เรื่อง(ไม่)ลับ 'ฉลากลวง'

เรื่อง(ไม่)ลับ 'ฉลากลวง'

เคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่าคุณใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกซื้ออาหารตามร้านสะดวกซื้อ? รสชาติ ราคา บรรจุภัณฑ์ ปริมาณ หรือส่วนประกอบ ถ้าลองดูอย่างหลังคุณอาจแปลกใจกับข้อมูลที่เห็นบนฉลาก

รู้หรือไม่ว่า 'ปูอัด' ที่หลายคนชอบกินคู่กับวาซาบิรสเผ็ดร้อน ไม่มีส่วนผสมของเนื้อปูอยู่แม้แต่น้อย แต่ทำมาจากเนื้อปลาและแป้งเป็นหลัก หรือ 'เบอร์เกอร์หมู' ที่คุ้นเคยกลับไม่ใช่เนื้อหมูล้วนๆ อย่างที่ต้องการแต่ถูกแทนที่ด้วยเนื้อไก่เกือบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ แม้แต่อาหารที่ใกล้ตัวและ 'กินสะดวก' ยังมีส่วนผสมที่ผิดคาดไปได้ขนาดนี้ แล้วอาหารอื่นๆ ที่คนไทยบริโภคอยู่ทุกวันจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่มีสิ่งปลอมปน คำถามต่อมาคือ จริงๆ แล้วเรารู้อะไรเกี่ยวกับอาหารที่เรากินเข้าไปบ้าง

ไม่นานมานี้ สำนักข่าวทั้งในและต่างประเทศได้นำเสนอประเด็นอื้อฉาวเกี่ยวกับอาหารปลอมปนเนื้อม้าที่ลุกลามไปทั่วยุโรปจนต้องมีการตรวจยึดเนื้อขายส่งถึง 79 ตัน เริ่มจากกรณีที่พบดีเอ็นเอเนื้อม้าปลอมปนอยู่ในเบอร์เกอร์เนื้อวัวที่วางจำหน่ายในอังกฤษและไอร์แลนด์ ต่อมามีการตรวจพบในอาหารอื่นๆ เช่น พาสต้าเนื้อ ลาซานญา มีตบอล ไส้กรอกเนื้อ ที่วางขายในสเปน อิตาลี โปรตุเกส เยอรมนี และรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภค ห้างสรรพสินค้า และผู้ผลิตใหญ่หลายราย

ว่ากันว่าหนึ่งในนั้นที่โดนหางเลขไปด้วยคือ บริษัท เนสท์เล่ ผู้จำหน่ายอาหารรายใหญ่ที่สุดในโลกที่ต้องสั่งถอดผลิตภัณฑ์บางอย่างออกจากการวางจำหน่าย อีกทั้งมีถ้อยแถลงจากทางการรัสเซียระบุว่า แม้รัสเซียจะมีวัฒนธรรมการกินเนื้อม้า แต่ปัญหาสำคัญคือไส้กรอกปลอมปนดังกล่าวไม่มีการติดฉลากอย่างชัดเจนว่ามันทำจากอะไรและมาจากแหล่งใด อาจมีการนำสัตว์ที่ป่วยมาผลิตก็เป็นได้

จากเหตุการณ์นี้ เห็นได้ชัดว่าปัญหาเรื่องอาหารปลอมปนยังคงเป็นปัญหาคลาสสิกที่ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่ามุมไหนของโลก รวมถึงในประเทศไทยเองที่วันนี้ยังมีการตรวจพบว่าอาหารแช่แข็งตามร้านสะดวกซื้อมีการปลอมปนเนื้อสัตว์อื่นที่ไม่ตรงกับชื่อสินค้าอยู่หลายยี่ห้อ

  • ชื่อหลอก บอกไม่ครบ

คนไทยส่วนใหญ่มักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการอ่านส่วนประกอบของอาหารสักเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะความขี้เกรงใจ ไม่เรื่องมากของคนไทย ที่เป็นพฤติกรรมฝังรากลึกจนกลายเป็นวัฒนธรรม 'อะไรก็ได้' ไปในที่สุด นับประสาอะไรกับเรื่องจุกจิกบนฉลากผลิตภัณฑ์ วิธีการเลือกจับจ่ายของคนสมัยนี้จะมีสักกี่คนที่มายืนดูส่วนประกอบ ตรา อย. ปริมาณยี่ห้อไหนมากน้อยกว่ากัน หรือมาคอยพิจารณาว่าคุณภาพเหมาะสมกับราคาแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้และอยากชวนคนไทยหันมาใส่ใจอ่านฉลากกันมากขึ้น

โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นทีมงานหนึ่งที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทัน เนื่องจากพบว่ามีผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนมากที่ไม่ระบุข้อมูลในส่วนประกอบสำคัญบนบรรจุภัณฑ์ หรือระบุข้อมูลอันเป็นเท็จ อีกทั้งยังเข้าข่ายหลอกลวงให้หลงเชื่อและเข้าใจผิดในสาระสำคัญ โดยปัญหาที่พบมี 3 ประเภทหลักๆ คือ การแสดงรายชื่ออาหารกับประเภทเนื้อสัตว์ที่ผสมไม่ตรงกัน, ชื่อส่วนประกอบอาหารภาษาไทยและอังกฤษไม่ตรงกัน และส่วนประกอบอาหารคลุมเครือ ไม่แสดงรายละเอียดชัดเจน

พชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ บอกเล่าถึงสถานการณ์การปลอมปนอาหารว่า จากกรณีตรวจพบดีเอ็นเอของเนื้อม้าในเบอร์เกอร์ของกลุ่มประเทศยุโรปกลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้ผู้บริโภคไทยบางส่วนแจ้งข้อมูลเรื่องฉลากอาหารที่มีส่วนผสมที่ทำให้ผู้บริโภคสับสนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางโครงการจึงได้ร่วมกับศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ทดสอบการแสดงชื่ออาหารและส่วนประกอบของอาหารประเภทพร้อมบริโภคชนิดแช่เย็นบนชั้นวางสินค้าของร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 76 รายการ

พบว่าสินค้าส่วนใหญ่ระบุคำว่า “ผลิต” และ “หมดอายุ” เป็นภาษาไทย และส่วนประกอบอย่างชัดเจนทำให้เข้าใจได้ง่าย มี 29 รายการที่ฉลากแสดงชื่ออาหารได้อย่างเหมาะสมกับส่วนประกอบที่มีอยู่บนฉลาก แต่อีก 47 รายการ แสดงชื่ออาหารที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ โดยชื่ออาหารแจ้งว่าเป็นหมู กุ้ง ปู หรือ ปลาหมึก แต่กลับมีส่วนประกอบของเนื้ออื่นในปริมาณที่ใกล้เคียงกับเนื้อที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลัก

ยกตัวอย่าง เช่น มูส เดอ ฟัว (ตับหมูบดนึ่ง) ตราคาสิโน แสดงส่วนประกอบ ตับหมู 30%, ไขมัน 30%, หนังหมู 10% และเกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นสำเร็จรูป ไส้หมูสาหร่าย ตรา โออิชิ เกี๊ยวซ่า ฉลากระบุว่า มีส่วนประกอบของ เนื้อหมูและเนื้อกุ้ง (เนื้อหมู 46%, แป้ง 32% ผัก(หอมใหญ่/ผักชี/แครอท) 12%, เนื้อกุ้ง 6%) ,เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่น ไส้หมู ตรา สุรพลฟูดส์ Pork Gyoza ที่มีส่วนประกอบของเนื้อหมู และเนื้อไก่(ผัก 27.1%, แป้งเกี๊ยว 22.8 %,เนื้อหมู 21.3%,เนื้อไก่ 15.4 %)และลูกชิ้นหมูปิ้ง ตราเซเว่นเฟรช บายแฮปปี้เชพ ที่ระบุส่วนประกอบโดยใช้แค่คำว่า 'เนื้อสัตว์' ทั้งๆ ที่ชื่อระบุว่าเป็นลูกชิ้นหมูปิ้ง

"ถึงแม้ผู้ประกอบการจะระบุส่วนประกอบไว้บนฉลากแล้วว่ามีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่กล่าวอ้างบนชื่ออาหาร แต่พฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็อาจจะตัดสินใจจากชื่ออาหารที่อยู่ด้านหน้าและชัดเจนบนผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการแสดงชื่ออาหารที่ถูกต้องสมควรจะต้องระบุให้ชัดเจน และครอบคลุมถึงส่วนประกอบหลักที่สำคัญทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการนำเนื้อสัตว์ต่างชนิดกันมาผสมกันและทำเป็นอาหาร เช่น ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ที่มีส่วนประกอบของเนื้อไก่ ก็น่าจะระบุชื่ออาหารว่า 'ข้าวเหนียวหมูปิ้ง(ผสมไก่)' หรือมีคำเตือนแสดงอยู่ในจุดที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีการใช้เนื้อสัตว์อื่นมาผสม"

  • สิทธิที่จะ(เลือก)กิน

แม้ว่าฉลากลวงบนผลิตภัณฑ์จะดูเป็นเรื่องหยุมหยิม แต่การระบุข้อมูลที่ไม่ชัดเจนอาจจะก่อให้เกิดปัญหากับผู้บริโภคบางกลุ่มได้ เช่น ผู้บริโภคที่แพ้เนื้อไก่ เนื้อกุ้ง เนื้อปลา หรือมีปัญหาทางสุขภาพทำให้ไม่สามารถบริโภคเนื้อสัตว์บางประเภทได้ หากเผลอไปทานอาหารที่มีการผสมเนื้อนั้นโดยเข้าใจว่ามีเพียงเนื้อสัตว์ตามที่แจ้งหน้าซองเป็นส่วนประกอบก็อาจจะเกิดปัญหา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างมากสำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้

รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้มุมมองว่า ฉลากอาหารควรระบุส่วนผสมให้ชัดเจนว่าอาหารมีส่วนผสมอะไรบ้าง เช่น หากในขนมจีบมีส่วนผสมของกุ้ง ก็ต้องบอกว่ามีกุ้ง เพราะคนที่แพ้กุ้งจะได้ทราบและเลือกอย่างอื่นแทนได้ หรือบางคนไม่ทานเนื้อวัวหรือเนื้อหมู แต่อาหารบางชนิดใส่เนื้อหมูเพื่อช่วยเรื่องสีหรือรสสัมผัสของอาหาร หากฉลากไม่ตรงตามข้อมูลก็จะเป็นการรุกรานสิทธิของผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรับทราบในสิ่งที่ตนเองรับประทาน ฉะนั้นการแสดงฉลากต้องชัดเจน คำแสดงบางคำบนฉลาก เช่น คำภาษาต่างชาติกับคำภาษาไทยต้องตรงกัน เป็นต้น ผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อความปลอดภัยในการบริโภค

อีกหนึ่งทัศนะ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้จัดการโครงการกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี บอกว่า จากกรณีนี้จะเห็นถึงกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ ภายใต้ระบบการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรมว่ามีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ อาหารปรุงสำเร็จ อาหารแปรรูปมีให้เลือกมากมายในท้องตลาด แต่ผู้บริโภคแทบไม่รู้เลยว่ากระบวนการผลิตเป็นอย่างไร ตอนนี้ทางมูลนิธิฯ พบว่ามีการเรียกชื่อผลิตภัณฑ์อาหารว่าเป็นเนื้อสัตว์ชนิดหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงตามระบุในฉลากกลับมีส่วนผสมเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย ปรากฎการณ์เบอร์เกอร์มี DNA เนื้อม้าในประเทศอังกฤษน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่เตือนภัยให้เราได้ว่า เอาเข้าจริงส่วนผสมที่ระบุในฉลากก็อาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้เช่นกัน

ไม่เฉพาะฝั่งผู้บริโภคเท่านั้นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเลือกซื้ออาหารเพื่อให้ได้อาหารที่ถูกต้องตามฉลาก แต่ฝั่งขององค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง อย. ก็มีการตรวจสอบเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

จุรีรัตน์ ห่อเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้ความรู้ว่า มีกฎหมายว่าด้วยเรื่องฉลากที่ระบุว่าส่วนผสมและชื่ออาหารที่ปรากฏบนฉลากต้องไม่เป็นเท็จ ตัวอย่างอาหารที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสำรวจมานั้น ผู้ประกอบการใช้วัตถุดิบที่ไม่ตรงกับชื่อ ซึ่งการจะนำชื่ออาหารมาใช้บนฉลากต้องใส่ส่วนผสมนั้นจริงและมีปริมาณมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของส่วนผสมทั้งหมด และสอดคล้องกับการแสดงส่วนผสมในฉลาก อย่างเช่น อาหารชื่อ เบอร์เกอร์หมูย่าง ที่ฉลากแสดงส่วนผสมว่ามี 'ข้าวเหนียว 67.7 เปอร์เซ็นต์, เนื้อหมู 14 เปอร์เซ็นต์ , เนื้อไก่ 12 เปอร์เซ็นต์' จะเห็นว่าเป็นการใช้ชื่ออาหารที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นเบอร์เกอร์หมูย่างแต่มีไก่ผสมด้วย

  • ปรับเพื่อเปลี่ยน

ทางออกของเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคให้ใส่ใจกับการอ่านฉลากให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ในทางกฎหมายก็ต้องเข้มงวดและเอาจริงกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดให้มากขึ้น

ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งฯ บอกว่า ในทางกฎหมาย อาหารกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มอาหารที่รัฐมนตรีประกาศให้เป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่อนุญาตให้ใช้ชื่ออาหารใดๆ คือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดยพิจารณาจากการแจ้งในเอกสารจดแจ้งจากผู้ประกอบการเมื่อขอขึ้นทะเบียนเลขสารบบอาหาร ซึ่งในแนวปฏิบัติทั่วไปการจดแจ้งจะกระทำ ณ จังหวัดที่มีแหล่งผลิตตั้งอยู่ โดยตามแนวทางในการยื่นจดแจ้งอาหาร ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องนำฉลากมายื่นด้วย จึงอาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดกรณีดังกล่าวได้

"ในกรณีนี้ อย. ควรต้องกลับไปตรวจสอบ ณ สถานที่จดแจ้ง ว่าด้วยเหตุใดจึงได้มีการอนุญาตชื่ออาหารเช่นนี้ หากพบว่าเป็นปัญหาก็น่าจะดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องได้เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค"

ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการจะแสดงชื่ออาหาร และ อย. อนุญาตให้แสดงชื่ออาหารดังที่เป็นอยู่ได้จริง แต่ถึงอย่างไรความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคก็เป็นสิ่งที่ อย. และผู้ประกอบการควรต้องคำนึง และควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการแสดงชื่ออาหารเพื่อไม่ให้เกิดการสับสน เช่น ในกรณี 'ปูอัด' ที่มีส่วนประกอบคือเนื้อปลาบด แต่กลับอนุญาตชื่อปูอัดซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับผู้บริโภคในวงกว้าง ภายหลังทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงเปลี่ยนการอนุญาตชื่ออาหารให้เป็นเนื้อปลาบดแทน

พชร บอกอีกว่า จากการตรวจพบตัวอย่างจำนวนมากที่มีปัญหาเรื่องฉลากสินค้า จึงขอเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาดำเนินการปรับปรุงระเบียบการขอขึ้นทะเบียนให้มีความรัดกุม โดยกำหนดให้การขออนุญาตต้องยื่นฉลากประกอบการขออนุญาตด้วย และเห็นว่าการลดการควบคุมในขั้นตอนก่อนการวางจำหน่าย (pre-marketing) และไปเพิ่มการกำกับดูแลในกระบวนการหลังจำหน่าย (post-marketing) ซึ่งคณะกรรมการอาหารได้มีมติมาแล้วเมื่อประมาณ 3 เดือนก่อน จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อีก ดังนั้นจึงขอให้ อย. ในฐานะฝ่ายเลขาของคณะกรรมการอาหารได้เสนอให้ทบทวนมติดังกล่าวด้วย

แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่จะทำให้ได้อาหารที่ดีมีคุณภาพก็คือ ผู้บริโภคเองจะต้องรู้จักอ่าน รู้จักเลือกให้มากขึ้น อาจเริ่มจากเลือกสินค้าที่มีชื่ออาหารสอดคล้องกับส่วนผสมบนฉลาก โดยฉลากนั้นต้องระบุส่วนผสมอย่างละเอียด เหมาะสม และชัดเจนเพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อ เพียงเท่านี้ก็เป็นการคุ้มครองสิทธิของเราด้วยมือเราเอง