ก่อนจะเป็นปรากฏการณ์เฉลียง

ก่อนจะเป็นปรากฏการณ์เฉลียง

บทสนทนาแบบเป็นกันเองของสมาชิกทั้ง 6 ในห้วงเวลาพิเศษของการกลับมารียูเนียนกันอีกครั้ง







‘เที่ยวละไม’, ‘อื่นๆ อีกมากมาย’, ‘นิทานหิ่งห้อย’, ‘นายไข่เจียว’, ‘เข้าใจ’, ‘ง่ายๆ’ ฯลฯ ล้วนเป็นบทเพลงที่ทุกคนฟัง และยังร้องขับขานจนถึงวันนี้


แต่ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะเห็นเจ้าของต้นเสียงทั้ง 6 มารวมตัวบนเวทีเดียวกันอีกครั้งในนาม ‘เฉลียง’

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจ เมื่อเสียงตอบรับจากแฟนเพลง ต่อ ‘ปรากฏการณ์เฉลียง’ จะดีเกินคาด บัตรคอนเสิร์ตทั้ง 2 รอบ กว่า 1 หมื่นใบ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 เดือนกันยายน 2559 ได้จำหน่ายหมดลง เพียงไม่กี่วันทำการที่เปิดขาย

วันนี้ ‘จุดประกาย’ นัดหมาย ดี้- นิติพงษ์ ห่อนาค, เจี๊ยบ – วัชระ ปานเอี่ยม, แต๋ง – ภูษิต ไล้ทอง, จุ้ย – ศุ บุญเลี้ยง, เกี๊ยง – เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ และ นก – ฉัตรชัย ดุริยประณีต ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ให้แก่วงการเพลงไทยยุค 80-90s มาพูดคุยถึงบรรยากาศและความเป็นไปของการรวมตัวกันครั้งนี้

เบื้องหลังการตัดสินใจมารวมตัวกันอีกครั้งของเฉลียง ?

เจี๊ยบ : แต๋งเป็นคนรู้เรื่องคนแรก แล้วก็โทร.บอกว่า ‘เฮ้ย !เอามั้ย’

แต๋ง : คือการเรียกร้องให้เฉลียงมารวมวง มีมานานหลายปีแล้วล่ะ จากแฟนๆ เพลงที่เคยดูคอนเสิร์ต พวกเค้าบอกว่าคอนเสิร์ตพวกเราสนุก แล้วเพลงของเฉลียงก็ได้ยินน้อย ถ้าไม่ได้ยินจากวงเฉลียงเอง ก็ไม่ค่อยมีใครเอาเพลงของวงเฉลียงไปเล่นกัน แฟนๆ ก็อยากดู พวกเราก็มักได้รับคำถามว่าเมื่อไหร่จะรวมวง

เจี๊ยบ : เดิมมีตัวเลขอยู่ตัวนึง ว่า 7 ปีมีครั้ง แต่ตอนนี้มันเลยมา

แต๋ง : เคย 7 ปีมีครั้ง มา 2-3 ครั้ง คราวนี้มันเลยมา 9 ปีแล้ว ดังนั้นคนที่ทึกทักว่า 7 ปีมีครั้ง ก็บอก ‘เฮ้ย ! 9 ปีแล้วนะ’ ทั้งที่พวกเราเองก็ไม่ตั้งเป้าว่าจะต้องมีทุก 7 ปี 9 ปี หรือ 10 ปี

ดี้ : ก็คือไม่มีใครฟังกูเลย ที่บอกกล่าวไปน่ะ ...

แต๋ง : คือพี่ดี้ประกาศไปแล้วว่า ‘ไม่เอาอีกแล้ว’ ตั้งแต่ (คอนเสิร์ต) ‘เรื่องราวบนแผ่นไม้’ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว จุ้ยก็บอกว่า ‘พี่คุยกันเถอะ ตกลงจะมีหรือไม่มี เอาแน่ๆ เลย’ เพราะจุ้ยไปเจอแฟนเพลงเยอะ ก็ถามมา จุ้ยก็ไม่รู้จะตอบยังไง เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว จุ้ยขอนัดกินข้าวกัน ถามพวกเรา ตกลงมีประชามติกันมั้ยว่า จะไม่เอาอีกแล้ว หรือว่าจะเป็นไปได้ 2-3 ปีที่แล้วเลยลงมติกันว่า ไม่มีใครบอกว่าจะไม่รวมตัวกันอีก เพราะฉะนั้น มันก็มีโอกาส ถ้ามันใช่ มารวมตัวกันได้ ก็เป็นไปได้

หลังจากนั้นก็มีคนอยากจัด ไม่ลงตัวบ้าง รอบมากเกินไป สถานที่ไม่เหมาะ ก็มีน้องจาก Create Intelligence ที่มาเจอผมโดยบังเอิญแล้วบอกว่าอยากจัด ผมก็บอกว่า การจัดการกับวงเฉลียงมันค่อนข้างยาก เพราะ 6 คน มี 6 ความคิด แล้ว 6 คนไม่สามารถเป็นตัวแทนของใครได้ ถ้าสมมติว่าคุยกันในเงื่อนไขที่เป็นไปได้ ก็ไม่ยาก เพราะวงเฉลียงไม่มีใครโกรธกัน หรือไม่มองหน้ากัน หรือสาปส่งว่า ถ้ามีคนนี้มา อีกคนจะไม่มา เพราะฉะนั้น เมื่อทางผู้จัดยอมรับได้ทุกเงื่อนไข ก็น่าจะเป็นไปได้

ดี้ : เรามาดูว่าเค้าจะน่าสงสารขนาดไหน (หัวเราะทั้งวง) และเราดูแล้วว่าเขาน่าจะอดทนได้ระดับหนึ่ง

แต่ละคนเหมือนต้นไม้ใหญ่ ซึ่งน่าจะมีระยะห่างที่พอเหมาะ เมื่อมารวมตัวกัน ต้องจัดการในเรื่องอัตตาหรือต้องรอมชอมกันแค่ไหน

เจี๊ยบ : เฉยๆ เพราะตอนเริ่มต้น ต่างคนก็มีอัตตาอยู่แล้ว เขาสั่งให้ทำอย่างนี้ ก็ไม่เห็นมันทำตามคำสั่งเลยสักคน ตั้งแต่แรกเลย แม้กระทั่งเสื้อผ้าที่เป็นสปอนเซอร์หลัก ยังมองกันเลยว่า ‘เฮ้ย !กูไม่ใส่ได้มั้ย’ อะไรอย่างนี้ มันเริ่มตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว คนละนิดคนละหน่อยตามความคิดของตัวเอง คือจะไม่ให้ใครไปจับมันไปวางตรงไหนก็ได้ มันไม่ใช่อย่างนั้นหรอก คุณประภาสเองก็บอก ‘เฮ้ย ! เต็มที่ เอาที่มึงสบายใจก่อน แล้วที่เหลือค่อยว่ากัน’ ค่อยๆ ปรับกันไป


พอมา(อัลบั้ม)ชุดหลังๆ ก็อีก มีเสื้อผ้าเป็นสปอนเซอร์หลัก นกเข้ามาแล้ว เสื้อผ้ายี่ห้อหนึ่ง เราก็ว่า ‘เฮ้ย ! วัยรุ่นไปรึเปล่าวะ’ ต้องไปเดินทางรถไฟ กางไม้กางมือ โดยอายุกับตัวเพลงมันก็ไม่ใช่แนว เราก็บอกว่า เราเอาเท่าที่เราทำได้ดีมั้ย แต่ละคนก็จะมันมี(ขอบ)วงของตัวเอง บางคนก็บอกว่า ‘ทำได้ไม่เป็นไร’ เรียกว่าอัตตาแต่ละคนต่างกัน ‘เฮ้ย ! ผมไม่ร้องเพลงนี้ มันไม่ใช่ตัว’ มีอยู่ตลอด อย่างจุ้ยบอก ‘พี่ เพลงนี้ผมทำอะไร’ ‘ไม่มี’ ‘ผมก็เข้าไปข้างใน’ ‘ก็เข้าไปดิ ไม่ได้ว่าอะไร’ ทุกอย่างเป็นไปเพื่อความเหมาะสมอยู่แล้ว ไม่ใช่เอาอัตตามาชนกัน ใครชนะก็ขึ้นไปอยู่ตรงนั้น ก็ไม่ใช่

นก : 6 คนใช่มั้ย 5 คนคือต้นไม้ใหญ่ ของผมเป็นต้นไม้เล็กๆ ผมอยู่ตรงไหนก็ได้

ดี้ : ใคร! (ส่งเสียงดัง) ก็มีอย่างนึงคือว่า อัตตาเราต่างกัน แต่ว่าอัตราเราเท่ากัน (เสียงหัวเราะทั้งวง) มันเลยไม่มีปัญหา แหม!

เจี๊ยบ : มาตรวัดใกล้เคียงกัน

แต๋ง : (บอกนก) ดูพี่เค้าไว้

เจี๊ยบ : (บอกนก) ต้องตอบแบบนี้ ไม่ใช่มาเลี่ยงว่าตัวเองเป็นต้นไม้เล็ก ถ้านกไม่ขึ้น เกี๊ยงก็ไม่ขึ้น เพราะเกี๊ยงบอก ถ้าไม่ครบก็ไม่ขึ้น

เกี๊ยง : คือความจำเป็นของผมที่จะเล่นมันไม่มีแล้วไง ถ้าเล่นกัน 4-5 คน เล่นทำไม ผมก็อยากให้ครบ

เจี๊ยบ : ผมตอบแทนพี่ดี้ก็ได้เรื่องนี้ คือดี้เขาบอกว่า ถ้ามันเป็นภาระ กูไม่เอาด้วย ไม่หนุก สมัยก่อนเราขึ้นเวที เราขึ้นด้วยความสนุก ความเฮ ความมัน อ้าว มีโปรแกรมนั้นขึ้น ขึ้น ๆ โปรโมทเทป ได้ตังค์เหรอ ไม่ได้ตังค์ แต่มันสนุก สนุกกับชีวิต

แล้วถึงตอนนี้ ทุกคนยังรู้สึกสนุกอยู่มั้ย

นก : สนุก ผมสนุกอยู่แล้ว สนุกมากเลย

ดี้ : มันก็มีเรื่องยุ่งยาก มีอะไรหลายๆ อย่าง อย่างที่บอก ทุกคนก็มีเงื่อนไข แต่พอได้เล่นแล้ว พอลงสนามแล้ว สนุกทุกคนแหละ

สนุกยังไงบ้าง

ดี้ : (ส่ายตัวส่ายหัว) สนุกแบบนี้เลยล่ะ (เสียงหัวเราะทั้งวง)

เป็นอารมณ์เดียวกันกับสมัยโน้นเลยมั้ย

ดี้ : ก็หน้าเดิม ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากมาย ก็จะมีแนวของเค้าไป จับทางกันถูก จะรับส่ง พูดจา คุยเล่น

เกี๊ยง : จริงๆ พวกเฉลียงเอง เวลาเจอกัน ในเวลาที่ไม่คิดจะทำคอนเสิร์ต ก็สนุกแล้วไง นั่งกินเหล้ากัน กินข้าวต้มกันก็สนุกแล้ว จะมีเรื่องอะไรคุยกัน แบบสนุกมาก เป็นเรื่องธรรมชาติของเฉลียง เวลามาเจอกัน มันอดไม่ได้ ยังไงก็จะมีเรื่องสนุกๆ

คราวหน้า ไม่ต้องห่วงเรื่องร้องเพลงดีมั้ย ทำเป็นทอล์คโชว์เลย ?

เกี๊ยง : ใช่ๆ

แต๋ง : ถ้าทำได้อย่างนั้นจะดีมาก

ไม่รู้ว่า จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง จะยอมมั้ย

เจี๊ยบ : จุ้ยไม่กินเหล้า

นก : พี่แต๋งบอกว่า มีคนเค้าอยากทำคอนเสิร์ต คำถามแรกเลย รู้มั้ยจุ้ยว่าไง

จุ้ย : (ตอบเอง) คำถามแรกเลย ผมถามว่า ‘ไม่เล่นได้มั้ย’

เกี๊ยง : เขาบอกว่าเขาเกรงใจผม ถ้าไม่เล่น เดี๋ยวไม่ครบ ก็จะไม่เกิด เลยต้องมาเล่น

จุ้ย : พอเขาบอกว่า ไม่น่าจะได้มั้ง ผมก็เลยไม่รู้จะพูดอะไร

มีคนฟังสะท้อนว่า บทเพลงของเฉลียงมีความหมายใหม่ๆ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านไป ในส่วนของสมาชิกวงเฉลียงเอง โดยส่วนตัวได้ค้นพบความหมายใหม่ๆ อะไรบ้างมั้ย

แต๋ง : แรกสุดเลย เป็นอานิสงส์สำหรับผู้ฟัง ที่ได้รับอะไรที่มากขึ้น อันที่สอง ในตัวของพวกเราเอง เรารู้ว่าในเนื้อเพลงของเฉลียงมันมีอะไรแฝงอยู่ข้างใน ตั้งแต่เราตัดสินใจมาร้องเพลงนี้อยู่แล้ว ผมว่า กาลเวลาผ่านไป เราอาจจะมองกลับไปแล้วพบว่า หลายเพลงของเฉลียงพูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ หรือเอาเข้าจริงๆ มีปรัชญาพุทธศาสนาแฝงอยู่ในนั้น

จุ้ย : ขนาดนั้นเลยเหรอ (เสียงหัวเราะทั้งวง)

ดี้ : มันเป็นอกาลิโกใช่มั้ย (เสียงหัวเราะดังต่อ) อันหนึ่งที่เป็นธรรมชาติของมันเอง ไม่ใช่เฉพาะเพลงของเฉลียงนะ แต่หมายถึงเพลงของทุกคนในโลก คือมันจะติดตามคนๆ นั้น ตั้งแต่วัยเด็ก จนโตไปแล้วก็ยังฟังอยู่ แล้วมันไม่อยากฟังคนอื่นร้อง มันอยากฟังคนๆ นี้ร้อง ฟังเพลงมาช่า ไมโคร พี่เบิร์ด ถ้าเป็นแฟนวงนั้น ก็จะรู้สึกคล้ายๆ กัน ความแตกต่างอาจจะไม่มาก เพียงแต่เพลงเฉลียงไม่ได้พูดเรื่องแคบ ๆ เฉพาะเพลงรัก แต่มันยังพูดถึงเรื่องการใช้ชีวิต มันก็เอาไปตีประเด็นช่วยระบบคิดได้

แม้เพลงเฉลียงจะมีมุมมองล้ำหน้า แต่ในด้านหนึ่งยังสะท้อนการมองโลกแบบเด็กไว้ด้วย ซึ่งมุมมองแบบนี้มักจะสูญหายไปเมื่อเราแก่ตัวลง แล้วเฉลียงรักษาความเป็นเด็กนี้ไว้ได้อย่างไร

ดี้ : ใช้ครีม (เสียงหัวเราะทั้งวง)

นก : มันน่าจะเป็นคำตอบที่พี่ๆ พูดไว้นานแล้ว มันเป็นเรื่องของอารมณ์ขัน ภาษาฝรั่งเรียกว่าอะไรนะ

เจี๊ยบ-ดี้ : (ตอบพร้อมกัน) sense of humour

นก : ตรงนี้ล่ะที่เฉลียงมีเยอะ แต่ไม่ใช่เป็นคนไร้สาระนะ

ดี้ : คนที่มีอารมณ์ขัน คือคนที่อัพเดท ถ้าไม่อัพเดทก็จะไม่มีอารมณ์ขัน คนที่มีอารมณ์จะตามโลก เลยทำให้มันเป็นเด็กมั้ง อีกอย่าง คงทำตัวปัญญาอ่อน แล้วไม่รับผิดชอบก็ยังเป็นเด็ก

เจี๊ยบ : มันคือการที่เราได้หัวเราะ ถ้าทางการแพทย์ มันก็ช่วยรักษาอยู่แล้ว คนที่เครียดนี่แก่เร็ว แต่จริงๆ อันไหนที่จะเป็นอารมณ์ขัน อันไหนที่เป็น joke มันคนละอย่างกัน

อย่างกรณี ชาร์ลี แชปปลิน นี่คนละอย่างกัน ?

เจี๊ยบ : มุขพวกนั้น มันไม่ใช่ sense of humour นะ มันเป็น Joke เป็น joker เลยนะ มันเป็นตลก ในการทำรูปร่างหน้าตาให้ดุ๊กดิ๊กๆ

ดี้ : มันคือการแสดง อย่างพวกเราจะไม่ค่อยเอาขำขันมาเล่นกัน เราเคยเอาขำขันมาเล่ากัน ‘เฮ้ย ! มีเรื่องนึงเว้ย ตลกมากเลย’ ไม่เคยเลยนะ

เจี๊ยบ : แล้วจังหวะเราจะแย่มากเลย เพราะเราจะขำก่อน

นก : ก็มีคนพยายามจะเอาเรื่องพวกนี้มานะ อย่างโปรดิวเซอร์บางคน แต่เราไม่ตลกไง เขาก็งงๆ แล้วจากไป

เจี๊ยบ : เขาเอาหนังสือรวมขำขันมาเลยนะ

ดี้ : พวกนี้จะไม่มี sense of humour แต่พยายามจะตลก ไง รู้มั้ยคนที่มี sense of humour มากที่สุดในประเทศไทย คือ ... (off the record) ท่านตลกร้ายเลย ...

เป็นที่สังเกตว่า เพลงของเฉลียง ศิลปินคนอื่นๆ เอามาร้องได้ แต่ก็ยังไม่ได้อารมณ์นั้นอยู่ดี

ดี้ : คงเป็นเพราะคาแรคเตอร์

เกี๊ยง : ถึงไม่มีใครทำ

ดี้ : บางคนเอาไปทำดังกว่านะ อย่าง เธอหมุนรอบฉัน ...

เจี๊ยบ : แต่ก็ยังเป็นเรื่องของการตีความหมายด้วย ... อารมณ์มันคนละอารมณ์ มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของคนจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของวิทยาศาสตร์ ดวงดาว ... แม้กระทั่ง ‘เธอกับฉับกับคนอื่นๆ’ เพลงหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง สองบวกสองเป็นสี่ แม่ง ! ปัญญาอ่อนฉิบหายเลยนะ มีคนเคยเอาไปร้อง ความคิด มันไม่ใช่สิ่งที่ผมกับประภาส (ชลศรานนท์) คุยกันในตอนนั้น แค่เอาเนื้อร้องไปกาง แล้วเอาให้ตรงส่วนตรงจังหวะ จริงๆ เราร้อง ไม่ใช่อารมณ์สนุกเลยนะ ดนตรีมันเป็นดิ๊กซีแลนด์ก็จริง มันมาก ฟังแล้วมันครึกครื้น แต่อารมณ์ของเนื้อเพลงก็คือ เฮ้ย ! มันเป็นเรื่องธรรมชาตินะที่คนมาอยู่รวมกันมากขึ้นมากแล้วสามารถทำให้เกิดพลัง ทำไอ้โน่นทำไอ้นี่ได้ (แว่วเสียงใครสักคนเอ่ยคำว่า เป็นเพลงแห่งการปฏิวัติ)

ในแง่นี้เท่ากับว่า คนอื่นๆ หากนำเพลงของเฉลียงไปร้องไปตีความใหม่อาจจะมีข้อจำกัด...

จุ้ย : ผมว่าพูดแบบนี้ไม่ถูก

เจี๊ยบ-เกี๊ยง : (พร้อมกัน) แล้วแต่เค้า

เจี๊ยบ : เพลงคัฟเวอร์ ยังไงก็ได้ แล้วแต่แนวคนฟัง

เกี๊ยง : เปรียบไม่ได้หรอกว่าอันไหนดีกว่านั้น คนรุ่นใหม่ฟัง อาจจะบอกว่าเวอร์ชั่นสครับบ์ดีกว่า

ดี้ : จะให้มาร้องเหมือนเรา เค้าก็ร้องไม่ได้

จุ้ย : ถามน้าทิวา (สาระจูฑะ บก.สีสัน) ดีกว่าเรื่องนี้ แต่ถ้าคนอื่นเอาไปร้อง ก็ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ ถ้าเราร้องกันเอง ก็ไม่เสียเท่าไหร่

นก : เอาแบบนี้เลยเหรอ

ดี้ : ฟังสรุปแล้วเหมือนยิ่งใหญ่

เจี๊ยบ : แต่ผมรู้สึกเองนะว่า คนแต่งกับคนร้อง คือ ประภาสกับวงเฉลียง มันสื่อสารกันได้ค่อนข้างจะตรง

แต๋ง : ประภาสเคยเล่าให้ฟัง ช่วงที่เราไม่ได้ทำการแสดงนานๆ เขาบอก ‘เฮ้ย ! กูแต่งเพลงไว้เยอะเลย แต่ไม่รู้จะให้ใครร้อง นอกจากพวกมึง เพื่อนๆ น้องๆ ‘ ครั้นจะให้คนอื่นร้อง เขาก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ อย่างที่บอกว่า เฉลียง มี 2 ส่วน วงเฉลียง คือพวกนี้ (6 คน) กับเพลงเฉลียง ที่ประภาสเขาแต่ง ดังนั้น เมื่อใดที่ 2 อย่างมาเจอกัน ก็จะเกิดปรากฏการณ์ขึ้นมา

จุ้ย : โห ! นี่สรุปดีนะ ที่ผมพูดไปนี่แม่งธรรมดามากเลย แถมยังมีชื่อคอนเสิร์ตด้วย

เจี๊ยบ : ก็มึงพูดเรื่องเงินน่ะ (เสียงหัวเราะทั้งวง)

แล้วมีความลับในความสัมพันธ์ระหว่าง ประภาส กับวงเฉลียงหรือไม่ เหตุที่ทำให้คลิกกันได้ลงตัวเช่นนี้

แต๋ง : น่าจะเป็นเพราะ จิก เจี๊ยบ ดี้ เขาเรียนหนังสือด้วยกัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่นิสิตที่’ถาปัด จุฬาฯ ใช้เวลาอยู่ด้วยกันเยอะมาก พอหลังๆ ก็จะมีผมเข้าไปร่วมด้วย พอมันมีเพลงเฉลียงแล้ว มันก็ทำหน้าที่ให้ไปเจอจุ้ย

ดี้ : จุ้ยเป็นคนไปรื้อมา ตอนแรกชุด ‘ปรากฏการณ์ฝน’ เราก็ไปหาพีเต๋อ (เรวัติ พุทธินันทน์) แล้วทาง JSL ก็ออกตังค์ให้ ออกมาเป็นเทปที่ระลึก ต่อมาหลายปี ก็มีจุ้ย

แต๋ง : ก็ไปเจอในห้องอัด ทำเพลงโฆษณา จิกเป็นคนแต่งเพลง แล้วผมไปเป่าแซ็ก ก็บอกว่าเอามั้ย มีเจี๊ยบด้วย มีดี้ด้วย

ดี้ : ส่วนเกี๊ยงก็มาสาย’ถาปัด มาช่วยร้องเพลงโฆษณา แค่นั้นแหละ อารมณ์เอาคนใกล้ตัว

ตอนนั้น ธุรกิจค่ายเพลงกำลังบูม ก็มีครีเทียตามด้วยคีตา ?

แต๋ง : ตอนนั้นยังไม่บูมนะ

เกี๊ยง : ครีเอเทียออกพี่ปั่น (ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว) ชุดแรก

นก : มี รวิวรรณ จินดา ด้วย

แต๋ง : ตอนนั้นที่บูมมีไนท์สปอต เริ่มแกรมมี่แล้ว ของเราชุดที่สอง ครีเอเทียเป็นค่ายใหม่ เป็นเพื่อนๆ ของพวกเรา ...

จุ้ย : point อยู่ตรงนี้มากกว่า คือว่า วันนึงเพลงมีเฉพาะตัวเพลง แต่พออีกยุคนึง มันเป็นเรื่องของ presenter ไม่ใช่เรื่องของ singer ล้วนๆ พอเมื่อเป็น presenter ก็มีการทำมิวสิควิดีโอ มีการจัดกระบวนการโชว์ มีการวางแผนโปรโมท มันคนละเงื่อนไข ซึ่งหากเฉลียงมาเกิดวันนี้ เงื่อนไขก็เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ต้องไปหาครีเอเทียแล้ว มานั่งถ่ายยูทูบกัน ผมว่า เงื่อนไขมันไปบรรจบพอดี มันก็เลยเกิดเป็นปรากฏการณ์ (เสียงหัวเราะทั้งวง)

point มันอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ว่าชุดแรกเพลงไม่ดี และไม่ใช่ว่าชุดสองเพลงดี ... อย่างนานๆ มาเล่นกันที มันก็มีความน่าสนใจ ลองเล่นทุก 6 เดือนสิ

น่าสนใจว่าหากในยุคโซเชียลมีเดียแบบนี้ เฉลียงมีเพลงชุดใหม่ จะเกิดอะไรขึ้น

จุ้ย : 100 ล้านวิว ผมพูดได้เลย

นก : ไม่มีทาง เชื่อผมสิ

เจี๊ยบ : 100 ล้านวิว รวมกับคนอื่นได้เลย

แล้วพูดได้เลยมั้ยว่า หลังจากคอนเสิร์ตนี้ เราจะได้ฟังชุดใหม่

จุ้ย : ไม่ได้ฟัง ผมพูดได้เลย (เสียงหัวเราะดัง) เพราะมันไม่อยู่ในเงื่อนไขที่อยากจะทำ แต่ถ้าทำ เป็นไปได้ว่า 100 ล้านวิว

นก : ผมว่าไม่ได้หรอก เอริค แคลปตัน ทุกวันนี้ ก็ออกผลงานมา แม้ว่าจะป่วย แต่เพลงฟังไม่เหมือนยุคก่อน เราก็ยังอยากไปฟัง cocaine กลับไปฟัง wonderful tonight อยู่ดี วงพวกนี้ก็เหมือนๆ ก้น เหมือน แฟรงค์ สินาตรา ก่อนตายก็มีเพลงออกมา แต่คนก็ยังฟัง My Way อยู่ดี

แต๋ง : งั้นไปรวมกับคนอื่นก็ได้ 100 ล้านวิว

เจี๊ยบ : นี่ไง ถึงให้รวมกับ เทย์เลอร์ สวิฟท์ ไปด้วย

เพลงไหนของเฉลียงที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงในชีวิต

แต๋ง : สำหรับผม คือเพลง ‘รู้สึกสบายดี’ ฟังเพลงนี้เป็นเพลงแรก พี่จิกชวน ผมก็ถามว่า เพลงอะไรวะ รู้สึกว่าโอเค ตรงกับสไตล์ที่เราเล่น มันก็เลยรู้สึก จากนักดนตรีธรรมดาคนหนึ่งก็เลยกลายมาเป็นนักดนตรีไม่ธรรมดา (เสียงหัวเราะทั้งวง) ...

เจี๊ยบ : เป็นเพลงคงไม่ใช่ แต่เป็นอัลบั้มมากกว่า มันเป็นความใฝ่ฝันของเด็กคนนึง ตอนเรียนอยู่ปี 5 แล้วได้ทำในสิ่งที่เรียกว่า เฮ้ย ! นี่มันต้องเป็นมืออาชีพเท่านั้น ที่จะทำแผ่นเสียงดำๆ ออกมาได้ จบแล้ว มันเปลี่ยนจากการร้องเล่นตามวงขี้เมา ‘ถาปัด จุฬาฯ ตอนนี้ มันเริ่มเปิดทางวิทยุ

คนอื่นได้ฟังเพลงเรา มากกว่าในหอประชุมแล้ว แค่นี้แหละ ชีวิตเปลี่ยนแล้ว รู้สึกว่ามันมีสิ่งใหญ่ๆ เกิดขึ้นในชีวิตอันนึง แต่หลังจากนั้น ขายได้-ไม่ได้ก็เรื่องของมึง ไม่เกี่ยวกัน เพราะก็มีหน้าที่การงานกันแล้ว

จุ้ย : ก็ต้อง ‘เที่ยวละไม’ จริงๆ ผมอยากร้องเพลง ‘เที่ยวละไม’ แค่นั้นแหละ ที่เหลือก็เป็นเรื่องที่เกินจำเป็นของผม เค้าเรียกตกกระไดพลอยโจน คือผมอยากเอาเพลง ‘เที่ยวละไม’ ไปร้อง แต่ว่ามันไม่ง่ายเหมือนอย่างที่ผมคิด ผมเลยต้องไปตามเกี๊ยงมาช่วย เกี๊ยงก็เลยต้องไปตามพี่เจี๊ยบ พอตามพี่เจี๊ยบ ไม่ชวนพี่ดี้ก็ยังไงอยู่ ผมอยากทำของผมคนเดียว แต่มันไม่ได้ไง คืออย่างพี่จิก แกก็อยากชวนพี่เจี๊ยบคนเดียว ชวนพี่เจี๊ยบแต่ไม่ชวนพี่ดี้ก็น่าเกลียด คงคิดว่า ดี้มันไม่เอามั้ง

ดี้ : จริงๆ แล้วมันไม่ต้องชวนก็ได้นะ เพราะไม่มีเพลงให้ร้อง ... พอชวนก็เอาดิ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร แล้วก็เลยแต่งเพลง ‘(นาย)ไข่เจียว’ มาให้ร้อง ก็ร้องไปอย่างนั้นแหละ เพี้ยนๆ แล้วก็ออกมาเป็นอนุสาวรีย์เบี้ยวๆ อันนึง (เสียงหัวเราะทั้งวง)

จุ้ย : เดิมก็คือ ผมอยากร้องเพลงพี่จิกเพลงนึง ชรัส เฟื่องอารมย์เพลงนึง อะไรอย่างนั้น แต่ว่ามันก็เลยมา ทุกครั้งที่เป็นเฉลียง (ทำเสียงในลำคอ) บางทีมันจะฝืดๆ คือไม่ใช่ไม่ชอบวงนี้นะ เพียงแต่ว่าตัวเรามันมีวงโคจรอีกอย่างนึงอยู่แล้วไง

แต๋ง : จุ้ยถึงลาออกคนแรกไง (เสียงหัวเราะทั้งวง)

ตกลง จุ้ย หรือ ดี้ ออกก่อน ?

แต๋ง : จุ้ยเขาประกาศก่อน

ดี้ : อ้อเหรอ

จุ้ย : ไม่ใช่อะไรหรอก คือเรารู้สึกว่า การเคลื่อนไหวเคลื่อนตัวมันลำบากมากสำหรับผม แล้วไปทำให้คนอื่นลำบากด้วย ทุกครั้งที่มีการประชุม มีปัญหา มีความขัดแย้ง เรารู้สึกว่าวิธีคิดของเรามันไม่เหมาะที่จะทำงานกับคนอื่น แต่ผมเป็นนักฟุตบอลที่ดีมาก่อน ให้กูอยู่ปีกใช่มั้ย ผมก็เลี้ยงลากแล้วโยนให้ โยนมาผมก็ยิ่งให้ ผมก็เลยทำหน้าที่ตรงนี้ ดังนั้น สำหรับผม สิ่งที่เฉลียงให้ผมมันเยอะมาก จนเกินกว่าที่จะต้องได้อีกแล้ว แต่ถ้ามีอะไรให้อีก ก็ยังรับได้อีก แต่ถ้าผมเลือกได้ก็อยากเป็นอย่างอื่นมากกว่า

นก : จุ้ยลาออกจากวง แต่ปรากฏว่า ตอนเฉลียงทำแบกบาล จุ้ยก็แวะมา ไม่ใช่แค่นั้นนะ ไปคอนเสิร์ตก็ไปนะ

จุ้ย : ผมชอบดู ผมเป็นแฟนคลับไง

นก : สำหรับผม มันมีแต่เพลงที่เราทึ่ง เห็นเพลงพี่จิกแล้วทึ่ง อย่างเพลง ‘ใยแมงมุม’ ทั้งคอนเซ็พท์และภาษาที่เขียน เขาสามารถทำให้มันลงตัวได้ดีมาก

เจี๊ยบ : พี่ดี้เป็นคนใส่คอร์ดที่มี tension มากๆ พวกนี้นะ

แต๋ง : พี่ดี้นี่ก็เก่งหลายอย่างนะ

ดี้ : โหย อย่าให้บอกเลย คือตอนนั้น เป็นมือกีตาร์ เป็นหัวหน้ากีตาร์วงลูกทุ่ง 'ถาปัด ก๊อกแก๊ก ๆ ก็จะเล่นเพลงฝรั่งเยอะ คราวนี้ พอแต่งเพลงจะให้ใช้คอร์ด C Am ธรรมดา อย่างเพลงเข้าใจ คอร์ดแรกก็ Dmaj7 ไม่มีเหตุผลเหี้ยอะไรเลย ทั้งที่คอร์ด D ธรรมดาก็ได้นะ คือแต่งแบบว่า อยากได้แบบนี้

ของผม ก็คง ‘(นาย)ไข่เจียว’ นี่แหละ ผมร้องอยู่เพลงเดียว คนเค้าจะแซวเหมือนคนเห็นตลก อุ๊ย ทำตลกให้ดูหน่อยสิ

เกี๊ยง : ของผมน่าจะ ‘เข้าใจ’ นี่แหละ เพราะเป็นเพลงแรกที่เข้าห้องอัด และเป็นเพลงที่เป็นตัวแทนของตัวเอง อีกเพลงก็ ‘ยังมี’ คือจะรู้สึกมากยิ่งขึ้น เพราะมีส่วนร่วมในการแต่งทำนองด้วย สองเพลงนี้ที่คนเขาจะพูดถึงผมในนามเฉลียง แต่ว่าถ้าถามถึงเพลงที่ชอบจริงๆ ก็จะเหมือนนก คือเพลง ‘ใยแมงมุม’

เรื่อง : อนันต์ ลือประดิษฐ์ 
ภาพ : อำพน จันทร์ศิริศรี 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในเซ็คชั่นจุดประกาย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2559