จีนแก้วิกฤติว่างงาน อุดหนุนฝึกอาชีพ 10 ล้านคน/ปี เน้นเด็กจบใหม่

จีนแก้วิกฤติว่างงาน อุดหนุนฝึกอาชีพ 10 ล้านคน/ปี เน้นเด็กจบใหม่

จีนกำลังจะให้เงินอุดหนุนการอบรมฝึกอาชีพ 10 ล้านคน/ปี เน้นเด็กจบใหม่ที่ตกงาน และแรงงานข้ามถิ่นให้มีทักษะสูง พร้อมเพิ่มตำแหน่งงาน หวังแก้วิกฤติว่างงานในชาติ

KEY

POINTS

  • จีนกำลังเดินหน้าแก้ปัญหาวิกฤติวางงาน โดยเน้นไปที่แรงงานอิสระ และเด็กจบใหม่ โดยออกนโยบายพัฒนาทักษะขั้นสูง เพื่อรองรับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป
  • รัฐบาลตั้งเป้าสร้างงานใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 12 ล้านตำแหน่ง พร้อมเดินหน้าสร้างเสถียรภาพในตลาดอสังหาริมทรัพย์
  • ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจและลดแรงกดดันด้านการว่างงาน

 

วิกฤตการณ์ว่างงานกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกตอนนี้ หนึ่งในยักษ์ใหญ่ฝั่งเอเชียอย่างประเทศจีน ก็เผชิญวิกฤตินี้เช่นกัน แต่ก็ตามสไตล์ "พี่จีน" ที่คิดไวทำไว ล่าสุดมีรายงานว่าเมืองหลวงอย่างปักกิ่งกำลังวางแผนแก้ปัญหานี้ โดยมีนโยบายอัปสกิลให้เด็กจบใหม่ที่ตกงาน รวมถึงแรงงานอิสระ-แรงงานข้ามถิ่น ให้มีทักษะตามที่ตลาดงานต้องการมากขึ้น 

ตามข้อมูลของ South China Morning Post รายงานว่า จีนกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่กลุ่มแรงงานอิสระ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติในปีนี้ เพื่อหาทางรอดจากความท้าทายทางเศรษฐกิจ วิกฤติด้านประชากร (คนเกิดใหม่ลดลง) และแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก นโยบายนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการสร้างตำแหน่งงานใหม่ และรักษาระดับการจ้างงานให้มั่นคงท่ามกลางภาวะที่ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง

หวัง เสี่ยวผิง (Wang Xiaoping) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมของจีน ออกมาพูดในที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันมีแรงงานจีนกว่า 30 ล้านคนที่หลุดพ้นจากความยากจน และยังคงพยายามรักษางานของตนไว้เพื่อไม่ให้กลับไปอยู่ในภาวะยากลำบากอีก

ขณะเดียวกัน จีนก็กำลังเผชิญกับกำลังแรงงานที่เป็นบัณฑิตใหม่จำนวน 12.2 ล้านคนที่จบการศึกษาในปีนี้และกำลังแย่งกันหางานอย่างดุเดือด ซึ่งจำนวนนี้เพิ่มขึ้นจาก 11.79 ล้านคนในปี 2024 พวกเขาเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในฝั่งนายจ้าง แม้มีความต้องการแรงงานในหลายภาคส่วน แต่ปัญหาการขาดแคลนทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ หลายตำแหน่งงานยังคงว่างอยู่ เนื่องจากทักษะของแรงงานไม่สอดคล้องกับสิ่งที่นายจ้างต้องการ

เทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ เกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน

หนึ่งในทักษะที่ตลาดงานจีนกำลังต้องการสูงก็คือ ทักษะสายเทคฯ โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีใหม่ๆ กลายเป็นเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างโอกาสการจ้างงาน แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็อาจทำให้บางอาชีพหายไป ส่งผลให้รัฐบาลต้องหาทางรักษาสมดุลระหว่างการนำนวัตกรรมมาใช้กับเสถียรภาพของตลาดแรงงาน

หวัง เสี่ยวผิง ระบุว่า "เราจะสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เพื่อช่วยดูดซับกำลังคนในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนตำแหน่งงาน รวมถึงสร้างโอกาสการจ้างงานรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่"

เมืองหลวงปักกิ่งเริ่มแก้ปัญหาว่างงานอย่างจริงจัง โดยวางแผนให้เงินอุดหนุนการฝึกอบรมอาชีพแก่วัยทำงานปีละ 10 ล้านคน โดยเน้นไปที่กลุ่มแรงงานข้ามถิ่น, บัณฑิตจบใหม่ที่ยังตกงาน แรงงานอิสระ และผู้ว่างงานกลุ่มอื่นๆ ส่วนการฝึกอบรมนั้นจะมุ่งเน้นไปที่ทักษะที่ตลาดต้องการ เช่น การผลิตขั้นสูง, เทคโนโลยีดิจิทัล และบริการดูแลผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมออกมาตรการเข้มงวดเพื่อลดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและป้องกันการฉ้อโกง รวมถึงการเพิ่มการสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจอิสระ

"ฟรีแลนซ์" กลุ่มวัยทำงานสำคัญในเศรษฐกิจจีน

ปัจจุบันแรงงานอิสระ (freelancers) หรือแรงงานที่ไม่ได้มีสัญญาจ้างงานแบบเต็มเวลา กำลังกลายเป็นกำลังสำคัญในเศรษฐกิจจีน กลุ่มแรงงานนี้ครอบคลุมพนักงานส่งอาหาร คนขับรถรับจ้าง นักไลฟ์สดขายสินค้า และฟรีแลนซ์ในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและภาวะเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ปัจจุบันจีนมีแรงงานอิสระราว 200 ล้านคน คิดเป็น 23% ของแรงงานทั้งหมด และแนวโน้มยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจึงต้องวางแผนรับมือเพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสม

หวัง เสี่ยวผิง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจะปรับปรุงระบบโอนสิทธิประกันสังคมให้สะดวกขึ้น เพื่อให้แรงงานที่ทำงานในลักษณะยืดหยุ่นสามารถเข้าถึงสวัสดิการได้ง่ายขึ้น และสามารถย้ายงานหรือย้ายถิ่นฐานได้โดยไม่สูญเสียสิทธิประโยชน์เดิม

ในปี 2024 จีนสร้างตำแหน่งงานในเขตเมืองเพิ่มขึ้น 12.56 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานในเขตเมืองอยู่ที่ 5.1% ลดลงจาก 5.2% ในปี 2023 และ 5.6% ในปี 2022 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นการจ้างงานของรัฐบาลเริ่มได้ผล ด้านนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง (Li Qiang) กล่าวระหว่างการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐบาลตั้งเป้าควบคุมอัตราว่างงานในเขตเมืองไม่ให้เกิน 5.5% และวางแผนสร้างตำแหน่งงานใหม่ไม่น้อยกว่า 12 ล้านตำแหน่งภายในปี 2025

ภาคอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวโยงกับปริมาณแรงงานจีนมากที่สุด

นอกจากปัจจัยด้านแรงงาน รัฐบาลยังเล็งเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างภาคอสังหาริมทรัพย์กับเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน โดยให้คำมั่นว่าจะรักษาเสถียรภาพของตลาดที่อยู่อาศัย

หนี่ หง (Ni Hong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบท เอ่ยถึงมาตรการที่ออกมาเมื่อปีที่แล้วเพื่อพยุงตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่า มาตรการนี้จะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป

"เราจะเดินหน้าสนับสนุนโครงการส่งมอบที่อยู่อาศัยผ่าน 'บัญชีขาว' เพื่อให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้พัฒนาโครงการที่มีคุณสมบัติครบถ้วน นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นจะยังคงซื้อสต็อกบ้านที่ขายไม่ออก" เขาย้ำชัด พร้อมเสริมว่า ที่อยู่อาศัยที่รัฐบาลซื้อจะถูกนำมาใช้เป็นบ้านเช่าราคาประหยัดสำหรับบัณฑิตจบใหม่ และแรงงานรุ่นใหม่ รวมถึงใช้เป็นหอพักพนักงาน

การฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ช่วยเสริมความเชื่อมั่นในตลาด และส่งผลดีต่อการจ้างงาน โดยยอดขายบ้านใหม่ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาเริ่มกลับมาเติบโต และแนวโน้มยังคงทรงตัวในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้

 

อ้างอิง: SCMP