เปิดม่านโนรา...ยุคสมัยแห่งการปรับตัว

เปิดม่านโนรา...ยุคสมัยแห่งการปรับตัว

เปิดม่านโนรา ยุคสมัยแห่งการปรับตัว เพื่ออนุรักษ์และสานต่อรากเหง้าของบรรพชน

มโนราห์หรือโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านปักษ์ใต้ที่บ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ตัวตนของคนใต้ได้อย่างชัดเจน มีส่วนประกอบที่สำคัญนอกเหนือจากเครื่องแต่งกายโนราที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

คือท่ารำและการขับกลอนโนราหรือทำบทที่ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ ซึ่งสององค์ประกอบนี้ศิลปินโนราจะต้องเรียนรู้ควบคู่กันไป ทั้งท่ารำแม่บทสิบสองท่า และ การขับกลอนบูชาครู กาศครูหมอโนราก่อนทำการแสดง สมัยก่อนคนที่จะเป็นโนราได้ ไม่จำเป็นจะต้องมีหน้าตาดีและที่แปลกกว่านั้นมักจะเป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะท่ารำแต่ละท่าแม้จะมีลีลาอ่อนช้อยสวยงาม แต่ต้องอาศัยความแข็งแกร่งของร่างกายเป็นสำคัญ หนุ่มใต้สมัยก่อนหากจะไปขอลูกสาวบ้านไหนคำถามแรกของว่าที่พ่อตา คือ "ลักวัวเป็นไหม รำโนราเป็นไหม"

ยิ่งการขับกลอนด้วยแล้วต้องอาศัยปฏิภานไหวพริบส่วนใหญ่จะเป็นกลอนสดที่แต่งขึ้นในขณะที่ทำการแสดง เพื่อให้เหมาะสมกับ คน สถานการณ์และสถานที่ ชาวใต้เรียกกลอนชนิดนี้ว่า "กลอนมุตโต"

ปัจจุบันแม้จะมีการสืบสานอนุรักษ์เพื่อไม่ให้ ศิลปะการแสดงที่สำคัญแขนงนี้สูญหายไปจากภาคใต้ เรามักจะเห็นเด็กนักเรียนตัวน้อยๆทั้งชายและหญิงแต่ชุดมโนราห์ขึ้นไปร่ายรำตามงานต่างๆ ประกอบเครื่องดนตรีสดบ้าง จากแผ่นซีดีหรืออื่นๆบ้าง แล้วแต่ความพร้อมของโรงเรียนหรือโนราคณะนั้นๆ รำเสร็จก็จบกันเด็กยกมือไหว้ขอบคุณ ท่านผู้ชมใจดีบ้างท่านก็ให้สตางค์เป็นสินน้ำใจแก่ลูกหลานโนราตัวน้อยไปแบ่งไว้ซื้อขนมกินกัน

น่าเสียดายพ่อแม่คนใต้ยุคใหม่ มักนิยมสอนลูกให้หัดพูดภาษากลางตั้งแต่เล็กๆ หรือไม่เด็กก็ติดจากเพื่อนๆมาในขณะที่เรียนชั้นอนุบาล โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในสังคมเมือง เด็กที่สนใจโนราก็ได้แค่รำเป็นอย่างเดียว ไม่สามารถขับกลอนโนราได้ ที่สำคัญคือไม่เข้าใจรากศัพท์ของโนรา เพราะภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาถิ่นใต้ดั้งเดิม บางคำก็กลายเป็นคำตายไปแล้ว คนรุนใหม่ไม่เข้าใจความหมาย จึงไม่สามารถซึบซับอรรถรสของบทกลอนโนราได้ เพราะเด็กใต้พูดหรือแหลงใต้ชัดๆไม่ได้ ปัจจุบันเลยเป็นโนรารำเสียส่วนใหญ่

อีกอย่างที่เป็นค่านิยมหนึ่งของพ่อแม่ผู้ปกครองในปัจจุบัน คือให้ลูกหัดรำโนราเพื่อจะได้เป็นความสามารถพิเศษยามเลื่อนชั้นเรียน แต่เมื่อโตขึ้นก็ละเลยไป บางคนเมื่อเปลี่ยนสถานะทางสังคมก็เกิดความละอาย มองสิ่งที่เป็นรากเหง้าของบรรพบุรุษที่ตัวเองเคยชื่นชอบและสร้างชื่อเสียงเมื่อครั้งยังเด็กว่าเป็นสิ่งที่เชยล้าสมัย ไม่ควรจดจำ

หลายคนคงแอบมานั่งตำหนิตัวเองว่า" ฉันผ่านจุดนั้นมาได้ไงเนี่ย !!! .."

..บ่นๆเขียนๆมาซะยืดยาว อย่างผมนี่ก็เช่นกัน แม้จะเป็นคนใต้พันธุ์พื้นเมืองขนานแท้และดั้งเดิมคนหนึ่ง แต่ถ้าจะให้เล่าเรื่องลงลึกถึง แก่นของมโนราห์หรือโนรา ผมก็เขียนไม่ได้เช่นกัน แม้พ่อแม่จะบอกเสมอว่าบ้านเราก็มีเชื้อครูหมอโนราด้วยนะ บอกตามตรงว่าเข้าไม่ถึง เพียงแต่ชื่นชอบศิลปะการแสดงพื้นบ้านทุกชนิดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นของภาคไหนๆ โดยเฉพาะของพื้นบ้านปักษ์ใต้ทั้งหนังตะลุง มโนราห์นี่ชอบมากเป็นพิเศษ

สมัยทำงานอยู่เมืองบางกอก เมื่อครั้งยังหนุ่มแน่น เคยมีสาวที่นั่นผิวขาวยังกะใข่เป็ดแอบมาขอความรักกับคนมาดเถื่อนๆแนวปักษ์ใต้อย่างเรา คำถามแรกแรกที่ยิงไปคือ" น้องชอบแลหนังลุง โนราม่าย หากไม่ชอบสองสิ่งนี้ไม่ต้องมาคุยกัน " สุดท้ายเลยไม่ได้คุยกันจริงๆตั้งแต่นั้นมา ฮ่า ๆ ( แค่ขี้โม้ไปอย่างนั้นแหละครับ )

เหตุที่มาสุะดุดใจและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้มาเขียนเรื่องนี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้ไปชมมโนราห์คณะหนึ่ง ซึ่งเทศบาลตำบลนาทวี จังหวัดสงขลา รับมาแสดงในงานประจำปีสมโภชศาลหลักเมืองนาทวี เป็นคณะโนราเล็กๆกระทัดรัดโรงหนึ่งเดินทางมาจากจังหวัดพัทลุง ถิ่นหนังโนราขนาดแท้ ทั้งคณะมีอยู่ประมาณ 20 ชีวิตเห็นจะได้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวสมัยใหม่ แต่ละคนต่างสาละวนอยู่กับหน้าที่ของตนเอง ทั้งแต่หน้าทาปาก แต่งองค์ทรงเครื่องโนรา สวมเทริด ตกแต่งเครื่องประดับ ลูกปัด หางหงส์ บ้างก็เอาโทรศัพท์มือถือมาเซลฟี่ใบหน้าตนเองตามประสาวัยรุ่น บางคนดัดมือแขน ขา เพื่อคลายเส้น ซักซ้อมท่ารำคลอไปกับเสียงปี่ กลองที่กำลังโหมโรงเรียกคนดูอยู่ขณะนั้น


ขณะที่นายโรงหัวหน้าคณะกำลังทำพิธีไหว้ครูหมอพ่อแก่โนรา ส่วนนักดนตรีก็ประโคมโหมโรงเสียงปี่ โหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง บรรเลงเพลงโนราสอดรับกันเป็นจังหวะ เรียกเลือดลมแม่ยกที่เคี้ยวหมากปากแดงอยู่หน้าเวทีให้แตกซ่านขณะที่ใจจดจ่อคอยบรรดานักแสดงออกมาร่ายรำทำบทที่หน้าเวที

คืนนั้นได้มีเวลาพูดคุยกับน้องๆศิลปินพื้นบ้านคณะนี้เพียงแค่ไม่กี่คำเพราะเขาจะเริ่มทำการแสดงแล้ว แต่ก็พอทราบว่าเป็นการรวมตัวของเด็กรุ่นใหม่ที่หลงไหลมนต์เสน่ห์แห่งมโนราห์ บางคนเรียนทางศิลปะการแสดงพื้นบ้านมาโดยตรง บางคนจบถึงวิศวกรรมศาสตร์ อินเตอร์ บ้างก็สืบสายเลือดมาจากโนราอันเข้มข้น หลอมรวมกันเป็นคณะมโนราห์ ที่ยึดหลักการแสดงยึดแนวโนราแบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่ก็ได้มีการประยุกต์ท่ารำให้สอดคล้องกันท่วงทำนองดนตรีดั้งเดิมให้ดูร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน บางท่ารำต้องใช้เวลาฝึกฝนกันตั้งแต่เช่น โนราตัวอ่อนเป็นต้น

ที่สำคัญพวกเขาสามารถขับกลอนโนราได้อย่างฉะฉานเป็นที่ถูกอกถูกใจท่านผู้ชมทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ตรึงไว้กับเก้าอี้จบเสร็จสิ้นการแสดงตลอดระยะเวลา 5 ชั่วโมงเต็ม

เกือบเที่ยงคืนม่านโนราปิดฉากลง ท่ามกลางรอยยิ้มและความสุขของผู้ชมหน้าเวที ขณะที่หลังม่านคณะมโนราห์เก็บเทริด เครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี และอุปกรณ์การแสดง และเก็บ


ความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ศิลปิน อวดความงดงามของศิลปะการแสดงพื้นบ้าน
"โนรา" ให้ประทับอยู่ในใจผู้ชม...


ภาพประกอบ มโนราห์เกรียงเดชน้อย นวลระหงษ์ จังหวัดพัทลุง

ภาพจรูญ ทองนวล (Charoon Thongnual) #จรูญทองนวล #NationPhoto