งดงามในความหมาย 'สงกรานต์มอญสังขละบุรี'

งดงามในความหมาย 'สงกรานต์มอญสังขละบุรี'

ประเพณีสงกรานต์ของชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีชื่อเสียงในฐานะ "สินค้า" การท่องเที่ยวระดับคุณภาพ

พร้อมๆ กับความพยายามของชาวถิ่นที่ยังรักษาวิถีปฏิบัติอันงดงามและเต็มไปด้วยความหมาย

. . .

ท่ามกลางบรรยากาศเทศกาล "สงกรานต์" ตามเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ที่นับวันจะถูกลดทอนความหมายและคุณค่า กลายเป็นเพียงช่วงเวลาของความสนุกสนานบันเทิง ที่หลายครั้งเลยเถิดการปลดปล่อยความดิบเถื่อนในจิตใจอย่างไร้กฎไร้กรอบ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญที่สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ยังคงรักษาประเพณีสงกรานต์ที่งดงามตามแบบที่บรรพบุรุษได้ถือปฏิบัติกันมา ท่ามกลางกระแสโลกที่ไหลแรง "สงกรานต์มอญสังขละฯ" อาจเป็นที่มั่นแห่งท้ายๆ ที่ยังรักษาความหมายของประเพณีสงกรานต์

สงกรานต์หลากสี ประเพณีมอญสังขละฯ

พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม อันเป็นศูนย์กลางของการจัดประเพณีสงกรานต์มอญสังขละฯ เล่าว่า ประเพณีสงกรานต์มอญที่วัดจะถือเอาวันสงกรานต์ตามปฏิทินสงกรานต์ ซึ่งอาจจะตรงกันหรือคลาดกันเล็กน้อยกับวันสงกรานต์ในส่วนกลาง โดยจะจัดต่อเนื่อง 5 วัน ตั้งแต่วันแรกคือ "วันสงกรานต์ลง" ตามความเชื่อว่า "นางสงกรานต์" จะลงจากสวรรค์มาสู่โลก วันที่สองเรียกว่า "วันคาบปี" หรือวันสิ้นปี วันที่สามเรียกว่า "วันสงกรานต์ขึ้น" หรือวันที่นางสงกรานต์กลับขึ้นสวรรค์ วันที่สี่เป็นวันสรงน้ำพระ จะมีกิจกรรมขอขมาพระ อาบน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ และวันที่้ห้าเป็นวันแห่ผ้าป่า ยกฉัตรเจดีย์ทราย กรวดน้ำ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ

"ประเพณีสงกรานต์ที่นี่จะเริ่มตั้งแต่รู้วันสงกรานต์ลงทางวัดก็จะประกาศชาวบ้านให้ชาวบ้านรู้ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันนั้นชาวบ้านก็จะมาสวดมนต์ที่วัดจนถึงกลางคืน พอวันสงกรานต์ลง หรือวันคาบปี ไปจนถึงวันขึ้นปีใหม่กิจกรรมส่วนใหญ่ของคนที่นี่ก็คือพวกผู้ใหญ่จะมานอนค้างถือศีลที่วัด ช่วงสายๆ ลูกๆ ก็จะมาส่งสำรับกับข้าวให้พ่อแม่ ลักษณะคล้ายๆ โตก สำหรับพ่อ 1 ชุด แม่ 1 ชุด ให้วัด 1 ชุด พระเณรก็ได้ฉันด้วย พอส่งข้าวเสร็จเดินกลับบ้านก็จะเริ่มเล่นน้ำกัน เด็กๆ จะเริ่มไปดักสาดน้ำตามถนน ตอนเย็นก็จะเข้าวัดอีกรอบเอาน้ำไปอาบให้พ่อแม่ หรือมาเจอพ่อแม่คนอื่น เจอญาติ เจอคนรู้จัก ก็ไปอาบไปรดด้วย"

บางธรรมเนียมปฏิบัติที่พบเห็นได้เฉพาะในเทศกาลสงกรานต์มอญที่สังขละฯ อาทิ การที่ผู้ชายหลายวัยนับหลายสิบ นั่งตั้งแถวเรียงราย 2 ฝั่งซ้ายขวาจากพุทธคยาเจดีย์ เป็นระยะทางกว่า 30 เมตร ก่อนทอดตัวทาบพื้นสละแผ่นหลังเป็นสะพานมนุษย์ให้พระสงฆ์ก้าวเดินสู่ที่นั่งรับน้ำ และการสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ผ่านลำไม้ไผ่ที่แยกแขนงออกเป็นหลายสาย เพื่อให้ชาวชุมชนนับร้อยนับพันได้สรงน้ำพระพร้อมๆ กันอย่างทั่วถึง เป็นการ "สรงน้ำ" ในความหมายของการ "อาบน้ำ" แบบเอาเนื้อหาสาระ เปียกจริง สะอาดจริง และหอมจริงด้วยน้ำที่เจือด้วยเครื่องหอม

"ที่มาของการให้พระเหยียบหลังเกิดจากชาวบ้านศรัทธาในหลวงพ่ออุตตมะก็เลยขอให้ท่านเหยียบ ก็เลยเกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นมาประมาณ 30 ปีแล้ว ปัจจุบันก็ให้พระที่พรรษาสูงๆ เหยียบแทน ส่วนการสรงน้ำพระจากรางไม้ไผ่เป็นเพราะคนมากันเยอะก็เลยต้องทำรางไม้ไผ่แยกเป็นสาขาออกไปเพื่อให้รดน้ำได้ทั่วถึง ที่วัดนี้จะใช้รางไม้ไผ่เท่านั้น ไม่ใช้ท่อพลาสติก หรือท่อพีวีซี เพราะหลวงพ่อเคยบอกว่างานมีแค่ปีละครั้ง ให้ใช้ไม้ไผ่มาทำรางใหม่ทุกปี นี่ก็เป็นกุศโลบายให้ชาวบ้านได้มาร่วมแรงกัน ทำให้เกิดความเสียสละ ความสามัคคีกลมเกลียวกัน" เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม เล่า

ตำนานการให้พระเหยียบหลังเดินไปรับน้ำสรง ยังโยงไปถึงคติในพระพุทธศาสนาที่ว่า ในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า ขณะนั้นพระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าในยุคปัจจุบัน) ได้เสวยพระชาติเป็นดาบสชื่อ "สุเมธะ" ครั้งหนึ่งชาวบ้านช่วยกันถางทางให้เรียบเพื่อต้อนรับพระธีปังกรพุทธเจ้า สุเมธะดาบสก็ขอลงแรงร่วมด้วย ครั้นเมื่อพระธีปังกรพุทธเจ้าเสด็จมาถึงพื้นดินยังเหลือเป็นโคลนอยู่ สุเมธะดาบสจึงได้นอนทอดตนเป็นสะพานให้พระธีปังกรพุทธเจ้าข้ามไปพร้อมทั้งอธิษฐานจิตขอให้ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าต่อไป จึงได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า พระนามว่า "พระโคตมพุทธเจ้า"

เช้าวันสุดท้าย ขบวนผ้าป่าที่ประกอบไปด้วยปัจจัย ข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกิน แห่ไปถวายวัด พร้อมกับเสียงแตรวงที่บรรเลงเพลงจังหวะเร้าใจ ให้ออกลีลาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปตลอดทาง สาวน้อยสาวใหญ่นอกจากจะ "เทิน" ถาดอาหารสำหรับถวายพระ บางคนยังถือขันใบใหญ่ใส่เหรียญเงินและลูกอมไว้โปรยทานให้เด็กๆ ชิงกันเก็บเป็นที่ครึกครื้นไปตลอดทาง เมื่อกองผ้าป่าและกับข้าวถึงวัดเรียบร้อย ชาวบ้านจะแห่ฉัตรไปทำพิธียกฉัตรเจดีย์ทราย เสร็จแล้วกลับไปที่วัดอีกครั้งเพื่อถวายเพลพระ ถวายผ้าป่า กรวดน้ำ เป็นอันเสร็จพิธี

ยังงดงามในความหมาย

"คนมอญอยู่กับศาสนาพุทธและผีบรรพบุรุษ ก็จะมีการทำบุญ ทำทาน เข้าวัด ถือศีลเป็นปกติอยู่แล้ว แต่สงกรานต์ก็เป็นการผสมผสานเรื่องของฮินดูเข้ามา เรื่องของการเปลี่ยนปีใหม่ ศักราชใหม่ เป็นเทศกาลใหญ่ บางคนก็จะหยุดงานไปทำบุญติดต่อกัน 5-7 วัน ถือว่าเป็นเทศกาลของทุกคน เป็นวันครอบครัวพ่อแม่ลูกหลานปู่ย่าตายาย ลูกหลาน พี่น้องเพื่อน ชุมชน แม้แต่คนที่ล่วงลับไปแล้ว การไหว้ผีบ้านผีเรือนก็ไหว้ในเทศกาลสงกรานต์ด้วย สงกรานต์ก็เลยเป็นเทศกาลที่สำคัญมากสำหรับคนมอญ" องค์ บรรจุน ชาวไทยเชื้อสายมอญและนักวิชาการอิสระด้านมอญศึกษา กล่าว

"คนมอญจะรู้สึกภูมิใจในชาติพันธุ์ของเราที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี เราก็ได้รับการปลูกฝังมารุ่นต่อรุ่น ยิ่งเมื่อได้ศึกษาก็พบว่าการที่เราไม่มีประเทศเพราะถูกข้าศึกกระทำย่ำยี เราต้องหนีมาเมืองไทย บางส่วนก็ไปเวียดนาม ไปลาวก็มี ส่วนหนึ่งเราภูมิใจในวัฒนธรรมของเรา แต่บางทีก็น้อยใจ อาย ว่าทำไมเราไม่มีประเทศเพื่อจะเก็บศิลปวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองในอดีต เราก็เลยพยายามจะเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้"

นักวิชาการมอญศึกษา ระบุว่า ชุมชนชาวมอญที่สังขละบุรีเกิดจากชาวมอญที่อพยพเข้ามาหลังจากที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษตั้งแต่ปีพ.ศ.2491 เป็นต้นมา โดยมี "หลวงพ่ออุตตมะ" เป็นผู้รวบรวมให้อยู่เป็นหมู่บ้านเป็นชุมชนและมีการอพยพเข้ามาเป็นระยะต่อเนื่อง ส่วนใหญ่อพยพมาจากตอนใต้ของพม่า เช่น เมืองเร (พม่าเรียกเมืองเย) มะละแหม่ง สะปุ มุเดิง ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอสังขละบุรีเพียงทิวเขาคั่น ทำให้ยังมีความใกล้ชิดทางภาษา ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ กับคนมอญในประเทศพม่า มากกว่าชุมชนมอญในประเทศไทยแห่งอื่นๆ

เนื่องจากชุมชนมอญที่สังขละฯ ยังมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับชุมชนมอญใน "เมืองมอญ" ประเทศพม่า หรือที่เรียกว่า "มอญเมืองโน้น" อยู่มาก ทั้งภาษา การแต่งกาย ความคิด ความเชื่อ วิถีปฏิบัติ ทำให้ยังคงรักษาเนื้อหาของประเพณีไว้ได้ ขณะที่ชุมชน "มอญเมืองไทย" หลายแห่ง ที่หันไปให้ความสำคัญกับ "รูปแบบ" เช่น การแต่งกาย อาหารการกิน สิ่งที่ปรากฎภายนอก และความสนุกสนานของการละเล่นมากกว่า

"สิ่งที่หายไปจากสงกรานต์มอญในบางพื้นที่คือ เรื่องของการคิดถึงคนอื่น ความหมายของสงกรานต์เป็นเรื่องของการช่วยเหลือ เรื่องของการอาสา อย่างเรื่องการปล่อยนกปล่อยปลาเดี๋ยวนี้ก็เป็นการซื้อปลามาใส่โหลแล้วแห่เอาไปปล่อย แห่ตอนเที่ยงๆ บ่ายๆ บางทีปลามันก็จะตายเอา แต่เมื่อก่อนเขาจะไปช่วยปลาจริงๆ ปลาที่ตกคลั่กอยู่ตามท้องร่องท้องนา หรือแม้แต่การสะเดาะเคราะห์ ก็จะเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ เช่น เอาไม้ไปค้ำต้นโพ หาไม้ไปปูร่องน้ำ ทำสะพาน เปลี่ยนไม้สะพานที่ผุ ตัดหญ้า ถางทางเดินให้สะอาด ซึ่งมันเป็นประโยชน์กับชุมชนจริงๆ เป็นการคิดถึงคนอื่นมากกว่าคิดถึงตนเอง มากกว่าจะคิดว่าแต่งตัวยังไงให้สวย ไปเล่นน้ำที่ไหนถึงจะสนุก"

"ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาผมเข้าไปชุมชนมอญบางที่ในพม่าอย่าง ย่างกุ้ง หงสาวดี เมาะตะมะ มุเดิง สะปุ มะละแหม่ง จากเดิมที่เรามองว่าพม่ายังมีความเข้มแข็งในเรื่องวัฒนธรรม แต่วันสงกรานต์วัยรุ่นนัดกันแต่งขาวดำ นุ่งยีนส์ แต่งหน้า ใส่วิก เขียนหน้าแบบผีฝรั่ง ขึ้นรถกระบะไปหาที่เล่นน้ำกัน เหล้าเริ่มเข้ามา การเล่นสาดน้ำก็เริ่มแรงขึ้น เปิดเพลงเสียงดังๆ ดิ้น ดื่ม และก็สาดน้ำกัน ก็อดคิดไม่ได้ว่าได้มาจากเมืองไทยหรือเปล่า เรื่องการไปวัดทำบุญกลายเป็นของคนแก่ไป แต่เท่าที่ดูมอญสังขละยังให้ความสำคัญกับเนื้อหาอยู่เยอะ" นักวิชาการมอญศึกษา สรุป

ในยุคที่ "สงกรานต์" ในกรุงเทพฯ คือวันอันตรายแห่งการละเมิดกฎหมายและสิทธิผู้อื่นอย่างที่เห็นกันดาษดื่น อาจมีสักวันที่เราต้องไปอาราธนา "ประเพณีสงกรานต์มอญ" ที่งดงามและเปี่ยมความหมายจากชาวสังขละบุรี เพื่อมาต่อลมหายใจให้ "สงกรานต์เมือง" ที่แทบจะสิ้นสูญไปแล้วตลอดกาล