ยุคบูมของ “Dark Tourism”
สถานที่เกิดเหตุที่เป็นโศกนาฏกรรมของใครบางคนที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อน
อาจกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบของนักท่องเที่ยวหลายคน
เช่นเดียวกับสถานที่เกิดเหตุเครื่องบินโดยสารของสายการบินทรานส์เอเชีย แอร์เวย์ส ที่ตกในแม่น้ำกลางกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เมื่อต้นเดือนที่แล้วจนเป็นเหตุมีผู้เสียชีวิตราว 40 ราย ตอนนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของไทเปไปแล้ว
การเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่เป็นฉากของความตายและภัยพิบัติอาจจะดูไม่ค่อยเหมาะสมในความคิดของนักท่องเที่ยวทั่วๆ ไป แต่การท่องเที่ยวแบบที่เรียกว่า “Dark Tourism” นี้ดูเหมือนจะยิ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน
ฟิลิป สโตน กรรมการบริหารของสถาบันเพื่อการวิจัยการท่องเที่ยว “Dark Tourism” แห่งมหาวิทยาลัยเซ็นทรัล แลงคาไชร์ ในอังกฤษ เขียนไว้ในบทความของเขาว่า “การเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่มีการตายหรือภัยพิบัติเกิดขึ้นหรือสถานที่ที่ดูน่าสะพรึงกลัวที่เรียกกันทั่วไปว่าเป็น “Dark Tourism” กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่ของนักท่องเที่ยวร่วมสมัย”
“แท้จริงแล้ว การเปลี่ยนความตายให้เป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะในรูปแบบของอนุสรณ์สถาน พิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรมหรือนิทรรศการ หรือทัวร์เฉพาะเจาะจงก็ตาม มันได้กลายเป็นจุดโฟกัสของผู้ให้บริการการท่องเที่ยวรายหลักๆ แล้ว” ฟิลิปกล่าว
คำนี้ถูกเอ่ยถึงครั้งแรกในปี 1996 และถูกนำมาใช้ในกระแสหลักในปี 2000 ในหนังสือที่ชื่อว่า Dark Tourism : The Attraction of Death and Disaster ของเลนนอนและโฟลี่ย์
ศาสตราจารย์มาร์ค กริฟฟิธส์ แห่งมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เทรนท์ ซึ่งเขียนบล็อกเกี่ยวกับความหลงใหลในความตายบอกว่า คนเรามีเหตุผลมากมายในการสนใจเรื่องราวที่น่าสะพรึงกลัวหรือรันทดใจ
มาร์ค บอกว่า ความต้องการอยากจะเห็นหรือเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงขั้นสูงสุดของพฤติกรรมมนุษย์กำลังเติบโตมากในตลาดการท่องเที่ยว เพราะการมองไปที่อะไรบางอย่างที่รุนแรงมากๆ สามารถช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น การไปเห็นสถานที่เหล่านั้นจะช่วยให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ไม่ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมเช่นนั้น
“ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้ อย่างจุดที่เรือสำราญขนาดยักษ์คอสตา คอนคอร์เดียล่มอยู่นอกชายฝั่งน่านน้ำของอิตาลีเมื่อ 3 ปีก่อน ก็มีการเรียกเก็บเงิน 10 ยูโรจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการที่จะชมจุดนั้น” มาร์คกล่าว
มาร์คบอกว่า ความต้องการประสบการณ์ที่เป็นหนึ่งเดียวไม่ซ้ำใครก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง คนเราต้องการที่จะทำบางสิ่งบางอย่างที่คนอื่นๆ ไม่ทำกัน พวกเขาจะได้ไปบอกต่อให้เพื่อนๆ ฟังได้ และบางครั้งคนเราก็ต้องการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ นั่นคือเหตุผลที่ทำไมคนถึงชอบไปถ่ายรูปในสถานที่เกิดเหตุเครื่องบินตก
“แต่นี่ไม่มีอะไรใหม่ ผู้คนมักจะแห่กันไปดูความตายเสมอ” มาร์คกล่าว
โรงพยาบาลประสาทเบธเลมทางตอนใต้ของลอนดอนก็เพิ่งเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่มูลค่า 4 ล้านยูโรที่ภายในมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการควบคุมผู้ป่วยโรคประสาทจัดแสดงเพื่อให้ผู้มาเยือนได้เข้าถึงจิตใจของผู้ป่วย
ด้านหน้าของสำนักงานนิตยสารเชิงเสียดสี ชาร์ลี เอบโด กลางกรุงปารีสที่ประสบเหตุมือปืนบุกกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิต 12 คนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็กลายเป็นจุดรวมตัวของนักท่องเที่ยว
ในออสเตรเลีย บรรดาขาโซเชียลมีเดียไม่รีรอที่จะแชร์ภาพถ่ายเซลฟี่ของตัวเองกับร้านช็อคโกแลตลินด์ในซิดนีย์ ซึ่งพนักงานและลูกค้าในร้าน 18 คนถูกมือปืนจับเป็นตัวประกันเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
กราวด์ ซีโร่ หรือพื้นที่ๆ เคยเป็นที่ตั้งของตึกแฝดเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ที่ถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีจนตึกล่มสลายเมื่อปี 2001 ยังคงครองอันดับหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในนิวยอร์ก
จังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่นซึ่งเป็นสถานที่ที่ประสบเหตุภัยพิบัติจากระเบิดนิวเคลียร์หลังสึนามิถล่มเกาะเมื่อปี 2011 ก็เดินตามรอยเท้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครน โดยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปแล้ว
เหตุกาณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การฆ่าตัวตายและความตายกำลังสร้างแรงกระตุ้นทางการท่องเที่ยว ในเดือนมกราคม พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในเยอรมนีประกาศว่าพวกเขากำลังจะสร้างแหล่งท่องเที่ยวจากหลุมหลบภัยที่ฮิตเลอร์ใช้ฆ่าตัวตายในปี 1945
ห้องจำนวน 5 ห้องจะถูกจำลองจากห้องจริงๆ ในบังเกอร์ของฮิตเลอร์และนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ “Top Secret Spy Museum” ในเมืองโอเบอเฮาเซ่นซึ่งอยู่ห่างจากบังเกอร์ของฮิตเลอร์ราว 300 ไมล์และมีกำหนดจะเปิดภายในปีนี้
"เราอยากให้เรื่องนี้เป็นประสบการณ์การศึกษาให้กับครอบครัวหรือกลุ่มเด็กนักเรียนได้เห็นว่าของจริงเป็นอย่างไร ได้สัมผัสกับห้องเล็กๆ และความชื้นภายในหลุมหลบภัย เราต้องการสร้างมันขึ้นมาใหม่เพื่อให้คนได้เห็นและสัมผัส” อิงโก เมอร์มานน์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าว
สุสานลา รีโคเลต้า ในกรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินาซึ่งมีหลุมศพกว่า 6,400 หลุมของบรรดาคนดังของประเทศก็เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองที่มีคนเข้าชมมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะที่ห้องเก็บศพของ "เอว่า เปรอง" อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง
คณะกรรมการการท่องเที่ยวยูกันดาก็มีแผนที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยเสนอเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยอีดี้ อามินซึ่งปกครองยูกันดาในช่วง 1971-1979 และถูกกล่าวหาว่าสังหารศัตรูไปหลายพันคน กองทัพทหารอันไร้ซึ่งความปรานีของเขาถูกกล่าวหาว่าข่มขืนผู้หญิงและปล้นทรัพย์สินของผู้คน
“ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปที่ไหนในโลก พวกเขาจะถามถึงอีดี้ เขายังคงติดอยู่ในใจของคนเสมอ” สตีเฟ่น อาซิมเว่ กรรมการบริหารของคณะกรรมการการท่องเที่ยวกล่าว
...........................
ที่มา เว็บไซต์ เดลี่ เมล