้ชนิดอื่น และสามารถตัดหนักได้โดยไม่จำเป็นต้องห่อหุ้มเปลือก”
หากถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไร ครูต้อ แนะว่า ในโลกออนไลน์ เป็นเรื่องง่ายที่จะหาข้อมูลเรื่องเหล่านี้ ไม่ต่างจากกรณีนำซากุระจากญี่ปุ่นมาปลูกที่เชียงราย แล้วคิดว่าซากุระจะบานงดงามเหมือนในญี่ปุ่น แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“เราต้องเข้าใจถิ่นกำเนิดต้นไม้ ซึ่งไม่ยาก ยกตัวอย่าง ถ้านำสนสองใบจากยอดเขาสูงในภาคเหนือ มาปลูกร่วมกับต้นหมากแดงที่นราธิวาส ปลูกห่างกันไม่ถึงสิบเมตร ในธรรมชาติไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าไม่เข้าใจถิ่นกำเนิด เราไม่มีทางดูแลรักษาได้ถูกต้อง“
ขณะที่ต้นไม้ในป่าสามารถเติบโตแพร่กิ่งก้านได้อย่างงดงามตามธรรมชาติ แต่ถ้านำมาปลูกในเมือง ครูต้อ บอกว่า ต้องตัดแต่งให้เหมาะสม
“ถ้าเราไปเดินดูป่าในเมืองที่สิงคโปร์ ต้นไม้ขนาดสองคนโอบ โตใหญ่คับพื้นที่ ซึ่งอนาคตจะอยู่รอดไหม ไม่รู้ แม้สิงคโปร์จะมีต้นไม้ใหญ่เยอะ แต่มีการตัดแต่งรูปทรงจนเสียฟอร์มของต้นไม้ แม้จะเป็นต้นไม้สกุลเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องตัดแต่งให้มีรูปฟอร์มเหมือนกัน”
แม้จะตัดต้นไม้ใหญ่มาทั่วประเทศ แต่ใช่ว่าจะไม่เคยพลาด ครูต้อเล่าว่า เคยตัดต้นกร่างซึ่งใหญ่มากในพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตอนไปดูสภาพแวดล้อม ไม่ได้สังเกตแสงแดดที่กระทบรากไม้
"ลืมคิดไปว่า ก่อนตัดรากนั้น ต้นไม้ต้นนี้เคยอยู่ในร่มเงา รากไม่เคยรับแสงแดดเลย ตัดไปแล้ว สามเดือนแรก รากถูกแดดเผาตรงๆ เปลือกรากด้านบนเน่า เพราะความร้อนจากแดดส่องไปสะสมที่เปลือกต้นไม้"
การตัดต้นไม้ใช่ว่าจะอาศัยแค่ความรู้รุกขกร คนตัดแต่งต้นไม้ ต้องเป็นคนช่างสังเกต ละเอียด รอบคอบ และเข้าใจศิลปะ กรณีนี้ ครูต้อ เล่าถึงการตัดแต่งอย่างมีศิลปะว่า ต้องคำนึงถึงแสง-สี เส้น-สาย พื้น-ผิว รูป-ทรง ยกตัวอย่างถ้าต้นไม้แพร่กิ่งก้านสาขารกครึ้ม ต้องสางให้บาง ปล่อยแสงรอดผ่านระหว่างกิ่ง ก้าน ใบ และต้องเข้ากับองค์ประกอบสถานที่
"บางสถานที่มีต้นไม้ใหญ่ต้นเดียวก็ดูดีแล้ว มีหลายครั้งที่ไปตัดแต่งให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ โครงการที่อยู่ติดต้นไม้จะขายดีมาก"