หมอกบางๆ กลางพะเนินทุ่ง

หมอกบางๆ กลางพะเนินทุ่ง

สัมผัสลมหนาว ชมทะเลหมอก ใกล้แค่นี้ไม่ไปหรือ...

เมื่อหลายปีที่แล้ว สมัยที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน เพื่อนๆ ชวนไปกางเต๊นท์ แคมปิ้งที่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพชรบุรี พวกเราขนกระทะ หม้อ ข้าวสาร อาหารแห้งไปทำอาหาร แม่ครัวของเราเอาแหล่งน้ำที่ใหญ่ที่สุดเป็นตู้เย็น แช่ทั้งผักและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั่นเป็นทริปที่อยู่ในความทรงจำ 

ปรากฎว่า ทริปนั้น แค่ล่องเรือ ชมทิวทัศน์เขื่อนแก่งกระจาน  เวลาว่างก็เก็บฟืนมาทำอาหารมื้อแล้วมื้อเล่า เป็นทริปง่ายๆ ที่ดูเหมือนไม่มีกิจกรรมทำ แต่การทำอาหารเป็นกิจกรรมที่สนุกที่สุด ตอนนั้นพวกเราคิดกันว่า น่าจะขึ้นเขาพะเนินทุ่ง แต่ดูเหมือนเวลาและจังหวะไม่เหมาะ จึงกลายเป็นว่า ทำอาหาร แล้วซุกตัวพูดคุยกันในเต๊นท์ รวมถึงเดินเล่นแถวๆ นั้นแหละ

นั่น...ทำให้ฉันนึกถึงวันเวลาที่ผ่านไป การทำกิจกรรมแบบจำยอมในยุคไม่มีสมาร์ทโฟน กลายเป็นการพักผ่อนที่ละเมียดละไม เป็นไปตามครรลองสโลว์ไลฟ์  และคงไม่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน เพราะไม่มีฟืนให้เก็บ ไม่มีกองไฟให้ก่อ

ถ้าไม่ใช่วันหยุดยาวๆ ฉันก็เหมือนหลายคน อยากจะท่องเที่ยวใกล้ๆ กรุงเทพฯ ใช้เวลาแค่วัน สองวัน 

ในช่วงนี้คนเริ่มออกเดินทางไปสัมผัสลมหนาวและสายหมอก และส่วนใหญ่ออกเดินทางไปแอ๋วเมืองเหนือ เพื่อนๆ ทางเฟสบุ้คยังส่งรูปการเดินทางไปหมู่บ้านแม่คำปอง จ.เชียงใหม่ มาให้ดูว่า วันหยุด 3 วันช่วงวันปิยมหาราช เส้นทางขึ้่นดอย รถติดยาวแค่ไหน 

หลักๆ แล้ว เราต่างโหยหาธรรมชาติ ฉันก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะเที่ยวเมืองไทยสุดยอดเลย ธรรมชาติไม่เป็นรองใคร จะไปทะเล ป่าเขา ทะเลหมอก แม่น้ำ ก็มีแหล่งท่องเที่ยวให้เลือกมากมาย 

คราวนี้เป็นอีกโอกาสที่ได้ไปกอดสายหมอกบางๆ บนเขาพะเนินทุ่ง และไม่เคยสัมผัสทะเลหมอกใกล้ชิดขนาดนี้  กว่าจะถึงพะเนินทุ่ง แค่นั่งรถก็ต้องลุ้นว่า รถกระบะคันที่นั่งจะไต่ระดับไหวไหมเนี่ย เพราะก่อนหน้านี้พะเนินทุ่งปิดอยู่สามเดือน เส้นทางยังไม่ดีนัก ทางทีมงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเพชรบุรี จึงชวนไปเปิดบริสุทธิ์ก่อนจะถึงฤดูกาลท่องเที่ยว

ตอนที่พวกเราไปถึง เส้นทางขึ้นเขาพะเนินทุ่งกำลังซ่อมแซม ลมหนาวบางๆ กลิ่นอายดิน ใบไม้ ต้นหญ้า ทำให้รู้สึกสดชื่น ยิ่งเมื่อรถกระบะไต่ระดับความสูงบนเส้นทางที่ขรุขระ ยิ่งสูงมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เห็นผีเสื้อออกมาเริงร่า ก็ยิ่งมากเท่านั้น พลอยทำให้หัวใจโบยบินไปกับจังหวะกระพือปีกของสัตว์ที่มีวงจรชีวิตสั้นๆ 

ไม่ได้เปรียบเปรยเกินไป เมื่อใดที่เราออกเดินทาง ไปสัมผัสธรรมชาติ เราจะรู้สึกดีๆ กลับมาทุกครั้ง ครั้งนี้มีผู้รู้และอาสาสมัครรักป่าหลายสิบคน ช่วยกันเล่าเรื่องป่าเขา นก ผีเสื้อบนพะเนินทุ่ง 

ด้วยเหตุนี้เอง แล้วเราจะละล้าละลังได้อย่างไร ก็ต้องออกเดินทาง 

และเมื่อมีโอกาสคุยกับกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขาบอกว่า พยายามเสนอให้อุทยานแห่งนี้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพ อุทยานตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี มีเขตแดนระหว่างไทยและพม่า ครอบคลุมถึงสองจังหวัด คือ เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์  

หากที่นี่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก หัวหน้าอุทยานบอกว่า จะช่วยยกระดับสถานภาพในการอนุรักษ์ และมาตรฐานในการสร้างความยั่งยืนให้ผืนป่า และสร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้ด้วย 

ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พวกเขาเคยเจอจระเข้น้ำจืดใกล้สูญพันธุ์ 5 ตัว และติดตามอยู่เรื่อยๆ ว่ามันไปอยู่ที่ไหน รวมถึงพรรณไม้นานาชนิดในแม่น้ำเพชร นอกจากนี้ยังมีสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่า อาทิ หมีควาย แมวป่าหัวแบน เสือโคร่ง พวกมันมีถิ่นอยู่ในบริเวณป่าดงดิบชื้น

เพื่อเป็นการตั้งรับนักท่องเที่ยวในปีนี้ หัวหน้าอุทยานฝากบอกว่า คนที่นำอาหารเครื่องดื่มขึ้นมา ตอนกลับให้นำกลับไปกำจัดที่บ้านด้วย และนี่คือที่มาของโครงการขยะคืนถิ่น เมื่อผืนป่าแบ่งปันความสุขให้นักท่องเที่ยว ก็ช่วยกันเก็บขยะกลับบ้านไม่สร้างภาระให้ผืนป่า และอีกไม่นานเกินรอ ในอุทยานแห่งชาติจะมีเส้นทางขี่จักรยานระยะสั้น และลานกางเต๊นท์มากขึ้น รวมถึงเตรียมซ่อมแซมสะพานแขวนที่เคยถ่ายทำ สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า รัก 

2.

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป เขาพะเนินทุ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวสัมผัสลมหนาวและทะเลหมอก โดยไม่อนุญาติให้นักท่องเที่ยวขับรถขึ้นไปเอง ต้องใช้บริการรถกระบะของชาวบ้านในชุมชน เพื่อเป็นการอุดหนุนให้พวกเขามีรายได้ และคนในพื้นที่จะมีความเชี่ยวชาญเส้นทางมากกว่า เพราะเส้นทางทั้งขรุขระ ลาด เอียง โค้ง แคบในการไต่ระดับขึ้นเขา รวมถึงไม่ได้ลาดยาง 

หากเดินทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ระยะทางประมาณ 230 กิโลเมตร ถ้ามาจากเมืองเพชรไปพะเนินทุ่ง 110 กิโลเมตร ส่วนคนที่ออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประมาณ 50 กิโลเมตร 

ก่อนจะไปถึงเขาพะเนินทุ่ง ต้องแวะที่บ้านกร่างแคมป์ เพื่อดูนก ดูผีเสื้อ ถ้าไม่ใช่นักดูนก คงยากที่จะเห็นนกเกาะบนกิ่งไม้ เอาเป็นว่า ผีเสื้อได้เห็นแน่ๆ และเป็นฝูงซะด้วย พบเห็นได้บริเวณลำธาร ลำห้วย และเส้นทางรถผ่าน เหมือนที่บอกการเดินทางครั้งนี้เป็นการเปิดบริสุทธิ์๋พะเนินทุ่ง เพราะรถที่วิ่งผ่านป่าคันแรก มีโอกาสเห็นหมี ออกมาเดินเล่น 

ว่ากันว่า ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยิ่งสูงยิ่งหนาว และยิ่งเห็นนก เห็นผีเสื้อสายพันธุ์ที่ไม่เคยเห็น เพราะที่นี่มีนกกว่า 1,200 ชนิด อาทิ นกกะลิงเขียดหางหนาม นกเงือกสีน้ำตาล นกพญาปากกว้างลายเหลือง และนกแซงแซงสีเทา ฯลฯ ถ้าเจอนกกะลิงเขียดหางหนาม ก็ถือว่าโชคดี เพราะโอกาสเจอน้อยมาก

ในเรื่องการดูนกเฉพาะถิ่นบนพะเนินทุ่ง ไม่ใช่ข้อห้าม แต่เจ้าหน้าที่บอกว่า นักถ่ายภาพนก ชอบเอาเลนซ์ตัวโตๆ ไปจ่อใกล้ๆ รังนก นั่นทำให้แม่นกจำต้องทิ้งลูกนกให้ตายคารัง ไม่ป้อนอาหาร ไม่ป้อนน้ำ เพราะแม่นกจะไม่กลับรังอีกเลย มันกลัวมนุษย์คุกคาม 

ส่วนในเรื่องผีเสื้อ ว่ากันว่า ถ้าจะดูผีเสื้อเยอะๆ ต้องเดินทางมาเดือนมิถุนายน อาจได้เจอผีเสื้อบางสายพันธุ์ โดยเฉพาะผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว เป็นผีเสื้อที่หายากอันดับต้นๆของเมืองไทย นอกจากนี้ฉันยังได้ความรู้อีกว่า ผีเสื้อชอบตอมขี้สัตว์มากกว่าตอมดอกไม้ เพื่อดูดน้ำหวาน เพราะขี้สัตว์มีแคสเซียมที่เป็นอาหารชั้นเยี่ยม โดยเฉพาะกลิ่นเค็มๆ ผีเสื้อชอบเหลือเกิน

3.

กิโลเมตร 30 บนพะเนินทุ่ง เราไปดูอาทิตย์ตกดินยามเย็น สัมผัสทะเลหมอกยามเช้า และนึกขอบคุณที่เมืองไทยมีทะเลหมอกอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ยิ่งช่วงฤดูหนาว ถ้าไม่อยากขับรถไปไกลๆ ให้มาที่นี่ สมหวังแน่นอน มีทะเลหมอก ป่าเขา ใบไม้ ใบหญ้า อาทิตย์อัสดง  และขอบอก ทะเลหมอกบนพะเนินทุ่ง ไม่ว่าจะถ่ายรูปมุมไหน ก็สวยทุกมุม 

นอกจากนี้อีกจุดที่พลาดไม่ได้เลย ก็คือ จุดชมวิวพะเนินทุ่ง กิโลเมตรที่ 36 อาจถ่ายรูปไม่สวยเท่า กม. 30 แต่ที่นี่ เราจะได้กอดหมอกบางๆ อย่างใกล้ชิด 

ถ้าจะท่องเที่ยวให้ครบทุกรส ดูผีเสื้อ ชมนก ชมทะเลหมอก เดินป่าเปิดโอกาสให้ทากดูดเลือดสดๆ ก็ได้อีกรสชาติ

ส่วนอีกทางเลือก ลองมาใช้ชีวิตแบบบ้านๆ ที่บ้านพุเข็ม โฮมสเตย์ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเหมาะกับคนชอบบรรยากาศเงียบๆ อยากใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ที่นี่มีกิจกรรมให้เลือก ทั้งการตกปลา ซึ่งเราก็เจอนักตกปลากลุ่มหนึ่ง หรือไม่ก็ล่องเรือชมทิวทัศน์ เที่ยววัด 

และเพื่อให้คนอยู่กับป่าได้ ที่นี่อนุญาติให้มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีโฮมสเตย์ให้พักในหมู่บ้าน 17 ครัวเรือน ถ้านอนหนึ่งคืน อาหารสามมื้อ ไม่เกิน 350 บาท แค่เห็นปลาทอดตัวโตก็คุ้มแล้ว 

สิ่งที่ฉันและเพื่อนๆ ติดอกติดใจมากที่สุดคือ อาหาร มีตั้งแต่น้ำพริกมะขาม แกงส้ม ปลาตัวโตๆ จากเขื่อน ฝีมือภรรยาประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุเข็ม เป็นรสชาติแบบไทยๆ ที่หากินได้ยากในยุคนี้ เพราะส่วนใหญ่ออกหวาน และกฎของชุมชน ไม่ได้ห้ามล่าสัตว์ แต่ห้ามแม่ค้ารับซื้อสัตว์จากชุมชน

เมื่อถามยงยุทธ ร่มโพรีย์ ประธานกลุ่มว่า ทำไมคิดค่าที่พักและอาหาร ถูกมาก เขาบอกว่า แค่นี้พอแล้ว พอเพียง 

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ที่นี่เป็นหมู่บ้านต้นแบบเชิงอนุรักษ์ที่เปิดมานานกว่า 10 ปี และคนต่างชาติบางคนมาแล้ว ก็มาอีก พวกเขาไม่เคยเห็นชาวบ้านที่ออกไปจับปลาสองตัว เพื่อนำมาทำอาหาร แต่เมื่อจับได้มากกว่านั้น ก็ปล่อยลงน้ำ 

บ้านพุเข็ม เป็นอีกทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยว สามารถเดินทางมาเที่ยวได้ ทั้งทางรถยนต์จากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆ ถ้ามาทางเรือใช้เวลาประมาณ 15 นาที 

การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ไปเพชรบุรี ถ้ามีรถยนตร์ส่วนตัว แนะนำให้มาตามเส้นทางปากท่อ จ.ราชบุรี แล้วเดินทางเข้าเมืองเพชร ใช้เวลาไม่นาน หรือจะโดยสารรถประจำทาง ส่วนรถตู้ออกจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปถึงสถานีตำรวจแก่งกระจาน ออกทุกวัน ตั้งแต่ 05.00-20.00 น.  

หากจะกางเต็นท์ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีทั้งบ้านพักและเต็นท์หลังละ 120 บาท  ถ้าจะล่องเรือชมทิวทัศน์บริเวณเขื่อนแก่งกระจาน ไม่เกิน 10 คน ราคาเหมา 600 บาทไม่เกิน 1 ชั่วโมง ติดต่อได้ที่ 0 3245 9293

ถ้าจะเดินทางไปชมทะเลหมอก เขาพะเนินทุ่ง บ้านกร่างแคมป์ ต้องติดต่อที่อุทยานฯ เนื่องจากไม่อนุญาติให้นำรถส่วนตัวขึ้นไป จะใช้รถกระบะของคนในชุมชนที่เชี่ยวชาญเส้นทาง ไม่เกิน 10 คน  ราคาเหมา 1,600 บาท และมีช่วงเวลาขึ้นลง 2 ช่วงคือ เวลาขึ้น 05.30-07.30 น. และ 13.00-15.00 น. และเวลาลง 09.00-10.00 น. และ16.00-17.00 น. โดยเขาพะเนินทุ่งจะเปิดเส้นทางให้ท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 

ส่วนคนที่ต้องการนั่งเรือไปพักบ้านพุเข็มโฮมสเตย์ จะนอนเล่นเงียบๆ หรือจะนั่งเรือออกไปตกปลา ไหว้พระ ชมทิวทัศน์ ก็มีกิจกรรมให้เลือก ถ้าพัก 1 คืนพร้อมอาหารสามมื้่อ คนละ 350 บาท ถ้านั่งเรือพาไปตกปลา2 คนอาหารสามมื้อ ตั้งแต่ 6.00-18.00 น. ราคา 1,200 บาท หากจะล่องเรือไหว้พระ ไม่เกิน 6 คน ครึ่งวัน 600 บาท  ติดต่อที่คุณยงยุทธ ร่มโพรีย์ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุเข็ม เบอร์ 08 6167 6353