ถอดรหัสอันตราย 'COVID-19' กับนักไวรัสวิทยา 'ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา'

ถอดรหัสอันตราย 'COVID-19' กับนักไวรัสวิทยา 'ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา'

5 คำถามไขปริศนาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กับนักไวรัสวิทยาแถวหน้าของเมืองไทย

 

สถานการณ์การระบาดของ ‘COVID-19’ ในประเทศจีน และอีกหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้ นับเป็นภัยคุกคามที่สร้างความหวาดวิตกแก่ประชาชนอย่างมาก ซึ่งการระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ ประกอบกับข่าวลือและข่าวลวงที่ถาโถมบนโลกออนไลน์ ยิ่งสร้างข้อสงสัยและความตื่นตระหนกให้แก่ผู้คนจำนวนมาก  

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คือนักไวรัสวิทยาที่คร่ำหวอดในการศึกษาวิจัยไวรัสโคโรนามากว่า 10 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยอลาบามา เบอร์มิงแฮม สหรัฐอเมริกา และเข้าทำงานเป็นนักวิจัยไบโอเทค จนในปี 2004 ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนก H5N1 จึงได้รับมอบหมายให้เร่งศึกษาต่อด้าน Reverse Genetics ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสร้างไวรัสจากสารพันธุกรรมในหลอดทดลองโดยไม่ต้องแยกไวรัสออกมาจากผู้ป่วย เพื่อใช้เป็นแนวทางการผลิตวัคซีนในประเทศไทย กระทั่งต่อมาประสบความสำเร็จในการพัฒนา ‘วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009’

ในปี 2010 ประเทศไทยเกิดการระบาดของโรค PEDV ในสุกร มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้ลูกสุกรมีอาการท้องเสียรุนแรง และเสียชีวิต 100% ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เป็นจุดผลักดันให้ ดร.อนันต์ และทีมวิจัยมุ่งพัฒนาวัคซีน PEDV เป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาไวรัสโคโรนาเชิงลึกนับแต่นั้นมา โดยในปี 2014 กลุ่มวิจัยได้เป็นที่รู้จักในเวทีนานาชาติ ถึงความสำเร็จในการพัฒนาระบบ Reverse Genetics ของไวรัสโคโรนาในสุกร และมีผู้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาต่อยอดจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นผู้นำการวิจัยด้านไวรัสโคโรนาของประเทศไทย และวันนี้เขาพร้อมใช้ ‘องค์ความรู้’ ที่สั่งสมมาช่วยไขปริศนาโรค COVID-19 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน

 

IMG_8857_FIX - Copy

 

 

1. เหตุใดโรค COVID-19 จึงเกิดการระบาดรุนแรง?

COVID-19 เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า SARS-CoV-2 ซึ่งแม้จะเป็นโรคอุบัติใหม่ในมนุษย์ แต่ความจริงแล้วไวรัสโคโรนาพบมานานแล้วในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ปีก จากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรม พบว่าไวรัส SARS-CoV-2 มีความใกล้เคียงกับรหัสพันธุกรรมที่แยกได้จากค้างคาวเกือกม้า ในเมืองยูนนาน ตั้งแต่ปี 2013 มากกว่า 95% แต่ไวรัสดังกล่าวอาจแพร่ไปสู่สัตว์ตัวกลางก่อนมาสู่คน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบชนิดแน่นอน

สำหรับเรื่องความรุนแรงและการระบาดของโรค COVID-19 นั้น ต้องพิจารณาแยกกัน โดยความรุนแรงของโรค COVID-19 เกิดจากคุณสมบัติของไวรัสเอง ซึ่งไวรัสส่วนใหญ่ที่มีบรรพบุรุษมาจากค้างคาวมักมีการก่อโรครุนแรงในมนุษย์ เช่น Ebola virus, SARS-CoV, MERS-CoV เนื่องจากค้างคาวมีภูมิต้านทานที่ดีมาก สามารถสร้างโปรตีนต้านไวรัสชนิดต่างๆ ปริมาณสูง ไวรัสที่อยู่รอดได้จึงเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงสูง เมื่อวันหนึ่งที่ไวรัสเหล่านี้หลุดจากค้างคาวมาติดในสัตว์ตัวกลางหรือมนุษย์ ซึ่งไม่มีภูมิต้านทานที่ดีเช่นค้างคาว จะทำให้ก่อโรคได้รุนแรง

สำหรับ โรค COVID-19 ถือว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงน้อย เพราะมีอัตราผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 2% เมื่อเทียบกับ SARS และ MERS ที่มีอัตราผู้เสียชีวิตถึง 10% และ 30% ตามลำดับ ทั้งนี้ผู้ที่เสียชีวิตจาก COVID-19 ส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำ แต่สำหรับคนปกติที่แข็งแรง มีภูมิต้านทานดี อาจแค่ติดเชื้อ มีไข้ และหายเป็นปกติ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีมากกว่า 90% และที่น่าสนใจคือมีข้อมูลว่า COVID-19 ในเด็กพบได้น้อย และอาการไม่รุนแรง

ส่วนสาเหตุที่ COVID-19 ระบาดอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์จากสหรัฐอเมริกาพบว่า โปรตีน Spike (ส่วนที่ยื่นออกมาจากอนุภาคคล้ายหนาม) ของไวรัส SARS-CoV-2 มีการกลายพันธุ์พัฒนาให้จับกับตัวรับ (receptor) ที่ชื่อ AEC2 ในร่างกายของคนได้แน่นขึ้น ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ดีและแพร่จากคนสู่คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน Spike ที่ตำแหน่งอื่นอีก เช่น การเพิ่มกรดอะมิโนชนิดเป็นเบส 3 ตำแหน่งอยู่ติดกันทำให้ไวรัสถูกกระตุ้นให้ติดเชื้อโดยเอนไซม์ที่พบได้ในเซลล์มนุษย์ได้ดี และเพิ่มจำนวนได้ไว อีกปัจจัยสำคัญคือ โรค COVID-19 มีความรุนแรงของโรคน้อย มีระยะฟักตัวนาน ทำให้ผู้ติดเชื้อใช้ชีวิตเดินทางออกไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้มาก จึงเกิดการติดต่ออย่างรวดเร็ว ต่างจากโรคอีโบลาและซาร์สที่มีความรุนแรงของโรคสูง ผู้ป่วยมีอาการหนักและอยู่ในโรงพยาบาล การแพร่ระบาดของเชื้อจึงมีน้อย

 

2.จริงหรือ! แค่หายใจร่วมกับผู้ป่วยก็ติดเชื้อได้?

หลังจากมีข่าวหน่วยงานด้านสุขภาพของจีนแถลงว่า COVID-19 สามารถแพร่เชื้อผ่านฝอยละอองในอากาศได้นั้น อาจทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความวิตก ซึ่งหากอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่มีโอกาสน้อยที่จะทำให้ติดเชื้อ เนื่องจากเวลาที่เราจามจะมีฝอยละอองหลายขนาด กลุ่มแรกคือ ‘ฝอยละออง (Droplet)’ ขนาดใหญ่ 50-100 ไมครอน ที่ปล่อยออกมาหลังจากผู้ป่วยไอหรือจาม และตกสู่พื้นภายใน 15-20 นาที ไม่ไกลจากผู้ป่วยเกิน 2 เมตร และกลุ่มที่สอง คือ ‘ฝอยละอองขนาดเล็กมาก (Droplet nuclei)’ ประมาณ 5 - 12 ไมครอน ที่ไม่ตกลงสู่พื้น แต่จะลอยอยู่ในอากาศไปได้ไกลเกิน 10 เมตร

สิ่งสำคัญคือแม้จะมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ในฝอยละอองขนาดเล็กได้ แต่ปริมาณเชื้อนั้นอาจไม่มากเพียงพอที่จะก่อโรคได้ ซึ่งขณะนี้ข่าวที่ออกมาเป็นเพียงคำแถลงการณ์เท่านั้น ยังไม่มีผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์เป็นหลักฐานชัดเจน ด้านกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย และศูนย์ควบคุมป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (US-CDC) ยังยืนยันว่า COVID-19 แพร่เชื้อผ่านทางฝอยละอองที่เกิดจากการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อเท่านั้น

นอกจากการติดต่อผ่านทางเดินหายใจแล้ว วารสาร New England Journal of Medicine รายงานว่า มีการตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ในอุจจาระ ซึ่งบ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสอาจแพร่กระจายผ่านทางอุจจาระได้ เพราะผู้ป่วย COVID-19  มีอาการท้องเสียร่วมด้วย จึงถือเป็นอีกช่องทางการติดต่อของโรคที่ต้องระวัง

 

3. แนวทางการรักษาโรค COVID-19 ในปัจจุบัน?

แนวทางการรักษาขณะนี้จะมีการให้ ‘ยาต้านไวรัส’ ซึ่งล่าสุดประเทศจีนได้รับรองยาต้านไวรัส Favilavir ในการรักษา COVID-19 อย่างเป็นทางการตัวแรก ขณะที่ประเทศไทยทดลองใช้ยาต้านไวรัส HIV ชนิด Protease Inhibitors เพื่อช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Protease ที่จำเป็นต่อการเพิ่มไวรัสในร่างกาย ซึ่งไวรัส SARS-CoV-2 ก็มีกระบวนการคล้ายๆ กันอยู่ นอกจากนี้ยังมียาต้านไวรัสที่ชื่อ Remdesivir (RDV) ที่กำลังถูกจับตาอย่างมาก เพราะเป็นยาที่ออกแบบมาสำหรับไวรัสโคโรนาโดยเฉพาะ สามารถยับยั้งการสร้างสาย RNA ของไวรัสได้โดยตรง อยู่ระหว่างการทดสอบในคน

พร้อมกันนี้ยังมีการใช้ ‘แอนติบอดี’ ของผู้ป่วยที่เพิ่งหายจากการติดเชื้อมารักษาผู้ป่วยคนอื่น มีลักษณะเช่นเดียวกับเซรุ่มที่ฉีดตอนโดนงูกัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีข้อที่ต้องพึงระวังคือ ไวรัส SARS-CoV-2 อาจจะสามารถจับกับตัวรับหรือประตูเพื่อเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง

ประตูบานแรกคือ AEC2 เมื่อผู้ป่วยได้รับแอนติบอดีในปริมาณที่มากพอจะช่วยบล็อกเชื้อไวรัสไม่ให้ผ่านประตูบานนี้ได้ แต่หากผู้ป่วยได้ปริมาณแอนติบอดีน้อยหรือคุณภาพไม่ดีพอ อาจเกิดการกระตุ้นให้แอนติบอดีจับกับเชื้อไวรัสแล้วพาเข้าสู่ประตูบานที่ 2 ที่มีชื่อว่า CD32A ซึ่งจะจับกับส่วนของแอนติบอดีที่ห้อมล้อมอนุภาคไวรัสนั้นไว้และนำไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ นั่นเท่ากับเป็นการเพิ่มช่องทางให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง ลักษณะเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 ที่มีความรุนแรงมาก เพราะได้รับเชื้อเดงกี่ต่างสายพันธุ์จากครั้งแรก ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับคุณปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ดังนั้นการใช้แอนติบอดีในการรักษาในสถานการณ์เช่นนี้ต้องมีความระมัดระวัง

 

IMG_8846

 

4. แนวโน้มสถานการณ์ของโรค COVID-19?

การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยขณะนี้ อยู่ในระยะที่ 2 คือมีการติดเชื้อจากคนสู่คนภายในประเทศ ซึ่งแม้ว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควบคุมโรคได้ดี แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 คือมีผู้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวงกว้างได้ ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ แต่ไม่อยากให้ตระหนกเกินไป เพราะอาจเป็นแค่การระบาดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้ก่อโรครุนแรง

สำหรับแนวทางการเตรียมรับมือ ในโมเดลด้านระบาดวิทยาจะมี 3 ส่วน คือการป้องกัน แก้ไข และควบคุมไม่ให้เกิดซ้ำ การป้องกันต้องอาศัยการถอดบทเรียนที่ได้ผลดีจากประเทศจีนมาใช้ เช่น หากเกิดการระบาดรุนแรง ควรปิดเมืองหรือไม่

ส่วนการแก้ไขจะเป็นเรื่องการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ณ ขณะนี้ หากประเทศจีนเปิดเผยข้อมูลว่าผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงและไม่รุนแรงแตกต่างกันอย่างไร ทีมวิจัยสามารถนำข้อมูลมาประกอบกับข้อมูลที่ศึกษาอยู่ และอธิบายได้ว่ายีนตัวไหนของไวรัสที่เกิดการกลายพันธุ์และทำให้เกิดโรครุนแรง เพื่อแจ้งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวัง รวมถึงการพัฒนาชุดตรวจเพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยแยกเคสที่รุนแรงออกจากเคสที่ไม่รุนแรงได้รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และรับมือกับการบริหารจัดการในช่วงที่มีการระบาดเป็นวงกว้างได้ดีขึ้น สำหรับการควบคุมไม่ให้เกิดซ้ำ ณ ขณะนี้ยังไม่พบสัตว์ตัวกลางที่เป็นพาหะนำโรค จึงยากต่อการควบคุม

 

5. จะรอดพ้นจากโรค COVID-19 ได้อย่างไร?

วิธีการป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือ ระวังการสัมผัสสารคัดหลั่งจากการไอ จาม ของผู้ติดเชื้อ แล้วนำมาสัมผัสบริเวณใบหน้า บริเวณตา จมูก ปาก เพราะเป็นช่องทางที่เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งกินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธี หรือใช้แอลกอฮอล์เจลที่มีส่วนผสมของแอลกฮอล์มากกว่า 70% นอกจากนี้เมื่อเข้าห้องน้ำเสร็จให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำทุกครั้ง เพื่อลดการกระจายของเชื้อ และล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ

ส่วนยาที่ดีที่สุดในการรักษา COVID-19 คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย นอกจากนี้ต้องดูแลสภาพจิตใจไม่ให้เครียดเกินไป เพราะจะทำให้ภูมิต้านทานลดลง สิ่งที่ต้องระวังคือการเสพข่าวที่มุ่งไปแต่จำนวนของผู้เสียชีวิตจนทำให้กลัว ทั้งที่อัตราผู้เสียชีวิตยังถือว่าน้อยหากเทียบกับโรคอื่นๆ ที่เกิดจากไวรัสชนิดเดียวกัน

อย่างไรก็ดีแม้ประเทศไทยจะไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ได้ แต่หากประชาชนมีสภาพกายใจที่แข็งแรง และเรียนรู้โรคอย่างเข้าใจ เชื่อว่าทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤติโรคอุบัติใหม่ครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน