ถูกเลย์ออฟใช่ว่าล้มเหลว เปิด 4 วิธีตั้งหลักให้เร็ว ฟื้นใจให้ไว

ถูกเลย์ออฟใช่ว่าล้มเหลว เปิด 4 วิธีตั้งหลักให้เร็ว ฟื้นใจให้ไว

ตกงาน อย่าตกใจ! หากเพิ่งถูกเลย์ออฟ ให้เวลาตัวเองตั้งหลักให้ได้ก่อน แล้วดูแลใจและร่างกายให้ดีที่สุด พร้อมอัปสกิลเพิ่มทักษะให้พร้อมสำหรับเส้นทางใหม่

KEY

POINTS

  • อย่ากลัวความรู้สึกแย่ๆ หลังถูกเลย์ออฟ ให้เวลาตัวเองได้รู้สึกผิดหวัง เสียใจ และตั้งหลักให้ได้ก่อน อย่ารีบตัดสินใจอะไรตอนที่อารมณ์ยังพุ่ง เพราะอาจพลาดได้ง่าย
  • ดูแลใจและร่างกายให้ดีที่สุด อย่ามัวแต่เครียดกับการหางานจนลืมดูแลตัวเอง ใช้เวลานี้ทำสิ่งที่ชอบ สร้างกิจวัตรให้มีพลัง พร้อมเปิดรับโอกาสใหม่
  • เชื่อมต่อกับคนรอบตัวและพัฒนาตัวเอง หาเพื่อนร่วมทาง พูดคุยกับคนที่เข้าใจ และอัปสกิลให้พร้อมสำหรับเส้นทางใหม่ เพราะการลุยต่อจะง่ายขึ้นเมื่อคุณไม่เดินคนเดียว

ปี 2025 กลายเป็นปีแห่งการเลย์ออฟทั่วสหรัฐฯ ทั้งในวงการเทคโนโลยีและหน่วยงานรัฐบาลกลาง โดยข้อมูลจากบริษัท Challenger, Gray and Christmas ระบุว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการประกาศเลิกจ้างพนักงานมากถึง 275,240 ราย เพิ่มขึ้นถึง 205% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2024 ขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกก็เผชิญสถานการณ์นี้ไม่ต่างกัน 

หากมองในมุมพนักงานที่เพิ่งถูกเลย์ออฟหรือตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว อาจทำให้รู้สึกเคว้งคว้าง ไปต่อไม่ถูก และกระทบความรู้สึกอย่างมากจนคิดอะไรไม่ออก แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกเกินไป เพราะการโดนให้ออกจากงานด้วยสาเหตุปรับองค์กรบริษัทไม่ได้แปลว่าคุณล้มเหลวในด้านอาชีพการงาน 

“เอเลียน่า โกลด์สตีน” (Eliana Goldstein) โค้ชด้านอาชีพจากนิวยอร์กบอกว่า ทุกวันนี้แทบจะหาคนที่ไม่เคยถูกเลย์ออฟไม่ได้แล้วด้วยซ้ำ และสิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ก็คือ การถูกเลย์ออฟไม่ใช่เครื่องวัดความสามารถหรือคุณค่าของวัยทำงานเลย

ถ้าการถูกเลย์ออฟทำให้ความมั่นใจของคุณสั่นคลอน ลองใช้ 4 วิธีนี้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คุณกลับมาแข็งแรงอีกครั้งทั้งเรื่องงาน ร่างกาย และจิตใจ เมื่อโอกาสงานใหม่ๆ มีอยู่ทุกที่ ขึ้นกับตัวเราว่าจะพัฒนาทักษะให้เหมาะสมและขยันมองหาช่องทางให้เจอ เริ่มจาก.. 

ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจาก 'ตกงาน' แต่อย่าตกใจ

หลังจากเข้าห้อง HR และได้รับฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับการเลย์ออฟ ที่ไม่อยากได้ยิน โดยขั้นแรกคือ “ตั้งสติ” ให้ดี โดยโค้ชด้านอาชีพและนักบำบัดสุขภาพจิตอย่าง “ลินน์ เบอร์เกอร์” (Lynn Berger) แนะนำว่า ให้คุณเปิดพื้นที่ให้ตัวเองรู้สึกความเศร้าและผิดหวังและยอมรับมัน เหมือนการผ่านกระบวนการ ‘เศร้า สูญเสีย งง และตั้งหลัก’ เหมือนการรับมือกับเรื่องใหญ่อื่นๆ ในชีวิต

อย่าด่วนตัดสินใจอะไรในทันที ทั้งในเรื่องหางานและการย้ายที่อยู่ ซึ่ง ฟีบี้ แกวิน (Phoebe Gavin) โค้ชด้านผู้นำและอาชีพบอกว่า คนเรามักตัดสินใจแย่ที่สุดในช่วงที่อารมณ์แรงที่สุด

เธอย้ำว่า “ช่วงที่สมองด้านเหตุผลทำงานต่ำสุด ก็คือช่วงที่อารมณ์เราพุ่งแรง ไม่ว่าจะเป็นความโกรธหรือความเสียใจ” แทนที่จะพยายามกดอารมณ์ ให้ ‘เผชิญหน้า’ กับมันแบบจริงจัง เพราะการหนีความรู้สึกไม่เคยทำให้มันหายไป

ดูแลร่างกาย จิตใจ ตัวเองให้ดีก่อนทุ่มหางานใหม่

แม้การหางานใหม่อาจดูเป็นภารกิจเร่งด่วน แต่สุขภาพกายและใจของคุณสำคัญไม่แพ้กัน “สิ่งสำคัญที่สุดคือ ดูแลตัวเองก่อน” นักจิตบำบัดย้ำว่า ให้คุณหาเวลาในแต่ละวันเพื่อผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ทำงานฝีมือ หรือใช้เวลากับครอบครัว

หลายคนที่เธอเคยให้คำปรึกษา บอกว่าช่วง "ว่างงาน" คือ "โอกาสทอง" ที่ได้เจอเพื่อนใหม่ ใช้เวลากับครอบครัว และได้กลับมาทำสิ่งที่รักอีกครั้ง แต่ก็อย่าปล่อยตัวจนเกินไป โกลด์สตีน โค้ชด้านอาชีพแนะนำว่า ให้พยายามตื่นและนอนตามเวลาปกติ เพื่อรักษาโครงสร้างชีวิตไม่ให้หลุดไปไกล

“พฤติกรรมเล็กๆ อย่างเวลาเข้านอนหรือตื่นนอน ล้วนส่งผลต่อความรู้สึกและภาพลักษณ์ที่คุณมีต่อตัวเอง” เธอ อธิบาย

อย่าเก็บตัว เชื่อมต่อกับคนที่อยู่รอบข้างคุณ

อีกหนึ่งข้อสำคัญที่สุดที่นักจิตบำบัดแนะนำให้ทำหลังถูกเลย์ออฟ ก็คือ หา ‘กลุ่มคนที่เข้าใจและอยู่เคียงข้างคุณ’ แม้สังคมปัจจุบันจะเปิดกว้างกับการถูกเลิกจ้างมากขึ้น แต่หลายคนยังรู้สึก “อาย” หรือ “ผิดหวัง” เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ เพราะสังคมเคยปลูกฝังมาว่า “คนตกงาน = ไม่มีคุณค่า” ซึ่งไม่จริงเลย!

สิ่งที่คุณทำได้ คือ รักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเดิม คนในแวดวง และคนที่มองเห็นศักยภาพของคุณ ยิ่งคุณรายล้อมตัวเองด้วยคนที่สนับสนุนคุณ ทั้งคนที่มีประสบการณ์และมีช่องทางโอกาส ก็จะยิ่งทำให้คุณไม่รู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียว

ถ้ารู้สึกว่าตัวเองกำลังลำพังจริงๆ ลองปรึกษาโค้ชอาชีพ พูดคุยกับนักบำบัด หรือเปิดใจกับเพื่อนและครอบครัวก็ช่วยได้มาก

พัฒนาทักษะใหม่ ให้พร้อมลุยต่อกับโอกาสงานใหม่ๆ

ถ้าคุณอยากเติบโตในสายงานเดิม หรือเปลี่ยนสายอาชีพ การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เป็นหนึ่งในวิธีที่เวิร์กที่สุด เบอร์เกอร์ แนะนำว่า “การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไม่เพียงแค่เพิ่มทักษะ แต่ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจ และกลายเป็นหัวข้อที่ดีเวลาไปสัมภาษณ์” 

ด้านโค้ชอาชีพการงาน เสริมว่า ให้ดูประกาศงานในสายงานที่คุณเล็งไว้ แล้วเช็คว่าเขาต้องการทักษะอะไรเป็นพิเศษ หรือควรใบรับรองสกิลด้านไหนบ้าง จากนั้นจึงค่อยๆ อัปสกิลให้ตรงเป้าหมายอาชีพ

“ถ้าคุณรู้ว่าตัวเองอยากไปต่อที่ไหน ก็ลองสำรวจว่า ‘ตอนนี้คุณอยู่ตรงไหน’ และ ‘ต้องเติมอะไร’ เพื่อไปถึงจุดนั้น”

สุดท้ายแล้ว การตกงานอาจไม่ใช่จุดจบของเส้นทางอาชีพการงาน แต่อาจเป็นโอกาสให้คุณได้รู้จักตัวเองใหม่อีกครั้ง ลองใช้เวลาเหล่านี้อย่างชาญฉลาด ทั้งเพื่อเยียวยาใจตนเอง พัฒนาสกิล และเชื่อมต่อกับคนที่พร้อมส่งต่อพลังบวกให้คุณเริ่มต้นอีกครั้งอย่างมั่นใจ

 

อ้างอิง: CNBC, Phoebe, Eliana, LynnBerger