เหลียวหลัง แลหน้า 50 ปี "สังคมศาสตร์ปริทัศน์"

เหลียวหลัง แลหน้า 50 ปี "สังคมศาสตร์ปริทัศน์"

“เหลียวหลังแลหน้า 50 ปีสังคมศาสตร์ปริทัศน์" 15 มิถุนายน 2556 เวลา 14.30 น. ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

หากย้อนเวลากลับไป 50 ปี ในแวดวงของปัญญาชน นักศึกษา นักวิชาการที่สนใจสังคมนั้น มีน้อยคนที่จะไม่รู้จักวารสารที่มีชื่อว่า “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ซึ่งปรากฏโฉมเผยแพร่วางจำหน่ายออกสู่สายตาสาธารณะในเดือนมิถุนายน 2506 เป็นฉบับแรกก่อนหน้าจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมเพียง 5 เดือน โดยมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการคนแรก และสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของ ได้ส่งผลสะเทือนทางความคิดทางสังคมและทางการเมืองอย่างสำคัญและลึกซึ้งชนิดที่อาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีสิ่งพิมพ์ฉบับใดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่เคยทำได้เยี่ยงนั้นมาก่อน ซึ่งเมื่อครั้งสังคมศาสตร์ปริทัศน์ครบรอบ 5 ปีนั้น พระเจ้าวรวงค์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงค์ประพันธ์ ผู้ประทานนามและกำเนิด สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ได้เขียนไว้ในคำนำถึงจุดก่อเกิดของวารสารฉบับนี้ว่า

“สาราณียกร สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เคยชี้แจงวัตถุประสงค์ของสมาคมในการออก “ปริทัศน์” นี้ว่า ต้องการให้ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมศาสตร์โดยตรง หรือทั่ว ๆ ไป ที่เป็นที่น่าสนใจในสังคมก็ตาม การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ได้เจริญก้าวหน้าไปเป็นอันมากและได้เกิดปัญญาชนเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมไทยขึ้นแล้ว ความคิดเห็นของเขาจะมีอิทธิพลต่ออนาคตของประเทศมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เราจึงควรช่วยกันให้โอกาสเขาแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวม”

การที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ อยู่เป็นระยะเวลา 6 ปี (2506 - 2512) ซึ่งเป็นช่วงปลายสมัยยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับต้นยุคถนอม กิตติขจร ถือเป็นการกุมบังเหียน "ปริทัศน์" ที่ส่งผลสะท้อนถึงอุดมคติทางการเมือง และบุคลิกลักษณะของตัวบรรณาธิการอย่างชัดเจน ดังปรากฏว่าในบทนำของ "ปริทัศน์" ฉบับที่ 2 ปีที่ 1 ว่า...

“จุดประสงค์ประการแรกของหนังสือนี้ มีเพื่อจูงใจให้คนไทยรักชาติ เราจะไม่ใช้วิธีเขียนคำขวัญ หรือแต่งเพลงปลุกใจ เพราะไม่มีความสามารถที่จะทำได้ วิธีการอันเราจะเร้าใจให้เกิดความรักชาตินั้น ก็ด้วยนำความจริง ความดี ความงามของชาติมาเสนอ ให้พวกเรารู้จักชาติเราเองอย่างถูกต้องถ่องแท้ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องประกอบด้วยความกล้า กล้าท้าทายต่อสิ่งซึ่งเราเห็นว่าเลวทรามต่ำช้า หรือสิ่งซึ่งเป็นอัปลักษณ์ต่อชาติของเรา”

อาจกล่าวได้ว่าบทบาทที่สำคัญที่สุดของ “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” และ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” คือการสร้างหรือเปิดพื้นที่สาธารณะให้ปัญญาชนของสังคมไทยต่างรุ่น ต่างสถานะ ต่างอุดมการณ์แนวคิด มาสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันอย่างเสรีและเปิดกว้าง ความคิดและบทนำอันเฉียบคมของสุลักษณ์นั้นมีความสำคัญในตัวมันเอง แต่เขาคนเดียวย่อมไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงทางปัญญาให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยได้อย่างแท้จริง เครือข่ายของปัญญาชนที่สุลักษณ์สร้างขึ้นต่างหากที่สำคัญกว่า และทำให้ความตื่นตัวที่เริ่มขึ้นได้รับการสืบทอดไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเขาจะออกจากตำแหน่งบรรณาธิการไปในปี 2512

บรรณาธิการคนที่สอง สุชาติ สวัสดิ์ศรี เข้ามาเป็นบรรณาธิการ "สังคมศาสตร์ปริทัศน์" ต่อจากอาจารย์สุลักษณ์ เป็นช่วงที่เขามีอายุเพียง 25 ปี เขาได้อาศัยเครือข่ายปัญญาชนที่สุลักษณ์สร้างเอาไว้อย่างดีแล้วในการติดต่อขอต้นฉบับมาตีพิมพ์ ในระยะแรกที่เขาเข้ามารับผิดชอบแนวทางของหนังสือมีความสืบเนื่องจากยุคที่สุลักษณ์เป็นบรรณาธิการ ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการเปลี่ยนจากนิตยสารรายสามเดือนเป็นรายเดือนเมื่อขึ้นปี 2515 ทำให้เนื้อหาของหนังสือมีลักษณะเป็นประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมืองปัจจุบันมากขึ้น ในยุคนี้มีการตีพิมพ์ผลงานของนักศึกษามากขึ้น รวมทั้งนักเรียนนอกหลายคนก็มีบทบาท อาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชัยอนันต์ สมุทรวณิช ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รวมทั้ง สุรพงษ์ ชัยนาม ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่นำแนวคิดเรื่อง “ซ้ายใหม่” หรือ สังคมนิยมประชาธิปไตยมานำเสนอ

สุชาติ ได้เล่าให้ฟังเมื่อครั้งที่ตนได้ทำสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ว่า “อาจารย์สุลักษณ์ไว้วางใจผมให้ผมเป็นบรรณาธิการคนต่อมา ทั้งๆ ที่ผมมีความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ผมจะต้องมาแบกรับความเป็นตัวตน แบกรับเอกลักษณ์ ของ ส. ศิวรักษ์ ซึ่งท่านเป็นปัญญาชนที่ทุกท่านรู้จักกันในขณะนั้น ถ้าเปิดอ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์สมัยที่ผมเป็นบรรณาธิการสืบต่อจากท่าน ผมไม่กล้าเขียนบทนำ เพราะบทนำของ ส. ศิวรักษ์ เข้มข้น ดุเดือด ผมพยายามจะเป็นสุลักษณ์น้อยอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าล้มเหลว ก็ต้องใช้เวลาอยู่ประมาณหนึ่งปี ถึงจะกล้าเขียนบทนำบทหนึ่ง"

“สมัยที่ทำผมช่วยอาจารย์สุลักษณ์ทำสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ได้ก่อเกิด สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิต-นักศึกษา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญมาก สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิต-นักศึกษา ฉบับปฐมฤกษ์ ถ้าผมจำไม่ผิดประมาณปีพ.ศ.2509 เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นิสิตปริญญาโทคนหนึ่งที่ชื่อ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใช้เป็นพื้นที่วิพากษ์-วิจารณ์สถาบันการศึกษาของตัวเองอย่างหาอ่านที่ไหนไม่ได้ในสมัยนั้น ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้เหมือนเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดต่างไปจากกระแสหลักของสังคมในรุ่นนั้น ถ้าไปที่ไหนไม่ได้ให้มาที่นี่”

ในวาระ 50 ปีของวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ถือเป็นโอกาสอันเหมาะควรที่เราจะย้อนปริทัศน์ตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์ บทบาท มรดกตกทอดทางปัญญาและการเมืองวัฒนธรรม ที่วารสารอันเป็นตำนานเล่มนี้ทิ้งไว้ให้กับสังคมไทย มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จึงร่วมกับสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์จัดการแสดงปาฐกถาหัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า 50 ปีสังคมศาสตร์ปริทัศน์” ซึ่งได้เชิญ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นผู้นำเสนอความคิดที่ก่อให้เกิดคุณค่าของวารสาร “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” กับสังคมไทย

“เหลียวหลังแลหน้า 50 ปีสังคมศาสตร์ปริทัศน์" จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2556 เวลา 14.30 น. ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โทร.0 2860 1277 ถึง 8 และ 086 763 6644 หรือที่สยามสมาคม โทร.0 2661 6470 (สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS สถานีอโศก และรถใต้ดิน MRT สถานีสุขุมวิท)