ชุดไทยงดงามไม่แพ้ใคร

ชุดไทยงดงามไม่แพ้ใคร

กระแสแต่งไทยมาไว มาแรง ถ้าเป็นไปได้ขอให้อยู่ไปนานๆ

        กระแสแต่งไทยมาไว มาแรง ถ้าเป็นไปได้ขอให้อยู่ไปนานๆ ยิ่งในเทศกาลสงกรานต์ด้วยแล้วจะนุ่งซิ่น นุ่งโจง ห่มสไบ หรือ เสื้อคอกระเช้าดูเข้ากับบรรยากาศไม่น้อย
การแต่งไทย ไม่ได้มีระเบียบตายตัว หากในแต่ละยุคแต่ละสมัย เครื่องแต่งกายของสตรีไทยล้วนบ่งบอกถึงเรื่องราวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น การติดต่อค้าขายกับต่างชาติ รวมทั้งความคิดในการผสมผสานความนิยมในแบบตะวันตกมาผสมกับแบบไทย ดังที่จะเห็นได้ชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
        มีทั้งเสื้อลูกไม้ทรงแขนหมูแฮมนุ่งกับโจงกระเบน เสื้อลูกไม้กับผ้าซิ่น ซึ่งมีความงดงามกันไปตามยุคสมัย
        หากถามถึง ชุดไทย ในรูปแบบทางการจริงๆนั้น หลายคนอาจไม่รู้เลยว่า เรามีชุดไทยพระราชนิยม ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานให้ถึง 8 แบบด้วยกัน
        ศาสตรัตน์ มัดดิน เจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อธิบายถึงที่มาของ ชุดไทยพระราชนิยม ให้ฟังว่า
       "เมื่อปี พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปอีก 15 ประเทศ ณ เวลานั้นผู้หญิงไทยไม่ได้แต่งกายแบบผู้หญิงไทยในสมัยโบราณกันแล้ว พระองค์ท่านจึงย้อนกลับไปดูว่าผู้หญิงไทยในวังสมัยก่อนนั้นแต่งกายกันอย่างไร โดยศึกษาจากภาพถ่ายพบว่าการแต่งกายครึ่งบนก็เป็นฝรั่งแล้วส่วนท่อนล่างยังคงเป็นไทยอยู่ ซึ่งก็ยังไม่ใช่การแต่งกายแบบไทยทั้งหมดอยู่ดี
        พระองค์ท่านจึงโปรดให้ตั้งกลุ่มคณะทำงานประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ ช่างตัดเสื้อ ในช่วงแรกชุดไทยที่ออกมามีหลากหลายแบบมาก ยังไม่ได้เป็น 8 แบบ ดังที่พระราชทานในปัจจุบัน
พระองค์ทรงฉลองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเวียดนาม พม่า และ เสด็จประพาสยุโรปและอเมริกา หลังจากนั้นทรงมาเลือกให้เหลือ 8 แบบเพื่อเป็นชุดไทยพระราชนิยม ประกอบด้วย ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรี ชุดไทยศิวาลัย และ ชุดไทยจักรพรรดิ พระราชทานให้สตรีไทยทุกคนไทยได้สวมใส่เหมือนกับว่าเรามีได้มีชุดไทยที่เป็นแบบแผน สำหรับการสวมใส่ในโอกาสต่างๆ "
         คราวนี้เรามาดูกันว่า ชุดไทยพระราชนิยมทั้ง 8 แบบนี้ มีรูปแบบอย่างไรและเหมาะสำหรับสวมใส่ในโอกาสใดกันบ้าง
ชุดไทยเรือนต้น - ตั้งชื่อตามพระตำหนักเรือนต้นในพระราชวังดุสิต เป็นชุดไทยแบบลำลอง ใช้ในโอกาสไม่เป็นทางการ ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม ลักษณะเป็นผ้านุ่งป้ายยาวจรดข้อเท้า ผ้าลายตามขวางหรือตามยาวก็ได้
เสื้อเป็นคอกลมตื้น ใช้สีผ้าตามริ้วหรือเชิง จะเป็นสีเดียวกับซิ่น หรือ สีตัดกันได้ แขนสามส่วน ผ่าอก ดุมห้าเม็ด ใช้เครื่องประดับน้อยชิ้น
ชุดไทยจิตรลดา ตั้งชื่อตามพระตำหนักรโหฐาน เป็นชุดที่ใช้ในพิธีกลางวัน ลักษณะทั่วไปคล้ายกับชุดไทยเรือนต้น ต่างกันตรงคอเสื้อที่มีขอบตั้ง แขนยาวจรดข้อมือ และผ้านุ่งป้ายเป็นผ้าไหมยกดอกมีเชิงหรือยกดอกทั้งตัว ใช้เครื่องประดับตามควร
ชุดไทยอมรินทร์ ตั้งตามชื่อพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมานในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในงานพระราชพิธีและงานพิธีกลางคืน มีลักษณะเหมือนชุดไทยจิตรลดา แต่ตัดเย็บด้วยผ้ายกไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัว ความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้าและเครื่องประดับ
ชุดไทยบรมพิมาน ตั้งชื่อตามพระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในงานพระราชพิธีและงานพิธีกลางคืน เสื้อแขนยาว คอกลมมีขอบตั้ง ตัวเสื้อและซิ่นติดกันเป็นชุดเดียว ตัดเย็บด้วยผ้าไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตั้วก็ได้ นุ่งจีบแล้วใช้เข็มขัดไทยคาด
ชุดไทยจักรี ตั้งตามชื่อพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในงานพิธีกลางคืน ท่อนบนเปิดไหล่หนึ่งด้าน เป็นสไบสำเร็จซึ่งมีทั้งสไบปักหรือไม่ปักก็ได้ ตัดเย็บติดกับท่อนล่างซึ่งเป็นผ้านุ่งจีบ เป็นผ้าไหมยกทองทั้งตัวหรือยกเฉพาะเชิงก็ได้
ชุดไทยดุสิต ตั้งชื่อตามพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในงานพิธีเต็มยศกลางคืน ตัดเย็บด้วยผ้ายกไหมหรือยกทองทั้งตัว เสื้อคอกว้างไม่มีแขน ปักด้วยดิ้นเงินดิ้นทองหรือลูกปัด
ชุดไทยศิวาลัย ตั้งชื่อตามสวนศิวาลัยในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในงานพระราชพิธีทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เป็นชุดแบบเดียวกับชุดไทบบรมพิมานแต่ห่มสะพักทับเสื้ออีกชั้นหนึ่ง
ชุดไทยจักรพรรดิ ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในงานพิธีเต็มยศกลางคืน ท่อนบนเป็นผ้าสไบสองชั้น ชั้นในมักเป็นสไบจีบ ห่มสะพักทับ ผ้านุ่งยกทองจีบเหมือนชุดไทยจักรี คาดเข็มขัด ใส่เครื่องประดับเข้าชุดกัน
      ชุดไทยพระราชนิยมจะงามพร้อมและมีสง่า เมื่อสวมใส่ได้ถูกกาละและเวลา

ข้อมูลอ้างอิง : พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ