ดอนหอยหลอด...ลืมตลอดทาง

ดอนหอยหลอด...ลืมตลอดทาง

อัมพวาน่าจะเป็นจุดหมายปลายที่นักปั่นส่วนมากทั้งเคยและคิดว่าจะปั่นไปเที่ยวสักครั้งหรือหลายครั้ง

แม้แต่คนที่ดอนหอยหลอดเองก็เหมือนกัน...ทั้งที่ห่างกันไปอีกไม่ไกลนักมิหนำซ้ำที่ดอนหอยหลอดก็มีของดีของตัวเองแท้ๆ แต่เมื่อถามไถ่ว่าถ้าจะปั่นจักรยานเที่ยวที่ดอนหอยหลอดนี่ควรจะไปที่ไหนบ้าง คำตอบที่ได้จากปากเจ้าถิ่นคือ "อ๋อ ถ้าจะปั่นจักรยานต้องไปอัมพวา"

อาจเพราะอัมพวามีชื่อเสียงเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากกว่า และมีแหล่งท่องเที่ยวที่ 'ชิ้นใหญ่' มากกว่านั่นเอง แต่ถ้าคนที่ดอนหอยหลอดมองหาของดีในท้องถิ่นแล้วก็ใช่ว่าจะไม่มีดี แค่ชื่อก็น่ารักกุ๊กกิ๊ก (ในละแวกเดียวกันมีทั้งดอนหอยหลอด และ บางจะเกร็ง)

สำหรับคนนอกอย่างผมก็ยอมรับโดยดุษณีว่ามาดอนหอยหลอดครั้งสุดท้ายก็เมื่อสิบกว่าปีก่อน และมีเพียงหอยหลอดเสียบไม้รสชาติหวานๆ เท่านั้นที่อยู่ในความทรงจำ เมื่อรู้ว่าจะได้ไปเยือนอีกครั้งก็ตื่นเต้นมากทีเดียว

แม้ระยะทางจากกรุงเทพฯไปที่นี่จะไม่ถึงกับไกลมากนัก ยิ่งนักปั่นสายทัวริ่งยิ่งบอกเลยว่าสบายๆ แต่ผมเลือกที่จะยัดจักรยานใส่รถแล้วมาปั่นแทน โดยจุดนัดพบที่กรุงเทพฯคือเชิงสะพานกรุงธน ผมเติมพลังด้วยก๋วยเตี๋ยวที่ร้านแถวนั้นก่อนออกเดินทาง หลังจากอิ่มท้องเราก็มุ่งหน้าสู่ดอนหอยหลอดทันที...

ไม่นานนักผมก็มาถึงสถานีอนามัยบ้านฉู่ฉี่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งนี้ จักรยานพับที่หยิบยืมน้ามาถูกลำเลียงออกจากท้ายรถ ผมคว้าหมวกกันน็อคมาสวม แล้วควานหาผ้าบัฟกับถุงมือที่น่าจะอยู่ในกระเป๋า

แต่ไม่เจอ! ผมรีบค้นหาทั้งสองอย่างอย่างตระหนก เพราะตอนนั้นคือบ่ายสองโมง พระอาทิตย์กำลังเดือดดาลทีเดียว ผมเองก็ไม่อยากหน้าไหม้มือไหม้ หรือถ้าเกิดอุบัติเหตุผมก็ไม่อยากมือแหกเพราะไม่สวมถุงมือ แต่จนแล้วจนรอดก็หาไม่เจอ พร้อมกับนึกได้ว่าน่าจะลืมไว้ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเมื่อกลางวัน จะกลับไปเอาก็ใช่เรื่อง เป็นไงเป็นกัน ปั่นทั้งอย่างนี้นี่ละ

ถนนที่นี่เป็นถนนสองเลน รถสวนกันไปมาเรื่อยๆ แต่ไม่มากนัก สำหรับนักปั่นคงชื่นชอบ แต่ที่หักมุมคือแม้รถน้อย ทว่าถนนไม่มีไหล่ทางให้จักรยานได้แอบอิง พอรถผ่านมาทีก็เสียววาบเพราะเรากับรถยนต์จะได้ใกล้ชิดสนิทสนมอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักปั่นมาที่นี่น้อยเหลือเกิน

จากสถานีอนามัยมาไม่ไกล ผมได้ลุ้นระทึกกับรถที่แล่นมาเฉียดสามสี่ครั้ง ก็ต้องโล่งใจเพราะเหลือบเห็น 'ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์' อยู่ทางขวามือ นอกจากจะได้พักหลบรถแล้ว ยังได้หลบร้อนด้วย

ในวันหยุดสุดสัปดาห์แบบนี้ นักท่องเที่ยวค่อนข้างหนาตา แต่ไม่เห็นนักปั่นให้ชื่นใจเลย ผมจึงกลายเป็นเป้าสายตา (หรือคิดไปเอง) เพราะเข็นจักรยานเข้าไปในนั้น ผมเข็นจักรยานไปรอบๆ เพื่อหาที่จอดจักรยาน สรุปว่าที่นี่ไม่มีที่จอดจักรยานครับ ต้องหาเสาหรืออะไรก็ตามที่จะจอดแล้วล็อกเอง แล้วผมก็เจอเสาที่ต้องการ แต่พอจะหยิบที่ล็อกจักรยานก็ได้พบความรู้สึกเดิมคือ 'เวิ้งว้างว่างเปล่า' ผมลืมเอาที่ล็อกจักรยานมาจากบ้าน ถือเป็นเรื่องผิดมหันต์สำหรับนักปั่นที่ฉายเดี่ยว เรียกได้ว่างานเข้าอย่างต่อเนื่อง

ผมลังเลอยู่นาน แล้วก็มองไปเห็นที่หลังศาลมีที่จุดประทัดแก้บน ตรงนั้นมีถังขยะวางเรียงและมีคุณลุงที่รับจุดประทัด หากจอดใกล้ถังขยะคงดูไม่มีราคา ไม่น่าขโมย (มั้ง) และอย่างน้อยก็มีคุณลุงคอยดูให้ (มั้ง)

จอดจักรยานเสร็จผมรีบขึ้นไปบนศาลซึ่งมีคนเดินเข้าเดินออกตลอดเวลา พอเข้าไปก็ได้กลิ่นควันธูปตลบอบอวลพร้อมกับกลิ่นกุหลาบเจือๆ นั่นเพราะคนเชื่อกันว่ากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือที่เรียกกันว่า เสด็จเตี่ย ท่านชอบดอกกุหลาบสีแดงมาก คนจึงนิยมนำดอกกุหลาบมาถวาย แต่ถ้าพูดถึงการแก้บนกับเสด็จเตี่ยคงหนีไม่พ้นเสียงที่กำลังโป้งป้างอยู่ด้านหลังศาล นั่นคือการจุดประทัด อาจเพราะท่านเป็นทหารคนจึงเชื่อกันอีกว่าท่านจะอบเสียงประทัดซึ่งคล้ายปืน (อืม...)

เมื่อนานมาแล้วผมเคยสอบเป็นนักเรียนนายร้อยทหารเรือ (แต่สอบไม่ติด) และเคยไปขอพรเสด็จเตี่ยที่จังหวัดชายทะเลสักแห่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่ที่ดอนหอยหลอดแห่งนี้ จึงสงสัยว่าทำไมถึงมีศาลและอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯอยู่หลายแห่งนัก แต่ความสงสัยของผมก็ถูกแทนที่ด้วยความวิตกว่าจักรยานจะหาย จึงรีบลงไปที่จอดจักรยานไว้ แล้วเข็นจักรยานเพื่อจะออกไปที่อื่นต่อ ทว่าก็ต้องสะดุดตากับป้าย 'พิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน' ชี้ไปทางอาคารหลังเล็กๆ ที่หลบมุมอยู่ท่ามกลางร้านรวง

ผมเข็นจักรยานไปหาที่จอดอีกครั้ง ไม่ทันไรคุณตาที่นั่งอยู่ข้างหน้าพิพิธภัณฑ์ก็พูดว่า "เชิญชมได้ครับ ไม่มีค่าใช้จ่าย พิงจักรยานตรงไหนก็ได้ครับ เดี๋ยวดูให้" เมื่อเชื้อเชิญขนาดนี้ มีหรือที่ผมจะไม่เข้าไปชม

ผมน่าจะเป็นมนุษย์คนเดียวที่เข้าไปในวันนั้น สถานที่เล็กๆ แบบนี้จึงมีที่ว่างให้ผมเดินไปมาอย่างสะดวกกายสบายใจ ในนั้นมีสิ่งของหลายอย่าง ป้ายข้อมูล และโทรทัศน์เครื่องเล็กๆ รูปทรงล้าสมัย เปิดวีดีทัศน์เกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรฯ นั่นทำให้ความสงสัยที่ผมเพิ่งลืมไปเมื่อกี้กลับมาอีกครั้ง แต่ก็ได้รับคำเฉลยจากสื่อที่แสนจะธรรมดาเหล่านี้...

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นเจ้านายพระองค์แรก ที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.2462 และทรงเป็นผู้บังคับการเรือนำเรือหลวงพระร่วง จากประเทศอังกฤษ เข้ามายังกรุงเทพฯ นับเป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทยเดินเรือรบหลวงไกลข้ามทวีป ต่อมาทรงสิ้นพระชนม์ในขณะที่ประทับพักผ่อนอยู่ที่หาดทรายรี ปากน้ำเมืองชุมพร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2466

ที่แห่งนี้ก็เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่มีการสร้างศาลเสด็จเตี่ย ไว้เพื่อสักการะบูชาบริเวณริมชายทะเลติดกับดอนหอยหลอด โดยสถานที่นี้ได้ก่อตั้งขึ้นใหม่ในปีพ.ศ. 2539 แทนศาลเดิมจากพลังแห่งความศรัทธาของประชาชนในจังหวัด เพื่อแสดงถึงความเคารพรักและสักการบูชาอันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ในการการประกอบอาชีพประมงตามแนวชายฝั่งทะเล นั่นคือความผูกพันของชาวทะเลกับเสด็จเตี่ย

แม้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่ได้สร้างขึ้นอย่างหรูหราอลังการ แต่ความธรรมดานี้เองทำให้ผมเห็นถึงความพยายามของผู้สร้างและดูแล ที่ต้องการให้แขกไปใครมาได้รู้จักดอนหอยหลอดและเสด็จเตี่ยอย่างแท้จริง แต่ก็อดสะท้อนใจไม่ได้ที่คุณตาผู้เฝ้าประตูบอกผมว่าไม่ค่อยมีคนสนใจเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์นี้ แม้แต่คนในท้องถิ่นเองก็ไม่ค่อยใส่ใจ นานทีจะมีโรงเรียนพานักเรียนมาเยี่ยมชมบ้างประปราย

ผมจบเส้นทางปั่นครั้งนี้อย่างรวดเร็ว มันเป็นเส้นทางที่แสนสั้น อาจเพราะความไม่พร้อมหลายอย่าง ทั้งลืมอุปกรณ์ ลืมที่ล็อก ลืมอะไรต่อมิอะไร แต่สิ่งหนึ่งซึ่งผมไม่อยากให้คนที่ดอนหอยหลอดลืม นั่นคือ ที่นี่มีของดี ที่นี่มีรากเหง้า แต่คนที่นี่กำลังจะลืมมันไปหรือเปล่า