บิล เกตส์ บอกว่าอย่าตายในขณะที่ร่ำรวย | บ้านเขาเมืองเรา

บิล เกตส์ บอกว่าอย่าตายในขณะที่ร่ำรวย | บ้านเขาเมืองเรา

เนื่องในวาระครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการกุศลของเขาและอดีตภรรยา บิล เกตส์ ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเขาได้มอบสินทรัพย์ให้มูลนิธิแล้วกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์

จากนั้นในช่วง 20 ปีข้างหน้า เขาจะมอบเพิ่มอีกนับแสนล้านดอลลาร์ หรือ 99% ของสินทรัพย์ที่เขายังมีอยู่ให้มูลนิธินำไปใช้ในกิจการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์แล้วมูลนิธิก็จะปิดตัวในวันสิ้นปี 2588 เนื่องจากงานของเขาจะบรรลุเป้าหมายก่อนกำหนดเวลาที่เขาเคยคาดไว้  

บิล เกตส์จะอายุครบ 70 ปีในเดือนตุลาคมนี้  เขาจะอยู่ต่อไปอีกนานเท่าไรยากที่จะคาดเดา  แต่เขาบอกว่าในวันที่เขาจากโลกนี้ไป เขาจะมิใช่ผู้มีสินทรัพย์ในระดับเศรษฐีโดยอ้างถึงข้อเขียนของ แอนดรู คาร์เนกี ที่มีใจความว่า “การตายในขณะที่ยังมีความร่ำรวยเป็นความน่าละอาย”

ผมติดตามความเป็นไปในด้านความคิดและกิจกรรมของบิล เกตส์มาเป็นเวลานาน จึงไม่แปลกใจ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาได้แนวคิดด้านการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มาจาก แอนดรู คาร์เนกี เมื่อไร 

 ผมจำได้ว่าเขาเคยอ้างถึงแนวคิดของแม่ที่มีใจความว่า “ยิ่งได้รับมากเท่าไรก็ยิ่งต้องให้มากเท่านั้น”  ย้อนไปในช่วงที่บิล เกตส์ยังเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก

ชาวอเมริกันถกเถียงกันอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนการเก็บภาษีมรดก ทั้งเขาและพ่อของเขาไม่คัดค้านการเสียภาษีนั้นไม่ว่ามันจะมากขึ้นหรือไม่และพวกเขาจะต้องจ่ายเท่าไร  

ความตั้งใจที่จะใช้สินทรัพย์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของบิล เกตส์มีต่อเนื่องมานาน  หลังจากการก่อตั้งมูลนิธิดังกล่าวได้ 10 ปี เขาและเพื่อนซี้มหาเศรษฐีต่างวัย วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ชักชวนบรรดามหาเศรษฐีทั่วโลกให้เข้าร่วมเขียนคำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ 

เขาเองจะบริจาค 95%  ส่วนนายบัฟเฟตต์จะบริจาค 99%  โดยผู้เข้าร่วมแนวคิดของเขาจะลงนามในคำมั่นสัญญาไว้ในเว็บไซต์ชื่อ The Giving Pledge  ณ วันนี้มีมหาเศรษฐีทั่วโลกได้ลงนาม 236 รายแล้ว  (บางรายมีสมาชิกในครอบครัวร่วมลงนามด้วย  แต่ยังไม่ปรากฏว่ามหาเศรษฐีไทยได้เข้าร่วม) 

ในการประกาศความตั้งใจดังกล่าว บิล เกตส์อ้างว่าเขาได้แนวคิดจาก แอนดรูว์ คาร์เนกี มาหลายทศวรรษแล้ว โดยเฉพาะจากการอ่านข้อเขียนชื่อ The Gospel of Wealth ซึ่งนายคาร์เนกีเผยแพร่เมื่อปี 2432 

นายคาร์เนกีเกิดในสกอตแลนด์และอพยพไปอยู่ในอเมริกาเมื่ออายุ 12 ปี  เป็นมหาเศรษฐีจากการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กกล้าเป็นหลัก  หลังจากขายกิจการนั้นไปเมื่ออายุได้ 66 ปี เขาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ในอเมริกา 

แทนที่จะใช้สินทรัพย์นับหมื่นล้านดอลลาร์แสวงหาความสุขแบบนั่งกินนอนกิน นายคาร์เนกีใช้เวลาหาทางช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งในอเมริกาและในเครือจักรภพโดยเฉพาะสกอตแลนด์ 

เมื่อเขาตายในวัย 83 ปี เขาได้ใช้สินทรัพย์ไปเกือบ 90% ในโครงการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จึงเป็นต้นแบบหลักด้านการบริจาคสินทรัพย์เพื่อการกุศลของบรรดามหาเศรษฐี  

อนึ่ง ปัจจัยที่ทำให้ บิล เกตส์ สรุปว่ามูลนิธิของเขาจะบรรลุเป้าหมายภายในเวลาอีก 20 ปีได้แก่ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีซึ่งจะเอื้อให้มนุษย์เราแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ทุกด้านได้

ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตอาหาร การป้องกันและขจัดเชื้อโรคร้าย หรือการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  ข้อสรุปแนวนี้ไม่น่าเป็นที่แปลกใจเนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เกิดยุคดิจิทัล หรือยุคข่าวสารข้อมูล 

อย่างไรก็ดี การคิดไปในแนวนี้มีจุดบอด กล่าวคือ มันมักนำไปสู่ความประมาทซึ่งพระพุทธองค์ทรงมองเห็นและแสดงความห่วงใยไว้ในวันทรงดับขันธ์เมื่อกว่า 2,500 ปีแล้ว 

ในตอนนั้น ยังไม่มีเทคโนโลยีที่เอื้อให้ แอนดรู คาร์เนกี ร่ำรวยพร้อมกับทำให้โลกสกปรกด้วยกากของยุคอุตสาหกรรม

บิล เกตส์มีมันสมองระดับอัจฉริยะ  แนวคิดกับกิจกรรมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ของเขาเป็นต้นแบบที่ดี  แต่โลกใบนี้ยังมีมหาเศรษฐีอีกมากมายที่ไม่คิดและทำตามแบบเขา 

ยิ่งกว่านั้น มนุษย์เราส่วนใหญ่ยังอยู่กินแบบทำลาย หรือไม่รู้จักพอเพียงอีกด้วย  เทคโนโลยีแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้หากเราไม่รู้จักพอเพียง.